15 วิธีลดแน่นท้องจากโรคกรดไหลย้อน(ตอน 2)


โรคกรดไหลย้อนอาจทำให้เกิดอาการแน่นท้อง ท้องอืด ปวดท้อง แสบร้อนที่ลิ้นปี่ แสบร้อนหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน

ถ้าอาเจียน... ควรสังเกตด้วยว่า มีสีเขียวของน้ำดีปนอยู่ด้วยหรือไม่ เนื่องจากการรักษาจะใช้ยาต่างกัน (วิธีที่ดีคือ ถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล นำไปให้หมอใกล้บ้านดู)

... 

คนไข้บางคนมีอาการไอเรื้อรัง เสียงแหบ ฟันสึก เสียวฟัน เจ็บคอ แสบคอบ่อย, อาการมักจะทุเลาลงหลังดื่มน้ำ กินยาลดกรด

การไม่ปรับเปลี่ยนแบบแผนการใช้ชีวิต หรือไลฟ์สไตล์อาจทำให้หลอดอาหารอักเสบ เป็นแผล หรือเยื่อบุหลอดอาหารเปลี่ยนสภาพเป็นสภาวะเสี่ยงมะเร็ง (Barrett's esophagus) ได้

...

การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า โรคนี้มีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม 31-43% ทำให้ญาติๆ อาจมีอาการคล้ายๆ กันได้,

คนที่เป็นโรคหอบหืดเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลจากกรดไหลย้อนทำให้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง

...

วิธีลดอาการโรคกรดไหลย้อนหรือเกิร์ดที่สำคัญได้แก่

  • (1). ลดความอ้วนถ้าน้ำหนักเกิน
  • (2). เปลี่ยนจากอ้วนไม่ฟิตเป็นอ้วนฟิต (แข็งแรง) ด้วยการออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ เพื่อลดไขมันในช่องท้อง หรือภาวะอ้วนลงพุง
  • (3). ไม่กินอาหารมื้อใหญ่เกิน
  • (4). ไม่กินข้าวคำ-น้ำคำ หรือดื่มน้ำระหว่างมื้อมากเกิน
  • (5). ไม่กินไป-พูดไป ซึ่งเพิ่มโอกาสกลืนลม (อากาศ) ลงไป

...

  • (6). ไม่ดื่มน้ำอัดลม เบียร์ ซึ่งเพิ่มปริมาตรอาหารด้วยน้ำและลม
  • (7). ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ
  • (8). ลดกินอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะอาหารทอด
  • (9). ลดอาหารแสลง ซึ่งแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน วิธีที่ดีคือ จดรายการอาหารแต่ละมื้อ และบันทึกว่า มื้อไหนอาการมากขึ้น... เมื่อทดลองกินซ้ำ 2-3 ครั้งแล้วเกิดอาการเหมือนเดิมอีก จะได้ลดปริมาณให้น้อยลง หรือเลี่ยงอาหารแสลง
  • อาหารแสลงโรคกรดไหลย้อนที่พบบ่อยได้แก่ เหล้า เบียร์ ไวน์ แอลกอฮอล์ เครื่องเทศ น้ำส้มสายชู หัวหอม ชอคโกแล็ต มิ้นท์ (mint / สะระแหน่ อาจผสมในหมากฝรั่ง) ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น เครื่องดื่มกระตุ้นกำลัง ฯลฯ น้ำส้ม น้ำมะเขือเทศ 
  • (10). ไม่เอนนอนหลังอาหาร 2-3 ชั่วโมง... ถ้าติดนิสัยงีบหลังอาหาร ควรใช้เตียงที่พับด้านหัวขึ้นได้ หรือเบาะนอนรูป 3 เหลี่ยมช่วยพยุง

...

  • (11). การนอนตะแคงซ้ายอาจช่วยบรรเทาอาการได้ เนื่องจากท่านี้จะทำให้กระเพาะอาหารอยู่ต่ำกว่าหลอดอาหาร, ตรงกันข้ามท่านอนตะแคงขวาจะทำให้กระเพาะฯ อยู่สูงกว่าหลอดอาหาร และอาจทำให้อาการมากขึ้น
  • (12). ไม่สวมเสื้อผ้าคับ โดยเฉพาะอย่ารัดเข็มขัดแน่น หรือใส่กางเกงฟิต
  • (13). ไม่สูบบุหรี่
  • (14). ไม่กินยากดการอักเสบ (NSAIDs) โดยไม่มีข้อบ่งชี้ (คนไข้จำนวนมากชอบกดดันหมอให้จ่ายยานี้ โดยเฉพาะคนไข้รักษาฟรี)
  • (15). การเคี้ยวหมากฝรั่งหลังอาหาร ทำให้การหลั่งน้ำลายมากขึ้น และอาจช่วยลดอาการได้ (ควรบ้วนปากหลังอาหารหลายๆ ครั้งก่อน)

...

ภาพที่ 8,9: กระเพาะอาหารอยู่ค่อนไปทางซ้าย; [ อ้างอิงที่มา + อ่านตัวอักษรตัวโตที่นี่ ]

  • ภาพบนแสดงท่านอนตะแคงซ้าย-มองจากด้านหน้า > กระเพาะฯ อยู่ต่ำกว่าหลอดอาหาร กรดไหลย้อนได้ยากขึ้น
  • ภาพล่างแสดงท่านอนตะแคงขวา-มองจากด้านหลัง > กระเพาะฯ อยู่สูงกว่าหลอดอาหาร กรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น 

... 

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ [ นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง ]

หมายเลขบันทึก: 273732เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2009 15:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท