คนจรจัด : ตำนานว่าด้วยการจัดการด้วยกฎหมาย


มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า เวลานี้มีคนบางจำพวกที่ปรากฏว่า มิได้ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างใด และไม่มีหลักแหล่ง เที่ยวอาศัยนอนตามศาลาวัดบ้าง ตามโรงบ่อนบ้าง โดยมากเป็นคนที่ประพฤติการชั่วฉกชิงวิ่งราว ลักทรัพย์ของสาธารณชน ต้องรับพระราชอาญาคนละหลายๆ ครั้งก็มี คนจำพวกเหล่านี้ สมควรที่จะมีที่ดัดสันดานให้กลับเป็นคนประพฤติดี ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นประโยชน์แก่ตนต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้สืบไป ดังนี้...


ห่างหายไปเสียนาน กลับมาอีกรอบเพราะหัวข้อข่าวนี้ครับ

ชี้ขาประจำสนามหลวง "มิจฉาชีพ-โรคจิต" เกลื่อน กทม. ยกเป็นปัญหาชาติ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 มิถุนายน 2552 15:41 น.
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000062364

อ่านความเห็นที่มีคนไปโพสต์แสดงแล้วก็ให้คิดอะไรได้สารพัด แล้วมาหยุดตรงที่ว่าผมควรจะทบทวนอะไรสักเล็กน้อย

เอาเป็นว่า ผมขอนุญาตย้อนรอยเพื่อนำพาให้ชาวเราได้หวนรำลึกถึงความเก่าความหลัง ว่าบ้านเรามีกฎหมายว่าด้วยการจัดการ "คนจรจัด" อย่างไร ต่างไปอย่างไรกับยุคสมัยสังคมปัจจุบัน ถือเสียว่าเป็นการย้อนรอยต่อจากกระทู้ถามของ ฯพณฯ ที่ชวนคุยในบันทึกก่อนหน้า

นอกเหนือไปจากการจัดการ สิ่งสำคัญยิ่งที่ผมรู้สึกว่าผม "ได้" คือ ได้รับรู้น้ำเสียงและท่าทีในการจัดการผ่านกฎหมาย

เรามาดูกันนะครับว่า
หากเราย้อนไปถึงเพียง ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) แล้วไล่เรียงมาจนถึงปัจจุบัน จะช่วยให้เราได้เห็นภาพการจัดการ "คนจรจัด" ได้ชัดขึ้นหรือไม่

 

ยุค ๑
ร.ศ. ๑๒๗ : ดัดสันดานคนจรจัดและคนที่เคยต้องโทษหลายครั้ง

เมื่อวันที่ ๔ เดือนกันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗ ได้มี "พระราชบัญญัติดัดสันดานคนจรจัดและคนที่เคยต้องโทษหลายครั้ง"  มีเนื้อหาบางส่วนว่า...

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า เวลานี้มีคนบางจำพวกที่ปรากฏว่า มิได้ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างใด และไม่มีหลักแหล่ง เที่ยวอาศัยนอนตามศาลาวัดบ้าง ตามโรงบ่อนบ้าง โดยมากเป็นคนที่ประพฤติการชั่วฉกชิงวิ่งราว ลักทรัพย์ของสาธารณชน ต้องรับพระราชอาญาคนละหลายๆ ครั้งก็มี

คนจำพวกเหล่านี้ สมควรที่จะมีที่ดัดสันดานให้กลับเป็นคนประพฤติดี ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นประโยชน์แก่ตนต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้สืบไป ดังนี้

๑. ผู้ใดต้องหาว่ากระทำผิดต่อกฎหมายลักษณอาญา มาตรา๓๐ และปรากฏแก่ศาลว่าเป็นคนจรจัด ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และมิได้ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยประการใด ถ้าแลผู้นั้นไม่สามารถที่จะหาประกันที่มีหลักฐานมาให้ศาลได้ฉะนี้ไซร้ ศาลจะสั่งให้เอาตัวผู้นั้นส่งออกไปอยู่เสียต่างหัวเมือง และให้อยู่ในความปกครองและตรวจตราของเจ้าพนักงานฝ่ายธุรการ มีกำหนดตั้งแต่ ๑ ปี ถึง ๕ ปี แทนการลงโทษจำคุกก็ได้

๒. ผู้ใดเคยได้รับโทษมาครั้งหนึ่ง และไต่สวนได้ความว่าเป็นคนจรจัดไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และมิได้ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยประการใดแล้ว ศาลจะสั่งให้เอาตัวผู้นั้นส่งออกไปอยู่เสียหัวเมือง และให้อยู่ในความปกครองและตรวจตราของเจ้าพนักงานฝ่ายธุรการ มีกำหนดตั้งแต่ ๕ ปี ถึง ๗ ปี ก็ได้ ถ้าแม้ศาลพิพากศาให้ลงโทษจำคุกคนจรจัดนั้นด้วย ตามกำหนดเวลาที่จะส่งให้ผู้นั้นออกไปอยู่ต่างหัวเมือง ต้องให้นับตั้งแต่วันที่ผู้นั้นพ้นโทษแล้วเป็นต้นไป

๓. ถ้าผู้ใดได้เคยรับโทษจำคุกตั้งแต่ ๓ ครั้งขึ้นไปในการกระทำผิด ซึ่งมิใช่เป็นฐานลหุโทษหรือมิใช่ความผิดที่เกิดขึ้นด้วยความประมาทแล้ว ศาลจะสั่งให้เอาตัวผู้นั้นส่งออกไปอยู่เสียต่างหัวเมือง และให้อยู่ในความปกครองและตรวจตราของเจ้าพนักงานฝ่ายธุรการ มีกำหนดตั้งแต่ ๗ ปี ถึง ๑๐ ปี โดยไม่ต้องใต่สวนอย่างใดอย่างหนึ่งอีกต่อไปก็ได้ แต่กำหนดเวลาที่จะส่งให้ผู้นั้นออกไปอยู่ต่างหัวเมืองนั้น ให้นับตั้งแต่วันที่ผู้นั้นพ้นโทษจำคุกครั้งสุดท้ายตามคำพิพากษาของศาลแล้วเป็นต้นไป แต่ถ้าเป็นหัวหน้าอั้งยี่ถึงว่าจะไม่เคยต้องโทษถึง ๓ ครั้ง ศาลจะสั่งให้ออกไปเสียก็มีอำนาจทำได้

ฯลฯ

เอานะครับ เอาแค่ ๓ มาตรา จากทั้งหมด ๗ มาตรา ก็พอเห็นภาพได้บ้าง

 

ยุค ๒
พ.ศ. ๒๔๘๔ : จัดหางานให้ผู้ไร้อาชีพ

ในปีเดียวกับที่ได้มีพระราชบัญญัติควบคุมคนขอทาน พ.ศ. ๒๔๘๔ ก็ได้มีพระราชบัญญัติจัดหางานให้ผู้ไร้อาชีพ พ.ศ. ๒๔๘๔ อีกด้วย โดยในพระราชบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องบางมาตรา ครับ

มาตรา ๔ ผู้ชายไทยที่บรรลุนิติภาวะทุกคนต้องมีอาชีพหรือรายได้อยู่เป็นปกติ ซึ่งเป็นอาชีพหรือรายได้ที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือความเจริญของประเทศ แต่บุคคลดังกล่าวต่อไปนี้ไม่จำต้องมีอาชีพประกอบอยู่เป็นปกติ คือ
(๑) ผู้ที่มีอายุเกินกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์
(๒) ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานการศึกษาของรัฐบาล เทศบาล หรือเอกชนอันได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้ให้การศึกษาได้
(๓) ภิกษุ หรือสามเณร ในพระพุทธศาสนา
(๔) ผู้ที่มีร่างกายพิการทุพลภาพ หรือสติฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๕) ผู้ที่ได้รับความอุปการะเลี้ยงดูเป็นปกติจากผู้มีหน้าที่ตามกฎหมาย หรือตามหน้าที่ศีลธรรม ซึ่งต้องให้ความอุปการะเลี้ยงดูเช่นนั้น

มาตรา ๕ ผู้ใดไม่มีอาชีพหรือรายได้และมิได้เป็นบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๔ วรรคสอง มีหน้าที่ต้องรายงานตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ภายในระยะเวลา ณ สถานที่ และตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

ฯลฯ

ต่อมาก็ได้มีกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้บุคคลตามมาตรา ๔ มีหน้าที่ต้องรายงานตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่นั้นภายในระยะเวลา ๖๐ วัน นับแต่วันที่ตนไม่มีอาชีพหรือรายได้นั้น ณ ที่ว่าการอำเภอในระหว่างเวลาทำงานปกติ (ข้อ ๒) ซึ่งในการรายงานตนนั้น จะต้องรับรองความจริงโดยการตอบข้อซักถามของพนักงานเจ้าหน้าที่ในข้อความตามแบบที่กำหนด (ข้อ ๓)

น้ำเสียงและท่าทีของกฎหมายฉบับนี้ดูเหมือนรัฐจะให้ความเอ็นดูปวงประชารัฐ (เฉพาะชายที่บรรลุนิติภาวะ) ที่เมื่อไม่มีอาชีพหรือรายได้ก็มีหน้าที่ต้องไปรายงานตัวแล้วข้าหลวงประจำจังหวัดจะได้จัดหาหรือกำหนดการงานให้ตามสมควรแก่ความเหมาะสมและความสามารถ (ม.๑๔)

อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับนี้กำหนดโทษผู้ที่ไม่มีรายได้แต่ไม่ไปรายงานตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีความผิดระวังโทษปรับไม่เกิน ๑๐๐ บาทหรือจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือเมื่อท่านข้าหลวงนำส่งยังแหล่งประกอบการแล้วแต่ไม่ไปหรือหลบหนีก็ถือเป็นความผิดตามกฎหมายอีกด้วยนะครับ (ม.๑๗)

 

 

 

  
ยุค ๓
พ.ศ. ๒๔๘๔ : ควบคุมคนจรจัดและผู้ไม่ประกอบอาชีพ

คล้อยหลังพระราชบัญญัติควบคุมคนขอทาน พ.ศ. ๒๔๘๔ และพระราชบัญญัติจัดหางานให้ผู้ไร้อาชีพ พ.ศ. ๒๔๘๔ เพียง ๑ ปี ก็ได้มีพระราชกฤษฎีกาควบคุมคนจรจัดและผู้ไม่ประกอบอาชีพ พ.ศ. ๒๔๘๕

เอาละสิ ชื่อกฎหมายออกมาแบบนี้ เปิดดูเนื้อในกันก่อนไหมว่าจะเป็นอย่างไร

ผมเพิ่งได้เห็นนิยามความหมายของ "คนจรจัด" ก็ด้วยกฎหมายฉบับนี้แหละครับ

มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้
"คนจรจัด" หมายความว่า บุคคลที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่ปรากฎการทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างไร
"ผู้ไม่ประกอบอาชีพ" หมายความว่า ผู้ที่ไม่มีอาชีพหรือรายได้เลี้ยงตัว และไม่ประสงค์จะหาอาชีพ

มาตรา ๔ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ใดเป็นคนจรจัดหรือเป็นผู้ไม่ประกอบอาชีพ ให้เจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจเรียกตัวมาสอบสวน และถ้าผู้นั้นขัดขืนก็ให้มีอำนาจจับตัวมาได้

มาตรา ๕ บุคคลดังต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นคนจรจัดหรือผู้ไม่ประกอบอาชีพ
(๑) ผู้ที่มีอายุเกินกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์
(๒) ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานการศึกษาของรัฐบาล เทศบาล หรือเอกชนอันได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้ให้การศึกษาได้
(๓) ภิกษุ หรือสามเณร ในพระพุทธศาสนา
(๔) ผู้ที่มีร่างกายพิกายทุพลภาพ หรือสติฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๕) ผู้ที่ได้รับความอุปการะเลี้ยงดูเป็นปกติจากผู้มีหน้าที่ตามกฎหมาย หรือตามหน้าที่ศีลธรรม ซึ่งต้องให้ความอุปการะเลี้ยงดูเช่นนั้น
(๖) ผู้ที่ได้ปฏิบัติตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานให้ผู้ไร้อาชีพ พ.ศ. ๒๔๘๔ แล้ว

มาตรา ๖ เมื่อพนักงานตำรวจสอบสวนได้ความว่าผู้ใดเป็นคนจรจัดหรือเป็นผู้ไม่ประกอบอาชีพ ให้มีคำสั่งให้ส่งตัวไปยังกรมประชาสงเคราะห์ และให้อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายพิจารณาจัดส่งไปอยู่ในนิคมสร้างตนเอง หรือในแหล่งประกอบการงาน หรือส่งไปทำงาน ณ ที่ใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความสามารถของผู้นั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้นั้นเอง

ฯลฯ

เนื้อหาในส่วนที่มากไปกว่านี้ ก็มีน้ำเสียงคล้ายกับพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. ๒๔๘๔ คือ
ขอทาน/จรจัด ส่งตัวยังสถานสงเคราะห์หรือกรมประชาสงเคราะห์ ให้การช่วยเหลือด้านอาชีพ ถ้าหลบหนีหรือจากไปโดยมิได้อนุญาตมีความผิดต้องระวางโทษ

ผมเคยถามใครหลายๆ คน รวมทั้งเคยโพสต์กระทู้ถามด้วยว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ ยังคงมีสภาพบังคับใช้อยู่หรือไม่ เพราะไม่เห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พูดถึงกัน (นอกเหนือไปจากกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคนขอทาน พ.ศ. ๒๔๘๔)


และขอปิดท้ายด้วยกฎหมาย "บังคับเข้ารับการฝึกอาชีพ" ครับผม



ตอน ๔
พ.ศ. ๒๕๑๘ : บุคคลที่พึงรับการอบรมและฝึกอาชีพ

ย้อนมาใกล้ตัวอีกสักนิด จะพบว่ามีกฎหมายว่าด้วยการจัดการด้านอาชีพสำหรับบุคคลบางประเภท ซึ่งปรากฏในเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติว่า...

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การควบคุมบุคคลอันธพาลและการอบรมและฝึกอาชีพแก่บุคคลดังกล่าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑ ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๑ และฉบับที่ ๔๓ ลงวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒ มีบทบัญญัติไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับหลักการตามระบอบประชาธิปไตย จึงสมควรยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติทั้งสองฉบับดังกล่าว และกำหนดให้มีการอบรมและฝึกอาชีพแก่บุคคลบางประเภท นั่นคือพระราชบัญญัติว่าด้วยการอบรมและฝึกอาชีพบุคคลบางประเภท พ.ศ. ๒๕๑๘

มาดูกันสัก ๒-๓ มาตราครับ

มาตรา ๖ บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลที่พึงรับการอบรมและฝึกอาชีพ
(๑) เป็นผู้ประพฤติตนกระทำการรังแก ข่มเหง ขู่เข็ญ หรือกระทำด้วยประการใดๆ โดยมิชอบ ให้บุคคลอื่นเกรงกลัว
(๒) เป็นบุคคลจรจัดไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่ปรากฏการทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต
(๓) เป็นผู้หาเลี้ยงชีพด้วยวิธีการอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(๔) เป็นผู้มีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอันอาจใช้ในการกระทำความผิด และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะกระทำความผิดขึ้นหรือมีพฤติการณ์แวดล้อมที่แสดงว่าสิ่งของในครอบครองได้มาจากการกระทำความผิด
(๕) เป็นผู้ประพฤติตนทำความเดือดร้อนแก่บุคคลอื่นจนทำให้บุคคลอื่นไม่อาจประกอบอาชีพการงานหรือมีความเป็นอยู่ได้โดยปกติ
(๖) เป็นผู้ประพฤติตนเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาหญิงไปเพื่อการค้าประเวณี ไม่ว่าหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่

บุคคลที่พึงรับการอบรมและฝึกอาชีพในกรณี (๑) (๓) (๔) (๕) และ (๖) หมายความรวมถึงผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำการในกรณีดังกล่าว และผู้สนับสนุนการกระทำในกรณีดังกล่าวด้วย

มาตรา ๗ เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่าบุคคลใดเป็นบุคคลที่พึงรับการอบรม และฝึกอาชีพตามมาตรา ๖ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจออกหมายเรียก หมายจับ หรือจับบุคคลนั้นส่งพนักงานสอบสวนเพื่อทำการสอบสวน และให้พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลอาญา หรือศาลจังหวัดเพื่อสั่งว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่พึงรับการอบรมและฝึกอาชีพ

ในการดำเนินการดังกล่าวในวรรคหนึ่ง และการดำเนินการอย่างอื่นเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ในการควบคุมในระหว่างการสอบสวนให้ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒

ให้ถือว่าบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้ส่งตัวไปรับอบรมและฝึกอาชีพเป็นผู้ถูกคุมขังตามอำนาจของศาลตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๘ ถ้าความปรากฎแก่ศาลตามคำร้องขอของพนักงานอัยการว่า บุคคลใดเป็นบุคคลที่พึงรับการอบรมและฝึกอาชีพ ให้ศาลมีอำนาจสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ให้บุคคลนั้นทำทัณฑ์บนว่าจะไม่ประพฤติตนเป็นบุคคลที่พึงรับการอบรมและฝึกอาชีพอีกตลอดเวลาที่ศาลกำหนด แต่ไม่เกินสองปี.....
(๒) ให้ส่งตัวบุคคลนั้นไปรับการอบรมและฝึกอาชีพ ณ สถานอบรมและฝึกอาชีพ มีกำหนดเวลาไม่เกินสองปี.....

 

แค่นี้น่าจะพอสะท้อนท่าทีด้านการจัดการ "คนจรจัด" ของไทยในอดีตสืบเนื่องต่อจนถึงปัจจุบันได้ตามสมควร
สมควรที่พอจะมองภาพสูตรสำเร็จรูปได้เบื้องต้นแล้วกระมังครับว่า

เมื่อปรากฎว่าบุคคลใดขอทาน/จรจัด/ไม่มีอาชีพ ส่งตัวยังสถานสงเคราะห์หรือกรมประชาสงเคราะห์ ให้การช่วยเหลือสงเคราะห์และฝึกอาชีพ ถ้าหลบหนีหรือจากไปโดยมิได้อนุญาตมีความผิดต้องระวางโทษ


เงยหน้ามาอีกที ผมเขียนยาวเกินไปแล้วกระมังครับ
ผมควรจะปิดด้วยประโยคว่า

สมควรแก่เวลา
เอวัง ก็มีด้วยประการ ฉะนี้ ฯ

 



ความเห็น (1)

ขอนอกเรื่องนิดนึงนะคะพี่โหมง เห็นพี่พูดถึงเรื่อง พรบ.ควบคุมคนขอทาน พ.ศ.2484 หลายหน ลองหาอ่านๆ ดูก็ยังไม่เห็นว่าพี่เขียนไว้ตรงไหนหรือยัง ยังไงถ้าว่างๆ รบกวนพี่ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะว่ามันยิ่งใหญ่หรือมีผลต่อการจัดการคนเร่ร่อน ขอทานในบ้านเรายังไง ขอบคุณล่วงหน้านะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท