พูดอย่างยืดหยุ่นและนุ่มนวล


"เจ้าทั้งสอง(มูซาและฮารูน) จงพูดกับเขา(ฟาโรห์) ด้วยคำพูดที่นุ่มนวล"

เมื่อวานได้คุยเรื่องภาษาที่ครูใช้กับนักเรียน วันนี้ก็ขอต่อ ไม่ใช่เรื่องภาษาที่ใช้แต่เป็นเรื่องลักษณะการพูดคุย

อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

﴿       فَقُولا لَهُ قَوْلاً لَّيِّناً ...﴾ 

"เจ้าทั้งสอง(มูซาและฮารูน) จงพูดกับเขา(ฟาโรห์) ด้วยคำพูดที่นุ่มนวล" (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ ฏอฮา : 20/44)

ในบันทึกเมื่อวานก็ได้พูดแล้วเหมือนกันว่า การกระทำของบรรดาเราะซูล ก็เป็นแบบอย่างแก่พวกเรา เมื่ออัลลอฮฺสั่งเราะซูลให้กระทำอย่างไร ถ้าไม่มีสิ่งยกเว้นอะไรก็เหมือนกับว่าสั่งพวกเราทุกคนให้กระทำเช่นนั้นด้วยเช่นกัน

ขอเล่าเรื่องราวของนบีมูซอย่อๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจที่มาที่ไปของคำสั่งนี้

นบีมูซาหรือที่บางคนเรียกว่าโมเสส เกิดในตระกูลบะนีอิสรออีล ซึ่งในปีที่มูซาเกิดนั้นโหรของจักรพรรดิฟีรเอาน์หรือฟาโรห์ทำนายว่าเด็กเกิดใหม่ในช่วงนั้นจะนำหายนะมาแก่ราชวงศ์ กษัตริย์ฟาโรห์ก็สั่งฆ่าเด็กเกิดใหม่ที่มาจากบะนีอิสรออีลทุกคน แต่มูซาสามารถเล็ดลอดสายตรวจของฟาโรห์ได้ และเกิดมาท่ามกลางความหวาดกลัวของญาติพี่น้อง จึงปล่อยให้ล่องลอยไปตามสายน้ำ เมื่อราชินีเห็นเด็กล่องลอยมากับสายน้ำเกิดชอบและรักที่จะเลี้ยง จึงนำเด็กมาเลี้ยงจนเติบใหญ่

ในช่วงที่มูซายังเป็นทารกอยู่ กษัตริย์ฟาโรห์ต้องการที่จะทดสอบว่าเด็กคนนี้เป็นเด็กประเสริฐจริงหรือไม่ โดยให้มูซาเลือกระหว่างผลองุ่นกับถ่านไฟแดงๆ ด้วยความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺมูซาก็เลือกถ่านไฟที่กำลังลุกไหม้หยิบใส่ปากตัวเอง เป็นเหตุให้การพูดจาของมูซาไม่คล่องแคล่วเหมือนคนปกติ

นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่มูซาต้องหนีฟาโรห์ไปอยู่บ้านนอกท่ามกลางทะเลทรายเป็นสิบกว่าปี สภาพสังคมบ้านนอกทำให้ภาษาของมูซาไม่นุ่มนวลเหมือนคนในเมือง ครั้นเมื่ออัลลอฮฺแต่งตั้งมูซาให้เป็นฑูตไปพูดจากับฟาโรห์ให้เขาหันกลับไปศรัทธาพระเจ้า สิ่งแรกที่มูซากระทำเพื่อให้เขาสามารถพูดจาได้คล่องและทำงานพูดคุยเชิญชวนเพื่อให้ฟาโรห์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คือ ท่านขอพร(ดุอา)จากอัลลอฮฺ ว่า

﴿ قَالَ رَبِّ اشْرَحْ لِي صَدْرِي (25) وَيَسِّرْ لِي أَمْرِي (26) وَاحْلُلْ عُقْدَةً مِّن لِّسَانِي (27) يَفْقَهُوا قَوْلِي (28) ﴾

(25. เขากล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงโปรดเปิดอกของข้าพระองค์ให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด” 
 26. “และทรงโปรดทำให้การงานของข้าพระองค์ ง่ายดายแก่ข้าพระองค์ด้วย
 27. “และทรงโปรดแก้ปม จากลิ้นของข้าพระองค์ด้วย
  28. “เพื่อให้พวกเขาเข้าใจคำพูดของข้าพระองค์”
) (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ ฏอฮา : 20/25-28)

และพี่ชายเขาเกิดในเมือง โตในเมือง การใช้ภาษาน่าจะดีกว่า ท่านจึงขอจากอัลลอฮฺให้แต่งตั้งพี่ชาย คือ นบีฮารูนเป็นคู่หูไปเชิญชวนกับเขา

﴿ وَاجْعَل لِّي وَزِيراً مِّنْ أَهْلِي (29) هَارُونَ أَخِي (30) اشْدُدْ بِهِ أَزْرِي (31) وَأَشْرِكْهُ فِي أَمْرِي (32) ﴾

 (29. “และทรงโปรดให้คนในครอบครัวของข้าพระองค์ เป็นผู้ช่วยแก่ข้าพระองค์ด้วย” 
   30. “ฮารูนพี่ชายของข้าพระองค์” 
   31. “ได้โปรดให้เขาเพิ่มความเข้มแข็งแก่ข้าพระองค์ด้วย
   32. “และให้เขามีส่วนร่วมในกิจการของข้าพระองค์ด้วย”
) (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ ฏอฮา : 20/29-32)

จากเรื่องราวของนบีมูซานี้ นับเป็นบทเรียนสำคัญบทหนึ่งสำหรับครูทุกคน รวมทั้งบันทึกที่ได้เขียนเมื่อวาน พอสรุปได้ว่า คนที่จะทำหน้าที่เป็นครูจะต้องคำนึงในสิ่งต่อไปนี้ 

  1. ก่อนสอนครูต้องเตรียมก่อนว่า สอนใคร เขาพูดอะไร และระดับอายุเขาเท่าไร เด็ก วัยรุ่นหรือว่าเป็นผู้ใหญ่
  2. ครูต้องใช้ภาษาที่ผู้เรียนเข้าใจง่าย ต้องพูดคล่องแคล่ว ถ้าพบว่าตัวเองยังพูดตะกุกตะกักอยู่ จำเป็นที่จะต้องสอน ต้องพูดคุยกับผู้เรียน ครูจะต้องฝึกพูดบ่อยๆ ถ้ายังไม่ได้ผลและยังจำเป็นที่จะต้องสอน ครูควรหาเพื่อนที่ไปช่วยสอน อย่างกรณีนบีมูซาที่แต่งตั้งนบีฮารูน
  3. ก่อนเริ่มต้นสอนควรจะขอพร(ดุอา) เหมือนอย่างนบีมูซา ตามที่กล่าวข้างบน
  4. ระหว่างที่พูดคุยกับผู้เรียน ครูต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ภาษาที่ยืดหยุ่นและนุ่มนวล โดยเฉพาะไม่ควรใช้อารมณ์ในการพูดคุย
หมายเลขบันทึก: 270592เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2009 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 11:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท