โอเมกา-3 ชะลอตาเสื่อม ไม่ให้บอด


 

...

 [ Medem ]

ภาพที่ 1: โครงสร้างลูกตา > Thank [ Medem ]

ลูกตาคนเรามีส่วนนอกสีขาวขุ่น ยกเว้นตรงกลางด้านหน้าเป็นแก้วตา (cornea) ใส ยอมให้แสงผ่านไปยังรูม่านตา (pupil) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายหน้าต่าง ผ่านน้ำวุ้นในลูกตา ไปตกกระทบจอตาหรือรับภาพที่เรียกว่า "เรตินา (retina)" 

...

จอรับภาพหรือเรตินามีส่วนรับภาพสี และรายละเอียดอยู่ตรงกลางเรียกว่า 'แมคูลา (macula)'...

อายุที่มากขึ้น การได้รับแสงแดดจ้า ภาวะขาดน้ำมันชนิดดี โดยเฉพาะโอเมกา-3, การขาดสารต้านอนุมูลอิสระจากผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง, การขาดแร่ธาตุ โดยเฉพาะสังกะสี, มีส่วนทำให้เมคูลาเสื่อมสภาพ และกลายเป็นตาบอดได้

...

 [ Medem ]

ภาพที่ 2: กริดแอมสเลอร์ (Amsler Grid; grid = ตะแกรง) ใช้ตรวจคัดกรองหาโรคจอรับภาพส่วนกลางเสื่อมได้ > Thank [ Medem ]

วิธีใช้คือ ให้ปิดตาแล้วดูด้วยตาทีละข้างเป็นประจำ เช่น ทุก 6 เดือน ฯลฯ ถ้าเห็นเส้นตรงบิด เบี้ยว แหว่ง(หายไป) หรือเบลอ... ให้รีบไปปรึกษาหมอตาทันที

...

ภาพที่ 3: ตัวอย่างภาพที่เกิดจากโรคจอรับภาพส่วนกลางเสื่อม (AMD) จะพบว่า คนไข้รายนี้มีทั้งภาพบิด เบี้ยว และเบลอรวมกัน

กลไกของโรคที่สำคัญคือ เมื่อหลอดเลือดของตาเสื่อม จะมีสารน้ำรั่วออกมาใต้เยื่อบุของจอรับภาพ (retina) ส่วนกลาง ทำให้ผนังที่เคยเรียบกลายเป็นผนังนูนขึ้นมา ภาพจึงไม่ชัดเหมือนเดิม

...

กลไกนี้เปรียบคล้ายการปูผ้าปูที่นอน ซึ่งปกติควรจะเรียบตึงดีเสมอกัน แต่ถ้านำหมอนใบเล็กๆ ไปวางก่อนปูผ้าปูที่นอน... ผิวที่เคยเรียบ เสมอกันจะนูนเว้าขึ้นมา ไม่เรียบเสมอกันอีกต่อไป

...

 [ Wikimedia ]

ภาพที่ 4: ตัวอย่างความผิดปกติ > Thank [ Wikimedia ]

...

 [ vrmny ]

ภาพที่ 5: ตัวอย่างความผิดปกติ > Thank [ vrmny ]

...

 [ uniteforsight ]

ภาพที่ 6: ภาพด้านบนทางซ้ายเป็นจอรับภาพปกติ (จุดทางซ้าย - optic nerve = เส้นประสาทตา; macula = จอรับภาพส่วนกลาง ซึ่งทำหน้าที่ช่วยให้คนเราเห็นสี + รายละเอียดภาพชัดเจน > Thank [ uniteforsight ]

ภาพด้านล่างทางซ้ายเป็นจอรับภาพที่เป็นโรค AMD ซึ่งมีความผิดปกติได้หลายอย่าง เช่น เหี่ยวหรือฝ่อไป (แต้มสีขาว = atrophy), บวมเป็นจุดๆ (แต้มจุดสีเหลือง = drusden), ตกเลือด (แต้มสีแดง = subretinal hemorrhage)

...

ภาพด้านบนทางขวาเป็นภาพที่คนตาปกติเห็น ภาพด้านล่างทางขวาเป็นภาพที่คนไข้ AMD เห็น, ความผิดปกติจะอยู่ส่วนกลางของภาพ ทำให้มีผลต่อการมองเห็นชัดเจน

..............................................................................................

อาหารที่มีไขมันชนิดดีพิเศษ คือ โอเมกา-3 อาจช่วยชะลอโรคจอตา หรือจอรับภาพส่วนกลางเสื่อมสภาพ (age-related macular degeneration / AMD) ได้

AMD เป็นโรคที่เจาะจงเป็นกับจอรับภาพหรือจอตาส่วนกลางที่เรียกว่า "แมคูลา (macular)" ซึ่งเป็นส่วนรับภาพที่มีรายละเอียดสูง ภาพสี และอยู่ตรงกลางภาพที่ตาคนเรามองเห็น

...

คนไข้ส่วนใหญ่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทำให้โรคนี้เป็น 1 ในโรคหลักที่ทำให้คนตาบอดในประเทศที่พัฒนาแล้ว

คนไข้อาจมาด้วยการมองเห็นภาพส่วนกลางบิดเบี้ยว หรือเบลอร์ วิธีทดสอบง่ายๆ คือ

  • (1). ให้หาภาพที่มีตะแกรงแนวดิ่ง-แนวนอนประสานกันคล้ายมุ้งลวดมาวางไว้ข้างหน้าหลายๆ ชุด
  • (2). ปิดตาข้างหนึ่ง > มองภาพทีละข้าง ดูภาพช้าๆ ทีละชุด
  • (3). ถ้าตะแกรงบิดเบี้ยว ไม่ตรง หรือเบลอ... ต้องรีบปรึกษาหมอตาทันที

...

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 2,924 คนที่เข้าร่วมโครงการศึกษาโรคตา (Age-Related Eye Disease Study / AREDS) สอบถามชนิด-ปริมาณอาหารที่กินแบบละเอียดถี่ถ้วน (ตามกระบวนการวิจัย) ตรวจสุขภาพทั่วไป และสุขภาพตา

กลุ่มตัวอย่างได้รับการสุ่มให้กินอาหาร 4 ประเภทได้แก่ ยาหลอก, สารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดผสมกัน (antioxidants), สังกะสี (zinc), หรือสารต้านอนุมูลอิสระผสมสังกะสี

...

อ.ดร.ซี-เจ ชิว (C-J Chiu) และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยทัฟทส์ บอสตัน สหรัฐฯ พบว่า อาหารที่มีส่วนช่วยชะลอตาเสื่อม ไม่ให้กลายเป็นตาบอดได้ 24% คือ

  • (1). อาหารที่มีน้ำมันชนิดดีพิเศษ หรือโอเมกา-3 มากพอ
  • (2). อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ (low glycemic index)  

...

อาหารที่มีโอเมกา-3 สูงได้แก่ ปลาทะเลที่ไม่ผ่านการทอด (ถ้าทอด... น้ำมันปลาจะซึมออก, น้ำมันที่ใช้ทอดจะซึมเข้าไปในเนื้อปลา), น้ำมันปลา, ถั่วเปลือกแข็ง (nut) เช่น อัลมอนด์ ฯลฯ, เมล็ดปอป่าน (flaxseed), เมล็ดพืชและน้ำมันพืชบางชนิดมีโอเมกา-3 ค่อนไปทางสูง เช่น เมล็ดฟักทอง, น้ำมันถั่วเหลือง ฯลฯ

การปรุงอาหารด้วยความร้อนสูง หรือให้ความร้อนนานๆ อาจทำให้โอเมกา-3 เสื่อมสภาพได้ง่าย เช่น การทอดน้ำมันท่วม ฯลฯ

...

อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำมีลักษณะสำคัญได้แก่ อาหารที่มีแป้งขัดสีหรือแป้งขาว น้ำตาล และน้ำผลไม้กรองกากออกต่ำ (อาหารพวกนี้ย่อยและดูดซึมได้เร็ว) + มีอาหารที่ทำให้การย่อย-ดูดซึมช้าลงได้แก่ โปรตีน + เส้นใยหรือไฟเบอร์ + ไขมันต่ำ

  • (1). น้ำตาล + น้ำหวาน + น้ำผลไม้กรองกาก (น้ำผลไม้ปั่นรวมกากมีดัชนีน้ำตาลอยู่ตรงกลางระหว่างผลไม้กับน้ำหวาน) + แป้งขัดสี เช่น ข้าวขาว ข้าวเหนียวนึ่ง ฯลฯ > น้อยมาก
  • (2). ผลไม้ทั้งผล (รวมกาก) > ปานกลาง ไม่มากเกิน
  • (3). มีอาหารที่ช่วยทำให้การย่อยและการดูดซึมช้าลงได้แก่โปรตีน (ไข่ เนื้อ ปลา ถั่ว เต้าหู้ โปรตีนเกษตร), ไขมันขนาดต่ำๆ, เส้นใยหรือไฟเบอร์ (เช่น เส้นใยในข้าวกล้อง ถั่ว ผัก ผลไม้ ฯลฯ - เส้นใยที่ดีมากเป็นพิเศษได้แก่ เส้นใยละลายน้ำ เช่น ข้าวโอ๊ต แอปเปิ้ล ส้ม ฯลฯ) > ปานกลางจนถึงมาก 

...

อาหารที่มีไขมันสูงทำให้การย่อยช้าลง แต่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้หลายๆ ด้าน... การกินอาหารไขมันต่ำน่าจะดีกับสุขภาพมากที่สุดในคนทั่วไป

เมืองไทยเรามีคนไข้ตาเสื่อมสภาพจากโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง ต้อกระจก และต้อหินมากกว่าจอรับภาพส่วนกลาง หรือจอตาส่วนกลางเสื่อมสภาพ การป้องกันโรคตาจึงควรเน้นป้องกันโรคที่พบบ่อยให้ครบทุกโรคด้วยจึงจะปลอดภัยจริง

...

แนะนำให้อ่าน > [ วิธีถนอมสายตา ] , [ อาหารถนอมสายตา ]

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

... 

 > Thank Reuters; [ Medem ]; [ Wikimedia ]; [ vrmny ]; [ uniteforsight ] 

ที่มา                                                                      

  • Thank Reuters. Omega-3-fatty acids may slow macular disease. June 9, 2009. / Source > British Journal of Ophthalmology, June 9, 2009.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า >   > 10 มิถุนายน 2552.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.

หมายเลขบันทึก: 267304เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2009 00:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 11:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท