27 วิธีแก้ไขปัญหากลิ่นปาก (halitosis)


 

...

 > [ GeorgiaHealth ]

ภาพที่ 1: ลิ้น และภาพขยายพื้นผิวลิ้น ซึ่งมีร่องจำนวนมากคล้ายๆ ผิวพรม ทำให้เป็นแหล่งสะสมเศษอาหาร เศษเซลล์ในช่องปากที่ตายแล้ว แบคทีเรีย [ GeorgiaHealth ]

การแปรงลิ้นเบาๆ โดยใช้แปรงสีฟันมีส่วนช่วยให้ลมหายใจสดชื่นขึ้นได้มาก

................................................................................

กาแฟมีสารประกอบที่มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดแก๊ส และเป็นที่มาของกลิ่นปาก (halitosis) ส่วนใหญ่

กลิ่นปากส่วนน้อยมาจากโรคหู-คอ-จมูก เช่น โพรงอากาศรอบจมูก (ไซนัส) อักเสบจากภูมิแพ้เรื้อรัง ฯลฯ, โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ภาวะกรดไหลย้อน ฯลฯ

...

ศาสตราจารย์เมล โรเซนเบิร์ก (Mel Rosenberg) และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเทล อาวีฟ (Tel Aviv U) ทำการศึกษาน้ำลายที่มีแบคทีเรีย และเติมกาแฟดำลงไป

ผลการศึกษาพบว่า กาแฟลดการเกิดแก๊สที่ทำให้มีกลิ่นปากได้มากจนถึง 90%

...

กลไกที่อาจเป็นไปได้คือ กาแฟยับยั้งการทำงานของแบคทีเรียในช่องปากที่ย่อยเศษอาหาร เช่น นม

วิธีป้องกันและลดกลิ่นปากที่สำคัญได้แก่

...

  • (1). บ้วนปากหลายๆ ครั้งหลังตื่นนอน เนื่องจากการสร้างน้ำลายจะลดลงช่วงกลางคืน และช่วงหลับ
  • (2). ล้างมือด้วยสบู่ก่อนบ้วนปากหรือทำความสะอาดช่องปาก + ก่อนกินอาหาร-ดื่มน้ำ เพื่อลดโอกาสติดเชื้อหวัด ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ คออักเสบ ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เพิ่มเสี่ยง (ความน่าจะเป็น) กลิ่นปาก

...

  • (3). ดื่มน้ำให้พอ โดยเฉพาะช่วงเช้าหลังตื่นนอนใหม่ๆ > น้ำลายทำหน้าที่ชำระล้างช่องปากให้สะอาด (แล้วกลืนลงไป), ภาวะขาดน้ำทำให้น้ำลายออกมาน้อยลง และข้นขึ้น
  • (4). กินธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้องแทนข้าวขาว, ขนมปังโฮลวีท (เติมรำ) แทนขนมปังขาว ฯลฯ + ผัก + ผลไม้ทั้งผล (หรือน้ำผลไม้ปั่นรวมกาก ไม่ใช่น้ำผลไม้กรอง) เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน และได้น้ำ (ปนอยู่ในอาหาร โดยเฉพาะธัญพืช ผัก ผลไม้) มากพอ

...  

  • (5). แปรงฟันให้ถูกวิธี วันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 2-3 นาที > ใช้แปรงขนอ่อน (soft) หรืออ่อนมาก (extraasoft), ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ > การแปรงฟันช่วยลดคราบจุลินทรีย์ หรือพลัค (plaque) บนผิวฟัน
  • (6). ดูแลแปรงสีฟัน > สะบัดแปรง โดยเคาะด้ามแปรงกับของแข็ง ให้น้ำกระเด็นออกหลังใช้ทุกครั้ง, นำออกไปตากแดดตากลม หรือใส่ในน้ำร้อนจัด (ใส่ในถ้วยกาแฟ เติมน้ำ ใส่ในไมโครเวฟ 2-3 นาทีก็ได้) ทุกสัปดาห์, เปลี่ยนแปรงสีฟันทุกๆ 3 เดือน หรือเปลี่ยนเมื่อขนแปรงบานออก เพื่อลดแบคทีเรียที่เกาะอยู่ตามแปรงสีฟัน

...

  • (7). ใช้ไหมขัดฟันให้ถูกวิธี วันละครั้ง > การแปรงฟันทำความสะอาดผิวฟันได้ประมาณ 60-70%, ส่วนที่แปรงทำความสะอาดฟันได้ไม่ดี คือ บริเวณคอฟัน (ส่วนที่อยู่ใกล้เหงือก) และส่วนที่ฟัน 2 ซี่อยู่ชิดกัน
  • (8). ใช้ไหมขัดฟันก่อนแปรงฟัน เพื่อให้ฟันส่วนที่ทำความสะอาด (คราบจุลินทรีย์) ออกแล้ว มีโอกาสสัมผัสฟลูออไรด์ในยาสีฟัน, ถ้าแปรงก่อน... ส่วนที่มีคราบจุลินทรีย์ปกปิดอยู่จะไม่มีโอกาสสัมผัสฟลูออไรด์ ซึ่งช่วยป้องกันฟันผุ

...

  • (9). ถ้ากลัวกลิ่นคราบจุลินทรีย์ตอนใช้ไหมขัดฟัน ควรทำน้ำเกลือ โดยใส่เกลือ 1 ช้อนชา + ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เล็กน้อยไปในน้ำ 1/2 แก้ว คนให้เข้ากัน อมไว้ในปาก 1 นาที แล้วบ้วนทิ้ง ก่อนใช้ไหมขัดฟัน
  • (10). แปรงลิ้น > ลิ้นคนเราสะสมคราบเซลล์ที่ตายแล้ว เศษอาหารตกค้าง และแบคทีเรียจำนวนมากได้คล้ายพรมเก่าๆ การแปรงลิ้นช่วยทำให้ลิ้นสะอาดขึ้น แบคทีเรียเติบโตได้น้อยลง

...

  • (11). อมน้ำเกลือดังข้อ (5) 1 นาที บ้วนทิ้ง แล้วบ้วนปากตาม วันละ 2 ครั้ง
  • (12). ทำความสะอาดฟันปลอมวันละครั้ง (ถ้าใช้)

...

  • (13). บ้วนปากบ่อยๆ > ช่วยลดจำนวนแบคทีเรียในช่องปาก
  • (14). หมากฝรั่งชนิดไม่มีน้ำตาล > การเคี้ยวเพิ่มน้ำลาย และสารให้ความหวานธรรมชาติ เช่น ไซลิทอล (มีในผลไม้บางชนิด เช่น ลูกพรุน ฯลฯ) ฯลฯ ช่วยลดแบคทีเรียในช่องปาก

...

  • (15). อาหารบางอย่างอาจช่วยลดกลิ่นปากได้ เช่น กาแฟ ใบพลู (clove), โยเกิร์ตไขมันต่ำ-น้ำตาลต่ำ อะโวคาโด อาเซลนัท น้ำมะนาว ใบกะเพรา ใบสะระแหน่ (mint) ฯลฯ > การที่ใบพลูช่วยลดกลิ่นปากอาจอธิบายได้ว่า ทำไมคนสมัยก่อน และคนอีกหลายๆ ชาติชื่นชอบการกินหมาก
  • (16). ไม่ดื่มนม หรือผลิตภัณฑ์นมมากเกินไป (ประมาณ 2-3 แก้ว/วัน กำลังดี) และไม่ควรดื่มนมคราวละมากๆ > นมที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารฯ คราวละมากๆ เพิ่มเสี่ยง (ความน่าจะเป็น) กลิ่นปาก

...

  • (17). กลิ่นปากกับกลิ่นตัวอาจผสมผสาน หรือแจมกันได้ ไม่ควรกินอาหารที่เพิ่มกลิ่นตัว เช่น กระเทียม หอม ฯลฯ มากเกินไป
  • (18). ไม่กินอาหารโปรตีน (ไข่ นม เนื้อ ถั่ว เต้าหู้ โปรตีนเกษตร) มากเกินไป

...

  • (19). ไม่กินอาหารคาร์บ หรือคาร์โบไฮเดรต (แป้ง-น้ำตาล) ต่ำจนเกินไป ซึ่งอาจพบในสูตรลความอ้วนบางสูตร เช่น แอทคินส์ ฯลฯ อย่างน้อยควรกินคาร์บเทียบเท่าขนมปังโฮลวีทมื้อละ 1 แผ่น, ข้าวกล้อง 1 ทัพพีเล็ก, หรือข้าวโอ๊ต 3 ช้อนโต๊ะละลายในน้ำร้อน เติมน้ำเย็นตาม เพื่อให้เย็นเร็ว และอาจเติมลูกเกดหรือถั่วลิสงต้มไปเล็กน้อย เพื่อให้รสชาดดีขึ้น (กรณีกินวันละ 3 มื้อ) > ถ้ากินคาร์บต่ำมากๆ ร่างกายจะใช้ไขมันมากขึ้น ทำให้มีกลิ่นคล้ายผลไม้ออกมากับลมหายใจได้มากขึ้น
  • (20). การใช้ยาสีฟันที่มีเบกกิ้ง โซดา หรือผงฟูที่ใช้ทำขนมปัง (baking soda / sodium bicarbonate / โซเดียม ไบคาร์บอเนต) หรือบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากทำเอง โดยใช้เกลือ 1 ช้อนชา, โซเดียม ไบคาร์บอเนต 1/2 ช้อนชา) อมไว้ในปาก 1 นาที แล้วบ้วนปากตาม อาจช่วยลดภาวะกรดในช่องปาก ทำให้แบคทีเรียเติบโตได้ยากขึ้น

...

  • (21). ตรวจช่องปากกับอาจารย์หมอฟันทุก 6-12 เดือน เพื่อการดูแลรักษาโรคช่องปาก เช่น ฟันผุ ฯลฯ
  • (22). ไม่ใช้หัวนมหลอก (pacifiers) นานเกินไป

...

  • (23). ไม่สูบบุหรี่ > บุหรี่ทำให้เลือดไปเลี้ยงเยื่อบุในช่องปากน้อยลง ภูมิต้านทานโรคในช่องปากลดลง เหงือกอักเสบง่าย ฟันดำ
  • (24). ตรวจเช็คเบาหวาน และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี (ถ้าสูง) > เบาหวานทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลง เหงือกอักเสบง่ายขึ้น

...

  • (25). ถ้าไอเรื้อรัง... ควรตรวจ-รักษา เนื่องจากโรคทางเดินหายใจบางอย่าง เช่น วัณโรค, ฝีในปอด ฯลฯ อาจทำให้เกิดกลิ่นออกมากับลมหายใจได้
  • (26). ปากดี... ปากไม่เหม็นไม่พอ ต้องขอวาจาดีด้วย ควรหลีกเลี่ยงคำพูดไม่ดี เช่น คำหยาบ-คำพูดเชือดเฉือนจิตใจคนอื่น, คำไม่จริง (โกหก), คำยุยง-ส่อเสียด (ทำให้คนแตกแยกกัน), คำพูดเหลวไหลไร้สาระ ฯลฯ > ขอเปลี่ยนเป็นคำจริง คำพูดที่มีประโยชน์, คำสุภาพ, และคำส่งเสริมสามัคคี เช่น แสดงความชื่นชมคนรอบข้างให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง แล้วค่อยๆ เพิ่มเป็น 3 ครั้งหลังอาหาร

...

  • (27). ทำใจ... ถ้าทำทุกอย่างแล้วอะไรๆ ยังไม่ดีขึ้น อย่าเพิ่งตกใจ ให้ทำใจให้ได้ แล้วปรึกษาอาจารย์หมอฟัน, หมอใกล้บ้าน, หรือหมอหู-คอ-จมูก

...

ข้อควรระวังที่สำคัญได้แก่ หลังกินอาหารที่มีรสเปรี้ยว ฝาด กรด หรือด่าง เช่น ยาน้ำ ยาลดกรด เครื่องดื่มกระตุ้นผสมกาเฟอีน ฯลฯ 30-60 นาที... ผิวฟันจะอ่อนลงชั่วคราวจากการสัมผัสกรดหรือด่าง

ควรบ้วนปากทันที แล้วบ้วนปากเป็นระยะๆ รอให้เวลาผ่านไป 30-60 นาทีค่อยแปรงฟันเบาๆ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่า การกินผลไม้ทั้งผลก่อนอาหารแทนหลังอาหารมีส่วนช่วยให้ไม่ต้องรอเวลาแปรงฟันหลังอาหารนานมากนัก

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

... 

 > Thank MailOnline; WebMD; E-ZineArticles; Doctor.or.th; ThaiClinic.com; BadBreathReport; georgiahealthinfo.gov;  

ที่มา                                                                      

หมายเลขบันทึก: 271364เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2009 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 03:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท