คนไร้ที่พึ่ง : กฎหมายว่าด้วยการจัดการในงานสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง


เพราะเหตุดังกล่าว การจัดบริการในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งที่มากไปกว่าเลี้ยงดู ฟื้นฟู อยู่ในสังคมเอื้ออาทรในสถานสงเคราะห์ จึงได้แก่การทำให้ผู้รับบริการมีสถานะและตัวตนทางสังคมและทางกฎหมาย มีพื้นที่ทางสังคมที่เอื้อต่อการเป็นอยู่และสามารถใช้ศักยภาพในการพึ่งพาตนเองได้ตามสมควรแก่อัตภาพ บนความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมายในสถานสงเคราะห์


ในการดำเนินงานต่อกลุ่มเป้าหมายงานสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ถ้าเราจะถือเอาตามบทบัญญัติในกฎหมาย ว่าเป็น กลุ่มเป้าหมายแล้ว

การจัดสวัสดิการต่อกลุ่มเป้าหมายในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ (สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ๙ แห่ง และสถานแรกรับคนไร้ที่พึ่ง ๒ แห่ง) ก็อาจสะท้อนได้จากคำนำบางตอนในหนังสือ "คนไร้ที่พึ่ง คนเร่ร่อน คนขอทาน คนไร้บ้าน : กฎหมาย ระเบียบ บันทึก เครื่องมือ ประสบการณ์และการเรียนรู้ (ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๒)" โดย นายปัญญา ทองดี ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่

ผมขออนุญาตนำมาเผยแพร่ ณ ที่นี้
เชิญทัศนา
------------------------------------------------------------------------------

คำนำ


แม้ข้อ ๖ แห่ง ระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ว่าด้วยการสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งในสถานสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๔๗ จะได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับการสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งว่า ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ ๑๘ ปีขึ้นไป มีความสมัครใจ เป็นผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง หรือบกพร่องความสามารถ ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพ หรือไม่มีรายได้เลี้ยงตนเอง ขาดผู้อุปการะ หรือผู้ให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนเป็นผู้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในกิจวัตรประจำวัน ไม่พิการทุพพลภาพจนไม่สามารถดูแลตนเองได้ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

แต่หากเมื่อพิจารณาถึง มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งระบุว่า เมื่อปรากฏจากการสอบสวนว่า ผู้ใดทำการขอทาน และผู้นั้นเป็นคนชราภาพ หรือเป็นคนวิกลจริต พิการ หรือเป็นคนมีโรค ซึ่งไม่สามารถประกอบการอาชีพอย่างใด และไม่มีทางเลี้ยงชีพอย่างอื่น ทั้งไม่มีญาติมิตรอุปการะเลี้ยงดู ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งตัวไปยังสถานสงเคราะห์ ก็อาจเห็นภาพของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ซึ่งมากไปกว่าการประสบปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ และสังคมในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง

หรือเมื่อพิจารณาถึงมาตรา ๔๐ และ ๔๑ แห่ง พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ต้องให้บริการผู้ป่วยโรคจิตจากสถานบำบัดรักษาและสถานที่คุมขังเมื่อถึงกำหนดปล่อยตัวแต่ไม่มีผู้ดูแล ตลอดจนประกาศคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดรายชื่อหน่วยงานด้านสถานสงเคราะห์และสวัสดิการ พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่กำหนดให้สถานแรกรับคนไร้ที่พึ่ง สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง สถานสงเคราะห์คนไข้โรคจิตทุเลาบ้านกึ่งวิถี และสถานสงเคราะห์คนไข้โรคจิตทุเลาหญิงบ้านกึ่งวิถี เป็นหน่วยงานที่รับดูแลผู้ป่วยในกรณีที่ไม่มีผู้รับดูแล ก็อาจสะท้อนถึงภาพขยายของกลุ่มเป้าหมายที่กว้างออกไปอีกกลุ่มหนึ่ง

ขณะเดียวกัน สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งก็อาจต้องจัดบริการแก่บุคคลซึ่งเป็นผู้เสียหาย จากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑  ตลอดจนการรับบุคคลผ่านกระบวนการประสานส่งต่อจากหน่วยงาน ที่ให้บริการเชิงสถาบันเนื่องจากมีอายุพ้นเกณฑ์การให้บริการหรือสิ้นสุดกระบวนการให้บริการ ด้านการบำบัดรักษา ก็ยิ่งจะเห็นภาพความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในมิติของสภาพปัญหาและมิติของสภาพการช่วยเหลือตัวเอง

เพราะเหตุดังกล่าว การจัดบริการในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งที่มากไปกว่าเลี้ยงดู ฟื้นฟู อยู่ในสังคมเอื้ออาทรในสถานสงเคราะห์ จึงได้แก่การทำให้ผู้รับบริการมีสถานะและตัวตนทางสังคมและทางกฎหมาย มีพื้นที่ทางสังคมที่เอื้อต่อการเป็นอยู่และสามารถใช้ศักยภาพในการพึ่งพาตนเองได้ตามสมควรแก่อัตภาพ บนความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมายในสถานสงเคราะห์

ฯลฯ

---------------------------------------------------------


ผมว่าเพียงเท่านี้ ก็อาจทำให้เรามองภาพความยุ่งยากในการดำเนินการแล้วสิครับ
ยุ่งยากกับทั้งในมิติของสภาพปัญหาและมิติของสภาพการช่วยเหลือตัวเอง
ยุ่งยากกับทั้งกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย

หลากหลายอย่างบูรณาการ - ถ้าบูรณาการแปลว่ามั่ว แปลว่าคละ แปลว่าผสมปนเป (ฮา)

บางท่านอาจมีคำถามถึง "พระราชกฤษฎีกาควบคุมคนจรจัดและผู้ไม่ประกอบอาชีพ พ.ศ. ๒๔๘๕" ก็ให้เข้าใจว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวนั้นมิได้มีการพูดถึงในกลุ่มงานสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งแต่อย่างใด จะเพราะยกเลิกหรือเพราะถูกลืมก็สุดแท้

บางท่านอาจมีคำถามถึง "คนไร้บ้าน" ว่ากฎหมายตัวไหนละ ไม่เห็นปรากฏ
เอาไว้บันทึกหน้าเรามาดูกันว่า "ท่าน" ได้มีกฎหมายหรือกลไกใดบ้างหรือไม่ในขณะนี้ ว่าด้วยเรื่อง "คนไร้บ้าน"


โปรดอย่ารอคอย แต่โปรดติดตามด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน

 

หมายเลขบันทึก: 266667เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2009 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท