6โจ๋"เอกทันต์" โชว์แม่ไม้อินL.A.


เอกทันต์

 

6โจ๋"เอกทันต์" โชว์แม่ไม้อินL.A.


เสียงกลองยาวพร้อมเสียงโหม่งและฉาบให้จังหวะคึกคักดังกังวานแบบไทย กลางบ้านท่านกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส

6 หนุ่มในเสื้อลายดอกประแป้งลายพร้อย โชว์ "แม่ไม้มือกลอง" รับส่งกันราว 5 นาที

เป็นออร์เดิร์ฟเรียกน้ำย่อยให้กับผู้ชมชาวไทยที่มาร่วมงานเลี้ยงเล็กๆ ที่บ้านท่านกงสุลไทย ณ นครลอสแองเจลิส นายจักร บุญ-หลง ที่เปิดบ้านเลี้ยงต้อนรับ นายธีระ สลักเพชร รมว. วัฒนธรรม และคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ผู้สื่อข่าวจากประเทศไทย และคนไทยในสหรัฐอเมริกาจากรัฐต่างๆ เตรียมพร้อมก่อนวันงาน "ไทยนิวเยียร์ สงกรานต์เฟสติวัล 2009" ใจกลางถนนฮอลลีวู้ด สหรัฐอเมริกา

6 หนุ่มคณะ "เอกทันต์" เจ้าของรางวัลชนะเลิศโล่พระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การประกวดดนตรีและศิลปะการแสดงพื้นบ้าน พ.ศ.2552 ประเภท กลองยาว ประกอบด้วย ว่าที่ร.ต.พรรัตนะ ขันทอง หรือยักษ์ หัวหน้าคณะ ว่าที่ร.ต.จตุพร ภักดี หรืออาร์ม ว่าที่ร.ต.ธินวัฒน์ ไทยแท้ หรือต่าย นายอนุชา สีฟัก หรือนุ นายคณศักดิ์ คชเสนีย์ หรือศักดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ นายธนากร รัตนเลิศ หรือเหมา น้องน้อยในวง

ทั้งหมดเป็นนักเรียนและนักศึกษาสาขานาฏศิลป์ไทย (โขน) วิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม โดยยักษ์ซึ่งมีรูปร่างใหญ่ เรียนโขนยักษ์ อีก 5 คนเรียนโขนลิง

แม้จะร่ำเรียนมาทางโขน แต่พวกเขาเห็นว่าหากเรียนแต่โขนก็จะได้แค่วิชาโขนเท่านั้น

"ถ้าเราใฝ่ทางนาฏศิลป์ เราต้องได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นละคร ฟ้อน รำ ดนตรี การแสดง" อาร์มเกริ่นนำถึงการรวมตัวของหนุ่มโจ๋นาฏศิลป์ ก่อนเล่าต่อว่า




ครูของพวกเขาคือ อาจารย์เกษม ทองอร่าม น้องชาย ครูมืด ประสาท ทองอร่าม นักพากย์โขนชื่อดังของกรมศิลป์ อาจารย์เกษมมีคณะแสดงชื่อ "คณะเอกทนต์" พวกเราเป็นลูกศิษย์เอกทนต์ จึงตั้งชื่อตามครูว่า "คณะเอกทันต์"

ไม่เพียงจะสืบสาน "ลูกกลอง" เท่านั้น พวกเขายังสร้างสรรค์การแสดง ใหม่ๆ แต่ยังคงจารีตการละเล่นของไทยเดิมไว้

"การฝึกซ้อมกลองยาว เราต้องฝึก "ลูกกลอง" ถ้าเปรียบเทียบกับกีตาร์ก็คงเหมือนคอร์ดที่ใส่ลูกเล่นเข้าไป" ยักษ์เล่าพร้อมอธิบายว่า "ลูกกลอง" จะแยกเป็น กราว, ป๊ะ 7 ที และ 3 บอม

และยังมี "แม่ไม้มือกลอง" คือ "ป๊ะ เทิ่ง บอม, บอม บอม บอม ซึ่งเป็นจังหวะพม่าเดินทัพ และ เทิ่ง บ่อม บ่อม บ่อม"

ถามถึงการส่งสายตากันระหว่างเล่น ยักษ์บอกว่า ก่อนเล่นเราจะนัดกันก่อน แต่พอเล่นๆ ไปอาจมีการเปลี่ยนแปลง เราจะส่งซิกกันด้วยสายตา หากอาจารย์หรือหัวหน้าคณะพยักหน้าหมายถึงให้จังหวะ "ลง" หรือ "บากลูกกลอง" ฝึกซ้อมกันบ่อยๆ จะรู้ใจกันเอง

ความภูมิใจของเด็กหนุ่มคณะเอกทันต์คือ การตามเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เยือนฝรั่งเศส ท่านทรงระนาดประกอบกลองยาวกับคณะเอกทันต์

ตลอดช่วงสายและบ่ายวันที่ 5 เมษายน 2552 ใจกลางถนนฮอลลีวู้ด นครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียในงานสงกรานตŒเฟสติวัล การแสดงของเด็กไทยทั้ง 6 ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ ท่าม กลางผู้ชมชาวไทยและชาวต่างชาติแน่นขนัด

ศักดิ์เริ่มรำฟ้อนดาบ ไม่ทันไรก็เรียกเสียงกรี๊ดลั่นถนนฮอลลีวู้ด



ศักดิ์เล่าว่า เป็นการรำโชว์เพื่อเรียกคนดูด้วยท่วงท่าที่สวยงาม อ่อนช้อยแต่ดูขลัง ผมเล่นกับคนดูด้วยการทำท่าจะกลิ้งทับ แต่หยุดไว้ก่อนเพื่อให้หวาดเสียว ก่อนจะกลิ้งทับจริงๆ เป็นการแสดงที่ต้องผ่านการฝึกซ้อมมานานถึงจะทำได้ ปรากฏว่าเรียกเสียงกรี๊ดหนักเข้าไปอีก

ต่อด้วย มวยโบราณ งานนี้ยักษ์รับหน้าที่กรรมการ ปล่อยให้สองหนุ่มต่างไซซ์ ต่ายและนุแลกหมัดกัน

นุเล่าว่า มันมากครับ เพราะเป็นมวยตลก แต่โชว์แม่ไม้มวยไทยครบเครื่อง ทั้งศอก เข่า มีทั้งมุขโหด มุขฮาที่พลาดไปต่อยกรรมการ ยิ่งคนดูฮาเราก็ยิ่งสนุก เล่นกันเต็มที่

มาที่ พลองกับไม้สั้น เป็นทีของศักดิ์และน้องเล็ก-เหมา ผลัดกันรุกผลัดกันรับ แทรกมุขตลกพร้อมท่วงท่าที่ดูสวยงามเช่นกัน คนดูชอบ

มาถึง ระบำชนไก่ อาร์มและต่ายซึ่งสวมใส่ชุดไก่เล่าว่า คนประดิษฐ์คิดท่าทาง มาจากการต่อสู้ของไก่ชนจริงๆ ทั้งท่าเดิน ท่าตี ท่าจิกกัน ท่าคุ้ยเขี่ย เพื่อนๆ ที่เหลือจะสวมบทเจ้าของไก่และคนเชียร์ บางครั้งไก่เองก็วิ่งไปตีทั้งคนเชียร์และเจ้าของไก่ เรียกเสียงฮาอีกยก

ปิดท้ายด้วยรำกลองยาว ที่ชวนให้คนไทยในแอลเอหวนคิดถึงบ้าน ทั้ง 6 หนุ่มรำแต้ออกไปโค้งสาวไทยออกมาร่วมรำวงอวดศิลปะไทยท่ามกลางความสนุก อบอุ่นและรอยยิ้ม

"เป็นชุดที่แฮปปี้มากๆ ครับ คนดูชอบ ขอให้ลงมาเล่นข้างล่าง เล่นข้างล่างเสร็จก็ขอให้ขึ้นไปเล่นข้างบนอีก ตลอดการแสดงเขาจะปรบมือขยับเท้าไปด้วย" อาร์มเล่า ยักษ์เสริมว่า ผมคิดว่าเขาเห็นคนไทยเขาคงดีใจ ยิ่งรู้ว่าเรามาจากเมืองไทยยิ่งดีใจเข้าไปอีก ให้ทิปเยอะมาก

"เราตั้งเป้าไว้ว่าจะได้ทิป 100-200 ดอลลาร์ ปรากฏว่าได้มาตั้ง 700 ดอลล์" อาร์มเล่าพร้อมรอยยิ้มกว้าง

หันไปถามความรู้สึกต่ายบ้าง คำตอบแรกที่ได้รับ!!

"ผมเก่ง!! ผมรำเต็มที่ เล่นจนเท้าพองเลยครับ ถึงจะเหนื่อย แต่สนุก ยิ่งพอเล่นไปแล้วได้รับการตอบรับกลับมาทำให้เราหายเหนื่อย และยิ่งคึกเล่นกันเต็มที่เลยครับ"

มาที่ เหมา โขนลิงวัย 15 ที่มีอีกความสามารถคือการเต้นบีบอย เล่าว่า การแสดงโขนใช้ร่างกายที่เน้นช่วงล่าง ขณะที่บีบอยต้องใช้ร่างกายส่วนบน ร่างกายจึงต้องแข็งแรงทุกส่วน สำหรับผมอายุเท่านี้แต่ได้มาแสดงถึงอเมริกาถือว่าภูมิใจครับ

น.ส.กิตติพร ใจบุญ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ สวช. ซึ่งคอยดูแลเยาวชนคณะนี้ตลอดการแสดงในแอลเอ ให้สัมภาษณ์ว่า เด็กๆ คณะเอกทันต์กลุ่มนี้ทำงานเป็นระบบ ค่อนข้างจะมืออาชีพ เป็นการโชว์การอนุรักษ์ศิลปะดั้งเดิมของไทยที่คนไทยเองยังหาดูยาก สิ่งที่นำไปแสดงในแอลเอนอกจากจะช่วยอนุรักษ์ศิลปะไทย ยังทำให้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติได้เสพศิลปะไทย "ของแท้" จริงๆ

อาร์ม เลขาฯ หนุ่มของคณะ เยาวชนดีเด่นกรุงเทพมหานคร (ประกายเพชร) ปี 2550 สาขาส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม กล่าวทิ้งท้ายถึง ทริปแอลเอครั้งนี้ว่า ตอนนี้พวกผมลุ้นว่าจะได้แสดงอีกที่ชิคาโก เดือนกรกฎาคมนี้ เพราะท่านกงสุล ณ นครชิคาโก เห็นพวกเราตีกลองยาวที่บ้านท่านกงสุลแอลเอ ท่านอยากให้พวกเรามาแสดงครับ

"มาครั้งนี้ ทันทีที่ผมก้าวเข้าสนามบินแอลเอ มีคนไทยมารอรับ ผมอบอุ่น และเห็นว่าคนไทยไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็รักกัน สามัคคีกัน

"และไม่ทิ้งประเพณีไทย"

วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6713 ข่าวสดรายวัน

คอลัมน์ สดจากเยาวชน
พัชรินทร์ พลายพูลทรัพย์

หน้า 24

ภาพความประทับใจในอเมริกา

     คณะเอกทันต์ โดย จากซ้าย ยักษ์ ต่าย                        คณะกลองยาวเอกทันต์ถ่ายภาพร่วมกับ

เหมา อาร์ม นุ ศักดิ์ โชว์ การแสดงในงานเลี้ยง                                  ท่านธีระ  สลักเพชร

รับรองที่บ้านท่านกงสุลใหญ่ นครลอสแอนเจลิส                     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

 



ถ่ายยภาพร่วมกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง                 คณะเอกทันต์ถ่ายภาพกับ พี่ตุ้ย แห่ง สวช.

วัฒนธรรมในพิธีมอบเกียรติบัตริการเข้าร่วมงาน           ( กิตติพร  ใจบุญ ) ผู้ดูแลคณะตลอดเวลาที่อยู่

ไทยนิวเยียร์เดย์ เฟสติวัล 2009 ณ อเมริกา                                            อเมริกา

 


  นุ ยักษ์ ต่าย  โชว์ลีลา มวยโบราณ เวทีกลางแจ้ง        ศักดิ์ กับลีลาการฟ้อนดาบ เวทีกลางแจ้ง

 

          

อาร์ม ต่าย โชว์ลีลาการรำกลองยาวพร้อมคณะ                     ศักดิ์โชว์ฟ้อนดาบเวทีกลาง

                          เอกทันต์

 

        ยักษ์ นุ ต่าย กับลีลามวยโบราณ                    ศักดิ์ (น้ำเงิน) - เหมา (แดง) ต่อสู้ด้วยพลอง-ไม้สั้น

 

อาร์ม (เขียว) - ต่าย (แดง) โชว์ระบำชนไก่            การแสดงปิดท้าย โชว์การแสดงกลองยาวของ

                                                                   คณะเอกทันต์ ที่ได้รับเสียงปรบมือดังกึกก้องมาก

 

ผลงานการแสดง คือทริปที่มากมาย  อันเป็นกำลัง                    ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันอีกครั้ง

         ใจแก่นักแสดงคณะเอกทันต์ทุกคน

 

 

    ความของความสนุกสนานและประทับใจ      คณะของการเดินทางครั้งนี้ จากซ้าย พี่หลิน แห่งข่าวสด

                                                             อาร์ม  ศักดิ์  นุ (ยืน ต่าย  พี่ตุ้ย แห่ง สวช. )  น้องเหมา

                                                             และ ยักษ์

" การรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ คืองานของเยาวชน และคนไทยทุกคน  เราหนึ่งในเยาวชนคนไทยขอร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและการแสดงนาฏกรรมชั้นสูงของไทยให้อยู่คู่ประเทศชาติตลอดไปตราบนานเท่านาน " 

                                                                                                   สวัสดี

                                                                                 ว่าที่ร้อยตรี จตุพร  ภักดี  ผู้เขียน

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 274177เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2009 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ คืองานของเยาวชน และคนไทยทุกคน 

ขอบคุณค่ะ

มีความสุขในทุกๆวัน นะคะ

สวัดดีค่ะ.............พี่อาร์ม ชอบการโชว์กลองยาวมากค่ะ ดูแล้วมันไม่เหมือนใครดี สร้างผลงานมาให้ดูอีกนะคะ จะคอยเป็นกำลังใจให้ค่ะ สู้ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท