ชีวิประวัติและแนวคิดทางการศึกษาของอิมามอะฮฺมัด อิบนุฮัมบัล


แนวคิดอีกทางเลือกหนึ่งทางการศึกษา

 

ชีวประวัติและแนวคิดทางการศึกษาของอิมามอะฮฺมัด อิบนุฮัมบัล

 

ตำแหน่งของท่านอิมามอะฮฺมัด อิบนุฮัมบัล

                ท่านอิมามอะฮฺมัด อิบนุฮัมบัล เป็นอิมามอันดับที่สี่ จากบรรดาอิมามแห่งฟุก็ฮาอ์ หรือบรรดานักกฎหมายอิสลาม ท่านดำรงชีพอยู่ในรัชสมัยของราชวงศ์อัล อับบาซีย์ ซึ่งเป็นยุคที่วัฒนธรรมและอิทธิพลทางด้านต่างๆ จากเปอร์เซีย เข้าครอบงำความเป็นอยู่ในอาหรับอย่างมากมายจนเป็นเหตุให้เกิดการขัดแย้งและโต้เถียงกันในเรื่องต่างๆ อยู่เนืองๆ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือในเรื่องของการครองอำนาจในดินแดนแห่งนี้

 

การเกิดของท่านอิมามอะฮฺมัด อิบนุฮัมบัล

                ท่านอิมามอะฮฺมัด อิบนุฮัมบัล เกิดที่นครบัดาด (แบกแดด) ในเดือนรอบีอุลเอาวัล ปีฮิจเราะห์ศักราชที่ 164  ท่านมีนามเต็มว่า อะบูอับดุลลอฮฺ อะฮฺมมัด บินมุฮัมมัด บินฮัมบัล บินฮิลาล อิบนุอะซัด บินอิดรีส บินอับดุลลอฮฺ บิดาของท่านได้สิ้นชีพเสียตั้งแต่เมื่อท่านยังเยาว์วัยอยู่ ดังนั้นท่านจึงเป็นเด็กกำพร้าที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูแลการอบรมสั่งสอนของท่านผู้เป็นมารดา ซึ่งมีนามว่า ศอฟียะฮฺ บิติมัยมูนะฮฺ บินติออับดุบมะลิก อัชไชบานีย์ สําหรับตระกูลอัชไชบานีย์นั้น มีถิ่นฐานอยู่ที่บะศีเราะฮฺ ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในประเทศอิรัค ดังนั้นจึงมีคนในสมัยของท่านอิมามอิบนุฮัมบัล เรียกท่านว่าบะศีรีย์

 

ชีวิตของท่านอิมามอะฮฺมัด อิบนุฮัมบัล

                ท่านอิมามอะฮมัด อิบนุฮัมบัลดำเนินชีวิตอย่างคนจนๆธรรมดา ทั้งนี้เพราะบิดาของท่านมิได้ทิ้งทรัพย์สมบัติตกทอดไว้เป็นมรดกแก่ท่านเลยเมื่อสิ้นชีพไปแล้ว คงมีแต่เพียงบ้านเล็กๆหลังหนึ่งไว้เป็นที่พักอาศัยเท่านั้น ดังนั้นชีวิตของท่านอิบนุฮัมบัล จึงดําเนินไปด้วยความยากลำบากต้องต่อสู้กับความยากจน และอุปสรรคต่างๆที่ถาโถมเข้ามาสู่ชีวิตของท่าน ท่านต้องประกอบอาชีพด้วยความขยันขันแข็ง โดยไม่เลือกงานขอแต่เพียงให้เป็นงานสุจริตที่นำรายได้มาให้ท่านประทังชีวิตได้เท่านั้นก็เป็นการเพียงพอแล้ว ท่านเคยรับจ้างเย็บเสื้อผ้า เคยเก็บของตกหล่นจากไร่หลังจากเก็บเกี่ยวไปแล้ว แต่การกระทำเช่นนั้นท่านกระทำไปโดยได้รับอนุญาตอย่างยินดี จากเจ้าของไร่เคยทอผ้าออกขาย บางครั้งเมื่อถึงคราวจำเป็น ประวัติก็ยังเล่าว่า ท่านเคยรับจ้างเป็นกรรมกรแบกหามตามท้องถนน แสดงว่าท่านเป็นคนที่ไม่เลือกงานโดยใหเกียรติงานทุกอาชีพเสมอเหมือนกันหมดขอให้เป็นงานที่ฮะลาลและจะไม่ยอมทำเด็ดขาด ถ้างานนั้นเป็นงานที่ต้องห้าม หรือแม้แต่เพียงชุบฮัต คือไม่แน่ว่าจะเป็นสิ่งอนุมัติหรือต้องห้ามก็ตาม

 

                ตามประวัติของท่านยังเล่าไว้อีกว่า ท่านอิมามอะฮฺมัด อิบนุ ฮัมบัลได้มีโอกาสเดินทางไปบำเพ็ญฮัจญ์ ณ นครมักกะฮถึงห้าครั้งในชีวิตของท่าน แต่ในจำนวนนี้ท่านเดินทางไปโดยเท้าเปล่าถึงสามครั้ง ซึ่งปรากฏว่าครั้งหนึ่งท่านใช้จ่ายทั้งหมดในการเดินทางและค่ากินอยู่เพียงสามสิบดิรฮัมเท่านั้น ในระหว่างที่ท่านศึกษาอยู่ที่อัลกูฟะฮฺ นั้น ท่านก็ใช้ชีวิตอย่างคนจนๆคนหนึ่งโดยไม่นิยมการดำเนินชีวิตอย่างโอ่อ่าฟุ่มเฟือยแม้แต่ในเวลานอน ท่านก็ยังใช้ก้อนหินหนุนศีรษะต่างหมอน

 

                ท่านอิบนุฮัมบัลมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้เดินทางไปศึกษากับท่าน ยะรีร อิบนุอับดุลฮะมีด ที่เมืองร็อย แต่ท่านก็ไม่มีค่าเดินทาง ท่านถึงกับปรารภว่า "ถ้าฉันมีเงินสักเก้าสิบดิรฮัมเท่านั้น ฉันก็คงไปถึงท่านยะรีร อิบนุ อับดุลฮะมีดแล้ว เพื่อนฝูงของฉันเขาไปกันหมดแล้ว แต่ฉันไม่สามารถจะไปได้ เพราะฉันไม่มีอะไรเลย(ที่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง)"

 

                และเมื่อครั้งที่ท่านเดินทางไปศึกษาที่ยะมัน(เยเมน) ก็ปรากฏว่าท่านเดินทางร่วมไปกับพวกกรรมกรแบกหาม จนกระทั้งถึงเมืองซอนอาอ์ แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์และน่าคิดยิ่งก็คือ ตลอดชีวิตของท่านปรากฏว่าท่านไม่ยอมรับของให้ และไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากผู้ใดเลย

 

เป้าหมายการศึกษาของท่านอิมามอะฮฺมัด อิบนุฮัมบัล

เป็นผู้ที่ความอุตสาหะและขวนขวายในด้านการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้ท่องจำอัลกุรอ่าน ศึกษาด้านภาษาตลอดจนการขีดเขียนตั้งแต่มีอายุได้ ปี  และเติบโตขึ้นในฐานะผู้มีความงามรักอย่างยิ่งยวดต่อการศึกษาหาความรู้ มารดาของท่านเองก็มีความปรารถนาและสนับสนุนที่จะให้ท่านศึกษาหาความรู้มากที่สุด แต่บางครั้งก็มีความห่วงใย เช่นมารดาทั่วๆไป เช่น ท่านอิบนุฮัมบัล เคยเล่าถึงตัวท่านเองว่าท่านมักจะเตรียมตัวออกไปรับการศึกษาตั้งแต่ก่อนแสงอรุณจะขึ้น มารดาของท่านก็ช่วยท่านตระเตรียมเสื้อผ้าแต่ถึงกระนั้นก็พยายามหน่วงเหนี่ยวท่านไว้จนกว่าผู้คนจะตื่นนอนกันเสียก่อนจึงจะให้ท่านออกเดินทาง

 

และด้วยความมุ่งมั่นทางด้านการศึกษานี้เองทำให้ทานเดินทางไปตามหัวเมืองต่างทั้งๆ ที่ท่านเองก็ยากจน ท่านเดินทางไปศึกษายังมักกะฮ มดีนะฮ ชาม (ซีเรีย) (เยมัน) กูฟะฮฺ และบะศีเราะฮฺ จนกระทั่งผู้รู้จักท่านคนหนึ่งได้เห็นท่านเดินทางบ่อยครั้ง จึงกล่าวขึ้นกับท่านในทำนองประหลาดใจว่า ครั้งหนึ่ง ท่านเดินทางไปอัลกูฟะฮฺ แล้วอีกครั้งหนึ่งก็ไปอัล บะศีเราะฮฺ ไม่ทราบว่าจะไปจนถึงไหน

สถานที่แห่งแรกที่ท่านเดินทางไปศึกษาก็คือ ที่กูฟะฮฺ เมื่อฮ.ศ. 183 ซึ่งครูของท่านที่เมืองนั้นคือฮะซีม อิบนุบะซีร ท่านเดินทางไปศึกษาที่บะศีเราะฮฺเป็นครั้งแรกเมืองฮ.ศ. 186 และเดินทางไปบำเพ็ญฮัจญ์ครั้งแรกเมื่อ ฮ.ศ. 187 มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับท่านอิบนุฮัมบัลอยู่เรื่องหนึ่งเท็จจริงอยู่ที่ผู้เล่าสืบต่อกันมา เรื่องมีอยู่ว่า ท่านอิบนุฮัมบัล มีความสนใจในการศึกษาด้านฮะดีษมาก ท่านจึงเดินทางจากบัฆดาด(แบกแดด) ไปยังซาม (ซีเรีย) เพื่อจะรับฟังฮะดีษจากนักฮะดีษที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดแห่งยุคในเมืองนั้น และเมื่อท่านไปถึง ก็พบนักเล่าฮะดีษผู้นั้น กำลังให้อาหารแก่สุนัขตัวหนึ่งอยู่ ท่านอิบนุฮัมบัล เข้าไปหาแล้วก็นั่งคอยอยู่ ท่านอินุฮัมบัลเข้าไปหาแล้วก้มนังคอยอยู่ แต่นักฮะดีษผู้นั้นก็ยังให้อาหารแก่สุนัขต่อไปอีเป็นเวลานานจนท่านอิบนุฮัมบัลกระสับกระส่ายและเริ่มไม่พอใจ จนกระทั่งนักฮะดีษผู้นั้นให้อาหารสุนัขจนเสร็จแล้ว จึงหัน มาทางท่านอิบนุฮัทบัลพลางกล่าวว่าหวังว่าท่านคงจะพบฉันภายในใจของท่าน ท่านอิบนุฮัมบัลก็ตอบรับว่าใช่ นักฮะดีษผู้นั้นจึงกล่าวต่อไปว่าแท้จริงในแผ่นดินของเรานี้ไม่มีสุนัข และความจริงสุนัขตัวนี้ได้มุ่งมาหาฉันพร้อมกับแสดงกิริยาท่าทีต่อฉันเพื่อจะให้ฉันให้อาหารและน้ำแก่มัน ฉันจึงรู้ว่ามันหิวและกระกาย ฉันจึงได้สนองความต้องการของมันด้วยการให้อาหารและน้ำมันกิน ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า ฉันได้ยินจากอะบีอัซซันนาด ซึ่งเล่ามาจากอัล อะรีจญ์ โดยเล่ามาจากอบีฮุร็อยเราะฮฺว่า แท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮ(ซ็อล)ได้กล่าวว่า

ความว่า ผู้ใดตัดขาดความหวังของผู้ที่ให้ความหวังต่อเรา อัลลอฮก็จะทรงตัดขาดความหวังของเขาในวันกิยามะฮ

เมื่อท่านอิบนุฮัมบัลได้ยินเช่นนั้นก็ยิ้มออกมา พลางกล่าวว่า ฮะดีษนี้เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับฉัน ท่านอิมามอะฮมัด อิบนุฮัมบัล มีความสนใจอย่างลึกซึ้งและละเอียดถี่ถ้วนในเรื่องของการเล่าฮะดีษเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านถือว่าฮะดีษนั้นเป็นหลักสำคัญซึ่งจะไม่บังเกิดผลออกมาอย่างสมบูรณ์ หากมนุษย์มิได้ศึกษาอย่างกว้างขวางโดยรอบคอบ ตลอดจนรู้จักที่มาของฮะดีษนั้นๆ

ด้วย ท่านกล่าวไว้ว่า

"ผู้ใดไม่พร้อมด้วยวิชาการต่างๆของฮะดีษและที่มาของฮะดีษอย่างพอเพียงตลอดทั้งไม่มีความรู้ในข้อแตกต่างของมันแล้วไม่เป็นการอนุมัติสำหรับเขาผู้นั้นที่จะให้การชี้ขาดแถลงเกี่ยวกับปัญหาของฮะดีษ"

 

ครูบาอาจารย์ของท่านอิมามอะมัดอิบนุฮัมบัล

ท่านอิบนุฮะมบัลได้ศึกษาด้านวิชาฮะดีษและฟิกฮหรือกฎหมายอิสลามเป็นครั้งแรกกับท่านอบียูซุฟ ยะอกูบ อิบนุอิบ รอฮีม ซึ่งเป็นพรรคพวกของท่านอิมามอบูฮะนีฟะฮ แต่นักค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งกับกล่าวกันว่าท่าน อบียูซุฟ มิได้ทิ้งร่องรอยทางด้านวิชาการไว้ให้เป็นที่ประทับใจแก่ท่าน อิบนุฮัมบัล จนสามารถจะยกย่องให้เป็นครูคนแรกของท่านได้เลย ท่านที่นับได้ว่าเป็นผู้ที่ได้ถ่ายทอดวิชาการไว้จนเป็นที่ประทับใจของท่านอิบนุฮัมบัล เป็นที่ประทับใจของท่านอิบนุฮัมบัลเป็นท่านแรกคือ ท่านฮะชีม อิบนุบะชีร อิบนุฮาชีม อัลวาซิฏีย์ ท่านอิบนุฮัมบัลได้ศึกษาอยู่กับท่านผู้นี้เป็นเวลากว่า 4 ปี วิชาที่ศึกษาเป็นพิเศษก็คือด้านฮะดีษ ท่านได้เรียนฮะดีษจากผู้นี้ไว้มากกว่าสามพันบท ท่านฮะชีม ผู้นี้เป็นอิมามแห่งฮะดีษอยู่ที่นครบัฆดาด (แบกแดด) และเป็นผู้หนึ่งจากบรรดาตาเบียะอ ตาบีอีน ในการสอนของท่านปรากฏว่ามีบรรดาอีมามคือผู้นำทางด้านความคิดในหลักนิติศาสตร์อิสลาม เข้าศึกษาและรับฟังการสอนของท่านเป็นจํานวนมาก ท่านอิมามมาลิก อิบนุอะนัส ก็ได้เล่าฮะดีษสืบจากท่านฮะชีมผู้นี้เช่นเดียวกัน สิ่งที่ท่านฮะชีมได้รับการยกย่องเป็นอย่างมากก็คือ ท่านมีความสามารถจดจำฮะดีษได้อย่างแม่นยำยิ่ง

นอกจากท่านฮะชีมแล้วในระยะเวลาเดียวกัน ท่านอิบนุฮัมบัล ก็ได้ศึกษากับท่านอะมีน อิบนุ อับดุลลอฮ อิบนุคอลิด ท่านอับดุลเราะฮมาน อิบนุมะฮดี และท่านอบูบักร อิบนุอิยาซ พร้อมกันไปด้วย

ครูของท่านอิบนุฮัมบัล ที่นับได้ว่ามีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คือ ท่านอิมามอบูอับดุลลอฮ มุฮัมัดอิบนุ อิดรีส หรือท่านอิมามชาฟีอี นั้นเอง ท่านอิบนุฮัมบัลได้พบ และศึกษากับท่านอิมามชาฟีอี เป็นครั้งแรกที่นครมักกะฮ เมื่อท่านอิบนุฮัมบัล เดินทางไปบำเพ็ญฮัจญ์ที่นั้น ซึ่งในขณะนั้นท่านอิมามขาฟีอีกำลังสอนอยู่ที่มัสญิดิลฮะรอม ต่อมาท่านอิบนุฮัมบัลได้พบกับท่านอิมามชาฟีอี อีกครั้งหนึ่ง เมื่อท่านอิมามชาฟีอี เดินทางจากมักกะฮไปยังบัฆดาด ท่านอิมามชาฟีอีมีความพอใจในตัวท่านอินุฮัมบัลมาก จนถึงกับชักชวนท่านอิบรุฮัมบัล เดินทางไปอียิปต์กับท่านด้วย ท่านอิบนุฮัมบัลก็ปรารถนาที่จะเดินทางร่วมไปด้วย แต่เนื่องจากโอกาสไม่อำนวยความต้องการของทานอิบนุฮัมบัลจึงไม่ประสพผล

ท่านอิบนุฮัมบัลได้ศึกษาจากท่านอิมามชาฟีอีหหลายด้าน โดยเฉพาะวิชาที่ว่าด้วยการเข้าใจบทบัญญัติ และการค้นหาบทบัญญัติออกมาจากอัลกุรอ่านและซุนะฮ

ครูคนอื่นๆของท่านอิบนุฮัมบัลก็มี ท่านอิบรอฮีม อิบนุซะอด์ ท่านยะฮยา อัลก็อฏฏอน ท่านวะเกียะอและอีกหลายท่าน ท่านอิบนุฮัมบัลเคยมีความตั้งใจที่จะไปศึกษากับท่านอิมามมาลิก อิบนูอะนัสอยูด้วย แต่ท่านอิมามมาลิก ได้สิ้นชีพเสียก่อน ในระหว่างที่ท่านอิบนุฮัมบัลกำบังเริ่มต้นแสวงหาความรู้อยู่

ท่านอิมามอะมัด อิบนุฮัมบัลเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าทางด้านการศึกษาตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่โดยเฉพาะในด้านฮะดีษแล้ว ท่านศึกษาอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ แม้เมื่อท่านได้รับการยกย่องให้เป็นอิมามแล้วท่านก็ยังสร้างความประหลาดใจ ให้แก่คนทั้งหลายอยู่เสมอในเมือท่านยังมิได้หยุดยั้งทางด้านการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมแต่ประการใดทั้งๆที่ท่านเป็นอิมามทางด้านวิขาการเองแล้วก็ตาม

 

วิธีการสอนของท่านอิมามอะฮมัด อิบนุฮัมบัล

หลังจากที่ท่านอิมามอะฮมัด อิบนุฮัมบัลได้ศึกษาเล่าเรียนจากบรรดาครูบาอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่หลายท่านแล้ว ท่านก็เริ่มดำเนินการสอนอยู่ในมัสยิดญาเมียะอฺ ในนครบัฆดาด ประเทศอิรัค ในขณะที่เริ่มทำการสอนนั้น ท่านมีอายุได้ 40 ปี ซึ่งเป็นวัยแห่งความสมบูรณ์และรอบคอบ เล่ากันว่า ที่ท่านมิได้เริมทำการสอนก่อนหน้านั้นก็เพราะท่านรู้สึกละอายที่จะทำเช่นนั้นในขณะที่บรรดาครูบาอาจารย์ที่เคยฝึกสอนท่านมายังมีชีวิตอยู่ และมีการเล่าสืบต่อกันมาอีกทางหนึ่งว่า การที่ท่านเริ่มสอนเมื่ออายุได้ 40 ปี นั้นก็เพราะ ท่านปรารถนาที่จะปฏิบัติตามรากฐานที่มีอยู่จากท่านรอซูลุลลอฮ (ซ็อล)ทั้งนี้เนื่องจากอัลลอฮ ได้ทรงประทานโองการแก่ท่านรอซูลุลลอฮ (ซ็อล) มาเผยแผ่แก่มนุษย์โลกเมื่อท่านอายุได้ 40 ปี ท่านอิมามอะฮมัดอิบนุฮัมบัล เป็นผู้ที่พยายามทุกฝีก้าวในอันที่จะกระทำทุกอย่างดำเนินตามแนวทางปฏิบัติของท่านรอซูลุลลอฮ (ซ็อล)

วิชาการที่ท่านอิมามอะฮมัด อิบนุฮัมบัล ดำเนินการสอนนั้น แบ่งออกได้เป็นสองภาค คือภาคทั่งไปและภาคพิเศษ สําหรับภาคทั่วไปนั้นท่านสอนในมัสยิด โดยเริ่มสอนตั้งแต่หลังจากนมัสการในเวลาอัศร ซึ่งในภาคนี้มีผู้สนใจเข้ารับฟังและศึกษาอย่างคับคั่ง บางครั้งมีจำนวนถึงห้าพันคน ส่วนผู้ที่จดและบันทึกจากาการสอนของท่านก็มีไม่น้อยกว่าห้าร้อยคน สำหรับการสอนภาคพิเศษนั้นท่านกระทำในบ้านของท่านเอง

ผู้ที่สนใจเข้ารับฟังบทเรียนจากาการสอนของท่านนั้นมีจุดมุ่งหมายและความต้องการแตกต่างกัน เช่น บางส่วนก็มุ่งศึกษาวิชาการโดยตรง บางส่วนก็มุ่งรับฟังการอบรมและเทศนา แต่ก็มีบางส่วนที่เข้าฟังการอบรมของท่านเพื่อจะลอกเอาแบบจรรยามารยาทของท่านไปปฏิบัติตามเท่านั้น

บรรดาศิษย์ของท่านอิมามอะฮมัด อิบนุฮัมบัล

ท่านอิมามอะฮมัด อิบนุฮัมบัล มีศิษย์มากมายเช่นเดียวกับอิมามท่านอื่นๆที่ได้เคยกล่าวถึงมาแล้วสำหรับบรรดาศิษย์ที่สำคัญของท่านก็มี ยะฮยา อิบนุ อาดัม อับดุรเราะฮมาน อิบนุ มะฮดี ยะซีด อิบนุ ฮารูณ อลียฺ อิบนุ อัลมะดีนี อะบูซัรอะฮฺ อัรรอซียฺ อัดดิมิชกียฺ อิบรออีม อัลฮัรบีย์ อบูบักร อะฮมัด อิบนุ มุฮัมมัด อิบนุ ฮานีย์ มุฮัมมัด อิบนุ อิสฮาก อัศศีฆอมนียฺ อบูฮาชิม อัรรอซียฺ อะฮมัด อิบนุ อบีฮะวารียฺ มูซา อิบนุ ฮารูน ฮัมบัล อิบนุ อิสฮาก อุษมาน อิบนุ สะดีด อัดตารมีย์ อับดุลมาลิก อิบนุ อับดุลฮมีด อัลไมมูนีย์ และอื่นๆอีกหลายท่าน

สำหรับศิษย์ของท่านอิมามอะฮมัด อิบนุฮัมบัล ที่นับได้ว่ามีชื่อเสียงรุ่งโรจน์และเป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ อัลบุคอรียฺ มสลิม และอบูดาวูด นักรวบรวมฮะดีษชั้นนำที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุด

นอกจากบรรดาศิษย์ สมัครพรรคพวกและสหายของท่านจะได้รับการถ่ายทอดหลักวิชาฟิกฮ์ (นิติศาสตร์) อิสลามไปจากท่านเป็นจำนวนมากแล้ว บุตรชายของท่านสองคนก็ยังได้รับการถ่ายทอดและทำหน้าที่สืบต่อจากท่านอีก คือ ซอลิฮฺ บตรชายคนโตของท่าน ซึ่งเสียชีวิตเมือ ฮ.ศ. 266 และบุตรของท่านอีกคนหนึ่งคือ อับดุลลอฮซึ่งเสียชีวิตเมื่อฮ.ศ. 290 เป็นผู้ที่เอาใจใส่และระมัดระวังในเรื่องของฮะดีษเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับผู้เป็นบิดา

 

 

 

 

ครอบครัวของท่านอิมามอะฮมัด อิบนุฮัมบัล

จากบันทึกประวัติศาสตร์เล่าว่า ท่านอิมามอะฮมัด อิบนุฮัมบัล ได้สมรสกับทาสีผู้หนึ่งของท่านซึ่งมีนามว่า ฮุสน์ และได้มีบุตรด้วยกันหลายคน คือ สะอีด มุฮัมมัด ฮุไชยน์ไซนับ และฟาติมะฮนอกจากนี้ยังมีบุตรชายฝาแฝดคู่หนึ่ง ซึ่งท่านตั้งชื่อให้ว่าฮะซันและฮุไซยน์ แต่ได้เสียชีวิตเสียเมื่อคลอดได้เพียงครู่เดียว การสมรสกับทาสีนี้ ท่านได้ปฏิบัติตามแนวทางของท่านรอซุลุลลอฮ (ซ็อล)ซึ่งได้เคยสมรสกับมารียะฮฺ อัลกิบฏียะฮฺ ทาสีของท่าน

 

ต่อมาท่านอิมามอะฮฺมัด อิบนุฮัมบัล ก็ได้สมรสกับ อะบาซะฮ บินตุลฟัฏลฺ ซึ่งมีบุตรด้วยกันหลายคน คือ ซอลิฮฺ ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่ง คนส่วนมากเรียกกันว่า อะบุลฟัฏลฺ เกิดเมื่อฮ.ศ.203 ต่อมาได้รับตำแหน่งผู้พิพากษาแห่งอัศบะฮาน

อีกคนหนึ่งคือ อับดุลลอฮฺ ซึ่งคนส่วนมากเรียกกันว่า อบูอับดุรเราะมาน เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านฮะดีษผู้หนึ่ง

 

ลักษณะและอุปนิสัยของท่านอิมามอะฮมัด อิบนุฮัมบัล

ท่านเป็นผู้ที่มีรูปร่างสูง ผิวเนื้อดำแดง ชอบสวมเสื้อผ้าหนา กลัดลูกกระดุมเสื้อทุกเม็ดอย่างเรียบร้อย มีนิสัยถ่อมตัวไม่ชอบการหยอกล้ออย่างไร้สาระ จิตใจอดทน มีความตั้งใจแน่วแน่มีปณิธานอันแข็งแกร่ง มีอุมคติมั่นคง ไม่มีนิสัยเย่อหยิ่งหรือทะนงตน มีความจำแม่นยำ พร้อมทั้งเข้าใจสิ่งที่ท่องจำนั้นได้เป็นอย่างดี

 

ท่านไม่เคยแถลงชี้แจงปัญหาใดๆโดยไม่มีผู้ถาม และเมื่อท่านตอบ ก็จะตอบเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ๆ โดยไม่ชอบวิธีการสมมติหรือตั้งมโนภาพเอาเอง โดยที่เป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นแล้วคาดเอาเองว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ การตอบปัญหาของท่านนั้น ท่านยึดเอาอัลกุรอ่านและซุนนะฮเป็นหลักฐาน และข้ออ้างอิงท่านไม่ใช้ความเห็นของท่านเองเป็นหลักสำคัญ เว้นไว้แต่ว่าจะมีกรณีจำเป็นจริงๆเท่านั้น นอกจากนี้ท่านยังเป็นคนซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่น่าสรรเสริญ แม้แต่เมื่อมีผู้ถามปัญหาที่ท่านไม่ทราบ ท่านก็จะบอกตรงๆว่าท่านไม่ทราบ โดยไม่แสดงตนเป็นพหูสูต ที่สมารถรอบรู้ไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง

 

มารยาทที่น่าเคารพของท่านยิ่งกว่านี้คือ ท่านชอบการให้อภัยแก่ผู้ที่กระทำผิด ถ่อมตนต่อผู้ยากจนอนาถาและผู้ที่อ่อนแอกว่า

 

ตำหรับตำราของท่านอิมามอะฮฺมัด อิบนุฮัมบัล

ท่านอิมามอะฮมัด อิบนุฮัมบัล มิได้เรียบเรียงตำราวิชการอื่นใด นอกจากเกี่ยวกับฮะดีษและซุนนะฮฺเท่านั้น ดังนั้นตำราของท่านทั้งหมดจึงเป็นตำราเกี่ยวกับสองอย่างนี้ ตำราที่นับว่าโด่งดังที่สุดของท่านก็คือ อัลมัสนัด ซึ่งเป็นตำราที่รวบรวมฮะดีษของท่านรอซุลุลลอฮ(ซ็อล)โดยพยายามให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยท่านเริ่มรวบรวมตั้งแต่ฮ.ศ.180 การดำเนินงานรวบรวมฮะดีษและซุนนะฮฺที่ท่านกระทำนี้นับได้ว่าเป็นงานที่เหน็ดเหนื่อยและหนักมาก เพราท่านจะต้องรวบรวมมาจากผู้เล่าฮะดีษที่ถือได้ทีละบทแล้วจดบันทึกไว้ เมื่อรวบรวมได้เป็นจำนวนมากและคัดเลือกแล้ว ท่านก็จะนำออกสอนแล้วจึงมีการเรียงลำดับให้เป็นระเบียบในภายหลัง

 

ในตำราของท่านชื่อ อัลมัสนัดนี้ ท่านได้รวบรวมฮะดีษไว้ถึงสี่หมื่นบท ทั้งนี้โดยได้คัดเลือกจากที่รวบรวมมาได้ถึง เจ็ดแสนบท (บางกระแสร์เล่าว่าเลือกจากเจ็ดแสนห้าหมื่นบท)ฮะดีษทั้งหมาดนี้ ท่านได้ท่องจำไว้อย่างแม่นยำ บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มหนึ่งกล่าววิจารณ์ว่า ในตำราเล่มนั้นไม่มีฮะดีษบทใดเป็นฮะดีษที่ไม่เที่ยงแท้เลย แต่ก็มีบางบทที่สอบสวนแล้วปรากฏว่าเป็นฮะดีษที่ฏออีฟ อ่อนแอ ซึ่งท่านอิมามอะฮมัด อิบนุฮัมบัล ก็ถือว่าใช้ได้ หากไม่อาจสืบหาฮะดีษที่แข็งแรงกว่านั้นได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อหลักหนึ่งหลักใดในอิสลาม

 

ต่อมาอับดุลลอฮฺ บุรตชายของท่านได้นำตาราเล่มนี้ออกเผยแพร่แก่มหาชนโดยทั่วไป และภายหลังจากนั้น ยะฮฺยา อิบนุมันดะฮฺ ก็ได้เรียบเรียงตำราขึ้นเล่มหนึ่ง โดยเกี่ยวโยงกับกับตำราอัลมัสนัด ของท่านอิมามอะฮฺมัด อิบนุฮัมบัล โดยให้ชื่อว่า "อัลมัสคอล อิลัลมัสนัด"

 

นอกกจากนี้ท่านอิมามอะฮฺมัด อิบนุฮัมบัล ยังได้เรียบเรียงตำราไว้อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ อัซซุฮุด อัศศีลาฮฺ อัลมะนาซิกุลกะบีร อัลมะนาซิกุศศ่อฆีร อัตตารีค อับนาซิค วัลมันซุค อัลมก็อตติม อัลมุอัคคิร ฟะฏอิลุศอิศ่อฮาบะฮฺ ฯลฯ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

สมาน มาลีพันธุ์.2516.สี่อีหม่าม.พิมพ์ครั้งที่ 3.กรุงเทพฯ: ส วงศ์เสงี่ยม.

 

محمد سهيل2001 تاريخ الدولة العباسية  بيروت دار النفائس

 

محمود شاكر 1985 التاريخ الاسلامي (الدولة العباسية) بيروت المكتب الاسلامي

 

مصطفى علم الدين 1993 الزمن العباسي بيروت دار النهضة العربية

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 273475เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2009 13:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท