อนุทินล่าสุด


อ.ชัย
เขียนเมื่อ

ข้อควรระวัง… ในการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง

หลังจากที่สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งได้มีการขยายการจัดการเรียนการสอน ไปยังสถานที่ต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นการสอนในที่ตั้งหลักของมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลและควบคุมการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา ให้มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน จึงได้ออกประกาศหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาประเมินการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษา ขึ้น เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการตรวจประเมินการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง โดยมีสาระดังนี้

1) ประเด็นการเปิดดำเนินการหลักสูตร

 1.1) หากเป็นไปเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา (ตามความต้องการของผู้เรียน ชุมชน หรือหน่วยงานในพื้นที่) ต้องไม่มีการเปิดสอนทับซ้อนในสาขาที่มีการเปิดสอนโดยสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่นั้นอยู่แล้ว และต้องแสดงถึงศักยภาพและควมเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เปิดสอนด้วย

 1.2) เหตุผลและความจำเป็นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนแก่ผู้เรียนเท่านั้น มิใช่เพื่อประโยชน์ต่อกิจการของสถาบัน เช่น เพิ่มรายได้ให้กับสถาบัน

 1.3) ต้องเป็นหลักสูตรที่เปิดสอนในที่ตั้งแล้วอย่างน้อย 1 ภาคการศึกษา

 1.4) มีหลักฐานการได้รับอนุมัติจากสภาฯ

 1.5) กรณีจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งบางส่วนของหลักสูตร จำนวนหน่วยกิตที่สอนต้องไม่เกิน ร้อยละ 50 ของหน่วยกิต ทั้งหมด และต้องไม่เปิดสอนในสถานที่ที่ห่างไกล จากสถานที่ตั้งหลักเกินกว่าที่นักศึกษาจะสามารถเดินทางไปเรียนหรือใช้บริการสนับสนุนการศึกษาได้ทั้งสองแห่งได้โดยสะดวกและปลอดภัย

2) ประเด็นอาจารย์

 2.1) กรณีสอนนอกสถานที่ตั้ง ทั้งหลักสูตรต้องมีอาจารย์ประจำหลักสูตรคนละชุดกับในสถานที่ตั้ง

 2.2) กรณีสอนนอกสถานที่ตั้ง บางส่วนของหลักสูตรสามารถใช้อาจารย์ประจำหลักสูตรชุดเดียวกับในที่ตั้งได้ แต่จะใช้อาจารย์ชุดเดียวกันเกินกว่าหนึ่งแห่งไม่ได้

 2.3) อาจารย์ผู้สอนทั้งในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา มีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรฯ

 2.4) อาจารย์ประจำหลักสูตร ทั้งในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา มีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรฯ

 2.5) อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา

 2.6) อาจารย์ประจำหลักสูตร (อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร ระดับบัณฑิตศึกษา) ปฏิบัติหน้าที่อยู่จริง

 2.7) อาจารย์ผู้สอนปฏิบัติหน้าที่อยู่จริงและครบถ้วนตามตารางสอนของศูนย์การจัดการศึกษา

 2.8) จำนวนและคุณวุฒิของอาจารย์พิเศษ มีความเหมาะสมในการจัดการศึกษาในสาขาที่เปิดสอน

 2.9) สัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาต้องไม่เกินกว่าความสามารถที่จะดูแลคุณภาพการจัดการศึกษาในสาขาที่เปิดสอนได้

3) ประเด็นด้านสถานที่

 3.1) สถานที่ที่ใช้จัดการเรียนการสอนต้องมีบรรยากาศอุดมศึกษาเพียงพอสำหรับการจัดการศึกษาให้บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ ครบถ้วนตามกรอบ TQF

 3.2) ระยะเวลาสัญญาเช่า/เอกสารอนุญาตให้ใช้สถานที่สัญญาเช่าพื้นที่ยังไม่สิ้นสุดอายุสัญญาในระยะเวลาเพียงพอที่นักศึกษาจะสำเร็จการศึกษา

 3.3) สภาพแวดล้อมและบรรยากาศโดยรอบศูนย์ฯ สถานที่จัดการสอนต้องเหมาะสมกับจำนวนนักศึกษา และมีความสะดวก ปลอดภัยเพียงพอ

 3.4) หากมีการใช้พื้นที่ซ้ำซ้อนระหว่างนักศึกษาของสถาบันที่จัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง กับนักศึกษา/นักเรียนของสถานที่ที่ใช้จัดการเรียนการสอน ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนของนักศึกษาทั้งสองกลุ่ม และไม่ก่อให้เกิดการแย่งชิงใช้สถานที่และบริการที่มีในถานที่นั้น

 3.5) ขนาดพื้นที่ที่ใช้สำหรับจัดการเรียนการสอนนอกสถานที่ตั้งเพียงพอ และเหมาะสมกับจำนวนนักศึกษาและการจัดการเรียนการสอนในสาขานั้น

4) ประเด็นด้านสิ่งสนับสนุนทางการศึกษาและการจัดบริการนักศึกษา

 4.1) มีสิ่งอำนวยความสะดวก และสิ่งสนับสนุนทางการศึกษา ตามประกาศของ สกอ. และมีมาตรฐานเดียวกันในสถานที่ตั้ง เช่น ห้องเรียน ห้องทำงานอาจารย์ ห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์การศึกษาอันจำเป็นต่อการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เปิดสอน ห้องสมุด หนังสือ ตำรา วารสาร ฐานข้อมูลในสาขาวิชาที่เปิดสอน (กรณีบัณฑิตศึกษา) คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นต้น

 4.2) สิ่งอำนวยความสะดวกและสิ่งสนับสนุนทางการศึกษาใช้งานได้จริง และเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการใช้งานและเพียงพอต่อการจัดการศึกษาในสาขาที่เปิดสอน

 4.3) การเข้าถึงทรัพยากรสนับสนุนการเรียนรู้ บริการห้องสมุด อิเล็กทรอนิกส์ และบริการอินเทอร์เน็ตเป็นไปโดยสะดวกเพียงพอ และทั่วถึง

 4.4) บริการที่ได้แจ้งไว้ในประกาศรับสมัครนักศึกษาว่าจะจัดให้มี เมื่อนักศึกษาเข้ามาเรียน  จะต้องมีอยู่จริง

 4.5) บริการที่จัดให้ต้องมีมาตรฐานเช่นเดียวกับการจัดการศึกษาในสถานที่ตั้ง

5) ประเด็นด้านนักศึกษา

 5.1) ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

 5.2) มีกระบวนการพัฒนานักศึกษาให้มีคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์หรือมีผลลัพธ์การเรียนรู้ ครบถ้วนตามกรอบ TQF

 5.3) มีการเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษาและสามารถสร้างเสริมให้นักศึกษามีอัตลักษณ์ตามที่สถาบันกำหนดไว้

 5.4) มีระบบการรับสมัคร การลงทะเบียนเรียน การจัดการเรียนการสอน การแจ้งผลการเรียน การขึ้นทะเบียนบัณฑิต การลงทะเบียน การวัดและประเมินผล การชำระเงิน และระบบอื่นๆ ที่เป็นของสถาบัน ไม่แยกเป็นเอกเทศเฉพาะศูนย์ฯ

 5.5) สำหรับระดับบัณฑิตศึกษา ให้ประเมินเพิ่มเติมในด้าน การค้นคว้าอิสระ วิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์ ความสามารถในวิชาชีพ ความรู้ความสามารถในการวิจัย การตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัย ความคิดริเริ่ม ทักษะทางด้านภาษาต่างประเทศ

 5.6) สำหรับระดับปริญญาตรี ให้ประเมินเพิ่มเติมในด้านศักยภาพความพร้อมในการประกอบอาชีพหลังสำเร็จการศึกษา

6) ประเด็นด้านการบริหาร การประสานงานระหว่างศูนย์ฯ กับสถานที่ตั้งหลัก

 6.1) ต้องเป็นการบริหารโดยสถาบัน  โดยมีโครงสร้างการบริหารงาน และองค์ประกอบของบุคลากรที่บริหารจัดการศูนย์ กระบวนการรับสมัครและการลงทะเบียนเรียน กระบวนการสำเร็จการศึกษา และการขึ้นทะเบียนบัณฑิต การบริหารวิชาการตามกรอบ TQF เป็นของสถาบัน ไม่ใช่การบริหารโดยผู้อื่น

 6.2) มีระบบตรวจสอบการเงินที่โปร่งใส และเป็นไปตามระเบียบของสถาบัน

7) ประเด็นอื่นที่มีผลต่อคุณภาพการศึกษาและผลประโยชน์ของนักศึกษา นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ที่ได้พบในการตรวจประเมิน ให้อยู่ในวินิจฉัยของกรรมการผู้ตรวจประเมิน

ที่มา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อ.ชัย
เขียนเมื่อ

วันนี้จะทำ Common Data Set ให้เสร็จ



ความเห็น (1)

ขอบคุณสมาชิกที่ให้กำลังใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท