หากินกับเซลล์ต้นกำเนิด


"ขอบคุณครับ คุณพ่อคุณแม่ ที่มองการณ์ไกล เก็บเซลล์ต้นกำเนิดไว้ช่วยชีวิตหนูในข้างหน้า" ถ้าหากผมเป็นพ่อที่มองถึงสุขภาพของลูกในอนาคตก็คงอยากจะทำอะไรเพื่อลูกถ้าไม่ลำบากนัก แถมบอกว่ามันอาจช่วยชีวิตได้ด้วย โห... ต้องทำแล้วหล่ะครับ

สังคมไทยรับไม่ค่อยได้กับคำวิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นทางถูกหรือผิด แต่วันนี้ผมอยากเขียนวิจารณ์เรื่อง "กระบวนการหากินกับเซลล์ต้นกำเนิดในเมืองไทย" ซึ่งผมค่อนข้างเป็นห่วงนะ สิ่งที่ผมเขียนเป็นมุมมองของผมคนเดียว เป็นความคิดเห็นส่วนตัวซึ่งอาจมีผิดบ้างถูกบ้าง โปรดอ่านอย่างมีวิจารณญาณครับ

ถ้าผู้อ่านได้ติดตามข่าวสารจากโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพิ์ วารสาร และอินเตอร์เน็ต คงเคยได้ยินได้อ่านเรื่องเซลล์ต้นกำเนิดอยู่เนืองๆ ทั้งเรื่องการรักษา ต่อต้านความแก่ และเก็บเซลล์ต้นกำเนิดให้ลูก ผมขอสรุปธุรกิจที่เกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดในบ้านเราที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด ดังนี้ครับ

-ธนาคารเซลล์ต้นกำเนิด
-เครื่องสำอาง
-ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
-การรักษาทางการแพทย์
-การแพทย์ทางเลือก
และอื่นๆ

ตอนแรกนี้ไม่ขอลงรายละเอียดเยอะครับ เกริ่นเอาไว้ก่อนว่า อาจจะเขียนแรงจนกระทบหลายฝ่าย ผมขอเริ่มที่เรื่องธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดในบางมุมมองครับ

เมืองไทยมีธุรกิจการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากสายสะดือรกของทารกเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัวเกิดขึ้นหลายเจ้า ผลประกอบการก็เติบโตเป็นล่ำเป็นสัน ถามว่ามีประโยชน์อะไรบ้างในการจัดเก็บเซลล์ต้นกำเนิด ปัจจุบันคงไม่ทราบตอบได้ว่าในอนาคตจะได้ใช้หรือไม่ เพราะยังไม่มีการทดลองที่น่าเชื่อถือเพียงพอ แต่ก็นั่นแหล่ะคนที่อยากเก็บ มีเงินเยอะก็คงไม่ได้สนใจมาก ซื้อความหวังไว้ไม่ได้เสียหายอะไร ขนหน้าแข้งไม่ร่วง แถมมีคนเชียร์อยู่เนืองๆ ถึงแม้ สนง. อย มีเนื้อหาประกาศทั้งในกฏกระทรวงและเนื้อหาในเว็บไซต์ http://www.oryor.com/oryor_stemcell/stemcell-menu3-2.html ถ้าประชาชนไม่ผ่านไปอ่านก่อนก็คงยากครับ เพราะถ้าเข้าไปเว็บไซต์บริษัทเอกชนแล้วมันน่าดึงดูดให้ทำใจจริงๆ ดังนั้นภาคประชาชนควรต้องร่วมมือกันสร้างเกราะคุ้มกันตัวเองด้วยครับ อย่าหวังพึ่งแต่หน่วยงานรัฐ


เหตุผลประการแรกที่คนไทยบางส่วนถึงเชื่อว่าเซลล์ต้นกำเนิดมันคือยาวิเศษ ส่วนหนึ่งผมคิดว่าเป็นเพราะสื่อมวลชนสนใจทำข่าวเรื่องการรักษาโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิด ลองสังเกตไหมครับ หนังสือพิมพิ์ชอบพาดหัวข่าวเรื่องการรักษาโรคโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิด หรือไม่ก็มีคอลัมน์เรื่องการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาผู้ป่วยในโรคต่างๆ ทั้งๆ ที่ข่าวนั้นอาจจะไม่ได้ทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการก็ได้ แล้วข่าวทางลบที่มีการายงานทางวารสารวิจัยที่ได้มาตรฐาน เช่น ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเข้าไปในผู้ป่วยแล้วเกิดเนื้องอก เช่น ที่ประเทศรัสเซีย ไม่เคยมีใครพูดถึงดอกครับ

สาเหตุที่สองคือการโฆษณาทั้งในสื่อต่างๆและอินเตอร์เน็ต ดูเหมือนบ้านเราไม่ค่อยได้ควบคุมเลย อย่างเช่นถ้อยคำที่ใช้โฆษณาในเว็บไซต์ของธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดของบางเจ้านั้นอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและตัดสินใจใช้บริการนั้นๆได้ง่าย เช่น

"ขอบคุณครับ คุณพ่อคุณแม่ ที่มองการณ์ไกล เก็บเซลล์ต้นกำเนิดไว้ช่วยชีวิตหนูในข้างหน้า"

ถ้าหากผมเป็นพ่อที่มองถึงสุขภาพของลูกในอนาคตก็คงอยากจะทำอะไรเพื่อลูกถ้าไม่ลำบากนัก แถมบอกว่ามันอาจช่วยชีวิตได้ด้วย โห... ต้องทำแล้วหล่ะครับ

ประการที่สามนั้นเป็นเรื่องความเห็นส่วนตัวที่ผมคิดว่า หน่วยงานของประเทศ อาทิเช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ไม่ควรมีส่วนได้ส่วนเสียกับภาคเอกชน และเป็นผู้ให้ทุนแก่บริษัทในการทำวิจัยในคน
ข้อความจากเว็บไซต์ของบริษัทธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดรายหนึ่งเขียนไว้ว่า

"ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ ซึ่งให้การสนับสนุนด้านการทำวิจัยเพื่อการนำเซลล์ต้นกำเนิดไปใช้ในการรักษา"


"บริษัท....มิความภูมิใจอย่างยิ่งที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ให้ความไว้วางใจเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท"

คำพูดเหล่านี้คงเพิ่มความน่าเชื่อถือได้ไม่น้อยสำหรับผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อบริการดังกล่าว

หมายเหตุ
หุ้นบุริมสิทธิ ความหมาย [-บุริมมะสิด] (กฎ) น. หุ้นที่กําหนดให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิพิเศษเหนือผู้ถือหุ้นสามัญ เช่น มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งผลกําไรก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ. (อ. preference share). อ้างอิงจากราชบัณฑิตยสถาน


ทำไมหน่วยงานนี้เป็นผู้ให้ทุนแก่บริษัท...ที่ตัวเองถือหุ้นอยู่ ผมไม่ทราบข้อกฏหมายนะครับ แต่มันดูแปลกๆ
เช่น โครงการการใช้ Peripheral Blood Stem Cells ในการรักษาโรคแทรกซ้อนในระบบเส้นเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน ให้แก่บริษัท ....จำกัด จำนวนเงิน 3,150,000 บาท และโครงการนวัตกรรมการเพิ่มจำนวนสเต็มเซลล์จากเลือดในสายสะดือ ให้แก่บริษัท....จำกัด จำนวนเงิน 2,100,000 บาท
ถ้าหากทำสำเร็จแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรแก่ประชาชนคนไทย ทำไมถึงให้ทุนแก่บริษัทดำเนินการ ทำไมไม่ให้ทุนแก่นักวิจัยอิสระด้วย หรือแก่บริษัทอื่นๆ ด้วย อันนี้ผมหาข้อมูลเป้าหมายของการทดลองไม่เจอว่าทำเสร็จแล้วจะเอาไปใช้กับคนทั่วไปหรือว่าเฉพาะการบริการของบริษัทเท่านั้น เพราะว่าผมเป็นเด็กครับจึงสงสัย


ผมจำได้ว่ามีการมอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ให้กับธนาคารเซลล์ต้นกำเนิด (ผมอาจจำผิดนะครับ) ข้อความจากเว็บไซต์ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวไว้ว่า


"นวัตกรรม" คือ สิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

ผมคิดว่าธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดไม่สมควรได้รับรางวัลนี้ เนื่องจาก
-ไม่ได้เป็นความรู้ที่ใหม่ หรือที่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์เพียงพอที่จะได้รางวัล
-ท่านรู้ได้อย่างไรว่าจะเกิดประโยชน์จริงๆ ในอนาคต โดยเฉพาะสังคมประเทศไทยโดยรวม
-ถ้าสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มีส่วนร่วมกับบริษัท และทำการมอบรางวัลนี้ให้แก่บริษัทเอง มันก็ดูแปลกๆ อยู่ไม่น้อย



ผมเขียนขึ้นมาเพียงเพื่ออยากให้ลองคิดกันเล่นๆครับ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน เงินหายาก กลยุทธ์การหาเงินจึงถูกพัฒนาขึ้นมากมาย ตอนนี้อะไหล่ชีวิตที่เรียกว่าเซลล์ต้นกำเนิด กำลังจะเป็นสินค้าที่เราหาซื้อได้ตามใจอยาก ต่อไปจะเกิดตลาดที่เรียกว่า 'Body shopping' เกิดการซื้อขายชิ้นส่วนเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ เพื่อใช้ในเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม ยกตัวอย่างเช่น ผมดื่มสุราเยอะแล้วตับไม่ทำงานก็อยากได้เซลล์ตับหนึ่งขวดเล็กผมก็อาจจะซื้อได้ คุณผู้อ่านอยากได้เซลล์ประสาทสักสองตลับเพื่อฉีดเข้าไปในสมองก็ไปเดินเลือกซื้อ อย่าเพิ่งกลัวไปครับ เราจะจัดการอย่างไรให้มันอยู่ในหลักจริยธรรม ใช้ให้ถูกทาง ให้มันเหลือความเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจอยู่บ้าง

อีกประเด็นหนึ่งคือ คนไทยที่มีรายได้ทุกคนต้องเสียภาษี ท่านผู้อ่านทำงานแล้วช่วยกันเสียภาษีให้รัฐบาลเด้วยหวังจะให้ชีวิตของคุณและสังคมรอบข้างดีขึ้น แต่ถ้ามีการนำเงินไปใช้อย่างไม่เหมาะสมก็ควรมีการท้วงติงตามเหตุผล
ผมได้เงินทุนมาเรียนก็เอามาจากภาษีทุกคนครับ ผมคิดว่าการช่วยเผยแพร่ความรู้ และตรวจตราเรื่องบางเรื่องที่ผมได้ร่ำเรียนมาน่าจะช่วยให้บ้านเมืองน่าอยู่ยิ่งขึ้น ให้ระบบทุนนิยมคงอยู่อย่างมีจริยธรรมและยั่งยืน (คงไม่สามารถกำจัดได้) ผมตระหนักดีว่ามีอีกหลายอย่างที่เราเป็นเด็กตัวเล็กๆ ทำอะไรไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยก็ได้เล่าความนึกคิดให้คนอื่นได้รับรู้ หากข้อมูลผิดพลาดไปก็ขอน้อมรับผิดครับผม

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เซลล์ต้นกำเนิด
หมายเลขบันทึก: 269617เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2009 00:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท