ตำนาน


นวัตกรรม

เอกสารอ่านเพิ่มเติม  เรื่อง  จังหวัดกระบี่

กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรม

สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  4

เล่มที่  1

เรื่อง  ตำนานอ่าวพระนาง

 

 

 

 

 

 

 

   

 

 

 

 

จัดทำโดย

นางสุพร  วิเชียรมณี

ตำแหน่ง ครู  วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ  โรงเรียนอนุบาลกระบี่

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากระบี่

 

          ตอนเที่ยงวันเสาร์  น้องแดงตื่นเต้นดีใจมาก  เมื่อคุณพ่อ

พาไปเที่ยวอ่าวพระนาง

          คุณพ่อครับ  ทำไมถึงชื่อว่าอ่าวพระนางครับ  น้องแดง

ถามคุณพ่อขณะเดินเล่นชายหาด

          อ๋อ!  เรื่องนี้เป็นตำนานที่เล่าขานสืบต่อๆกันมาหลาย

ชั่วอายุคนถ้าลูกอยากรู้พ่อจะเล่าให้ฟัง  พ่อกล่าวอย่างอารมณ์ดี

 

          กาลครั้งหนึ่ง  ยังมีหมู่บ้านใหญ่อยู่สองหมู่บ้าน  ตั้งอยู่

ริมฝั่งทะเล  หมู่บ้านหนึ่งมีหัวหน้าชื่อตายมดึง  ภรรยาชื่อยายรำพึง

อีกหมู่บ้านหนึ่งมีหัวหน้าหมู่บ้านชื่อตาวาปราบ  ภรรยาชื่อบามัย  มีลูกชายชื่อ  บุญ  แต่ทั้งสองบ้านเป็นคู่อริกัน

 

 

          ยายรำพึงนั้นอยากได้ลูกสาว  ไว้เชยชมสักคน  แต่นาง

ก็หามีลูกไม่  จึงไปบนบานศาลกล่าว  ทำให้ร้อนถึงพญานาค 

ผู้เป็นเจ้าแห่งท้องทะเล

 

พญานาค  จึงขึ้นมาบันดาลให้ยายรำพึงมีลูกสาวตามที่ต้องการ  แต่มีข้อแม้ว่า  เมื่อโตเป็นสาวแล้ว  จะต้องแต่งงานกับลูกชายของตน  ซึ่งเป็นผู้มีฤทธานุภาพมากสามารถแปลงกายเป็นมนุษย์ได้ตามที่ใจปรารถนา

 

 

ด้วยความอยากได้ลูกสาว  ทำให้ยายรำพึง  ตกลงรับสัญญา  หลังจากนั้นไม่นาน  ยายรำพึงก็ได้ลูกสาวและตั้งชื่อว่า  นาง

 

เวลาล่วงเลยมาหลายปีจน นาง  โตเป็นสาวสวยงาม  เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว  ทำให้  บุญ  ซึ่งเป็นลูกชายตาวาปราบมาหลงรัก  จึงอ้อนวอนตาวาปราบให้ไปสู่ขอให้

 

          ด้วยความรักลูก  ตาวาปราบและยายบามัย  ยอมลดทิฐิ  จึงไป

สู่ขอลูกสาวตายมดึง  ทั้งๆที่เป็นอริกัน  ส่วนตายมดึงและยายรำพึงอยากให้ลูกสาว  ได้แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา  ก็ตอบตกลง  ทั้งสองหมู่บ้านก็ได้คืนดีกัน  และลืมสัญญาที่เคยให้ไว้กับพญานาค

 

          เมื่อถึงวันแต่งงาน  ขบวนขันหมากเจ้าบ่าวก็ยกมา  นำโดย  ตาวาปราบ  ข่าวนี้ล่วงรู้ไปถึงพญานาค  จึงยกขบวนตามมา  เพื่อแย่งชิงเจ้าสาว  จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น  ฝ่ายตายมดึงคิดว่าเหตุการณ์น่าจะลุกลามไปกันใหญ่  ก็พานางซึ่งเป็นลูกสาวหนีไป

 

          ตาวาปราบเมื่อเห็นเข้าก็โกรธ  นึกว่าตายมดึงพาลูกสาวหนีจึงชักดาบทั้งสองขว้างไป  หมายจะฆ่าตายมดึง  แต่ไม่ถูก  ดาบ

ทั้งสองได้ตกไปในที่ต่างๆ  ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตำบลกระบี่น้อย และกระบี่ใหญ่  ในปัจจุบัน

 

          ขณะที่วุ่นวายอยู่นั้น  ก็ร้อนถึงพระฤาษี  ซึ่งบำเพ็ญตบะ

อยู่ในถ้ำ  จึงออกมาห้ามปรามเพื่อให้สงบศึก  แต่ก็ไม่มีใครเชื่อฟัง  จึงสาปให้ทุกอย่างกลายเป็นหิน  บ้านเจ้าสาวกลายเป็นภูเขา

 

          เรือนหอกลายเป็นถ้ำพระนาง  ข้าวเหนียวกวนที่นำมาเลี้ยงในงานกลายเป็นสุสานหอย  ส่วนพญานาคที่หนีกระเสือกกระสนไป  กลายเป็นหินอยู่อีกด้านหนึ่ง  เรียกว่า  หงอนนาค  บริเวณที่พญานาคเกลือกกลิ้งกลายเป็นหนองทะเล

 

          อ๋อ!  ผมรู้แล้วครับคุณพ่อว่าทำไมถึงชื่ออ่าวพระนางและความหมาย  ของตำนานนั้น  หมายถึง  เรื่องเล่าสืบต่อๆกันมา  และชื่อตำบลหลายตำบลในจังหวัดกระบี่นั้น  เขาตั้งชื่อตามตำนานนี่เอง

      คุณพ่อครับ  ยังมีตำนานอื่นๆอีกไหมครับ  น้องแดง

ถามคุณพ่อด้วยความอยากรู้

          มีซิลูก  เช่น  ตำนานเขาขนาบน้ำ  ตำนานขุนสาแหระ  ตำนานเรื่องนางเบญจา  พ่อตอบ  ถ้าลูกอยากรู้ลูกสามารถศึกษาค้นคว้าได้จากห้องสมุด  หรือจากอินเทอร์เน็ต  ขอบคุณครับพ่อ

         

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 273147เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2009 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณเรื่องตำนานอ่าวพระนางค่ะ

ขอบคุณค่ะที่นำตำนานดีๆเเบบนี้มาเล่าต่อกันฟัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท