การสร้างแบบทดสอบแบบปรับเหมาะกับความสามารถของผู้สอบบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต


การดำเนินการสอบแบบทดสอบปรับเหมาะกับความสามารถของผู้สอบบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

                   การใช้ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการดำเนินการสอบแบบทดสอบปรับเหมาะกับความสามารถของผู้สอบบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  ช่วยให้เกิดความสะดวกในการดำเนินการสอบที่เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้สอบแต่ละคน  ผลคะแนนที่ได้ในขั้นสุดท้ายของการสอบมีความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่นสูง  ลดผลการเดาถูกใช้เวลาสอบสั้น  ผู้สอบสามารถทราบผลการสอบทันทีหลังการตอบข้อสอบเสร็จ  การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมาย เพื่อสร้างแบบทดสอบแบบปรับเหมาะกับความสามารถของผู้สอบบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต   ในวิชาวิทยาศาสตร์  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  ตามกระบวนการสร้างแบบทดสอบที่เป็นมาตรฐาน  และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการทดสอบแบบปรับเหมาะกับความสามารถของผู้สอบบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  ในวิชาวิทยาศาสตร์  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย  มีจำนวนนักเรียน  975  คน  ได้มาโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน  (Multi-stage Random Sampling)  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  ได้แก่  1)  คลังข้อสอบ  เรื่อง  เอกภพ  จำนวน  200  ข้อ  2)  เว็บเพจสำหรับการทดสอบแบบปรับเหมาะกับความสามารถของผู้สอบบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  และ  3)  แบบสอบถามความพึงพอใจออนไลน์  การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์องค์ประกอบ  (factor analysis)  พิจารณาค่าไอเกน (Eigen values)  หาคุณภาพของข้อสอบรายข้อตามทฤษฏีการตอบสนองข้อสอบ  หาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบโดยวิธีการสอบซ้ำ  (Test-Retest)  และหาค่าความเที่ยงตรงเชิงเกณฑ์สัมพันธ์  (Criterion-related Validity)  จำแนกนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเป็น  2  กลุ่ม  คือ  กลุ่มที่ใช้ทดสอบเพื่อหาคุณภาพข้อสอบรายข้อตามทฤษฎีการตอบสนองข้อสอบ  (Item Response Theory  :  IRT)  จำนวน  905  คน  และกลุ่มที่ใช้ทดสอบเพื่อหาคุณภาพข้อสอบของแบบทดสอบปรับเหมาะ  จำนวน  70  คน 

                   ผลการวิจัยปรากฏดังนี้

                         การทดสอบครั้งที่  1  เป็นการทดสอบเพื่อหาคุณภาพข้อสอบรายข้อตามทฤษฎีการทดสอบแบบมาตรฐานเดิม  (Classical Test Theory)  โดยใช้แบบทดสอบ  5  ฉบับ  ฉบับละ  50  ข้อ  แต่ละฉบับให้นักเรียนทดสอบเท่ากันฉบับละ  181  คน  พบว่าได้ข้อสอบที่อยู่ในเกณฑ์  จำนวน  200  ข้อ  ได้ข้อสอบที่มีค่าอำนาจจำแนก  (a)  อยู่ระหว่าง  0.302  ถึง  2.818  ค่าความยาก  (b)  อยู่ระหว่าง  -2.913  ถึง  2.976  และค่าโอกาสการเดาถูก  (c)  อยู่ระหว่าง  0.101  ถึง  0.298  ภาษาที่ใช้พัฒนาโปรแกรมคือ  PHP  ส่วนระบบจัดการฐานข้อมูลใช้  MySQL Database  และใช้  Macromedia Dreamweaver MX  เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเว็บเพจ

                         การทดสอบครั้งที่  2  เป็นการทดสอบเพื่อหาคุณภาพของแบบทดสอบปรับเหมาะที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามขั้นที่  1  ซึ่งได้แก่  ค่าความเชื่อมั่นและค่าความเที่ยงตรงเชิงเกณฑ์สัมพันธ์ โดยนำแบบทดสอบที่สร้างขึ้นไปทดสอบกับนักเรียนกลุ่มที่  2  จำนวน  70  คน  ทดสอบ  2  ครั้ง  เว้นระยะห่างกัน  2  สัปดาห์  นำคะแนนความสามารถของผู้สอบบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  2  ครั้งนั้น  มาหาสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์  ซึ่งเป็นค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ  ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ  0.961  จากนั้นนำคะแนนความสามารถเฉลี่ยจากการทดสอบบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต   2  ครั้ง  กับคะแนนที่ดำเนินการสอบโดยครูในโรงเรียนมาหาสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์  ซึ่งเป็นค่าความเที่ยงตรงเชิงเกณฑ์สัมพันธ์  พบว่าได้ค่าความเที่ยงตรงเชิงเกณฑ์สัมพันธ์เท่ากับ  0.739 นักเรียนมีความพึงพอใจในด้านการจัดการนำเสนอข้อสอบ  และด้านความคิดเห็นทั่วๆ  ไป โดยรวมอยู่ในระดับมาก

                   โดยสรุป  ผลการวิจัยได้แบบทดสอบปรับเหมาะกับความสามารถของผู้สอบที่ดำเนินการสอบบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ  มีค่าความเชื่อมั่นและความเที่ยงตรงตามเกณฑ์มาตรฐาน  สามารถนำไปใช้วัดความสามารถในวิชาวิทยาศาสตร์  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  ได้ดี

หมายเลขบันทึก: 270251เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2009 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท