วิพากษ์นโยบายการศึกษาของรัฐบาลอภิสิทธิ์


 

                                วิพากษ์นโยบายการศึกษาของรัฐบาลอภิสิทธิ์

 

            เมื่อคุณอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นนายกรัฐมนตรี  สิ่งแรกที่แถลงออกมาคือจะให้ความสำคัญกับการศึกษาและจะดูแลการศึกษาด้วยตนเอง  ทำเอาคนวงการศึกษาดีใจไปตามๆ กัน  แต่เมื่อจัดตั้งรัฐบาลออกมา  ปรากฏว่าทั้งรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  เป็นคนที่คนวงการศึกษาไม่รู้จัก  ที่พอรู้จักบ้างก็ไม่เคยมีบทบาทสำคัญอะไรเกี่ยวกับการศึกษา  แต่กระนั้นก็ยังหวังว่านโยบายการศึกษาจะมีอะไรที่แตกต่างจากรัฐบาลอื่นบ้าง

            พอนโยบายแถลงออกมา  ทุกคนก็พูดตรงกันว่าไม่เห็นมีอะไรใหม่  เป็นเรื่องเก่าๆ ที่พูดกันซ้ำแล้วซ้ำอีกแทบทั้งสิ้น  บางเรื่องก็พูดมาเป็น 10 ปีหรือกว่านั้น  แม้ว่าจะเป็นเรื่องเก่าพูดแล้วพูดอีก  แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ  ที่สำคัญขอให้เอาจริงอย่าให้ดีแต่พูด  นโยบายการศึกษา 8  ข้อที่แถลงออกมา  น่าจะครอบคลุมเรื่องสำคัญๆ ที่เป็นนโยบายหลักได้หมด  แต่ถ้าพิจารณาโดยละเอียด  เห็นว่ามีเรื่องหนึ่งที่น่าจะเป็นนโยบายสำคัญ แต่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

            จำได้ว่าเมื่อประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลสมัยก่อนได้มีนโยบายสำคัญเรื่องหนึ่ง  คือ นโยบายการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่องค์กรปกครองท้องถิ่น  ถึงกับมีพระราชบัญญัติกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจ  และมีการมอบหมายให้กระทรวงต่างๆ ทำแผน กระจายอำนาจกระทรวงศึกษาธิการก็ถูกกำหนดและถูกเร่งรัดให้ดำเนินการกระจายอำนาจด้วย

นี่เป็นที่มาของการถ่ายโอนสถานศึกษาสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และทำให้เกิดปัญหาเรื่องการถ่ายโอนมาจนถึงทุกวันนี้ 

เรื่องการถ่ายโอน  เป็นนโยบายของประชาธิปัตย์มาก่อน  และเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน  รัฐบาลจะจัดการอย่างไรควรกล่าวให้ชัดเจน ที่กำหนดไว้ในนโยบายก็เขียนคลุมเครือว่า  ตลอดจนส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่เป้าหมายคุณภาพการศึกษา    ดูแล้วไม่ชัดเจนเลย และไม่ได้เป็นหัวข้อใหญ่ด้วย  แสดงว่าไม่ใช่ข้อหลัก  คงไม่เอาจริงกระมัง

            ที่เป็นข้อหลักและที่รัฐบาลพยายามทำให้เป็นข่าวมาโดยตลอดก็คือเรื่องการศึกษาฟรี  15 ปี  ที่จริงคำว่า ฟรี  เป็นภาษาพูดที่ยืมคำต่างประเทศมาใช้  จึงดูไม่เหมาะสมเท่าไร  แต่ดูความตั้งใจแล้วคงต้องการสื่อสารให้เข้าใจง่าย  จะใช้ก็ไม่ว่ากัน  คำว่า  การศึกษาฟรี   เป็นคำที่

 

ไม่ได้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ  และไม่ได้มีอยู่ในพระราชบัญญัติการศึกษา  จำได้ว่าในพระราชบัญญัติใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ว่า  บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ที่รัฐจัดให้อย่างทั่วถึงมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย  ส่วนรัฐธรรมนูญปัจจุบันใช้คำว่าการศึกษาเฉยๆ  ตัดคำว่าพื้นฐานออกไป  ประเด็นอยู่ที่ว่า การศึกษาฟรี กับการศึกษาที่รัฐจัดให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เหมือนกันหรือไม่  ชัดเจนว่าตัวหนังสือไม่เหมือนกัน  ความหมายจึงไม่น่าจะเหมือนกัน

            ผู้เขียนเคยแลกเปลี่ยนความเห็นกับรัฐบาลก่อนๆ  ตรงคำว่ารัฐจัดให้กับการศึกษาฟรีไม่น่าจะเหมือนกัน  คำว่าฟรีแปลว่าทุกคนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ว่ากรณีใดๆ  แต่ที่รัฐจัดให้แปลว่าฟรีเฉพาะที่รัฐจัดให้  อะไรที่รัฐไม่ได้จัดก็ไม่ต้องฟรี  เช่นการศึกษาเอกชนรัฐไม่ได้จัดก็ไม่ต้องฟรี และไม่มีกฎหมายข้อใดกำหนดให้รัฐต้องตามไปจ่ายในโรงเรียนเอกชน  ซึ่งก็น่าจะถูกต้องเพราะถ้ารัฐเป็นผู้จ่าย  รัฐก็จะไปควบคุมโรงเรียนเอกชน ซึ่งโรงเรียนเอกชนก็ไม่ต้องการ  หรือแม้ในโรงเรียนของรัฐบาล  บางอย่างรัฐไม่ใช่ผู้จัดแต่ผู้ปกครองจัดกันเอง  เขาก็น่าจะเก็บกันเองได้ เพื่อประโยชน์ของลูกหลานของเขาเอง  แต่เมื่อไปบอกว่าฟรี  ถ้าโรงเรียนหรือผู้ปกครองดำริจะทำอะไร  ต้องใช้เงินใช้ทองก็จะเกิดปัญหาทันที  ผู้บริหารที่คิดจะทำอะไรก็ต้องเสี่ยงต่อการร้องเรียน  ผลสุดท้ายก็เลยไม่ทำอะไรดีกว่า

            นโยบายการศึกษาที่สำคัญที่สุด  เพราะใส่ไว้เป็นข้อ 1  แต่ยังไม่เห็นขยับอะไรมากนักคือ ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบโดยปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ   ที่ไม่สอดคล้องก็ตรงที่ยกมาก่อนแล้ว   คือ  คำว่าการศึกษาที่รัฐจัดให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย   ซึ่งใน พ.ร.บ.  เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ประเด็นนี้ไม่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญเท่าไร  เพราะแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ใช้คำว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน  แต่นโยบายการศึกษาฟรี 15ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็แปลว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ดี

            ที่น่าสนใจของนโยบายนี้อยู่ที่คำว่า ปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นคำเก่า เอามาใช้ใหม่   ปฏิรูปโดยนัยหมายถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใกล้ๆ ปฏิวัติ   ประเทศไทยได้ทำไปแล้ว  ถ้าจะทำอีกต้องเป็นปฏิสังขรณ์  ไม่ใช่ปฏิรูป  แต่จริงๆ คงหมายถึงจะปรับปรุงโครงสร้างและระบบการศึกษาอีกครั้ง หลังจากที่พรรคโน้นดึงไปพรรคนี้ดันมาจนบิดเบี้ยวไม่เข้ารูปเข้ารอย

            อยากเสนอว่าปฏิรูปการศึกษาอีกรอบก็ได้ ไม่เสียหายอะไร ถ้าทำให้ดีขึ้น  แต่ต้องทบทวนหลักการให้ดีเสียก่อน

            หลักการที่ยึดถือคือ หลักเอกภาพในนโบาย หลากหลายปฏิบัติ หลักการให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา หลักการกระจายอำนาจให้ถึงมือประชาชน ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า

 

Education for All   และ  All for Education  การศึกษาเป็นของทุกคน  ทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา  นอกจากนี้ยังมีหลักการย่อยๆ  เช่น หลักการเรื่องคุณภาพการศึกษา  หลักการศึกษาตลอดชีวิต เป็นต้น  ถ้าปฏิรูปกันใหม่โดยไม่คิดถึงหลักการใหญ่ไว้  เกรงว่าจะพากันเข้ารกเข้าพงกันใหญ่

            พูดถึงการปฏิรูป และการศึกษาฟรี  ได้ข่าวว่ารัฐจะซื้อหนังสือเรียนให้โดยจะใช้หนังสือขององค์การค้าของคุรุสภาเป็นหลัก  ก็เป็นเรื่องที่น่าจะดี  แต่สำคัญอยู่ที่ว่า พ.ร.บ.การศึกษามีเจตนาให้มีการแข่งขันกันผลิตสื่อและหนังสือเรียน  เพื่อจะได้แข่งขันกันพัฒนาเรื่องคุณภาพ  ถ้าคิดจะควบคุม ผลก็กระทบต่อคุณภาพของหนังสือ  แล้วก็จะทำให้ไม่เกิดคุณภาพต่อผู้เรียน  การคิดจะควบคุมอะไรก็ควรพิจารณาถึงหลักการสำคัญของเรื่องนั้นๆ  ก่อนด้วยก็จะดี

                                                                       

                                                                    ดร.พนม   พงษ์ไพบูลย์

ประธานชมรมข้าราชการและครูอาวุโส

ของกระทรวงศึกษาธิการ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 273733เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2009 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท