ผู้บริหารเชิงรุก (Proactive Executive)


การบริหารงานเชิงรุก ไม่ใช่เรื่องยาก

 

 

ผู้บริหารเชิงรุก ไม่ใช่ศัพท์ใหม่

แต่เป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นนานแล้วครับ

เพียงแต่ยังไม่มีผู้ใดที่ทำให้เห็นอย่างชัดเจนจริง

โดยเฉพาะผู้บริหารในระบบองค์กรไทย

 

การบริหารงานเชิงรุก ไม่ใช่เรื่องยาก

เพียงแต่ว่าเกิดการไม่อยากปฏิบัติมากกว่าครับ

อาจจะชอบออกคำสั่งหรือวางนโยบายมากกว่า

 

ในปัจจุบันนี้หากยังมีผู้บริหารที่ใช้กรรมวิธีการบริหารแบบเชิงรับ  (Reactive)

รับรองว่าไม่ทันกินครับ

เจอแย่งลูกค้าไปจนหมด

ลูกค้าที่ว่าคือ ลูกค้าภายในครับ

จะพากันออกไปยังสถานที่ที่รู้สึกว่า

สามารถตอบสนองความต้องการได้มากกว่า

เพราะอย่าลืมว่า บุคลากรในปัจจุบันนี้

จะเป็นบุคคลในเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ (Generation X) (ช่วงปี 2508 – 2523)

และเจเนอเรชั่นวาย (Generation Y) (ช่วงปี 2524 เป็นต้นมา) เสียเป็นส่วนใหญ่

 

ซึ่งกลุ่มคนทั้งสองรุ่นนี้เป็นกลุ่มคนที่ใช้ความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้ง

หากไม่พึงพอใจกับงานที่ทำแล้ว ลาออกได้ง่ายๆ เลยครับ

ในทางกลับกัน

หากได้รับการตอบสนองหรือได้ทำงานเต็มที่

หรือการมอบหมายอำนาจอย่างชัดเจน

รับรองว่าทำงานแบบถวายหัวเลยทีเดียวเหมือนกัน

 

กลุ่มคนสองกลุ่มนี้ ผู้บริหารต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลง

และต้องเข้าหาเขามากขึ้น

ให้งานอย่างชัดเจน ที่สำคัญคือ

เมื่อให้งานไปแล้ว...

อย่ากำหนดว่าต้องเดินทางไหน? ต้องทำยังไง?

แต่ควรกำหนดวัน เวลากำหนดเสนอผลงาน

รับรองว่าแบบนี้เขาชอบครับ

เพราะมีอิสระทางความคิด

 

แนวคิดของคำว่า ผู้บริหารเชิงรุก

ในมุมมองของผมเป็นดังนี้ครับ

  1. ลุย (Fighting)

ผมใช้คำสั้นๆ ง่ายๆ ครับ ลุย ก็คือการทำงานเชิงรุกนั่นเอง

ผู้บริหารเชิงรุก จะมานั่งอยู่ในห้อง

แล้วรอสั่งการ หรือเซ็นชื่อ เพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว

ต้องเข้าไปรู้เห็นเหตุการณ์ด้วย

เรียกได้ว่าทุกซอกทุกมุมขององค์กรต้องรู้

ต้องรู้ว่าหน้างานเป็นอย่างไร

บางองค์กร ผู้บริหารลงมาเล่นบทบาทคนกวาดขยะยังมีเลยครับ

ลุย คือการทำงานได้ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบก็ว่าได้

งานจับกังยันงานบริหาร ต้องรู้หมด

 

  1. ความเป็นกันเอง (Friendliness)

การบริหารงานในปัจจุบัน ต้องใช้ความเป็นกันเองครับ

จะใช้อำนาจหรือการชี้นิ้วสั่งแบบเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว

ตำแหน่งที่ได้ มีเพื่อการทำงานเป็นระบบ

แต่ในความเป็นจริงนั้น ผู้บริหารต้องสร้างความเป็นกันเอง

เพราะจะเป็นการลดความกดดันของลูกน้องลง

ความเป็นกันเองนี่แหละครับ ที่จะทำให้ลูกน้องรักและชื่นชมผู้บริหาร

แต่ก็ต้องดูขอบเขตด้วยเหมือนกัน

เพราะบางคนพอเราให้ความเป็นกันเอง

ก็ ปีนเกลียว ถ้าเจอแบบนี้

ก็จำเป็นต้องแนะนำหรือเปลี่ยนบุคลิกนิดหน่อย

เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ว่า ล้ำเส้น

แล้วความเกรงใจ เข้าใจบทบาทจะกลับมาครับ

เขาจะเกิดการเรียนรู้ว่า

การที่ผู้บริหารลงมามอบความเป็นกันเองกับเขา

ดีกว่าการใช้อำนาจเพียงใด

ใครๆ ก็อยากจะได้รับความเป็นกันเองทั้งนั้น

อย่ายึดติดกับหัวโขนที่สวมไว้มากเกินไป

นอกเวลางานก็คือ นอกเวลางานครับ

เอาหัวโขนนั้น ตั้งไว้ที่โต๊ะเหมือนเดิม

อย่าให้ตามออกมาจากที่ทำงานด้วยเลย...

 

  1. ความสนุกสนาน (Fun)

ใครๆ ก็คงต้องการทำงานด้วยความสนุกสนาน

เพราะความสนุกสนานจะทำให้เวลาที่ยาวนาน

สั้นลงอย่างเห็นได้ชัด!!!

ผู้บริหารต้องผ่อนคลายบ้างครับ

อย่าเน้นผลงานเป็นตัวเลขมากเกินไป

ดูผลความพึงพอใจของลูกค้าดีกว่า

หน้าเครียดทั้งวันก็แก่เร็ว

อย่าบอกว่า เพื่อตำแหน่งและเพื่องาน

แต่ความสนุกร่าเริง ช่วยให้งานเร็วขึ้นหลายเท่าตัว

พอผู้บริหารสนุกสนาน องค์กรก็จะมีแต่รอยยิ้ม

ส่งผลให้ลูกค้าสนุกสนาน มีความสุขไปด้วย

 

  1. รู้จักเรียนรู้จากลูกน้อง (Learning from bottom line)

ใครว่าผู้บริหารต้องเก่งทุกเรื่อง

ผิดแล้วล่ะครับ

ผู้บริหารก็คือ คน เพียงแต่มีความสามารถในการบริหาร สูง

รู้จักการคิดต่อยอด

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องรู้เรื่องหน้างานทั้งหมด

ผู้บริหารต้องยอมรับในความเชี่ยวชาญหน้างานของลูกน้อง

ว่าลูกน้องมีความสามารถมากกว่าเรา

แต่เรามีความสามารถด้านนโยบาย มากกว่าเขา

เป็นความแตกต่างกันคนละอย่างครับ

เรียกว่า เป็นครูคนละอย่าง

ต่างคนก็เก่งในด้านที่ตัวเองถนัดที่สุด

หมั่นเรียนรู้และยอมปฏิบัติตามลูกน้องบ้างครับ

จะทำให้เราได้ใจลูกน้องอีกมากเลย

 

  1. มอบหมายอำนาจ (Empowerment)

ผู้บริหารจะสบายมากขึ้นครับ

หากได้มีการมอบหมายอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่

อย่างเต็มที่ โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว

ให้อำนาจในการตัดสินใจได้เลย โดยไม่ต้องผ่านผู้บริหาร

คือ ปัญหาเล็กๆ ให้ลูกน้องจัดการ ปัญหาใหญ่ๆ ค่อยถึงผู้บริหาร

แต่ทุกๆ องค์กร เท่าที่ทราบ จะพบเจอแต่ปัญหาใหญ่ๆ ทั้งนั้น!!!

ทำงานเป็นปีๆ ไม่มีปัญหาเล็กๆ เลย!!!

การมอบหมายอำนาจ ไม่ได้หมายความว่า

ผู้บริหารจะสูญเสียอำนาจลง

แต่หมายถึงผู้บริหารจะทำงานสบายมากขึ้นต่างหาก!!!

 

  1. ยอมรับความสามารถ (Concession)

ลูกน้องเก่ง จะเป็นการผลักดันให้ผู้บริหารดูดีไปด้วยครับ

การยอมรับความสามารถนั้น ผมหมายถึง

การยอมรับว่า ลูกน้องมีไอเดียแปลกๆ ใหม่ๆ

แล้วเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่

คอยสนับสนุน ไม่ใช่ว่า พอเสนองานแล้วแย่งผลงาน

เป็นของตัวเอง นำเสนอเอง

หากลูกน้องเก่ง ก็ต้องยอมรับเขา

แสดงว่าเขามีความสามารถในการพัฒนาองค์กรจริง

และต้องรักษาพวกเขาไว้ให้นานๆ ครับ

การยอมรับความสามารถ เปิดโอกาสให้แสดง

และสนับสนุนให้โด่งดังขึ้น

รับรองว่าได้ใจไปเต็มๆ

เพราะเขาจะมองเห็นความรุ่งโรจน์ ความก้าวหน้า

ในชีวิตการทำงานเมื่ออยู่กับองค์กรของเราอย่างชัดเจนขึ้น

 

การเป็นผู้บริหารเชิงรุก ไม่ใช่เรื่องยากครับ

หยุดคิดเสียทีว่า...

ผู้บริหารต้องให้คนเข้าหาเสมอ!!!

 

ผู้บริหารต้องเป็นเหมือนต้นไม้ใหญ่

โน้มกิ่งลงมาเพื่อให้ร่มเงา...นั่นคือ

ผู้บริหารเชิงรุก นั่นเองครับ

 

ผู้บริหารที่ได้ใจลูกน้อง

จะทำให้ตำแหน่งผู้บริหารของตัวเองโดดเด่นขึ้น

เพราะลูกน้องช่วยผลัก ช่วยดันต่างหาก

หากไม่มีลูกน้องแล้ว ผลงานของผู้บริหารคงออกมาไม่ได้!!!

หมายเลขบันทึก: 267773เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2009 02:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาชื่นชม

เก่งมากค่ะ

anuroj48 Ph.D HRD 2 ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท