CBNA ฉบับที่ 29 : การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์


การลดเงินสมทบ นายจ้างได้ประโยชน์มากที่สุด เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อสถานประกอบการ ที่นายจ้างมีการจ้างลูกจ้างจำนวนมาก เป็นการลดภาระในการรับผิดชอบชีวิตลูกจ้างลงจากเดิม ทำให้นายจ้างได้ประหยัดเงินที่จะต้องจ่ายเงินสมทบถึง 2% ต่อมาพบว่าไม่ได้เป็นหลักประกันว่า เมื่อนายจ้างได้ประโยชน์จากการลดเงินสมทบแล้วนายจ้างจะไม่เลิกจ้างลูกจ้าง และจากกรณีบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่พบว่า แม้รัฐบาลช่วยเหลืองบประมาณแก่สถานประกอบการจำนวนมาก แต่ก็ยังเกิดการเลิกจ้างอยู่เช่นเดิม

ฉบับที่ 29 (26 พฤษภาคม 2552)

การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง

ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม 2552 คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิภา ได้จัดสัมมนาเรื่องการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ ณ ห้องแกรนด์ฮอล์ 2 โรงแรมรามาการ์เด้น


นางรสสุคนธ์ ภูริเดช รองประธานคณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา กล่าวถึงเหตุผลของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ว่า เนื่องจากทางคณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิภา เห็นว่าการประกันสังคมเป็นกฎหมายที่ถูกนำเสนอขึ้นมาเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างในด้านต่างๆ  รวมทั้งยังเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงด้านรายได้ รวมถึงเป็นหลักประกันรายได้ตอนที่แรงงานสูงอายุไม่สามารถทำงานได้ต่อไป การประกันสังคมเป็นลักษณะของการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ผ่านการนำเงินจากลูกจ้าง นายจ้าง รัฐบาล มาสมทบรวมกัน และนำดอกผลของกองทุนมาจ่ายให้ลูกจ้างตามสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่กำหนดไว้ แต่เมื่อรัฐบาลประกาศลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกองทุนได้ในอนาคต เช่น กองทุนชราภาพที่ต้องจ่ายเงินให้กับผู้ประกันตนตั้งแต่ พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป ทำให้ทางผู้จัดงานได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้จัดงานนี้ขึ้นมา เพื่อให้ทุกฝ่ายได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นและเป็นแนวทางในการดำเนินงานของรัฐบาลต่อไป


            พลตรีขจร สัยวัตร์ ประธานคณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ระบบประกันสังคมของประเทศไทยได้ให้ความคุ้มครองลูกจ้างถึง 9 ล้านคนเศษ มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ บนหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ระบบนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นหลักประกันของผู้ใช้แรงงานทุกคน เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกทำให้สถานประกอบการจำนวนมากต้องปิดกิจการ มีคนตกงาน ว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามการพิจารณาลดเงินสมทบประกันสังคมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซับซ้อน และอาจส่งผลกระทบต่อกองทุนในอนาคต ทำให้ทางคณะกรรมาธิการเห็นว่าจำเป็นต้องแสวงหาข้อมูล แลกเปลี่ยน รวมถึงหาข้อเสนอแนะอย่างเป็นธรรมจากทุกฝ่ายร่วมกัน  

 


            การจัดสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บรรยายให้ความรู้เรื่อง มาตรการของกระทรวงแรงงานต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ

 


            การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจถือเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลที่ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2551 เริ่มต้นจากประเทศสหรัฐอเมริกาและส่งผลกระทบมายังประเทศอื่นๆในยุโรป และเอเชียตามลำดับ ประเทศเหล่านั้นล้วนเป็นผู้ซื้อสินค้าที่สำคัญของไทย ที่ไทยเป็นผู้พึ่งพาการส่งออกมากถึง 75 % โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม 3 ประเภทหลัก คือ อิเลคทรอนิคส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานพาหนะ

 


วิกฤติในครั้งนี้สามารถย้อนกลับไปดูบทเรียนของวิกฤติปี 2540 ได้ ในสมัยนั้นเกิดการไหลเวียนของเงินทุนออกนอกประเทศจำนวนมาก รัฐบาลจึงได้เข้ามาบรรเทาวิกฤติ มีการดำเนินนโยบายปกป้องค่าเงินบาท มีการเปลี่ยนระบบค่าเงินบาทกลายเป็นระบบค่าเงินลอยตัว มีการขอความช่วยเหลือจากกองทุน IMF สมัยนั้นผมเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอมาตรการต่างๆ เช่น ต้องเพิ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ , ต้องสร้างความมั่นคงทางสถาบันการเงิน , ต้องมีการลดอัตราดอกเบี้ย , ลดอัตราเงินเฟ้อ , ลดการเคลื่อนไหวออกของเงินกองทุน , แก้ไขผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ  เพื่อสร้างความมั่นใจและฟื้นภาคธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

 


สำหรับการช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตนในสมัยนั้น รัฐบาลได้มีการลดอัตราสมทบเงินประกันสังคมเป็นการชั่วคราว ประมาณ 3 ปี คือ ปี 2542-44 โดยในช่วงนั้นผู้ประกันตนยังได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิมทุกประการ การดำเนินการดังกล่าวช่วยทำให้การจ้างงานกระเตื้องขึ้น

 


ฉะนั้นวันนี้การแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ จึงต้องอิงประวัติศาสตร์ อิงการแก้ไขปัญหาที่เคยใช้ในอดีตมาแล้ว เป็นประสบการณ์ที่รัฐบาลนำมาใช้ในปัจจุบัน

 


            วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ รัฐบาลได้มีการดำเนินการผ่านทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว การใช้มาตรการระยะสั้น เช่น มีการให้ประชาชนใช้น้ำ ใช้ไฟ บริการรถเมล์ฟรีต่อไปอีก 6 เดือน มีการจ่ายเี้ยยังชีพคนชรา เดือนละ 500 บาท มีค่าตอบแทนให้ อสม.  โครงการต้นกล้าอาชีพ เป็นต้น ส่วนมาตรการระยะยาว คือ การเพิ่มการลงทุน 5 % ของรายได้ประชาชาติ เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนกับภาครัฐ การลงทุนสาธารณะขั้นพื้นฐาน

 


กระทรวงแรงงานประเมินว่าผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้จะมีผู้ตกงานประมาณ 1-2 ล้านคน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมส่งออก คาดว่าตอนนี้มีถึง 4,000 กว่าแห่งแล้วที่ปิดกิจการลง นี้ยังไม่นับรวมนักศึกษาจบใหม่อีกหลายแสนคน กระทรวงแรงงานจึงได้มีการเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆต่อรัฐบาลเป็นระยะๆ เช่น การขยายเวลาการได้รับสิทธิประกันการว่างงาน จาก 180 วัน เป็น 240 วัน หรือการใช้มาตรา 75 เยียวยานายจ้างและลูกจ้าง เพื่อรอคำสั่งซื้อจากต่างประเทศในอนาคต

 


ตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ มีผู้ออกจากงานมาใช้สิทธิประกันการว่างงานถึง 3 แสนกว่าคนแล้ว อย่างไรก็ตามมีสัญญาณว่าในปลายปี 2552 วิกฤติน่าจะดีขึ้น ทำให้จำเป็นที่โรงงานต้องรักษาลูกจ้างไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง จึงทำให้ที่ประชุมกรรมการบอร์ดประกันสังคมได้พิจารณาร่วมกันว่า ควรจะต้องมีการลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยมีลักษณะว่าเป็นการลดเฉพาะนายจ้างและลูกจ้างเท่านั้น, ลดแค่ 6 เดือน, ลดจาก 5 % เหลือ 3 %, ลูกจ้างยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ตามเดิม มีการคุ้มครองเหมือนเดิม โดยมีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพตามเดิมเช่นเดียวกัน , ลูกจ้างมีเงินเหลือไปใช้บรรเทาความเดือดร้อนในครอบครัวได้มากขึ้น , โรงงานเหลือเงินมากขึ้น ช่วยทำให้ลูกจ้างไม่เลิกจ้างลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างไม่ตกงาน คงอยู่ในระบบการจ้างงานต่อไป จะเป็นผลดีต่อครอบครัว สังคม เกิดผลทางจิตวิทยาให้นักลงทุนต่างประเทศเกิดบรรยากาศการลงทุนเพิ่มขึ้น

 


นอกจากนั้นกระทรวงแรงงานยังมีมาตรการให้การประกันสังคมครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอื่นๆด้วย เช่น กลุ่มแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 เป็นต้น

 


ผมคิดว่าการลดเงินสมทบครั้งนี้จึงไม่มีใครเสียประโยชน์ ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์เหมือนกัน เพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

 

หลังจากนั้นเป็นการอภิปราย เรื่องการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ มีวิทยากรร่วมอภิปราย 4 ท่าน คือ ปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขานุการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และ รศ.ดร.วิจิตรา วิเชียรชม รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์


 

ปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

            การทำงานของสำนักงานประกันสังคม คือ การเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคงให้สังคม เรามองในมิติที่ว่า ผู้ใช้แรงงานเป็นกลุ่มที่มีโอกาสน้อยกว่าคนกลุ่มอื่นๆ จึงต้องมีหลักประกันความมั่นคงด้านรายได้ในด้านต่างๆ  เช่น เจ็บป่วย ลาคลอด เสียชีวิต ออกจากงาน ชราภาพ ควรมีเงินทดแทน เพื่อดูแลผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ เป็นการใช้ระบบเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข เป็นลักษณะที่ว่า เมื่อแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม ไม่ใช่ทุกคนที่เจ็บป่วย เสียชีวิต ว่างงาน หรือชราภาพ ฉะนั้นคนที่มีงานทำก็ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน เพื่อให้คนที่เจ็บป่วยได้รับเงินทดแทน

            ก่อนที่จะมีการลดเงินสมทบ สำนักงานประกันสังคมได้มีแนวทางที่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานมาก่อน จากเดิมทดแทนเพียง 6 เดือน เพิ่มเป็น 8 เดือน มตินี้ออกมาตั้งแต่พฤศจิกายน 2551 ในระหว่างนั้นจะได้ยินคำพูดว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจแน่นอน การส่งออกจะลดลง ทำให้คิดว่าทำอย่างไรจะช่วยเหลือลูกจ้างได้ เราจึงใช้วิธีการที่เรียกว่า เป็นการเติมเงินให้ลูกจ้าง คือ การเติมกำลังซื้อให้ลูกจ้าง ให้ลูกจ้างมีเงินไปจับจ่ายใช้สอยอีก 8 เดือน ภายหลังออกจากงาน ทำให้มีเงินหมุนเวียนในประเทศเพิ่มขึ้น

หลังจากนั้นเดือนมกราคม 2552 มีการพูดถึงตัวเลขผู้ตกงานที่มากถึง 2 ล้านคน เป็นคำถามสำคัญของรัฐบาลว่าจะทำอย่างไร ถ้าคน 2 ล้านคน ออกจากระบบการเลิกจ้าง กองทุนประกันสังคมจะอยู่อย่างไรต่อไป สำนักงานประกันสังคมจึงได้สอบถามผู้รู้ทั้งหลาย เช่น กระทรวงการคลัง และมาคิดแก้ปัญหาเรื่อง ทำอย่างไรให้การจ้างงานต้องคงอยู่ในระบบต่อไป ในที่สุดทางประกันสังคมจึงเลือกใช้วิธีการลดเงินสมทบ มีการสอบถามความคิดเห็นและพิจารณาจากหลายๆฝ่าย มีการประชุมบอร์ดถึง 4 ครั้ง คือ 20 มกราคม , 27 มกราคม , 10 มีนาคม , 24 มีนาคม 52 และประกาศใช้ในเดือนเมษายน หลังจากที่โครงการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ได้ทำงานในระบบไปก่อนแล้ว

            การลดเงินสบทบไม่ใช่การแก้ปัญหาเรื่องการเลิกจ้างลูกจ้าง แต่เป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องคำสั่งซื้อ สำนักงานประกันสังคมเห็นว่าเป็นการเก็บลูกจ้างไว้ในสถานประกอบการมากกว่า ประเทศชาติจะได้มีกำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นมา ต่อมาคือ เป็นการรักษากำลังการผลิตไว้ เป็นหลักจิตวิทยารูปแบบหนึ่ง รวมถึงยังทำให้ประสิทธิภาพกองทุนไม่เสียหาย ผู้ใช้แรงงานไม่เสียประโยชน์ สามารถชดเชยบำเหน็จชราภาพได้

นอกจากนั้นต้องไม่ลืมว่ากองทุนจะมีดอกผลที่เกิดขึ้นจากการลงทุน เพื่อนำเงินมาชดเชยในส่วนที่เสียไปได้ ทำให้กองทุนไม่มีปัญหาในเรื่องความมั่นคง และไม่กระทบต่ออนาคตอย่างแน่นอน

 

วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

            ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยไม่เห็นด้วยกับการลดเงินสมทบ เราจะสูญเสียเงินไปถึง 15,600 ล้านบาท และจะกระทบกับสิทธิประโยชน์ในอนาคต เพราะปัจจุบันรัฐก็จ่ายเงินสมทบน้อยกว่าลูกจ้าง นายจ้างอยู่แล้ว

            การลดเงินสมทบ นายจ้างได้ประโยชน์มากที่สุด เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อสถานประกอบการ ที่นายจ้างมีการจ้างลูกจ้างจำนวนมาก เป็นการลดภาระในการรับผิดชอบชีวิตลูกจ้างลงจากเดิม ทำให้นายจ้างได้ประหยัดเงินที่จะต้องจ่ายเงินสมทบถึง 2% ต่อมาพบว่าไม่ได้เป็นหลักประกันว่า เมื่อนายจ้างได้ประโยชน์จากการลดเงินสมทบแล้วนายจ้างจะไม่เลิกจ้างลูกจ้าง และจากกรณีบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่พบว่า แม้รัฐบาลช่วยเหลืองบประมาณแก่สถานประกอบการจำนวนมาก แต่ก็ยังเกิดการเลิกจ้างอยู่เช่นเดิม

นอกจากนั้นแล้วการลดเงินสมทบไม่ได้เป็นการแบ่งเบาภาระลูกจ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เพราะเป็นเพียงการลดเงินสบทบลงแค่วันละ 1-10 บาทเท่านั้น ลูกจ้างจะลดเงินได้สูงสุดเพียง 33.50 - 300 บาทต่อเดือนเท่านั้น หรือเฉลี่ย 1 - 10 บาทต่อวัน

เป็นการส่งผลกระทบระยะยาวต่อผู้ประกันตนที่จะต้องรับเงินชราภาพประมาณ 2.6 แสนคน คิดเป็นเงินประมาณ 118 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป รวมถึงเงินออมบำเหน็จชราภาพจะหายไปด้วย เพราะไม่มีการส่งเงินออม

นอกจากนั้นผู้ประกันตนต้องแบกรับภาระความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันรัฐบาลได้อนุมัติให้ขึ้นค่าเหมาจ่ายด้านรักษาพยาบาลประจำปี 2552 ทำให้กองทุนประกันสังคมต้องจ่ายเม็ดเงินออกไปมากขึ้นกว่าเดิม จากเดิม 1,539 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 1,861 บาทต่อคนต่อปี ทำให้กองทุนประกันสังคมต้องจ่ายเงินให้โรงพยาบาลมากขึ้นถึงปีละ 4,000 4,500 ล้านบาท

ฉะนั้นจึงเรียกร้องให้รัฐบาลมีการทบทวนมาตรการการลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมอีกครั้งหนึ่ง เพราะบางสถานประกอบการได้เลือกใช้สถานการณ์ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเป็นข้ออ้างในการฉวยโอกาสเลิกจ้างงาน ฉะนั้นรัฐบาลควรมีการศึกษา/สำรวจก่อนว่ามีสถานประกอบการใดที่ได้รับผลกระทบบ้าง ถึงจะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ รวมทั้งรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบหาเงินมาจ่ายทดแทนในส่วนที่ลดลงให้กับลูกจ้างและนายจ้างที่หายไปจากกองทุนกว่า 15,600 ล้านบาทด้วยเช่นกัน

 

สิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขานุการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย

            วัตถุประสงค์ของการลดเงินสมทบกองทุนในภาพรวม คือ การรักษาตลาดแรงงาน รักษาสภาวะการจ้างงานในระยะยาว เพื่อเสถียรภาพกองทุน เพราะการตกงาน คือ การทำให้เงินกองทุนหายไป เงินกองทุน คือ การเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ในส่วนของสภานายจ้าง เราจะเน้นเรื่องแรงงานสัมพันธ์ เพื่อจะรักษาสภาพแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในสถานประกอบการ มีการสำรวจเร็วๆไปในสมาชิกของเรา พบว่า ในสถานประกอบการใหญ่ ๆ บริษัทข้ามชาติให้ความสำคัญในเรื่องนี้น้อย เพราะปัญหาหลักของเขา คือ ไม่มีคำสั่งซื้อ การลดเงินสมทบช่วยได้บ้างแต่ไม่มาก กลับมาดูที่ SMEs จะช่วยได้มาก คือ ต่อลมหายใจไปได้บ้างอีกระยะหนึ่ง มีความหวังว่าต่อไปจะมีงานเข้ามา ถ้าเลิกจ้างแรงงานออกไป จะไม่สามารถฝึกคนได้ไม่ทันในอนาคต จึงต้องรักษาลูกจ้างไว้ก่อน   

ผลที่เกิดขึ้น พบว่า อาจจะชะลอการเลิกจ้างได้ในกลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศไทย แต่การจ้างงานมีน้อยกว่าบริษัทใหญ่ ชะลอได้บ้าง แต่ถ้าไม่มีคำสั่งซื้อก็ไม่สามารถชะลอได้อีกต่อไป แต่บริษัทข้ามชาติพบว่าการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

            เป็นการช่วยสำนักงานประกันสังคมได้ในแง่การว่างงานลดลง ไม่ต้องจ่ายเงินประกันการว่างงาน

วันนี้คิดว่าไม่น่าจะทำให้กองทุนล่มสลาย เพราะชะลอแค่ 6 เดือนเท่านั้น เป็นการช่วยทำให้กิจการเล็กๆเดินไปได้ และทำให้กิจการใหญ่ๆได้ฉุกคิดเรื่องการอยู่รอดต่อไป

            ที่จะฝากรัฐบาลมากกว่า คือ การบริหารกองทุนในระยะยาว ที่จะมีปัจจัยที่กระทบกับกองทุนมากขึ้น

 

รศ.ดร.วิจิตรา วิเชียรชม รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์           

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันประเทศเราประสบวิกฤติเศรษฐกิจ กระทบต่อสถานประกอบการ และลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง นายจ้างและลูกจ้างต่างได้รับผลกระทบเหมือนกัน

            การเลิกจ้างเป็นมาตรการสุดท้ายที่นายจ้างเลือกใช้ ฉะนั้นนายจ้างจะต้องใช้มาตรการอื่นๆ มาเยียวยาก่อน เพื่อไม่ให้มีการเลิกจ้าง เพราะสุดท้ายคนได้รับผลกระทบมาก คือ ลูกจ้าง นั่นเอง รัฐบาลควรคำนึงถึงปากท้องลูกจ้างก่อน คือ ให้เลิกจ้างน้อยไว้ก่อน คิดว่านายจ้างไม่อยากเลิกจ้างลูกจ้าง โดยเฉพาะลูกจ้างที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว

            การลดเงินสมทบ มีแนวโน้มมาตั้งแต่ต้นปีอยู่แล้ว ทำให้นายจ้างได้ประโยชน์ส่วนหนึ่ง แต่คงไม่มาก เพราะช่วยได้เฉพาะกิจการที่ใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะไม่ต้องส่งเงินสมทบเป็นก้อนใหญ่ ส่วนลูกจ้างก็ได้บ้าง โดยลูกจ้างในระดับล่างไม่มีฝีมือ ที่ช่วยได้บ้าง เพราะราคาสินค้าสูงขึ้น มีเงินในกระเป๋ามากขึ้นพอจับจ่ายได้ 

 

รายงานโดย : บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

 

หมายเลขบันทึก: 270929เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2009 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท