กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานในมหาวิทยาลัย


แนวทางการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานในมหาวิทยาลัย

 หลักการและสาระสำคัญในการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานในมหาวิทยาลัย

                      กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันจัดตั้งขึ้นและได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบด้วยเงินที่ลูกจ้างจ่ายสะสมและเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบรวมทั้งเงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้และผลประโยชน์จากเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว

 

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนมีอะไรบ้าง

  1. เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกมีการออมทรัพย์
  2. เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่สมาชิกและครอบครัวเมื่อพนักงานเกษียณอายุหรือเสียชีวิต

พนักงานต้องการเป็นสมาชิกกองทุนต้องปฏิบัติอย่างไร

  1. ต้องเป็นพนักงานประจำของหน่วยงาน จะเป็นพนักงานรายวันหรือรายเดือนก็ได้
  2. ต้องเขียนใบสมัครยื่นต่อคณะกรรมการกองทุน เมื่อได้รับอนุมัติแล้วเริ่มจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน

อัตราส่วนของเงินสะสม และเงินสมทบมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง

  1. กฎหมายกำหนดอัตราส่วนเงินสะสม และเงินสมทบไว้ตั้งแต่ร้อยละ 2 ถึงร้อยละ 15 ของค่าจ้าง (ของลูกจ้างประจำกำหนดไว้ที่ ลูกจ้างประจำสะสม 3 %   นายจ้างสมทบ  3 %)
  2. หน่วยงานต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนไม่น้อยกว่าเงินสะสมของพนักงาน และพนักงานต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ของค่าจ้าง

พนักงานได้รับอะไรจากการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

  1. เป็นการส่งเสริมให้สมาชิกมีการออมทรัพย์และเป็นหลักประกันสมาชิกและครอบครัวเมื่อพนักงานเสียชีวิต หรือลาออกจากหน่วยงานหรือเกษียณอายุการทำงานตามระเบียบของหน่วยงานหรือลาออกจากกองทุน
  2. กองทุนที่จัดตั้งขึ้นจะมีจำนวนเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผลประโยชน์ที่กองทุนได้รับจะไม่ถูกหักภาษีเงินได้แต่ประการใด ทำให้สามารถนำไปลงทุนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
  3. พนักงานจะได้รับส่วนสมทบที่หน่วยงานจ่ายสมทบให้รวมทั้งผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น

ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

  1. เงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุนสามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง 10,000 บาท แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างและต้องไม่เกิน 290,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้
  2. กรณีที่สมาชิกออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์ทั้งสองส่วนที่ได้รับจากกองทุน ทั้งนี้ต้องเข้าเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนดรายละเอียด หลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) กล่าวคือ
  • กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฏหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์
  • กรณีทุพพลภาพ ต้องเป็นกรณีที่แพทย์หรือที่ทางราชการรับรอง ได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าลูกจ้างผู้นั้นไม่สามารถที่จะทำงานในตำแหน่งซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไป ไม่ว่าเหตุทุพพลภาพนั้น จะเกิดเนื่องจากการปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างหรือไม่ก็ตาม
  • กรณีเสียชีวิตไม่ว่าการเสียชีวิตนั้นจะเกิดจากการปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างหรือไม่

ทั้งนี้ ลูกจ้างต้องมีหลักฐานจากนายจ้างเพื่อรับรองว่าลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตแล้วแต่กรณีมาแสดงด้วย

  1. สมาชิกสามารถโอนเงินกองทุนจากบริษัทนายจ้างเดิม ไปยังบริษัทนายจ้างใหม่ได้ หากบริษัทนายจ้างใหม่มีกฏเกณฑ์ระบุไว้ในข้อบังคับว่ารับสมัครเข้าเป็นสมาชิกต่อได้ ทั้งนี้ สมาชิกจะได้มีสิทธิในการเป็นสมาชิกต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ทางภาษีของสมาชิก
  2. บริษัทจัดการจะต้องดำเนินการจ่ายเงินจากกองทุนตามสิทธิที่สมาชิกได้รับ เมื่อสมาชิกพ้นสมาชิกภาพ โดยให้จ่ายรวมทั้งหมดครั้งเดียวให้แก่สมาชิกหรือผู้รับประโยชน์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สิ้นสมาชิกภาพ โดยจะจ่ายเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ
  3. บริษัท จะไม่จ่ายเงินสมทบส่วนที่บริษัทจ่ายเข้ากองทุนและผลประโยชน์สุทธิของเงินดังกล่าวแก่สมาชิกในกรณีใดกรณีหนึ่งหรือหลายกรณี ดังต่อไปนี้
  • ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างหรือกองทุน
  • จงใจทำให้นายจ้าง หรือกองทุนได้รับความเสียหาย
  • ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
  • ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
  • ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
  • ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก อันมิใช่การกระทำผิดโดยประมาทหรือเป็นความผิดลหุโทษ
  1. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกกองทุน
  • สมาชิกจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับนี้โดยเคร่งคัดและไม่กระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์หรือการบริหารกองทุน
  • สมาชิกจะต้องส่งเงินสะสมส่วนของตนตามอัตราที่กำหนดเข้ากองทุนตามข้อบังคับนี้ โดยยินยอมให้บริษัทหักเงินสะสมส่วนของตนจากค่าจ้างส่งเข้ากองทุนโดยผ่านคณะกรรมการกองทุน
  • สมาชิกมีสิทธิได้รับเงินสะสม เงินสมทบ ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสมและเงินสมทบ และผลประโยชน์อื่นตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
  • สมาชิกมีสิทธิเข้าประชุมใหญ่สมาชิกกองทุน ตลอดจนออกเสียงลงคะแนนใดๆ
  • ในกรณีที่สมาชิกออกจากการเป็นลูกจ้างของบริษัทไปทำงานที่อื่น โดยมีวันที่ทำงานติดต่อกันสมาชิกมีสิทธิขอโอนเงินส่วนของตนในกองทุนไปยังอีกกองทุนหนึ่งได้
  • สมาชิกมีสิทธิตรวจดูบัญชีและเอกสารของกองทุน ณ สำนักงานของกองทุนได้ในเวลาเปิดทำการ

                                                            *******************

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 27331เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2006 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 10:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พนักงานมหาวิทยาลัย  ปัจจุบัน จะต้องมีการจ่ายเงินประกันตนอยู่แล้ว  ถ้าจะสมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  ก็หมายความว่า

1. ประกันสังคมก็ต้องจ่าย

2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ต้องจ่ายใช่ไหม คะ

 

มนูญ บรรณวงศ์ศิลป์

ขอตอบข้อข้องใจของคุณนงรัตน์ ครับผม         

1. ผู้ที่เป็นผู้ประกันตนกับกองทุนประกันสังคมก็ต้องจ่ายเงินประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 5 % ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 750 บาท/เดือน

2. ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น ถ้าท่านสมัครใจ สมัครเข้าเป็นสมาชิก ก็ต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน ครับ ส่วนจะกำหนดไว้เท่าไหร่อย่างไร ก็แล้วแต่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะกำหนดตามความเหมาะสม

    สองกองทุนนี้ เป็นเป็นคนละส่วนกันครับ ประโยชน์ที่ท่านจะได้รับก็แตกต่างกันไป ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท