คุณเป็นผู้ประกอบการที่ “ไม่ใช่”, “ไม่ครบ” และ “ยังไม่ประสบความสำเร็จ?”


คุณเป็นผู้ประกอบการที่ “ไม่ใช่”, “ไม่ครบ” และ “ยังไม่ประสบความสำเร็จ?”

กรณีศึกษา SMEs  คุณเป็นผู้ประกอบการที่ ไม่ใช่, ไม่ครบ และ ยังไม่ประสบความสำเร็จ?

 

       ปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการอีกมากมายที่ยังไม่เข้าใจว่า ตัวเองทำธุรกิจอะไร เพราะเมื่อเจาะลึกลงไปในธุรกิจที่ทำจะพบได้ว่าท่านยังไม่ได้ทำส่วนของหัวใจของธุรกิจ  หรือยังไม่ได้ทำส่วนที่จะทำให้ธุรกิจมีกำไรและสามารถคงอยู่ได้อย่างแท้จริงจึงยังทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ  หรือยังมีอีกหลายผู้ประกอบการที่ ยังไม่มีหน่วยงานสำคัญที่เป็นปัจจัยของความสำเร็จ ถ้าท่านยังไม่มีหน่วยงานนี้ก็ยังคงไม่สามารถนำองค์กรสู่ความสำเร็จได้จริง ๆ  หรือท่านเป็นผู้ประกอบการที่ ยังไม่รู้วิธีการทำงานที่ถูกต้อง เมื่อเราทำงานผิดวิธีก็เป็นสาเหตุที่เราไม่สามารถทำงานให้ไปถึงเป้าหมายนั่นเอง  ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากที่จะนำเสนอแนวคิดเพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการที่มีปัญหาคล้าย ๆ กันสามารถที่จะนำไปเป็นกลยุทธ์เพื่อปรับใช้แก้ปัญหาของท่านได้

 

     ท่านทำธุรกิจอะไรอยู่ เป็นคำถามที่อยากให้ถามตัวผู้ประกอบการอย่างจริงจัง  เพื่อค้นหาว่าท่านทำธุรกิจนั้นจริงหรือไม่  โดยจะยกตัวอย่างเพื่อจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นคือการทำธุรกิจเกี่ยวกับ โลจิสติกส์ มีผู้ประกอบการสองรายมาปรึกษาที่ สสว ซึ่งบอกว่าทำธุรกิจโลจิสติกส์เหมือนกันแต่คนหนึ่งมาปรึกษาว่าจะเปลี่ยนอาชีพเพราะไม่ประสบความสำเร็จ  อีกคนหนึ่งบอกว่ารวยแล้วกำลังจะออกจากธุรกิจนี้เพราะรวยแล้วและไม่มีความท้าทายอีกแล้ว  จะมองหาเรื่องอื่นทำที่ท้าทายกว่า    จะเห็นได้ว่าทำธุรกิจเหมือนกัน  อยากเปลี่ยนงานเหมือนกัน  แต่คนหนึ่งประสบความสำเร็จและอีกคนไม่ประสบความสำเร็จ  ดังนั้นเรามาหาข้อแตกต่างกันดีกว่าเพื่อที่จะได้เข้าใจว่าทำธุรกิจเหมือนกันหรือไม่

 

     คนที่ไม่ประสบความสำเร็จก็เล่าว่าทำมาห้าปีไม่มีกำไรเลย  ประกอบกับการทำธุรกิจส่งออกแย่มาก ๆ เลยอยากเปลี่ยนงาน  หลังจากได้ค้นหารายละเอียดก็พบว่าเขาได้ทำส่วนของงาน Shipping เท่านั้น(เกี่ยวเอกสารการส่งออกและนำของลงเรือเท่านั้น)  ยังน้อยมากและยังไม่สามารถเรียกว่า โลจิสติกส์ หรือไม่ใช่นั่นเอง

     อีกคนหนึ่งเป็นเป็นคนที่ทำธุรกิจเริ่มต้นคล้าย ๆ กันคือการทำเอกสารส่งออกและการทำเรื่องการนำสินค้าลงเรือ  โดยลูกค้าของเขาคือร้านค้าที่ขายเสื้อผ้าส่งออกที่ประตูน้ำซึ่งส่วนใหญ่ไม่เก่งเรื่องการส่งออก  พูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนักและไม่เก่งเรื่องคอมพิวเตอร์  แต่ผู้ประกอบการคนนี้เก่งเรื่องเหล่านี้และได้เสนอตัวเข้าช่วยเหลือทุก ๆ เรื่อง  จนระยะหลังร้านค้าทุกรายหันมาใช้บริการการขนส่งสินค้าส่งออกโดยผ่านผู้ประกอบการคนนี้  ผลคือผู้ขายส่วนใหญ่ไม่สนิทกับคนซื้อและหลาย ๆ กรณีของการซื้อขายไม่ได้รู้จักกันเลยทั้งสองฝ่ายรู้จักเพียงผู้ประกอบการโลจิสติกส์เท่านั้น  และหลาย ๆ รายการผู้ประกอบการคนนี้เป็นคนจับคู่ให้เกิดการค้าขายขึ้น  เพราะผ่านมาหลายปีข้อมูลของผู้ผลิตและข้อมูลของลูกค้าที่ต้องการซื้ออยู่ในฐานข้อมูลของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ทั้งหมด  และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผู้ประกอบการรายนี้มีรายได้จากบริการต่าง ๆ มากมายเช่น การทำหีบห่อ, การติดต่อรถขนของ , การติดต่อธนาคาร, การประสานงานเรื่องการชำระเงิน, การตรวจสอบเครดิตของผู้ซื้อ  และรวมทั้งค่านายหน้าการซื้อและการขาย  เป็นต้นซึ่งทำให้ผู้ประกอบการรายนี้มีบริการที่ครบวงจรซึ่งคนอื่นไม่มี  สะดวก  สบาย  ลดปัญหา  และลดความเสี่ยงในการขายอีกด้วย   เมื่อผู้เขียนซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษารายที่ประสบความสำเร็จก่อน  ผู้ประกอบการที่ไม่สำเร็จมาปรึกษา  และด้วยความต้องการทำความเข้าใจลูกค้าและได้ขอความรู้จากลูกค้าไว้ว่าทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จไว้ก่อนแล้ว  จึงได้ถ่ายทอดและยกตัวอย่างให้ผู้ประกอบการอีกรายได้เข้าใจว่าที่ทำอยู่นั้นยังไม่ใช่  ที่ใช่เราต้องเพิ่มมูลค่าของการให้บริการจนสามารถสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างแท้จริง  เราจึงจะทำธุรกิจที่เราทำอยู่ให้ประสบความสำเร็จได้  และได้แนะนำให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่ประสบความสำเร็จดังนี้คือ จริง ๆ แล้วเขาทำแค่นั้นและไม่ขาดทุนมาห้าปีถือว่าเก่งมากแล้ว  แต่ถ้าต้องการความสำเร็จต้องเพิ่มบริการต่าง ๆ ให้มากขึ้นจนลูกค้ารู้สึกได้  จะทำให้เรามีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอนและกำไรก็จะตามมา  อย่าเพิ่งเปลี่ยนอาชีพที่เราถนัดเลย

 

     ท่านเป็นผู้ประกอบการที่ยังทำงานไม่ครบทุกส่วนที่จำเป็นต้องมี?  มีผู้ประกอบการหลาย ๆ รายที่ทำธุรกิจยังไม่ครบทุกส่วนที่จำเป็น  จึงทำให้ยังไม่ประสบความสำเร็จ   ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่าง ธุรกิจซอฟแวร์ซึ่งมีหลายรายที่ไม่ประสบความสำเร็จ  และเมื่อเราค้นหาที่มาของปัญหาก็คือส่วนใหญ่ผลิตได้ดีแต่ขายไม่เป็น  เนื่องจากว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มาจากผู้พัฒนาซอฟแวร์ไม่เคยมีประสบการในการขาย  และเชื่อว่าถ้าผลิตได้ดีแล้วจะขายได้  แต่ผลกลับตรงข้ามเพราะว่าบางครั้งซอฟแวร์ไม่ได้สมบูรณ์มากนักแต่ก็ขายดีและสามารถมีกำไรได้(อาจจะไม่ยั่งยืน)  แต่ถ้าผู้ผลิตที่ดีมีการลงทุนจัดตั้งหรือจัดหารฝ่ายขายที่เก่งเข้ามาดำเนินการขายอย่างจริงจังก็จะประสบความสำเร็จได้ง่าย  ซึ่งวิธีการพัฒนาช่องทางการขายนั้นมีทั้งตั้งทีมขายมืออาชีพเอง  หรือจับมือกับพันธมิตรที่เป็นมืออาชีพในการขายและแบ่งผลประโยชน์กัน  กลยุทธ์ง่าย ๆ  คือเพิ่มงานส่วนที่เรายังขาดอยู่ให้ครบก็สามารถแก้ปัญหาได้ทันที  ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการที่ผลิตซอฟแวร์ได้นำวิธีคิดแบบนี้มาใช้และประสบความสำเร็จอย่างมาก

 

     ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งคือ ท่านเป็นอาชีพนักขาย?  

·       ถ้ามีการโฆษณาแล้วลูกค้าโทรมาสั่งซื้อสินค้า  แล้วท่านเป็นคนนำไปส่ง ท่านคือคนส่งของเท่านั้น  ท่านไม่ใช่มีอาชีพนักขาย

·       ถ้าท่านจะไปพบลูกค้าได้ก็ต่อเมื่อมีลูกค้าติดต่อเข้ามาเองเท่านั้น  ท่านไม่สามารถที่จะค้นหาลูกค้าเองได้  ท่านไม่ใช่อาชีพนักขาย  ท่านเป็นเพียงคนที่มีอาชีพรอคอยส้มหล่นเท่านั้น  เดี๋ยวนี้อยู่ไม่ได้แล้ว

·       ถ้าท่านไม่สามารถเปิดและปิดการขายด้วยตัวท่านเอง  ท่านไม่ใช่อาชีพนักขาย  ท่านเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น

 

   ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ประกอบการจะได้ข้อคิดและสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจของท่านได้   หรือสามารถช่วยให้ท่านมีแนวคิดที่จะปรับปรุงองค์กร  และแนวทางแก้ปัญหาได้  นอกจากนี้ถ้าต้องการคำแนะนำติดต่อเราได้ที่ สสว โทร.0-2278-8800 ต่อ 400 นัดหมายและเข้ารับคำปรึกษาได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายได้ทุกวันทำการ

 

ธนพล  ก่อฐานะ

ที่ปรึกษา SMEs ด้านการบริหารจัดการธุรกิจและ IT

ฝ่ายประสานและบริการ  SMEs

หมายเลขบันทึก: 274486เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2009 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นถึงหัวใจของความสำเร็จ ถ้าท่านยังไม่ได้ทำ หรือยังไม่มี ก็จำเป็นต้องทำ ต้องหาและต้องมีเสียก่อน และต้องค้นให้พบ หาให้ได้และทำให้ให้ได้นะครับ

บทความนี้ยังเป็นข้อคิดที่ดีสำหรับคนที่ต้องการค้นหาความจริงและแนวทางไปสู่ความยั่งยืน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท