ชาวบ้านได้อะไรจากกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนชาวเขาเผ่ามูเซอ


กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

                ศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูง กรมอนามัย  ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลป่าไหน่ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพัฒนาชุมชนชาวเขาเผ่ามูเซอและตำบลป่าไหน่ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม 2 ระยะ  พัฒนาชุมชนชาวเขาเผ่ามูเซอและตำบลป่าไหน่ให้น่าอยู่  มีความเข้มแข็ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

                โดยศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูงมีบทบาทการส่งเสริมสุขภาพชาวเขา โดยการศึกษา วิจัย และถ่ายทอดองค์ความรู้ และพัฒนารูปแบบในการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ชาวเขา เป็นอีกหนึ่งภารกิจงานของกรมอนามัย  ซึ่งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ชาวเขาเผ่ามูเซอและตำบลป่าไหน่ ให้ได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตามและประเมินผล ส่งผลให้ชุมชนชาวเขาเผ่ามูเซอและตำบลป่าไหน่ ได้มีโอกาสเรียนรู้ปัญหาจากการร่วมมือทำงานแบบพึ่งพาตนเองเป็นหลัก เพราะจากการดำเนินงานโครงการทันตกรรมเคลื่อนที่ เพื่อประชาชนด้อยโอกาสในเขตท้องถิ่นทุรกันดารระยะที่ 1 (21 ตุลาคม 2548 15 พฤษภาคม 2549) ของมูลนิธิ พอ.สว. ในจังหวัดตาก เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา และน่าน พบว่า  ในชุมชนชาวเขาเผ่ามูเซอ นอกจากจะพบปัญหาทันตสุขภาพแล้ว ยังพบปัญหาด้านอื่น ๆ อาทิ เด็กขาดสารอาหาร การเจ็บป่วยจากสาเหตุต่าง ๆ ในหลายกลุ่มวัย  ปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพ  รวมทั้งปัญหาการจัดการทรัพยากร  ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งชุมชนยังขาดการพัฒนาและการขับเคลื่อนพลังชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ

ศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูงได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คัดเลือกตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งเป็นหนึ่งในตำบลพื้นที่ดำเนินการโครงการทันตกรรมเคลื่อนที่ เพื่อประชาชนด้อยโอกาสในเขตท้องถิ่นทุรกันดารระยะที่ 2  ของมูลนิธิ พอ.สว. เป็นพื้นที่นำร่องสำหรับนำแนวคิดของกระบวนการเรียนรู้มาใช้ในการพัฒนาเมืองและชุมชนชาวเขาเผ่ามูเซอให้น่าอยู่  มีความเข้มแข็ง และให้ชุมชนชาวเขามีส่วนร่วมในการพัฒนา เพื่อการมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์แข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างพลังชุมชนแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการในปี 2550 ด้วยการกำหนดกลุ่มเป้าหมายของชุมชน กำหนดวิสัยทัศน์และร่างแผนแม่บทชุมชนและก่อตั้งสภาชุมชน  จัดทำโครงการและแผนปฏิบัติการ การประเมินสภาพชุมชนและวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน  เป็นต้น ส่วนระยะที่ 2 เป็นการดำเนินงานตามแผนและการทำงานเป็นทีม ช่วงเดือนตุลาคม 2550-กันยายน 2551

 

ผลจากการใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมทั้ง 2 ระยะทำให้ได้ผลลัพธ์ 3 ประการคือ

1. วิสัยทัศน์ของตำบลป่าไหน่

2. แผนแม่บทชุมชนป่าไหน่รวม 10 หมู่บ้านและ 5 หย่อมบ้านบนพื้นที่สูง (บ้านขอนม่วง  บ้านอาแย  บ้านป่าหญ้าไทร  บ้านแม่งัดน้อยและบ้านปางตอย)

และ 3. การก่อตั้งสภาชุมชนป่าไหน่  และได้นำไปบรรจุในแผน 3 ปี ตามยุทธศาสตร์ขององค์การบริหารส่วนตำบลป่าไหน่    ปี 2551-2554 เพื่อผู้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม   สามารถร่วมคิด  ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์     และสังเคราะห์  แผนแม่บทชุมชน นำไปสู่แผนปฏิบัติการ  และโครงการต่าง ๆ  รองรับ 3 โครงการชุมชนดำเนินการในลักษณะพึ่งตนเอง เช่น โครงการสลากภัตปลอดเหล้า  โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน  โครงการผู้สูงวัยปั่นจักรยานออกกำลังกายไหว้พระ 11 วัด   รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิหน่วยงานสาธารณสุข เช่น โครงการอบรมอสม. บนพื้นที่สูง และการสร้างส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และโครงการที่องค์การบริหารตำบลป่าไหน่สนับสนุน คือ โครงการอบรมการเพิ่มผลผลิตการเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  ส่งผลให้คณะทำงานชุมชนเกิดการเรียนรู้ในการพัฒนาชุมชนตำบลป่าไหน่น่าอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้ง 3 ด้าน คือ การเพิ่มพูนความรู้ เจตคติ และทักษะการมีส่วนร่วมของสมาชิกที่เข้าร่วมการพัฒนาชุมชน  ทำให้รู้จักชุมชนของตนเองได้ดีขึ้นและสามารถประสานงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น  สร้างความภาคภูมิใจและความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชน นอกจากนี้ กระบวนการดังกล่าวยังก่อให้เกิดการรวมกลุ่มของสมาชิก    ในชุมชนที่อาสาสมัครเข้ามาพัฒนาชุมชนในรูปแบบของ สภาชุมชนตำบลป่าไหน่ และการรู้จักแบ่งบทบาทหน้าที่ของสมาชิก การบริหารจัดการโครงการ  ค้นหาทรัพยากรและแหล่งสนับสนุน ติดตามประเมินผลงาน และประสานการทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลป่าไหน่ และหน่วยราชการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง

              และในวันที่ 30-31 มีนาคม 2552  นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์  อังคะสุวพลา  อธิบดีกรมอนามัย และคณะได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนตำบลป่าไหน่  สถานีอนามัยตำบลป่าไหน่ และโรงพยาบาลพร้าว  เพื่อให้กำลังใจ  และให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์สู่การพัฒนาชุมชนที่น่าอยู่ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 271971เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2009 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • P
  • สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับ การกลับบันทึกนะคะ
  • อย่างรู้เรื่องป่าไหน่ มาตั้งนานแล้ว
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท