ปัญหาการหย่าร้าง


การหย่าร้างไม่ใช่การยุติปัญหา หากแต่เป็นการเพิ่มปัญหาต่อไปในอนาคต

 

                ครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคมขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก  เป็นสถาบันสากลและเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์  แต่การที่สภาพครอบครัวเกิดขึ้นแล้วก็มิได้หมายความว่าสภาพครอบครัวจะมั่นคงยืนยงตลอดไป  อาจมีการสิ้นสุดหรือแตกสลายลงได้  โดยทั่วไปการสิ้นสุดของสภาพครอบครัวมี 2 ประการคือ  ประการแรกการหย่าร้างจากกัน  และประการที่สองคือการตาย  การสิ้นสุดด้วยการตายไม่ค่อยก่อให้เกิดความวุ่นวายในชีวิตครอบครัวเท่ากับการหย่าขาดจากกัน  เพราะเหตุว่าการหย่าร้างที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจแก่คู่สมรสหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่าการตายจากกัน  (วันทนา  กลิ่นงาม.  2525  :  1)  การหย่าร้างจึงเป็นวิกฤตการณ์ของชีวิตสมรสที่คู่สมรสทุกคู่พยายามจะหลีกเลี่ยง  แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ทุกคู่  บางคู่อาจโชคดีได้อยู่ด้วยกันจนถือไม้เท้ายอดทอง  กระบองยอดเพชร  แม้จะทุกข์หรือสุขก็ตามเพื่อชื่อเสียง เพื่อลูก เพื่อวงศ์ตระกูล ก็ต้องอยู่ด้วยกันตลอดไป  แต่บางคู่ที่ถือว่าถ้าอยู่ด้วยกันไม่มีความสุขก็ไม่จำเป็นต้องครองชีวิตคู่ร่วมกันต่อไปและจบลงด้วยการหย่าร้าง  (สุภรณ์  ลิ้มอารีย์ และ พนม  ลิ้มอารีย์.  2536  :  1)

                ในอดีตการหย่าร้างไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม เพราะถือว่าเป็นเรื่องน่าอับอายและถ้าสามีภรรยาคู่ใดหย่าร้างกันก็จะถือเป็นเรื่องที่ไม่ดีจะได้รับการติฉินนินทา  ดังนั้นปัญหาการหย่าร้างจึงไม่ค่อยเกิดขึ้น ทั้งๆที่สมัยก่อนส่วนใหญ่เป็นการแต่งงานแบบคลุมถุงชน คือพ่อแม่จับให้แต่งงานกัน แต่เมื่ออยู่กินด้วยกันแล้วก็รักกัน  และอยู่ด้วยกันจนตายจากกัน  ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ผู้หญิงไทยในอดีตมีหน้าที่อยู่กับบ้าน คอยปรนนิบัติรับใช้พ่อแม่และเป็นแม่บ้านแม่เรือนดูแลการงานภายในบ้านทุกอย่าง  ไม่ได้ออกไปทำงานนอกบ้านเหมือนในปัจจุบันปัญหาการหย่าร้างจึงไม่เกิดขึ้น   (เทพชู 

ทับทอง.  2546  :  177)  นอกจากนั้นการหย่าร้างยังกระทำได้ยาก เพราะความเคร่งคัดทางศาสนาและจารีตประเพณี  บางสังคมบางประเทศ  เช่น  ประเทศเกาหลีใต้ การหย่าร้างเกิดขึ้นได้ยาก เพราะถ้าเกิดการหย่าร้างสังคมจะไม่คบหาสมาคมด้วย เนื่องจากศาสนาห้ามการหย่าร้าง คู่สมรสจึงจำต้องอยู่ร่วมกันเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม  (Glick and Norton.  1972  :  301)  และในประเทศอินเดียที่ถือว่าภริยานั้นเป็นสมบัติอยู่ภายใต้สิทธิ์ขาดของสามี  จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องการหย่าร้างได้  และเมื่อสามีตายภริยาก็ไม่มีสิทธิ์จัดการกับชีวิตของตนเอง  หญิงหม้ายบางแห่งไม่มีสิทธิ์แม้แต่การมีชีวิตอยู่  เพราะตามประเพณีภรรยาต้องเผาตัวตายตามสามีผู้เป็นเจ้าของชีวิตไปด้วย  เรียกว่าพิธีสตี (Sati)   (ลักษณ์วัต  ปาละรัตน์.  2546  :  25 - 27)

ในสังคมไทยเดิมการแต่งงานเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติไม่ใช่เฉพาะคู่สมรส

จึงอยู่ภายใต้การดูแลคอยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของกลุ่มเครือญาติ การปลูกฝังค่านิยมเกี่ยวกับพรหมจรรย์ ค่านิยมเกี่ยวกับการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ผู้หญิงพยายามรักษาชีวิตการแต่งงานของตนเองไว้ให้ยาวนานที่สุด  ถึงแม้ว่าผู้หญิงหลายคนต้องทนทุกข์ทรมานจากการแต่งงาน เช่น สามีมีเมียน้อย สามีไม่มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ถูกสามีทำร้ายร่างกาย  เพราะเมื่อมีการหย่าร้างผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ผู้หญิง  (กุสุมา  พลแก้ว.  2540 : 3)และการหย่าร้างยังถือเป็นเรื่องน่าอับอายขายหน้าไม่เป็นที่พึงประสงค์ให้มีการหย่าร้างเกิดขึ้น  สามีภรรยาจึงต้องอยู่ร่วมกันต่อไป  ทั้งที่มีเรื่องขุ่นข้องหมองใจโดยถือว่า เป็นเรื่องของเคราะห์กรรม  (ประสาท  หลักศิลา.  2515  :  210)

ถึงแม้ว่าสมัยก่อนการหย่าร้างจะทำได้ยาก แต่การหย่าร้างก็สามารถทำได้ในกรณีที่คู่สมรสมีความประสงค์ที่จะหย่าร้าง ดังจะเห็นได้จากจดหมายจากลาลูแบร์  (Simon de la loubere) ที่กล่าวถึงการหย่าร้างในสังคมไทยสมัยอยุธยาไว้ว่า   การอยู่กินฐานสามีภรรยาในประเทศสยามนั้นแทบจะราบรื่นแทบทุกครัวเรือน  แต่ถ้าหากสามี ภรรยาคู่ใดไม่ประสงค์ที่จะอยู่ร่วมกันต่อไป ก็สามารถที่จะหย่าร้างกันได้ตามกฎหมาย ผู้เป็นสามีนั้นเป็นตัวสำคัญในการหย่าร้างเพราะจะยอมหย่าหรือไม่ก็ได้แต่ก็จะไม่ปฏิเสธหากภรรยามีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะหย่ากับตน   (Simon de laloubere อ้างใน

พุฒ  วีระประเสริฐ 2536 : 9)   การหย่าร้างจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด ภายหลังการหย่าร้างก็สามารถแต่งงานใหม่ได้ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าการหย่าร้างเป็นสิ่งที่สังคมไทยยอมรับได้ ถึงแม้ว่าการหย่าร้างจะเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนักก็ตาม

ปัจจุบันหลังจากที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตก โดยเฉพาะด้านการศึกษา การเมือง และด้านเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตย เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจเกษตรกรรมไปสู่เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลงค่านิยม เกิดค่านิยมใหม่ๆ เช่น  ความเสมอภาค อิสรเสรี ความเป็นตัวของตัวเองตามครรลองอุดมการณ์ประชาธิปไตย ผู้หญิงมีโอกาสได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ลักษณะค่านิยมใหม่ของไทยที่เห็นเด่นชัดคือ ผู้หญิงไทยตื่นตัวเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกับชาย ซึ่งแต่ก่อนเคยรู้สึกว่าเป็นช้างเท้าหลัง ปัจจุบันผู้หญิงไทยมีอิสระ  และเสรีภาพมากกว่าแต่ก่อนในด้านการดำเนินชีวิตประกอบอาชีพทางสังคม ใช้ชีวิตนอกบ้านและกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น  (อานนท์  อาภาภิรมย์.  2516  :  14)

ผลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการนิยามบทบาทของผู้หญิง

เสียใหม่ภายในครอบครัว อำนาจและสิทธิต่างๆ รวมทั้งความเหลื่อมล้ำในบทบาทของชายและหญิง

มีแนวโน้มลดลง  (พงษ์สวัสดิ์  สวัสดิพงษ์.  2525  :  16)  และนอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงยังมีผลกระทบต่อโครงสร้างและความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและก่อให้เกิดผลที่น่าสนใจคือ ผู้หญิงมีค่านิยมที่จะอยู่เป็นโสดสูงขึ้น  พบว่ามีการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้นทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนบท

จากงานการศึกษาเกี่ยวกับการหย่าร้างในสังคมไทยพบว่า อัตราการหย่าร้างในสังคมไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นและพบสูงมากที่สุดในเขตกรุงเทพมหานคร แต่ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจส่วนมากมาจากการสำรวจจากสถิติการหย่าร้างที่มีผู้มาจดทะเบียนการหย่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  ดังนั้นข้อมูลที่เกี่ยวกับการหย่าร้างที่ไม่มีการจดทะเบียนหย่าจึงไม่มีการบันทึก ส่งผลให้ข้อมูลที่ได้รับอาจเกิดความคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการหย่าร้างในสังคมชนบท  แต่ข้อมูลดังกล่าวก็แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของการหย่าร้าง   (วันทนา กลิ่นงาม.  2525  :  26 – 28)

การหย่าร้างที่เกิดขึ้นในแต่ละสังคมนั้นขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม วัฒนธรรม  และตัวบุคคลเป็นตัวกำหนด  การหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสิ่งที่ควรได้รับความสนใจในการศึกษา  โดยเฉพาะการหย่าร้างในชนบท เพราะถึงแม้ว่าการหย่าร้างจะพบโดยทั่วไปในแทบทุกชุมชน แต่การหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้นในสังคมชนบท เป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาเนื่องจากการหย่าร้างก็คือดัชนีชี้วัดความล้มเหลวในชีวิตแต่งงานระหว่างสามีและภรรยาที่ไม่สามารถปฏิบัติตามบทบาทที่สังคมคาดหวังได้

หมายเลขบันทึก: 268091เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2009 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เมื่อรักกันก็ตัดสินใจแต่งงานแรกๆก็รักกัน

แต่พอมีเรื่องเกิดขึ้นคนเราก็มักง่ายเห็นก็ตัว อย่าร้างกันง่ายๆ ถ้าไม่มีลูกก็ยังดีกว่ามีอยู่นิดนึง แต่ถ้ามีล่ะ พวกเขาจะอยู่ยังเมื่อไม่มีครอบครัวที่อบอุ่นเหมือนชาวบ้านชาวช่อง ก่อนจะทำอะไร ขอเถอะ อย่าร้างกันแบบง่ายๆ ด้วยอารมณ์เลยนะ เห็นใจเด็ก คนรอบข้างบ้าง

สวัสดีค่ะ

  • บังเอิญค้นเรื่องปัญหาการหย่าร้างเพื่อประกอบการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้...นับว่าโชคดีที่ได้รับข้อมูลดีๆที่คุณได้เขียนไว้..ขอขอบคุณที่เขียนถึงเรื่องนี้.......ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะคะ
  • ปัจจุบันผลผลิตที่ต่อเนื่องจากปัญหาการหย่าร้างพบมากในหลายส่วนโดยเฉพาะในร.ร. เด็กที่มาจากครอบครัวที่ล้มเหลวค่อนข้างมากเด็กเหล่านี้น่าสงสารบ้างก็อยู่กับปู่ย่าตายายบ้างก็อยู่กับป้า..หรือบางครั้งพบว่าเด็กๆอยู่กันเอง..ครูก็ได้แต่ช่วยกันเท่าที่จะช่วยได้เช่นให้ทุนการศึกษา...ให้การอบรมให้เขารู้คุณค่าของตนเอง..เคารพตนเอง..อธิบายให้เด็กรับทราบว่าปัญหาเหล่านี้มาจากพ่อแม่แต่ชีวิตเรายังต้องก้าวต่อไปจะต้องรักตัวเองและตั้งใจเรียนให้มากๆ
  • เด็กๆคงแก้ไขผู้ใหญ่ไม่ได้ให้เขาแก้ไขที่ตัวเขาเอง..ตั้งใจที่จะเป็นคนดี..และในวันข้างหน้าเมื่อจะมีครอบครัวให้ศึกษากันให้ถ่องแท้..อย่าเป็นประเภทใจเร็วด่วนได้..เดี๋ยวนี้ครูก็สอนกันหลากหลายมากขึ้นนะคะ..พยายามชี้แนะให้เขาทราบถึงผล..เพื่อเขาจะแก้ไขได้ในอนาคต...และคาดหวังว่าเขาจะนำเอาปัญหาจากครอบครัวเขามาใช้สอนใจเขาให้เขาก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง..และที่สำคัญสอนไม่ให้มัวแต่ท้อใจเสียใจและไม่รักดีใฝ่ดี...ทุกคนต้องสู้..และต้องเดินก้าวต่อไป
  • ครูมีบทบาทสำคัญ...มีความสำคัญต่อการช่วยเหลือศิษย์..ครูทุกคนจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจเด็กให้มากๆ...เราสามารถให้ความรักความอบอุ่นใจเป็นที่พึ่งแก่เด็กๆได้..อย่างน้อยๆช่วยประคับประคองให้เขาก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง...แม้จะช่วยไม่ได้มากมายก็ตาม

การหย่าร้าง ดีกว่าการอยู่ด้วยกันและทะเลาะเบาะแว้งกันให้เด็กเห็นนะ การตกลงกันด้วยดีก็ไม่ได้สร้างรอยร้าวให้กระทบจิตใจเด็กมากกว่าการรอคอยพ่อ แต่พ่อไม่มาหา

พี่ติดสินใจหย่าทันทีเมื่อรู้ว่า คนเป็นพ่อ ไม่เห็นความสำคัญของลูกเท่ากับผู้หญิงอีกคน

สวัสดีค่ะดิฉันมีปัญหาอยากจะอย่ากับแฟนค่ะเราไม่มีลูกด้วยกัน เหตุที่อยากจะหย่าเพราะว่า เขาเป็นคนเจ้าอารมณ์ตอนแรกเขาก็ดีนะค่ะแต่ฉันทนมา10กว่าปีแล้วค่่ะเขาเริมใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล บางครั้งทำร้ายฉัน บีบคอบ้างเวลาไม่พอใจ ด่าทอทำลายน้ำใจ เหยียดหยามไม่ให้เกียติกันและกัน ฉันเป็นฝ่ายต้องทนแต่ตอนนี้ฉันไม่อยากทนแล้วค่ะ แต่ฉันไม่มีความรู้เรื่องกฏหมายเลยค่ะไม่รู้จะฟ้องหย่าได้หรือเปล่า เพราะถ้าให้เขาไปหย่าเขาไม่ไปหรอกค่ะเพราะเขาเป็นคนมีหน้าตาในสังคม และมีความรู้มากกว่าฉัน เขากลัวว่าเขาจะเสียหน้า ทุกคนมองเข้ามาว่าฉันเป็นคนโชคดีเพราะเวลาต่อหน้าคนอื่นเขาทำตัวดี แต่พอลับหลังเปลียนเป็นอีกคน ไม่มีใครรู้เพราะเขาบอกว่าถ้าเอาไปบอกใครเขาจะเอาให้ตายฉันเลยต้องทน ไม่มีใครรู้ทุกวันนี้ฉันหนักใจมากไม่มีทางออกต้องทนอย่างเดียวขนาดจะกลับบ้านไม่ยอมให้กลับ บางครั้ง3-4ปีกว่าจะได้กลับบ้าน เขาไม่เคยไปบ้านฉันเลยค่ะ ขนาดวันพ่อตายเขายังไม่ยอมไปงานศพพ่อฉันเลยค่ะ เขาบอกว่าไม่ว่าง กลับบ้านแต่ละครั้งเขาถามแต่ว่าเอาเงินไปให้ใครบ้าง แต่ไม่เคยถามเลยว่าแม่เป็นยังไงบ้างฉันอยากกลับไปอยู่บ้านไปดูแลแม่ฉัน เพราะฉันไม่เคยไม่เคยได้ดูแลพ่อเลย พ่อเป็นอำมพาตขยับไม่ได้เวลาโทรไปฉันพูดฝ่ายเดียวพ่อพูดไม่ได้มันทรมานเหลือเกิน ไปบอกใครไม่มีใครเชื่อหรอกค่ะเขาเป็นคนดีในสังคมเขาสร้างภาพเก่งคะ ถ้าฉันไปทุกคนจะมองว่าฉันเลว แต่ฉันก็ยอมขอแค่ให้พ้นจากกรงทองแห่งนี้ก็แล้วกัน........คนอีสานพลัดถิ่นมาอยุู่ใต้

คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า

ครอบครับเป็นศูนย์รวมของความรักความเข้าใจ

เมื่อสามียกความเป็นใหญ่ให้แม่บ้าน

คนที่เป้นแม่บ้านจึงต้องรับภาระครอบครัวมากขึ้น

ถ้ายอมไม่เป็นเย็นไม่ลง

ก่อนแต่งงานจะเก็บซ่อนความเป็นตัวตนไว้

หลังแต่งงานจึงแสดงความเป็นตัวตน

ความรักความเข้าใจทำให้อยู่ยืน

จะขอบคุณเป็นอย่างยิ่งนะค่ะหากใครมีความเห็นแนะนำ เพราะฉันไม่มีใครที่จะมาคอยปรึกษา เพราะบอกใครไม่ได้นอกจากวิธีนี้ค่ะ ว่าหากฉันจะหย่าควรทำอย่างไงฟ้องหย่าดีหรือเปล่า หากฟ้องมีโอกาศได้หย่าหรือเปล่า แต่ฉันก็กลัวว่าถ้าฟ้องหย่าแล้วเขาจะมาทำร้ายฉัน เพราะเขาเคยพูด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท