ทำไม ผมชอบกีฬารักบี้ฟุตบอล ตอนที่4


อิศรา ประชาไท

                หลังจากจบการศึกษาจาก ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี 2520 ผมก็สอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งในช่วงปีนั้นเพื่อนหลายคนได้สอบเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจไปแล้ว และส่วนหนึ่งเตรียมตัวเดินทางไปแข่งขันรักบี้ประเพณีกับโรงเรียนสดาร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ พับลิกสคูล Public School เช่นเดียวกับ โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อนหน้านั้นโรงเรียนที่มีการแข่งขันรักบี้ประเพณีกับโรงเรียนประจำในมาเลเซีย คือ วชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งแข่งกับ โรงเรียนมาเลย์คอลเลจ ผลัดกันเป็นเจ้าภาพ ปีใดที่วชิราวุธวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพ เดอะมาเลย์คอลเลจก็จะเดินทางมาแข่งกับวชิราวุธวิทยาลัย วชิราวุธวิทยาลัยก็จะให้มาเลย์คอลเลจ ได้แข่งขันประลองกับทีมโรงเรียนในประเทศไทยเป็นการอุ่นเครื่องก่อนกับทีมโรงเรียนในประเทศไทย โรงเรียน ภ.ป.ร,ราชวิทยาลัย ก็จะได้รับเชิญเข้าร่วมการแข่งขันทุกปี ในตอนหลังเรา โรงเรียนของเราก็ได้สร้างการแข่งขันรักบี้ประเพณีกับโรงเรียนพับลิกสคูล Public School ที่มีลักษณะเดียวกันกับ เดอะมาเลย์คอลเลจ โรงเรียนนั้นได้แก่ โรงเรียน Sekolah Datuk Abdul Razak (SDAR) ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในด้านรักบี้ฟุตบอลระดับแนวหน้าของโรงเรียนในประเทศมาเลเซีย ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเซเรมบัน รัฐเนกรีเซมบิลัน ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศมาเลเซีย เป็นโรงเรียนที่มีประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ที่เกี่ยวของกับอดีตนายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษของชาวมาเลเซียคือ ตนกู ดาโต๊ะ อัลดุล ราซัค ซึ่งท่านผู้นี้เคยเข้ามาศึกษาในระดับมัธยมศึกษาในประเทศไทยที่โรงเรียนเทพศิรินทร์    ในการบันทึกประวัติศาสตร์กีฬารักบี้ฟุตบอลของโรงเรียนSekolah Datuk Abdul Razak (SDAR)   ในการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณีกับโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์กับ ได้เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 โดยกล่าวว่า  SDAR rugby is also associated with its annual match with King's College, Thailand, which, since 1973, which has become a tradition for both schools. ซึ่งในปีแรกที่มีการแข่งขันประเพณีกับ SDAR ผมเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 1 พอดีได้เห็นบรรยากาศที่ทีม SDAR มาแข่งขันที่โรงเรียนของเราพอดี ซึ่งถือเป็นการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณีกับทีมโรงเรียนต่างประเทศเป็นครั้งแรกของพวกเรา  ในยุคนั้นก็เป็นมี อาจารย์เวชสิทธิ สุขมาก (พี่นวย) เป็นผู้เล่นสำคัญคนหนึ่ง ผมจำไม่ได้ว่าเราแพ้หรือชนะ แต่น่าจะชนะมากกว่า เพราะในช่วงนั้นทีมทางมาเลเซีย จะเล่นรักบี้แพ้ทีมไทยทั้งในระดับชาติและระดับโรงเรียน  แต่ในปัจจุบัน ไม่ต้องพูดถึงเลยว่า พัฒนาการรักบี้ฟุตบอลในมาเลเซีย สิงค์โปร  น่าจะไปได้ดีกว่าประเทศไทย เพราะถ้าใครเคยเดินทางไปเที่ยวไปเยือนไปศึกษาดูงานก็จะเห็นว่า โรงเรียนทุกโรงเรียนในมาเลเซียและสิงค์โปร มีสนามกีฬารักบี้ฟุตบอลโดดเด่นอยู่สนามหน้าโรงเรียนแทบทุกโรงเรียน เหมือนประเทศไทยมีสนามฟุตบอล มีการฝึกการเตรียมนักกีฬา อย่างเอาจริงเอาจัง เขาพยายามให้ความสำคัญต่อกระบวนการพัฒนาเยาวชน ทั้ง วิชาการและกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนมีพัฒนาการทั้งทางร่างกาย จิตใจและสังคม อย่างดี  คือ เอาวิชาการระบบของอังกฤษมาใช้อย่างเป็นระบบและทำกันอย่างจริงจังให้ความสำคัญต่อเยาวชน แต่ของเราแม้จะมีโรงเรียนเป็นพันโรงเรียน มีสนามฟุตบอลหน้าโรงเรียนทุกโรงเรียน แต่เราก็ยังไม่เก่งฟุตบอลเท่าที่ควรจะเป็นมากกว่านี้ อาจเป็นเพราะเราให้ความสำคัญกิจกรรมกีฬาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนน้อยไปนั้นเอง  เราไม่มีครูฝึกที่จบทาง  พลศึกษา วิทยาศาสตร์การกีฬาในโรงเรียนเลย บางโรงเรียนอาจมีแต่ทำภารกิจทุกอย่าง จนไม่มีเวลาฝึกฝนสอนสั่งวิธีการที่ถูกต้องให้แก่พวกเยาวชน  เราก็เลยมีสนามเยอะดี แต่ใช้สนามไม่คุ้มค่า และผู้บริหารก็ไร้จิตสำนึกในการพัฒนาเยาวชนด้านนี้เป็นสำคัญและยิ่งพูดถึงรักบี้แล้วเรามีโรงเรียนเล่นกีฬาประเภทนี้ในประเทศไทย ไม่ถึง ร้อยโรงเรียน แต่ก็เป็นที่น่าชื่นใจว่า ร้อยโรงเรียนที่มีอยู่ ผู้บริหาร ครู ผู้ฝึกสอนก็ทำกันอย่างเต็มความสามารถ  ทุกทีมก็หวังใช่ชนะเหมือนกัน แต่มีไม่กี่โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน แต่ ครู ผู้บริหาร ผู้ฝึกสอน ก็ไม่ท้อถอย เพราะคิดว่า กีฬารักบี้สามารถพัฒนาศักยภาพ บุคลิกภาพ ทั้งทางร่างกาย อารมณ์  สังคม จิตใจ ได้เป็นอย่างดี ก็ทำตามศักยภาพ  จริง ๆ แล้ว ผมอยากเห็นองค์กรรัฐ หรือ เอกชน น่าจะได้เข้ามา ส่งเสริมกีฬานี้อย่างจริงจัง เพราะ มันได้ทั้งการแข่งขัน ได้ทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย และหากพิจารณาในช่วงนี้ก็จะเห็นว่า  กีฬารักบี้หญิงของเรา ซึ่งทำไม่กี่โรงเรียน ไม่กี่สถาบันแต่ก็สามารถผลักดันไปจนถึงระดับโลก ได้อย่างน่าชมเชย  คุณูปการเหล่านี้ ผมต้องยกความชื่นชมยินดี ให้ผู้อยู่เบื้องหลังจริง ๆ  หลายคน ซึ่งก็ได้แก่   ลุงท้าว ผู้เฒ่าคนแก่ ๆ ที่เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อสอนรักบี้ มายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เด็กรักบี้หญิงเหล่านี้ก็โตและพัฒนาจนกลายเป็นนักรักบี้ทีมชาติปัจจุบัน ถ้าไม่มี คน ๆ นี้ บอกได้เลยรักบี้หญิงคงไม่มีในวงการรักบี้อย่างแน่นอน อีกสามคน น่าจะเป็น อาจารย์ประกิต หงษ์แสนยาธรรม คุณดอน นักธุรกิจชาวต่างประเทศ ซึ่งช่วงหนึ่งดูแลการประสานงานต่างประเทศให้สมาคมรักบี้ฟุตบอล คุณถาวร คหบดีชาวสุพรรณบุรี ที่อาจารย์ประกิต เชิญมาเป็นผู้จัดการทีมและสนับสนุนงบประมาณในการแข่งขันไปต่างประเทศครั้งแล้วครั้งเล่าจนมาถึงยุคปัจจุบัน นอกจากนั้นก็เป็นบรรดาผู้ฝึกสอนท้องถิ่น  ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์ติ๋ว จากธรรมศาสตร์ คลองหลวง น้าติ๋วและอาจารย์อีกหลายคนที่โรงเรียนกาญจนดิษฐ์   รุ่นน้องราชวิทย์ผมจำชื่อไม่ได้ที่ไปสร้างรักบี้ฟุตบอล โรงเรียนนางแดด จนลือชื่อ และกลายมาเป็น นักเรียนโรงเรียนกีฬาอ่างทองและสถาบันการพลศึกษาอ่างทอง ของโค้ชเดี่ยว พี่ยุทธ อาจารย์ โสภา จาก เตรียมอุดมภาคเหนือ น้องหนาน จาก โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ลพบุรี อาจารย์ประสิทธิ์ อาจารย์จักรพงษ์  จากเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ร้อยเอ็ด  อาจารย์ลุงหย่อง จาก เลยพิทยาคม อาจารย์ต้อม จากพิมายวิทยา และโค้ชจากโรงเรียนต่าง ๆอีกหลายโรงเรียนที่ไม่ได้เอ่ยนาม เพราะจำชื่อไม่ได้   คนเหล่านี้คือคุณูประการสำคัญที่ต้องกล่าวชมเชยและสมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ต้องให้เกียรติและยกย่องอย่างดียิ่งและหาโอกาสเป็นทางการ    ถ้าไม่มีโค้ช ไม่มีโรงเรียนฝึกเด็กนักกีฬาเหล่านี้ เป็นพื้นฐาน มาให้สมาคม มาแข่งขัน แม้ต้องเสียค่าแข่งขัน ค่ารถมาแข่งให้สมาคม ทุกปี  ถามว่า สมาคมสร้างเองได้เหรอ ผมอยากให้โค้ชเทวดาทั้งหลายลองไปทำดู ไปทำในสภาพที่สนามจำกัด อุปกรณ์ไม่มี  นักกีฬาไม่มีเงินกินข้าวเที่ยง ไม่ต้องบอกว่า โค้ชต้องหาซื้อรองเท้ารักบี้ทั้งมือหนึ่งมือสองมา นักกีฬาใช้  เอาตำรารักบี้ซึ่งหายากเต็มที  เอาวีดิทัศน์จากลุงท้าวมาเปิดให้เด็กดู ซึ่งเวลาถ่ายกล้องก็ก้มลงดินมากกว่าการแข่งขันก็มี  ใครเก่งที่ว่าแน่ ๆ ลองมาช่วยทำหน่อย มาแค่เปิดคลินิก ไปในที่ต่าง ๆ และทำให้มันเกิดความยั่งยืน ผมเชื่อว่า เราจะได้นักรักบี้ดี ๆ ที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ช่วยหน่อย บรรดา กูรู รักบี้ทั้งหลาย   ในสภาพที่จำกัด ว่าจะพัฒนาเด็กได้มากน้อยอย่างไร  ดีกว่าการอวดอ้างและชมเชยตนเองและพรรคพวกอย่างน่าเกลียด ผมคิดว่า สมาคมต้องชมเชยบุคลากรเหล่านี้อย่างน้อยๆ   ปีหนึ่งต้องมีเกียรติบัตร สักใบหนึ่งไปให้โรงเรียนและผู้ฝึกสอนเหล่านี้บ้าง  เช่น อาจเขียนว่า “ในนามสมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอมอบเกียรติบัตรฉบับนี้ให้ นาย.....คือผู้ที่ได้สร้างคุณูประการแก่วงการรักบี้ฟุตบอลหญิงไทย โดยได้พัฒนาฝึกฝนนักกีฬารักบี้ฟุตบอลหญิง จาก......จนสามารถ เข้าเป็นนักกีฬาทีมชาติ ประเภท 7 คน ชุด ชิงแชมป์โลก ถึงจำนวน 3 คน ได้แก่.......จึงขอมอบเกียรติบัตรฉบับนี้ให้ไว้เพื่อตอบแทนคุณูปการดังกล่าวและขอขอบคุณในการสร้างสรรค์และพัฒนาวงการรักบี้ฟุตบอลหญิงไทยให้แก่สมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จนเป็นที่ประจักษ์”  ผมคิดว่านี่คือกำลังใจอย่างล้นเหลือที่มีค่ามาก แก่โค้ชท้องถิ่นที่สมาคมฯน่าจะทำ ให้แก่บรรดาผู้ฝึกสอนต่าง ๆ แต่ก็คงเป็นเพียงทัศนะหนึ่งอาจมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ถือเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคนผมเห็นการพัฒนารักบี้ในประเทศเพื่อนบ้านก็อดจะคิดเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ ถึงปัจจุบันนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เราก็มีการแข่งขันรักบี้ประเพณีกับต่างประเทศระดับโรงเรียนอยู่เพียงสองสถาบัน หรือ อาจจะมากกว่านั้นก็คงไม่เกิน ห้าแห่ง  วชิราวุธวิทยาลัยกับ มาเลย์คอลเลจ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของรักบี้ประเพณีระดับโรงเรียนกับต่างประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นมานานไม่น้อยกว่า 40 ปี นอกจากนั้นก็เป็นวชิราวุธวิทยาลัยอีกที่เริ่มส่งทีมออกไปแข่งขันในต่างประเทศ เช่นที่ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ก็ส่งผลให้ทีมพัฒนาความก้าวหน้าไปไกลกว่าทีมอื่น ๆ ได้อีกระดับหนึ่ง และ การแข่งขันกับวชิราวุธสำหรับทีมนักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ ในประเทศไทย ก็เป็นโอกาสที่ทำให้โรงเรียนและทีมต่าง ได้เรียนรู้จากวชิราวุธวิทยาลัยอีกทอดหนึ่ง ราชวิทย์กับ SDAR รักบี้ประเพณีของสองสถาบันก็ยาวนานไม่น้อยกว่า 36 ปี ซึ่งถ้าปีนี้ราชวิทย์เป็นเจ้าภาพก็น่าจะเฉลิมฉลองครบ 3 รอบ ได้คงจะดีไม่น้อย ผมลองค้นหาทางอินเตอร์เน็ทก็พบว่า การแข่งขันประเพณีดังกล่าวของสองสถาบันยังมีอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นข่าวข้างล่างนี้ เมื่อปี 2007 ราชวิทย์ ก็ไปเยือน SDAR เมื่อ Wednesday, 24-Oct-2007 04:10ซื่งราชวิทย์ชนะSDAR  23 ต่อ0 ที่เล่ามาถึงตรงนี้ ยาวเหยียด ผมอยากจะบอกว่า ผมผูกพันกับกีฬารักบี้ ราชวิทย์สอนผมให้รู้จักกีฬาประเภทนี้ และผมคิดว่า เยาวชนในท้องถิ่นบ้านเกิดผม มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร อำนาจเจริญ ก็น่าจะได้สัมผัสได้เล่นกีฬาเช่นนี้แบบเดียวกับผม ซึ่งไม่ต้องไปพิสูจน์หรือบอกใครต่อใครอีกว่ามันดีอย่างไร แต่ ในปีที่ผมจะจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 ผมก็เป็นบุคคลคนหนึ่งที่กำลังลงฝึกซ้อมเพื่อที่จะคัดเป็นตัวแทนไปแข่งประเพณีกับSDAR พอดี จึงเป็นช่วงปิดเทอม โรงเรียนต้องการนักกีฬาเพียง 26 คน แต่ในขณะนั้นลงซ้อมคัดเลือกถึง 32 คน ตำแหน่งที่ผมเล่น คือ สกรัมฮาฟ มีผู้ที่จะต้องแข่งกันถึงสามคน ในนั้นก็มี พี่ไข่ บ้าน 1 ราชวิทย์รุ่น 8  พลตำรวจตรี ชาญเทพ เสสะเวช บ้าน 1 เพื่อนราชวิทย์ รุ่น 9 และผม  ช่วงนั้นผู้การหยม มีภาษีดีกว่าเพื่อน ติดตัวจริงตลอด ตามด้วยพี่ไข่ และผมคนสุดท้าย  การเดินทางไปแข่งขันอยู่ในช่วงปิดเทอมและสอบเอ็นทรานซ์พอดี ผู้การหยม สอบโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้แล้ว พวกผมยังต้องรอเอ็นทรานซ์  ใกล้ถึงเวลา ผมเลยตัดสินใจบอกพี่บัติและพี่นวย ว่าผมสละสิทธิ์เพื่อจะสอบเอ็นทรานซ์ให้ได้  ก็ดูแล้วยังไง ๆ ก็คงสู้เพื่อนและพี่ทั้งสองคนไม่ได้  ผมเลยอดที่จะเดินทางไปมาเลเซีย เล่นรักบี้ประเพณีกับSDAR ในปีนั้น แต่ก็ไม่เสียเที่ยวที่ปีนั้น ราชวิทย์ที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 5 สามารถสอบเอ็นทรานซ์ได้    มี โจ บ้าน 3 สอบติดคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตุ้ย บ้าน 4 ธีระพล สุคนธมาน ติดคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์  และผมติดคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร  ส่วนเพื่อนคนอื่น ๆ ก็ไปเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น ก็ถือว่าได้อย่างเสียอย่าง แต่ที่ประสานมิตรนี้เอง ผมได้ฟื้นกีฬารักบี้ฟุตบอลกลับมาสู่มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง สามารถส่งแข่งขัน ประเภท 15 คน 7 คน แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในระดับอุดมศึกษา แต่ก็ได้ประกาศให้มหาวิทยาลัยอื่น ๆ รู้ว่า  ประสานมิตร มีรักบี้ฟุตบอล มีการแข่งขันกัน ประลองกัน ในระดับ กีฬา  8 วิทยาเขต  และการแข่งขันที่ไม่สามารถลืมเลือนได้คือ การแข่งขันกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พลศึกษา ที่ สนามกลาง ประสานมิตร  ช่วงนั้น ศรีนครินทรวิโรฒ พลศึกษา โด่งดังมากด้านกีฬาเพราะรับนิสิตทั้งประเภท 4 ปี และสองปีต่อเนื่องที่จบมาจากวิทยาลัยพลศึกษาทั่วประเทศ จึงสามารถมีนักกีฬาเข้ามาเรียนอย่างมากมาย นักรักบี้ฟุตบอลของ พลศึกษา มักจะมาจาก วพ.ยะลา วพ.มหาสารคาม วพ.ชลบุรี  เป็นส่วนใหญ่  เพราะมีโอกาสได้เล่นกับมศว.พลศึกษา ที่สนามมหาวิทยาลัยตนเอง ตอนนั้นผมอยู่ปี 3 แล้ว เล่นในตำแหน่ง สกรัมฮาฟ ในขณะที่เล่นมีอยู่ลูกหนึ่งฝ่ายพลศึกษา เตะบอลลอยโด่งมา ตรงตำแหน่งที่ผมยืนอยู่ ผมก็ตั้งท่ารับอยู่พอดี ลูกกำลังจะถึงมือ ก็มีผู้เล่นทีม มศว.พลศึกษา วิ่งเข้าชาร์ทอย่างแรง ผมจำได้ว่า เท้าของเพื่อนคนนั้นกระทบกับไหปลาร้าของผม จนรู้สึกชาทันที  ผมกำลังจะเคลื่อนตัวออกจากตรงนั้นแต่ก็ชาไปหมด และก็มีกลุ่มรัก มาชนกันบริเวณตรงนั้นพอดี ยิ่งทำให้ผมทำอะไรไม่ได้เลย  และเมื่อผู้ตัดสินสั่งหยุดเกมก็รู้ทันที ว่า ตนเองได้รับบาดเจ็บ ครั้งแรกนึกว่า ไหล่หลุด แต่ หนักกว่านั้นก็คือ ไหปราร้าหัก ผมถูกหามส่งไปโรงพยาบาลกรมตำรวจ หลังจากนั้นก็เข้าเผือกอยู่ประมาณสองเดือนกว่าๆ  จนเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่อึดอัดและแย่ที่สุด  แต่อย่างไรก็ตามผมไม่คิดโทษหรือโกรธเพื่อนที่ทำให้ไหปลาร้าผมหัก เพราะเป็นช่วงที่เขาต้องวิ่งเข้าชาร์ทพอดี  ช่วงนี้กับรักบี้ฟุตบอลสำหรับผมจึงเป็นการหยุดแบบมีเงื่อนไขชั่วคราว เพราะการเล่นรักบี้ หากร่างกายได้รับอุบัติเหตุถึงกับหักต้องมาพิจารณาว่า เราสมควรจะเล่นต่อหรือไม่เล่นต่อดี แต่สุดท้ายพอหายแล้วก็กลับมาเล่นได้อีกนั้นแหละ เพราะอย่างไง ๆ รักบี้ หนึ่ง ฟุตบอล สอง และกรีฑา สาม กีฬาสามชนิดนี้ ผมได้พื้นฐานมาอย่างดีมากจากโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย  ปีที่ผมอยู่ ราชวิทย์ ปีสุดท้าย ทีมฟุตบอลของโรงเรียนก็ได้ตำแหน่งชนะเลิศของจังหวัดนครปฐม  ผมเล่นตำแหน่งปีกซ้าย  ทีมกรีฑา 4x100เมตร รุ่นกลาง ก็ชนะเลิศเหรียญทองกรมพลศึกษา และชนะแชมป์เก่า วชิราวุธวิทยาลัย และได้ถ้วยรวมในปีนั้นด้วย ผมวิ่ง ไม้ 3 ซึ่งถือเป็นไม้ที่วิ่งทางโค้ง วิ่งยากที่สุด แต่ครูวีระพลและครูป๊อก ซึ่งเป็นโค้ชที่เก่งมากสอนวิธีการวิ่งจนแท๊กติกเหล่านี้ติดตัวผมมาและสามารถนำมาใช้หรือสอน หากมีโอกาสได้ลองวิชา     หลังจากจบประสานมิตร ผมคิดว่าคงไม่มีโอกาสได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับกีฬารักบี้ฟุตบอลได้อีก เพราะการงานอาชีพอาจจะไม่เกี่ยวข้องแต่ที่ไหนได้  ที่บ้าน พ่อกับแม่ มีลูก 11 คน คุณแม่เป็นแม่บ้าน คุณพ่อเป็นครู เป็นอาจารย์ใหญ่ เป็นอาจารย์โรงเรียนฝึกหัดครูมหาสารคาม ติดตามนายจำลอง ดาวเรือง จนถือว่าเป็น มือขวาของท่าน และเป็นทำหน้าที่ภารกิจลับสำคัญคือ การเป็น เสนาธิการค่ายนาคู ค่ายเสรีไทยในจังหวัดกาฬสินธุ์ ในเขตอีสานตอนกลาง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ออกจากครู มาสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม สองครั้ง  ลูก ๆ ส่วนใหญ่เป็นครูหมด ผมจบมาจึงพยายามจะไม่เป็นครู เพราะเห็นว่ามีครูเต็มบ้านแล้ว แต่สุดท้าย ผมก็ต้องรับราชการครู  ผมจบการศึกษาจาก ประสานมิตร เมื่อปี 2525 และก็สอบบรรจุเป็นอาจารย์วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ และชีวิตจึงได้เริ่มต้นเป็นครูที่นี่ และเริ่มเป็นโค้ชกีฬากับบรรดาครูบาอาจารย์ที่วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และที่นี่คือการเริ่มต้น มาจับกีฬารักบี้ฟุตบอลอีกครั้งหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 274250เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2009 18:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

เป็นบันทึกที่บันทึกชีวิตตนเองได้ดีเยี่ยมเลยทีเดียวครับ  และยังได้บันทึกเรื่องราวของสถาบันฯ  ไปในตัว

ผมเองก็เขียนบล็อก  เพราะเชื่อวา  เป็นสวนหนึงของการเขียนจดหมายเหตุชีวิตของตัวเองไปพร้อมๆ กับการบันทึกเรื่องราวของมหาวิทยาลัยในอีกมุมหนึ่งที่หลายคนมองข้าม...

หนังสือที่มอบให้เมื่อวาน  เป็นแค่บันทึกธรรมดาๆ  ที่ปรารถนาที่ทำขึ้นเพื่อบอกถึงความรักของผมที่มีต่อองค์กร-นะครับ

จิงด้วยพี่ ตารางจัดอันดับของ IRB วันที่ 13 กรกฎาคม 2009

ญี่ปุ่น อันดับที่ 14

เกาหลีใต้ อันดับที่ 24

ฮ่องกง อันดับที่ 34

สิงค์โปร อันดับที่ 51

ศรีลังกา อันดับที่ 52

มาเลเซีย อันดับที่ 68

ไทย อันดับที่ 71

อินเดีย อันดับที่ 83

ปล.ผมรอภาค4ตั้งนานอ่ะ รออ่านภาค 5 น่ะครับ ขอแบบช่วงการเริ่มก่อตั้ง/ฟื้นฟู ทีมในโรงเรียนต่างๆบ้าง อยากรู้ว่าการเชิญชวนน้องๆที่ไม่เคยรู้จักรักบี้/ไม่เคยเล่น ให้สนใจเข้ามาเล่นกันจนเป็นทีมได้อย่างไร

หมายเหตุ รักบี้ประเพณี OV-MCKK ครั้งที่ 48 ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2553 ต้องเลื่อนออกไปยังไม่มีกำหนดครับ เหตุว่านักเรียนติดไข้หวัด 2009 ฮัด...เช่ยยยย

โทษทีครับ พิมพ์ผิดนิดส์ ที่ถูกต้องเรียกว่า รักบี้ประเพณี MCKK-VC

[Malay College Kuala Kangsar - Vajiravudh College] ที่เอาชื่อMCKKขึ้นก่อนเพราะเขาเป็นเจ้าบ้านครับ

ผมเด็กเทพเล่นรักบี้อยู่บ้าน4 R.V.47

เอ้าๆๆ รักบี้7คนชาย กีฬาแห่งชาติ ตรังเกมส์ จังหวัดร้อยเอ็ดได้แชมป์อีกแย้ววว

ชนะนครนายก 19 - 17 จุด

ในกิจกรรมต่างๆก็มีการเล่นกีฬารักบี้ นี่ละครับที่จะอบรมบ่มนิสัยช่วยขัดเกลาผู้เล่นให้สามารถเข้าถึงคำว่า "สุภาพบุรุษ" ซึ่งสุภาพบุรุษอังกฤษก็เน้นอยู่ที่คำศักดิ์สิทธิ์ว่า Fair play คือการไม่เอารัดเอาเปรียบฝ่ายตรงข้าม ซึ่งค่านิยมนี้เองคือคุณสมบัติของผู้ดีอังกฤษ

การเล่นรักบี้ จึงเน้นเรื่องการมีน้ำใจนักกีฬา Sporting Spirit เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งจุดสุดยอดของการมีน้ำใจนักกีฬา คือ ความยุติธรรม (แฟร์) Fairness การไม่เอารัดเอาเปรียบใคร

การเล่นรักบี้ จึงเป็นเครื่องมือที่มีความเหมาะสมในการสร้างบุคลิกลักษณะนิสัยพึงประสงค์ 4 ประการ คือ

1.กีฬารักบี้ต้องใช้คนเล่นมากคือข้างละ 15 คน ทำให้มีส่วนร่วมมาก ไม่เหมือนกีฬาบางประเภทที่ใช้ผู้เล่นเพียง 2 หรือ 3คน และการเล่นกันมากนั้นทำให้มีการร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมเหนื่อย ก่อให้เกิด"ความสามัคคีในหมู่คณะ"ตามมาอันเป็นคุณธรรมที่พึงปรารถนา

2.รักบี้เป็นกีฬาที่ใช้ทีมเวิร์ค "Team work"อย่างสูง ฝึกให้นักกีฬารู้จักหน้าที่ของตน ไม่เอาเด่นเอาดีเข้าตัวอยู่คนเดียว ประเทศที่เจริญแล้วประชาชนจะรู้จักการทำงานเป็นทีมเวิร์คเป็นอย่างดี และรักบี้เป็นกีฬาที่มีทั้ง Co-Operation Co-Operation คือทั้งร่วมมืออย่างสุดกำลังและประสานงานกันอย่างดีด้วย การเล่นต้องอาศัยความเร็ว speed และจังหวะเวลา timing ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยไหวพริบแบบ Thinking while Moving

3.กติการักบี้มีความแน่ชัดและเคร่งครัด เช่นในการส่งลูกบอลต้องส่งไปข้างหลังเท่านั้น ,การจับรวบคู่ต่อสู้ที่เรียกว่า "แท็คเกิ้ล" tackle จับได้เฉพาะผู้ถือลูกบอล (จุดมุ่งหมายของการ tackle ในเกมรักบี้คือเพื่อหยุดการพาลูกไปข้างหน้าของคู่ต่อสู้ ไม่ใช่การทำลายตัวคู่ต่อสู้) ดังนั้น การมีกติการอย่างเคร่งครัดนี้เป็นการฝึกให้ผู้เล่นต้องมี "ระเบียบวินัยและเคารพในกฎเกณฑ์"

4.รักบี้เป็นกีฬาที่มีการตุกติกเล่นสกปรกได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะการเอารัดเอาเปรียบ เพราะมีการชุลมุนบ่อยที่สุด โดยเฉพาะการเข้าสกรัม กรรมการในสนามไม่เห็นเหตุการณ์ได้ตลอด จึงมีโอกาสที่จะจิกตา ชกหมัดสั้น เตะหน้าแข้ง ใช้ลูกส้นกระทืบ ก็อาจทำได้ง่ายๆและจับตัวคนทำไม่ค่อยได้ รักบี้ จึงเป็นกีฬาที่พิสูจน์ "ความเป็นผู้ดีสุภาพบุรุษ Gentleman กับอุดมคติ Fair play"ได้อย่างชัดเจนและง่ายดายที่สุด สนามรักบี้จึงเป็นที่ที่คนดูและผู้เล่นจะได้เรียนรู้ Charater ของคนเล่นว่าใครเป็นผู้ดีใครเป็นกุ๊ยไม่มีน้ำใจนักกีฬา (ต่อไปภายหน้าจะได้จำไว้จะได้ไม่เอามันมาเป็นรัฐมนตรีหรือเลือกเป็น ส.ส.ในสภา)

...."รักบี้" จึงเป็นกีฬาที่ประกาศเกียรติคุณของสุภาพบุรุษ และประจานความต่ำต้อยของศักดิ์ศรีในความเป็นคน ให้รู้ให้เห็นกันได้ในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง....

ขอบคุณน้องโจ้ OV 69 มากสำหรับข้อคิดเกี่ยวกับรักบี้ฟุตบอล ชัดเจนมาก และเป็นสิ่งย้ำเตือนให้ผู้คนที่อยู่ในวงการได้ตระหนัก เพราะนี้คือแนวคิดในเชิงสร้างสรรค์เกี่ยวกับ กีฬารักบี้ฟุตบอล ที่ชัดเจนยิ่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ ครับ  ขอโทษด้วยที่ไม่ได้ตอบหลายครั้งแล้ว

ขอบคุณครับพี่อิ๊ด

และก็ต้องขอบคุณพี่อิ๊ดด้วยที่นำสิ่งดีๆมาแบ่งปันครับ

ผมจะติดตามบทความพี่ต่อๆไป

ปล.ขออนุญาตนำเวปบอร์ดพี่ไปเผยแพร่ตามเวปบอร์ดของโรงเรียนที่เล่นรักบี้น่ะครับ

เช่น โรงเรียนกลุ่มกาญจนาภิเษกวิทยาลัย,กลุ่มโรงเรียน สว. เพื่อให้น้องๆชมรมรักบี้

ได้เข้ามาอ่านกันด้วย

ได้เลยครับน้องโจ้ OV 69 [IP: 125.25.149.7] ยินดีอย่างยิ่ง ขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง ที่ร่วมคิดร่วมทำแบ่งปัน ความรู้เกี่ยวกับรักบี้ฟุตบอล

ขอบคุณคนที่ถ่ายรูปนี้เยี่ยมจริง ๆๆๆ

สวัสดีครับพี่อิ๊ด

รู้สึกช่วงนี้พี่ไม่ค่อยได้ออกงานใหม่ๆให้อ่านกันเลย

1.พูดถึงรักบี้ประเพณี VC กับ MCKK วันที่ 3 ต.ค. 52 ครั้งที่ 48 ที่ผ่านมา

พี่นก ฉัตรชัย KC ก็ได้เข้าร่วมชมการเล่นประเพณีในครั้งนี้ด้วยครับ

ดูรูปได้ที่เวป www.vajiravudh.ac.th หัวข้อ ประมวลภาพการแข่งขันรักบี้ประเพณีฯ

และปัจจุบันทางนักเรียนเก่าทั้งสองสถาบันได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคม MCOV (มัคโควี)

เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองสถาบันและสองประเทศ และเมื่อยิ่งมีประเพณีของ KC กับ SDAR ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความเข้าใจซึ่งกันและกันของทั้งสองประเทศ ซึ่งบางทีอาจช่วยกันทำให้ไฟใต้ดับลงได้เร็วยิ่งขึ้นบ้าง(หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น)

ปัจจุบัน VC ยังได้ขยายความสัมพันธ์ร่วมกับโรงเรียน SAAD หรือจะเรียกว่า KYSM ก็ได้(Kolej Yayasan Saad, Melaka) ก็มีรักบี้ประเพณีวันที่ 7 ต.ค.52 ครั้งที่ 7 แล้วครับ

2.อยากให้พี่ช่วยเล่าเรื่องการแข่งขันรักบี้ยุวชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ครั้งที่ 1 ปี2548

ทั้งประวัติความเป็นมา และปัจจุบัน แบ่งการแข่งขันเป็นกี่รุ่น คืออยากจะทราบบ้างว่ารักบี้ตามภูมิภาคของเราเป็นอย่างไรกันบ้างครับ update กันหน่อย แล้วไม่ทราบว่ารายการนี้จะจัดให้คล้ายอย่าง มินิรักบี้สาธิตเกษตร หรือป่าวครับ

“โรงเรียนเพลินพัฒนา” จับมือสมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จัดการแข่งขันมินิรักบี้นานาชาติแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ในวันที่ 11 มีนาคม 2550 แบ่งการแข่งขันออกเป็น 6 รุ่นคือ รุ่นอายุ 7 ปี, 8 ปี, 9 ปี, 10 ปี, 11 ปี และ 12 ปี โดยมีทีมมินิรักบี้ร่วมแข่งขันรวม 9 ทีม อาทิ โรงเรียนเพลินพัฒนา, ทีมรักบี้ซัน จากโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ, ทีมออลบลูส์ จากชมรมมินิรักบี้สามพราน, โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฯลฯโดยมอบรายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดให้กับ “กองทุนมินิรักบี้ยุวชนแห่งประเทศไทย” เพื่อสนับสนุนกีฬารักบี้ยุวชนในโรงเรียนด้อยโอกาสในจังหวัดต่างๆ ต่อไป

จะใช่คนละเรื่องเดียวกันกับ การจัดการแข่งขันรักบี้ยุวชน มมส. หรือป่าวครับ

กลับมาอีกครั้งแล้วครับ รักบี้ประเพณี ราชวิทย์ - วชิราวุธ ครั้งที่ 20 โดยปีนี้ทางราชวิทย์เป็นเจ้าภาพ จะจัดให้มีการแข่งขันขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2552 เวลา 16.30 น. สนามกีฬากองทัพบก ถนนวิภาวดี เชิญมาเป็นกำลังใจให้กับน้องๆด้วยครับ

ยังระลึกถึงพี่วรรณศักดิ์พิจิตร อยู่เสมอ ไม่เคยลืมเลือน อดีตยังคงจดจำได้ เราชาวโนนหนามแท่ง วพ.ศรีสะเกษ ส่งข่าวได้เสมอสำหรับน้องชายคนนี้ ที่ 0896254375

อยากรู้ว่ารักบี้มีตำแหน่งอะไรบ้าง

และร่างกายแบบไหนเล่นตำแหน่งไหน

ยังระลึกถึงอาจารย์อี๊ดเสมอ

แม้ว่าผมจะไปฝากตัวเป็นศิษย์(ที่ไม่ได้เรื่อง)อยู่สามสี่เดือน

แต่ผมก็ยังคิดถึงอาจารย์อี๊ดเสมอนะครับ

เป็นไปได้ก็อนากทำทีมไปเล่นกับ มมส. บ้างซักครั้ง

แต่คงจนปัญญา

ก็ผมมันแค่นักศึกษาเดียวที่อยากสร้างทีมรักบี้ มทร อีสาน วข. สกลนคร

รักและเคารพอย่างสูง

นางสาวรินทร์ณา ทานนท์นอก

สุดยอดจริง ๆ   มมส

ขอร่วมแสดงความยินดีต่อโค๊ชวรรณศักดิ์พิจิตร ที่เสนอบทความที่สร้างสรรคต่อวงการรักบี้หญิงไทย และชาย เพื่อกระตุ้นให้สมาคมฯที่รับผิดชอบต่อผู้ฝึกสอนรากหญ้า ที่ทุ่มเททุกอย่างเพื่อ "วงการรักบี้" อย่างแท้จริง ชอบใจที่ให้ความเห็นถ้าไม่มีทีมรากหญ้า หรือภูธร ทีมชาติหญิงของไทย คงไม่มีโอกาสสัมผัสเหรียญทองแดง " กวางโจวเกมส์" ขอเป็นกำลังใจต่อท่านผู้เสียสละต่อวงการรักบี้หญิงของไทย พบกันที่ " อุตรดิตถ์เกมส์" ระหว่าง 20 - 27 มีนาคม 2554 ณ จังหวัดอุตรดิตถ์นะ

รู้จักอาจารย์ติ๋วคับตอนนี้เขาอยู่ฝ่ายปกครองคับ

เด็กๆและพวกผมวิ่งหนีเขาประจำคับ:)))

เพราะว่ากลัวเขาจะตีแล้วเอาไปฝ่ายปกครอง :))))

สวัสดี คร๊าฟ อาจารย์ นี่เป็นบึนทึกแรกที่ผมเคยอ่าน เปนบันทึกที่ดีเยี่ยมมากมากเลยคร๊าฟ อาจารย์ ^_____^

สวัสดี คร๊าฟ อาจารย์ นี่เป็นบึนทึกแรกที่ผมเคยอ่าน เปนบันทึกที่ดีเยี่ยมมากมากเลยคร๊าฟ อาจารย์ ^_____^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท