AARของคุณหมอที่ไปประชุมWHA 62 (ต่อ)


ประสบการณ์จากการเข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 62

ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ วันที่ 18-22 พฤษภาคม 2552

โดย นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ตัวแทนกรมควบคุมโรค

 

การเตรียมตัวก่อนเดินทาง

·       กรมควบคุมโรคได้รับมอบหมายหัวข้อที่ชัดเจน แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงหัวข้อในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกในขณะเตรียมการ ทำให้ขาดความสมบูรณ์

·       มีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรมและนอกกรมในหัวข้อที่ได้รับมอบหมายในระยะกระชั้นชิด

 

การทำงานในนครเจนีวา

·       มีการประชุมร่วมกับประเทศสมาชิก  SEAR อีก 10 ประเทศ ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2552 ก่อนเริ่มการประชุม WHA 62 ทำให้ได้ทราบท่าทีและประเด็นที่แต่ละประเทศให้ความสนใจเป็นพิเศษในแต่ละ  Agenda item

·       ในส่วนของหัวข้อ Agenda 12.1 – Pandemic Influenza Preparedness: Sharing of Influenza Viruses and Access to Vaccines and Other Benefits เป็นหัวข้อหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากหลายประเทศ เนื่องจากมีการระบาดของ Novel influenza A (H1N1) ในทวีปอเมริกาเหนือ และบางประเทศในยุโรป ทำให้เกิดเป็นตัวอย่างที่ดีของการแบ่งปันไวรัสโดยเพื่อประโยชน์ของชาวโลกและการสาธารณสุขอย่างแท้จริง ซึ่งส่งผลต่อท่าทีของแต่ละประเทศที่มีต่อรายงาน Intergovernmental Meeting (IGM) ซึ่งได้ประชุมไปรวม 4 ครั้งแต่ยังตกลงกันไม่แล้วเสร็จ โดยประเทศสมาชิกส่วนใหญ่เห็นควรยอมรับในประเด็นต่างๆที่ตกลงกันได้แล้ว และให้อำนาจผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยในการปรึกษาผู้เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อในส่วนที่ยังค้างอยู่ให้เสร็จโดยเร็ว

·       สิ่งที่น่าสนใจในหัวข้อนี้ ได้แก่ ข้อตกลงเบื้องต้นในที่ประชุม SEAR ว่าจะมี Regional one voice ในหัวข้อนี้โดยที่ประชุมมอบให้ประเทศอินโดนีเซียเป็นแกนในการจัดทำร่าง intervention ในนาม 11 ประเทศ แต่เนื่องจากในวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 มีวาระนี้เข้าที่ประชุมครั้งแรก ประเทศอินโดนีเซียไม่ได้เตรียมร่างไว้ ทำให้แต่ละประเทศรวมทั้งประเทศไทย แสดงท่าทีและจุดยืนอย่างเป็นอิสระ โดยประเทศไทยได้กล่าวสนับสนุนการทำงานของผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกและทีมงานที่สามารถรับมือกับการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้เรียกร้องให้มีการแบ่งปันไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในการผลิตวัคซีนให้กับประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วอย่างเท่าเทียม รวมทั้งการหากลไกการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน ช่วงท้ายไม่สามารถหาข้อสรุปได้ส่งผลทำให้ต้องเลื่อนการประชุมไปเริ่มอีกครั้งในเช้าวันที่ 21 พฤษภาคม 2552

·       ในวันที่ 20-21 พฤษภาคม 2552 ประเทศอินโดนีเซียได้พยายามล็อบบี้ให้ประเทศต่างๆใน SEAR และประเทศไทยลงนามในร่าง intervention สำหรับ Regional one voice เพื่อสนับสนุนให้ที่ประชุมรับหลักการในประเทศของ IGM ที่ตกลงกันได้แล้ว และมีการประชุมแบบนี้ต่ออีกหลัง WHA 62 ซึ่งประเทศไทยไม่เห็นด้วยในหลักการนี้ จึงไม่ได้ลงนามทำให้ผู้แทนอินโดนีเซียมีปฏิกิริยาไม่พอใจและกดดันตัวแทนไทยผ่านทางมิชชั่น

·       ในที่ประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2552 ประเทศไทยได้แสดงความเห็นใจพร้อมชื่นชมประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ที่รายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างโปร่งใส และรวดเร็ว ทำให้สามารถทำการเฝ้าาระวังโรคและรับมือกับปัญหาได้เหมาะสม ในเวลาเดียวกันได้ตำหนิประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่เห็นแก่ตัวในเรื่องการตักตวงผลประโยชน์จากประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ยอมแบ่งปันไวรัส และประเทศต่างๆที่นำนักกฎหมายเข้ามาต่อรองผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงเรื่องสุขภาพของประชาชนชาวโลก พร้อมกับเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกเป็นตัวกลางจัดส่ง Seed virus ให้กับบริษัทวัคซีนในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาอย่างเท่าเทียม และในช่วงท้าย ผู้แทนประเทศไทยได้เสนอ 2 ทางเลือกในที่ประชุม โดยทางเลือกที่ 1 ให้ยกเลิกร่างข้อตกลง IGM ไม่นำมาใช้ ส่วนทางเลือกที่ 2 ให้รับร่าง Resolution โดยมีเงื่อนไข 2 ข้อ ได้แก่ 1) ให้ระบุเอกสารส่วนที่ประเทศสมาชิกเห็นพร้องกันไว้แนบท้ายเพื่อความเข้าใจตรงกัน แต่เปิดโอกาสให้ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตามสถานการณ์ และ 2) ให้ใช้วิธีการแบ่งปันไวรัสเช่นเดียวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โดยใช้เอกสาร MTA แบบง่ายประกอบการจัดส่งไวรัส

·       ในท้ายสุดของวาระนี้ ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกได้ให้มติรับรองเอกสาร Resolution WHA62.10 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2552 เป็นที่เรียบร้อย โดยมีสาระให้การรับรองเอกสาร IGM ที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว และให้ผู้อำนวยการใหญ่มีอำนาจดำเนินการต่อในส่วนที่ยังตกลงกันไม่ได้

·       ในเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องกัน ได้แก่ การที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จและได้รับประโยชน์ในการลงนามกับองค์การอนามัยโลกเพื่อการพัฒนาวัคซีนและผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย โดยได้รับ Sub licensing agreement ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาโดย Institute for Experimental Medicine ประเทศรัสเซีย และทำให้องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตวัคซีนได้จำนวนมากขึ้นโดยใช้เชื้อเป็น (Live-attenuated vaccine) ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆที่มีความพร้อมในการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ต่อไปในภายหน้า

 

ประสบการณ์ที่ได้รับ

·       การเจรจาและแสดงท่าทีของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ ในเรื่องที่มีผลประโยชน์เป็นเดิมพัน ต้องใช้ไหวพริบในการดำเนินการ โดยคำนึงถึงหลักการ นโยบายสาธารณสุข และการเมือง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับวงการสาธารณสุข และให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในจุดยืนที่ถูกต้องมีศักดิ์ศรี

คำสำคัญ (Tags): #wha#aar
หมายเลขบันทึก: 272858เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2009 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท