แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

ชีวิตและความตาย ; "เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตจากความตาย" (๖)


 

เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ"

บทที่ ๑ 
ได้ตายก่อนตาย ก่อนเรียนชีวิตและความตาย

บทที่ ๒ 
"กล้าพอไหม ที่จะเรียนวิชาชีวิตและความตาย"

บทที่ ๓ 
"เรียนอะไร ในชีวิตและความตาย"

บทที่ ๔.๑ 
"เทอม ๒ ในวิชาชีวิตและความตาย"

บทที่ ๔.๒ 
"ออกไปสัมผัสผู้คนด้วยวิชาชีวิตและความตาย"

บทที่ ๕
"ห้องเรียนแห่งความเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต"

บที่ ๖
""เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตจากความตาย"

บทที่ 6
"เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตจากความตาย"
 

เขียนโดย ; ดล เกตน์วิมุต (ครูดล) 
(เข้าอ่านงานเขียนทั้งหมดของครูดลได้ที่นี่) 

โยคะสารัตถะ ฉ.; พ.ค.'๕๒

ในการลงพื้นที่ฝึกงานดูแลผู้ป่วยทางด้านจิตใจ ได้มีโอกาสพบกรณีศึกษาของครอบครัวหนึ่งที่มีลูกป่วยอยู่ในระยะสุดท้ายในห้อง ICU คุณพ่อมีความต้องการการตอบสนองของลูกวัย 12 ที่อยู่ห้อง ICU ที่ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมลูกตามที่ได้รับอนุญาต ด้วยความเป็นห่วงในอาการของลูกที่เปราะบาง อ่อนเพลีย คุณพ่อมักจะถามลูกว่าสู้ไหม สู้ไหมลูก ถ้าสู้ยักคิ้วให้พ่อหน่อย เมื่อเราเห็นว่าควรทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนให้คุณพ่อเห็นว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่า น้องน่าจะเหนื่อย ลืมตายังไม่ขึ้นเลย จึงได้ชวนคุณพ่อคิดถึงคำถามที่ต้องการคำตอบจากน้อง อาจไปเพิ่มภาระ หรือรบกวนเวลาพักของน้องหรือเปล่า ดังนั้นเราอาจเปลี่ยนคำถามเป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกันแทนว่า สู้นะลูก พ่อสู้อยู่ข้าง ๆ กับลูกนะ เป็นความหมายเดียวกัน ต่างกันที่เป็นประโยคคำถามแล้วต้องการคำตอบ กับเป็นประโยคบอกเล่าให้กำลังใจผู้ป่วย และให้กำลังผู้พูดให้เข้มแข็งไปด้วย คุณพ่อ คุณแม่รู้สึกขอบคุณมาก

ในฐานะที่เราไปช่วยเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่ากรณีนี้ ผู้ดูแลและผู้ป่วยใกล้กันมากจนเกินไป ต้องการการตอบสนองในเวลาที่อาจรบกวนการพักผ่อนของผู้ป่วย

สุดท้ายหลังจากนั้นไม่กี่วัน น้องได้ผ่านช่วงเวลาอันสำคัญที่สุดของชีวิตอย่างงดงามเท่าที่เด็กอายุ 12 คนหนึ่งจะมีได้ สัญญาณชีพของน้องดับลงในทันทีที่เสียงสวดมนต์สุดท้ายโดยพระคุณเจ้าที่ท่านดูแลน้องมาแต่ต้นจบลง ทำให้พื้นที่ของความเสียใจอย่างใหญ่หลวงไม่ได้ครอบคลุมหัวใจที่แตกสลายไปทั้งหมดแต่ยังมีพื้นที่พิเศษที่เป็นมรณกรรมอันงดงามของลูกให้ได้เห็นต่อหน้าต่อตาเก็บไว้เป็นความทรงจำที่ดีต่อพ่อแม่ทั้งตอนที่วินาทีแรกที่แกลืมตาดูโลก และวินาสุดท้ายที่แกปิดเปลือกตาลง

ในตอนเช้าถัดจากวันที่น้องจากพวกเราไป ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปช่วยรับศพน้องกับพระคุณเจ้าเพราะท่านมีความประสงค์จะนำศพน้องกลับบ้านที่จังหวัดตราดตามที่คุณพ่อคุณแม่ได้นิมนต์ท่านให้ช่วย

เมื่อไปถึงที่รับศพ เห็นสภาพศพน้องสวยงาม ใบหน้าดูสงบ ในช่วงตอนรับศพผ่านพิธีกรรมจุดธูปบูชาพระรัตนตรัย นิมนต์พระคุณเจ้าสวดบังสุกุล จุดธูปขอทางเจ้าที่เจ้าทาง เรียกวิญญาณให้ตามพระไป ตลอดทางดูแลตะเกียงไม่ให้ดับ ระหว่างทางพ่อแม่โปรยเหรียญเมื่อผ่านสะพาน ทางโค้ง ขอเจ้าที่เจ้าทาง ถึงทางแยก เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาให้บอกตลอดทางจากกรุงเทพ-ตราด ช่วงเวลาที่อยู่ในรถตู้ พระคุณเจ้านั่งหน้าคู่คนขับ พ่อแม่ป้านั่งเบาะแถวแรก และมีเก้าอี้ 1 ตัวอยู่ข้างโลงศพของน้อง เป็นที่ที่ข้าพเจ้านั่ง เมื่อรถเริ่มเคลื่อน พ่อแม่จะเหลียวหลังมาดูลูกตลอดเป็นระยะ ๆ ด้วยความที่รถขับเร็วมากด้วย และทุกครั้งที่ผ่านแยก เลี้ยวซ้ายขวา ขึ้นสะพาน ผ่านอุโมงค์ จิตใจพ่อแม่จะจดจ่ออยู่ เหลียวหน้า พะวงหลัง ตลอดเวลา ข้าพเจ้าจึงเอามือข้างขวาวางไว้บนโลง เหมือนคอยประคองไว้และนั่งอยู่ในอาการสงบตลอดทาง รู้สึกพ่อแม่อุ่นใจขึ้นบ้าง มีพระนำทาง มีคนประคองหลัง ตอนนั้นไม่ต้องมีคำพูดใดใดมาปลอบประโลม เพียงแต่ให้อยู่กับเขาข้าง ๆ ในสิ่งที่เขาเป็น นั่นคือ เหรียญที่เตรียมมาเริ่มหมด เพราะระยะทางไกลมาก ข้าพเจ้าสังเกตเห็นอาการวิตกกังวลของคุณพ่อ เริ่มคำนวณว่าเหรียญจะพอไหม ข้าพเจ้าจึงหาเหรียญในกระเป๋าที่มีทั้งหมดสมทบไปให้ ที่ให้ไปไม่ได้เชื่อตามความเชื่อว่าโปรยให้เจ้าที่เจ้าทางเพื่อขออนุญาตให้ศพผ่าน แต่ให้ไปเพราะเข้าใจตามความเป็นจริงในสิ่งที่พ่อแม่ผู้สูญเสียลูกในต่างถิ่น ที่ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอน แล้วต้องทุลักทุเลนำลูกนำลูกกลับบ้านในสภาพที่ไม่มีชีวิตด้วยหัวใจอันปวดร้าว

จนกระทั่งการเดินทางสิ้นสุดลงที่บ้านเป็นไปตามความประสงค์ของน้องที่พ่อได้สัญญาไว้ว่าจะพากลับบ้าน คุณพ่อจึงทำพิธีบำเพ็ญกุศลศพลูกที่บ้าน ได้มีโอกาสได้สัมผัสข้าวของเครื่องใช้ รูปถ่าย ห้องนอน ของน้องเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อมีโอกาสคุยพ่อได้คุยเรื่อยพิธีกรรม ความเชื่อ ในเรื่องการโปรยเหรียญกับพระคุณเจ้าจนคุณพ่อมีความเข้าใจในที่สุด เพราะตอนนั้นใครให้ทำอะไรก็ทำตาม ๆ ที่เขาบอก ทำให้เกิดกระบวนการปรับทัศนคติเกี่ยวกับความตาย โดยพระคุณเจ้าท่านได้ชวนคิดว่าการที่โปรยเหรียญไปตามทางแยก ทางโค้ง ขึ้นสะพานเป็นกุศโลบายที่เป็นการเตือนตัวไม่ให้ประมาท จะได้เดินทางถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ

ข้าพเจ้าเห็นเพิ่มเติมในเรื่องของพิธีกรรมความเชื่อหากเรามองว่าเป็นกุศโลบายที่ภูมิปัญญาโบราณมอบไว้ให้นั่นคือ ในตลอดทางเกือบ 4 ชั่วโมง พื้นที่ของความเสียใจได้ถูกแบ่งเบาไปกับการที่คุณพ่อคุณแม่ได้มีสติจดจ่อกับถนนหนทาง บดบังพื้นที่ของความเจ็บปวดจากความสูญเสียให้เบาบางลงได้บ้าง สิ่งที่ได้เรียนรู้อีกอย่างคือ จิตใจของข้าพเจ้าได้ถูกขัดเกลา ความอยากได้ อยากมี ปลงในความเป็นอนิจจังมากขึ้น

จากกรณีที่เราเห็นถึงความใกล้กันระหว่างผู้ป่วยกับญาติกันมากเกินไป ก็มีกรณีที่เห็นถึงความห่างกันมาก ๆ ของผู้ป่วยกับญาติด้วยเช่นกัน

คุณยายท่านหนึ่งใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียวมาตลอดจนกระทั่งมีอาการป่วยและทรุดลงจนอยู่ในขั้นสุดท้ายจึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล มีลูกสาวที่อยู่ต่างประเทศแต่ไม่มีความผูกพันกันเพราะแยกกันอยู่ตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อทราบว่าแม่ป่วยระยะสุดท้ายแล้วก็ได้บินกลับมาทำหน้าที่สุดท้ายที่พึงทำด้วยจิตสำนึกต่อผู้ให้กำเนิด

สำหรับข้าพเจ้าแวบแรกที่รู้สึกขึ้นมาจากการที่ได้พบคุณยายครั้งแรก คือรู้สึกตกใจเพราะไม่คิดว่าจะมีมนุษย์ที่ยังมีลมหายใจอยู่แต่สภาพร่างกายน่าทุกขเวทนาได้ถึงเพียงนี้ หากจะให้เทียบสิ่งที่เห็นตรงกับความรู้สึกจริง ๆ คงต้องบอกว่าเหมือนเห็นซากศพที่ยังมีลมหายใจอยู่อย่างรวยริน ร่างกายเหี่ยวย่น ดำ นันย์ตาเหลือกเป็นระยะ ๆ กล้ามเนื้อใบหน้าเกร็งตัวบ่งบอกถึงอาการวิตก กังวลใจอะไรบางอย่างอยู่ตลอดเวลา พูดไม่ได้ ได้แต่ร้องเสียงครางในลำคอ ฟันบนยื่นออกมาครอบริมฝีปากล่าง มือขวาจับราวเตียงไว้แน่น และมีลูกอยู่ข้างเตียง ข้าพเจ้าเข้าไปพูดคุยใกล้ ๆ ด้วยความอ่อนโยน

คุณยายอยากสื่อสารด้วยได้แต่ส่งเสียงคราง ๆ ใบหน้าสะท้อนถึงความห่วงวิตกกังวลบางอย่างให้เห็นตลอดเวลา จึงชวนลูกสาวคุณยายคุยถึงอาการห่วงวิตกกังวลของคุณยายที่ปรากฎอย่างชัดเจน ลูกสาวก็รู้สึกเหมือนกัน ที่ผ่านมาก็ได้แต่พูดปลอบบ่อย ๆ เหมือนกันว่าไม่ต้องห่วงนะ ไม่ต้องห่วงอะไรทั้งสิ้น ทำใจให้สบาย แต่ก็ไม่เห็นอาการวิตกกังวลลดลงเลย ก็เลยลองถามว่าคุณยายน่าจะห่วงอะไรอยู่ ลูกสาวพยายามนึกก็ไม่เห็นมีอะไร ทรัพย์สมบัติก็ไม่มี ก็มีแต่บ้านที่แม่เคยอยู่ กับแมวที่เลี้ยงไว้

ข้าพเจ้าจึงชวนลูกสาวคุณยายเล่าให้คุณยายเห็นเป็นภาพว่าที่บ้านใครดูแลทำความสะอาด ใครรดน้ำต้นไม้ ใครคลุกข้าวให้แมวกิน ลองคลี่คำว่าไม่ต้องห่วงให้คุณยายมองเห็นเป็นภาพชัดเจนมากขึ้น ลูกสาวรับคำว่าไว้จะลองคุยดู ข้าพเจ้าไม่รอช้าชวนลูกสาวลองทำเดี๋ยวนี้เลยดีไหม ปรากฎว่าเห็นผลทันทีต่อหน้าต่อตากับสิ่งที่เรียกว่ากรรม หรือการกระทำ


ใบหน้าคุณยายผ่อนคลายลงทันที สงบลง มือที่จับราวเตียงปล่อยวางลง ส่งเสียงตอบรับแสดงการรับรู้ ลูกสาวแสดงความขอบคุณข้าพเจ้าทั้งที่ข้าพเจ้าไม่ได้ทำอะไรเลย

เราอยู่ตรงนั้นในฐานะแค่เป็นกระจกสะท้อนความเป็นจริงแล้วพลิกให้เห็นศักยภาพทั้งตัวผู้ป่วยและผู้ดูแลในอันที่จะปลดเปลื้องงานค้างใจเพื่อจะได้มีโอกาสทำตามหน้าที่อย่างสมบูรณ์ และเห็นทิศทางการเยียวยาซึ่งกันและกัน หลังจากนั้นไม่กี่วันคุณยายก็จากไปตามวาระของชีวิต



มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1  ถนนรามคำแหง  แขวงหัวหมาก  
เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  10240  
โทรศัพท์  02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744 ; 
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com



 

หมายเลขบันทึก: 273138เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2009 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท