CBNA ฉบับที่ 26 : ความสัมพันธ์ไทย-พม่าในมุมมองของรัฐบาลพม่า


ในมุมมองของรัฐบาลพม่า ไทยไม่ได้ให้ความร่วมมือเท่าที่มิตรประเทศพึงจะมีให้ ดังนั้นจะถือว่าไทยเป็นมิตรเสียทีเดียวก็ไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มิใช่ศัตรูตัวฉกรรจ์แต่ประการใด แต่ในท่ามกลางความคลุมเครือนี้ ไทยก็คงจะมองออกว่าพม่าคิดอย่างไรต่อไทย ผ่านการศึกษาว่าด้วยตำราเรียนของพม่าฉบับที่เขียนถึงประเทศไทยและคนไทยโดยเฉพาะ ว่าเราคงจะไม่ได้อยู่ในลำดับขั้นของมิตรประเทศของพม่าเป็นแน่แท้

ฉบับที่ 26 (15 พฤษภาคม 2552)

ความสัมพันธ์ไทย-พม่าในมุมมองของรัฐบาลพม่า

พรพิมล ตรีโชติ

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โครงการ "ไทยในการรับรู้และความเข้าใจของประเทศเพื่อนบ้าน"

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 พ.ค. 52

 

ความสัมพันธ์ไทย-พม่า ในมุมมองของพม่านั้น สรุปสั้นๆ อย่างได้ใจความว่า "ไทยนั้นไม่ใช่ทั้งศัตรูหรือมิตร" (Neither Friend nor Foe) เพราะหากจะตีความว่า "มิตร" ในมุมมองของพม่านั้น ต้องเป็นให้ได้เหมือนกับจีน ความสัมพันธ์ที่จีนมีให้แก่พม่า เป็นความสัมพันธ์ที่ปราศจากเงื่อนไข พม่าไม่ต้องปรับระบบการเมือง พม่าไม่ต้องแก้ไขสิทธิมนุษยชน พม่าจะเป็นอะไรก็ได้ตามแต่พม่าเห็นสมควร เพราะนั่นเป็นเรื่องภายในของพม่า และจีนไม่มีนโยบายแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น

 

นอกจากการไม่ก้าวล่วงปัญหาภายในของพม่าแล้ว จีนยังทำตัวเหมือนเป็นพี่ใหญ่ของพม่าที่คอยปกป้องพม่าจากการถูกลงโทษจากเวทีสหประชาชาติ ผ่านสิทธิการออกเสียงในสภาความมั่นคงของสหประชาชาติ และเมื่อใดที่พม่ามีปัญหาด้านการเงินและเศรษฐกิจ จีนก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยได้อย่างทันทีทันใด วัตรปฏิบัติเช่นนี้ที่พม่ามองว่าเป็นความสัมพันธ์ฉันเพื่อน

 

หากแต่ความสัมพันธ์ไทย-พม่าไม่เป็นไปในรูปแบบนั้น ในมุมมองของพม่า (เน้นย้ำอีกครั้งว่าในความคิดของทหารพม่า) ไทยทำอะไรหลายๆ อย่าง ที่ทำให้พม่าไม่ไว้วางใจ ถึงขั้นหวาดระแวงเอาเลยทีเดียว ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ กรณีของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามตะเข็บชายแดน ซึ่งรัฐบาลพม่าเข้าใจว่าไทยให้การสนับสนุน เพราะถือว่ารัฐบาลไทยนั้นใช้นโยบาย "เขตกันชน" (Buffer Zone) โดยอาศัยกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยเป็นตัวกันชน กันไม่ให้กองทัพพม่าเข้ามาประชิดชายแดนไทยได้ ในขณะที่ไทยปฏิเสธและยืนยันว่า รัฐบาลไทยไม่สนับสนุนให้กองกำลังใดใช้ดินแดนไทยเป็นพื้นที่ซ่องสุมผู้คน เพื่อกลับไปปฏิบัติการในประเทศเพื่อนบ้าน

 

นอกจากนั้น รัฐบาลพม่ายังมองว่าไทยให้การสนับสนุนครอบครัวของสมาชิกกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย ด้วยการตั้งพื้นที่พักพิงชั่วคราวให้สมาชิกครอบครัวของกองกำลังเหล่านี้ได้ พักพิงอาศัยและรับไว้ในความดูแลภายใต้ชื่อ "ผู้หนีภัยจากการสู้รบ" ในขณะที่ฝ่ายไทยมองว่า การกระทำของไทยถือเป็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อกลุ่มบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนและเสี่ยงภัยต่อชีวิต ความคิดที่ไม่ต้องกันในกรณีนี้ ทำให้ฝ่ายพม่ายังคงมีความเคลือบแคลงใจต่อรัฐบาลไทยเสมอมา

 

ประการที่สอง ที่รัฐบาลพม่าเคลือบแคลงใจ ได้แก่ การเปิดเสรีให้นักศึกษา นักการเมือง และผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองของพม่า เข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่าในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลพม่าเห็นว่ารัฐบาลไทยควรจะทำการควบคุมไม่ให้บุคคลเหล่านี้ สามารถดำเนินการทางการเมืองได้อย่างเปิดเผยและเสรี

 

นอกจากนั้น รัฐบาลไทยยังเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนไทยในการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและรัฐบาลพม่าได้อย่างเสรี ซึ่งทำให้รัฐบาลพม่าไม่สู้จะพอใจเท่าใดนัก เพราะมีความคิดว่าสื่อมวลชนของไทยมีอคติต่อรัฐบาลพม่าและคนพม่า ผ่านกระบวนการหล่อหลอมและกล่อมเกลาทางสังคมมาตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านตำราเรียนทางประวัติศาสตร์ จนกระทั่งรวมถึงสื่อมวลชนรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละครทีวี ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงอคติที่คนไทยมีต่อพม่าทุกครั้งที่มีการเอ่ยถึงพม่าโดยรวม ซึ่งรัฐบาลพม่าถือว่าเป็นการกระทำที่มิตรประเทศไม่พึงกระทำต่อกัน

 

ทั้งนี้ยังไม่นับถึงความไม่แน่นอนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยที่มีต่อพม่า ซึ่งเริ่มต้นขึ้นด้วยการกำหนดนโยบายความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ (Constructive Engagement) ซึ่งเริ่มในสมัยนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน โดยมีนายอาสา สารสิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และต่อมาในสมัยของนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ซึ่งมี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่ได้ มีความพยายามในการเปลี่ยนนโยบายของไทยต่อพม่าไปสู่ความสัมพันธ์แบบยืดหยุ่น (Flexible Engagement) ซึ่งนำเสนอในที่ประชุมอาเซียนที่กรุงมะนิลาในปี พ.ศ. 2541 ทำให้รัฐบาลพม่าไม่สู้จะพอใจนัก และตีความว่าไทยกำลังพยายามที่จะหาหนทาง ในการแทรกแซงกิจการภายในของพม่าอย่างเป็นทางการผ่านการเห็นชอบของอาเซียน

 

ปัจจัยทั้งสามประการที่กล่าวมานี้ เป็นส่วนหนึ่งของมุมมองของรัฐบาลพม่าที่มองมายังความสัมพันธ์ไทย-พม่า ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ประเทศพม่าเปิดตัวอีกครั้งในปี ค.ศ. 1988 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลพม่าชุดปัจจุบันถือกำเนิด ผู้นำรัฐบาลพม่าชุดปัจจุบันเป็นนายทหารที่มีภูมิหลังต่อสู้ขับเคี่ยวมากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยมาอย่างโชกโชน ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับปัจจัยนี้ ตลอดจนบทบาทของเพื่อนบ้านอันสัมพันธ์กับปัจจัยนี้เช่นกัน และในมุมมองของรัฐบาลพม่า ไทยไม่ได้ให้ความร่วมมือเท่าที่มิตรประเทศพึงจะมีให้ ดังนั้นจะถือว่าไทยเป็นมิตรเสียทีเดียวก็ไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มิใช่ศัตรูตัวฉกรรจ์แต่ประการใด แต่ในท่ามกลางความคลุมเครือนี้ ไทยก็คงจะมองออกว่าพม่าคิดอย่างไรต่อไทย ผ่านการศึกษาว่าด้วยตำราเรียนของพม่าฉบับที่เขียนถึงประเทศไทยและคนไทยโดยเฉพาะ ว่าเราคงจะไม่ได้อยู่ในลำดับขั้นของมิตรประเทศของพม่าเป็นแน่แท้

 

 

หมายเลขบันทึก: 270918เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2009 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท