025 : เจาะลึก พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ (2)


 

 


อาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณแบ่งเป็น 3 ส่วน

ชั้นใต้ดินของอาคารแทนชั้นบาดาล

ตัวอาคารแทนชั้นโลก

และบริเวณท้องช้างแทนชั้นสวรรค์



ชั้นบาดาลจัดแสดงนิทรรศการความเป็นมาและการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ

ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองโบราณและโครงการปราสาทสัจธรรมที่พัทยา

รวมทั้งจัดแสดงของมีค่าจำนวนมาก เช่น เทวรูปสมัยต่างๆ เครื่องลายครามของจีนและไทย

โดยมีประติมากรรมรูปมนุษยนาค (พญานาคในภาคมนุษย์) ตั้งแสดงอยู่กลางห้อง

 (ชั้นบาดาลนี้ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ)


  


ชั้นโลกจัดแสดงงานศิลปะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของมนุษย์

เช่น ศาสนาต่างๆ จักรราศี และประติมากรรมจากเทพปกรณัม เป็นต้น

น่ารู้ไว้ว่า ทางพิพิธภัณฑ์อนุญาตให้ถ่ายภาพสิ่งของต่างๆ ในชั้นนี้ได้ ต่างจากชั้นบาดาลซึ่งไม่อนุญาต

 

 
    เสาค้ำยันในชั้นนี้มี 4 เสา แต่ละเสาใช้ดีบุกหุ้มและดุนลายแสดงเรื่องราวทางศาสนา

ตัวเลข 4 นี้อาจตีความได้ว่าหมายถึง พรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ซึ่งเป็นธรรมที่ค้ำจุนโลกมิให้ล่มสลาย

นอกจากนี้การใช้ดีบุกดุนลายหุ้มเสาทั้งต้นยังสะท้อนความตั้งใจเดิมของคุณเล็กที่ต้องการใช้ดีบุกหุ้มตัวช้างในตอนต้นด้วย



เสาค้ำยันภายในอาคาร



โมเสสและบัญญัติสิบประการ

   

หลังคาโลกใช้กระจกสีทำเป็นเพดาน เพื่อให้แสงสว่างจากภายนอกสาดส่องเข้ามา

แสงสว่างนี้ถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามที่สาดส่องโลก

เพดานกระจกสี (stained glass) นี้เป็นฝีมือของศิลปินชาวเยอรมันชื่อ Mr. Jacob Schwarzkopf

มีภาพแผนที่โลก ภาพจักรราศี และภาพชีวิตมนุษย์ในโลก สร้างที่เยอรมนี

จากนั้นก็ถอกกระจกออกมาเป็นแผ่นๆ แล้วส่งมาติดตั้งที่พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ
   


คุณจรูญ มาถนอม ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณเล่าเกร็ดประวัติไว้ว่า

“....มิสเตอร์จาค็อบซึ่งเป็นศิลปินใหญ่ที่เยอรมนี เขารู้จักผลงานของคุณเล็กมากมาย

ไม่ว่าเมืองโบราณหรือปราสาทไม้สัจธรรมที่พัทยา

เขาศรัทธาในตัวเสี่ยเล็ก ไม่เชื่อว่าจะยังมีคนที่ทำอะไรยิ่งใหญ่แบบนี้อยู่บนโลกอีก

มิสเตอร์จาค็อบเล่าว่า ก่อนมาเมืองไทยเขาคิดว่าตัวเองเป็นศิลปินที่เก่งคนหนึ่ง

แต่พอมาเห็นงานของเสี่ยเล็ก ก็รู้ว่าตัวเขานิดเดียว

จึงมีความฝันว่า อยากฝากผลงานชิ้นหนึ่งไว้กับเสี่ยเล็ก จึงติดต่อผ่านคุณแดงที่รู้จักกัน ขอมาคุยด้วย

เสี่ยเล็กเห็นความตั้งใจจริงก็อนุญาต”
   



 
หลังคาโลกทำจากกระจกสี



 น่าสนใจว่า การประดับลวดลายบนปูนปั้นจะใช้เครื่องถ้วบเบญจรงค์หลากลาย หลายสีสัน

แนวคิดนี้เสนอโดยช่างสำราญ เอมโอษฐ์ ช่างปูนปั้นจากเมืองเพชรบุรี



ช่างสำราญให้เหตุผลว่า หากใช้วิธีลงรักปิดทอง อายุการใช้งานก็จะสั้น 

แต่ถ้าเป็นเครื่องเบญจรงค์ก็จะคงทนกว่า

ดังเห็นได้จากตัวอย่างลวดลายเครื่องเบญจรงค์ตามวัดที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3

ซึ่งปัจจุบันก็ยังอยู่และสดใสแวววาว

ขณะที่ทองหรือปูนที่ทำในยุคเดียวกันหลุดร่วงไปเกือบหมดแล้ว



เจ้าหน้าที่นำชมพิพิธภัณฑ์กำลังอธิบายเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ประดับตกแต่งภายใน






เครื่องถ้วยเบญจรงค์




วัสดุอื่นๆ ที่ใช้ในการตกแต่งภายใน

ภาชนะแถวบน : ปูนกินหมาก หินทรายแดง กาวหนังควาย น้ำตาลอ้อย ทรายละเอียด

ภาชนะแถวล่าง : หินฟลูออไรต์ ปูนขาว กระดาษฟาง ข้าวเหนียว

 

อารมณ์ขันของช่างปูนปั้นเมืองเพชร (ใครเอ่ย?)

 


 

ตอนที่ 3

ขึ้นสู่ชั้นสวรรค์

 


หมายเลขบันทึก: 267654เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2009 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เจริญพร โยมอ.บัญชา

ไม่ได้เข้ามาชมบันทึกของอาจารย์เสียนาน

พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ, เมืองโบราณ,ปราสาทสัจธรรม เป็นต้น

ผู้เป็นเจ้าของท่านได้ฝากผลงานอวดโชว์ชาวโลกไปอีกนานนับหลาย

ร้อยปีข้างหน้าว่าสถาปัตยกรรมไทยนั้นไม่เป็นรองชาติเลย

เจริญพร

  • ภาพสวยมากค่ะ คุณบัญชา
  • แสดงความยินดีที่ได้เข้ารอบ 5คน กับสุดคะนึงค่ะ
  • หลายครั้งที่ผมเห็น..ศิลปกรรมลูกผสม แล้วรู้สึกขัดใจ แต่ผมกลับไม่รู้สึกเช่นนั้นกับศิลปกรรมที่เกิดจากจินตนาการของคุณเล็ก ทั้งที่เมืองโบราณ ปราสาทสัจจธรรม และพิพิธภัณฑ์นี้
  • แต่คนทั่วไปรู้และเข้าใจความประสงค์ของต้นคิดและสถานที่เหล่านี้ตื้นๆเกินไปนะครับ ถ้าคิดเอาไปเทียบกับการชอบสร้างอะไรให้ ที่สุดในโลก อย่างที่คนไทยชอบกันนัก

กราบนมัสการหลวงพี่ พระปลัด ครับ

       งานของคุณเล็กนั้นทำด้วยความเข้าใจและเข้าถึงจริงๆ ครับ น่าดีใจที่บ้านเรามีคนสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม (และอารยธรรม) ไว้เช่นนี้

สวัสดีครับ คุณ berger0123

         ภาพพวกนี้ถ่ายในต่างกรรมต่างวาระกันครับ ผมไปเยี่ยมที่นี่มาแล้วถึง 3 ครั้ง ค่อยๆ เก็บรายละเอียดไปเรื่อยๆ

         ใช้ภาพใหญ่หน่อย เพราะอยากให้เห็นรายละเอียดครับ น่าเสียดายที่บางภาพถ่ายด้วยกล้องตัวเล็ก จึงไม่ค่อยชัด ไว้แก้มือใหม่ ;-)

         ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชมครับ ^__^

สวัสดีครับ อ.หมอเต็มศักดิ์

        จริงด้วยครับ...ผมเข้าใจว่าเป็นเพราะคุณเล็กทำด้วยความเข้าใจ และความศรัทธาอย่างเต็มที่ครับ

        ผมตามหาประวัติของคุณเล็ก ทั้งจาก หนังสืออนุสรณ์งานศพ และหนังสือ ริมขอบฟ้า อ่านแล้วน่าทึ่งอย่างที่สุดครับ

        คุณเล็กเป็นคนที่ทำงานไม่ต้องการชื่อเสียง แต่ต้องการฝากผลงานไว้คู่กับโลกนี้ นับเป็น role model ของผมคนหนึ่งทีเดียวครับ (ทุกครั้งที่ผมรู้สึกท้อ จะนึกถึงผลงานของคุณเล็ก และจิตวิญญาณของท่านในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ทิ้งไว้ให้กับพวกเรา)

ผมได้มีโอกาสขับรถผ่านทุกครั้งที่จะต้องเดินทางไปทางภาคตะวันออก เพราะจากบ้านหนองแขม วิ่งข้ามสะพานวงแหวนอุตสาหกรรมไปลงแถวบางนา เห็นมาตั้งแต่ยังก่อนสร้างอยู่ จนกระทั่งเสร็จแล้ว ก็คิดว่าเป็นอนุสาวรีย์เฉยๆ ไม่รู้มาก่อนเลยว่าภายในจะมีอะไรหลายอย่าง สวยงาม อลังการมากๆ อย่างนี้

ขอบคุณพี่ชิวมากครับ ที่ทำให้หูตาผมเบิกกว้างมากขึ้น

สวัสดีครับ อ.อ๊อด

        นี่เสียดายที่เขาไม่ให้ถ่ายภาพชั้นบาดาลครับ มีงานศิลปะมากมาย

        ส่วนชั้นสวรรค์ (อยู่ในบันทึกถัดไป) ก็สงบและงดงามมาก พอดีถ่ายภาพในที่มืดยังไม่เป็น ภาพที่เก็บมาเลยๆ ไม่ค่อยชัดเจน

        อาจารย์อ๊อดหาโอกาสพาครอบครัวไปให้ได้นะครับ รอบๆ ตัวอาคารมีสวนเล็กๆ ให้เลี้ยงปลา และมีประติมากรรม สัตว์หิมพานต์ ด้วยครับ (จะนำมาบันทึกในตอนที่ 4 ครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท