ค้นหาความสงบ


สงบด้วยปัญญา

มันคือโจทย์ที่ตั้งไว้ว่า.."ที่ใฝ่หาคือความสงบ"  ในความหมายนี้ คือ คำว่า เข้าใจแล้ว  รู้แล้ว  เมื่อนั้นคิดว่า  ความคิดหรือใจ  คือสิ่งที่ควบคุมได้  ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์ต่างๆ   ยกตัวอย่าง  เมื่อมีใครพูดจาขัดหู  อารมณ์ที่ไม่พอใจมันเกิดขึ้นมา  ปากเราก็จะโต้ตอบกลับไปด้วยการพูดจาแบบเดียวกัน  พูดให้เขาไม่พอใจ  เหมือนว่า  เธอว่าฉันได้  ฉันก็ว่าเธอให้เจ็บได้เหมือนกัน  เป็นการโต้เถียงประหัตรประหารกันด้วยคำพูด  สิ่งที่ได้คือความสะใจ  อาจสะใจกันทั้ง 2 ฝ่าย  แล้วต่างก็โกรธกัน ไม่พอใจกัน  มีอารมณ์ขุ่นมัวตลอดทั้งวัน

ด้วยการเดินทางของความคิด  รู้ว่า  การดำรงอยู่ของคน ต้องพบเจอกับอารมณ์เช่นนี้เสมอๆ  หลีกเลี่ยงไม่ได้  แล้วจะจัดการกับความคิดของเราอย่างไร   ในเมื่อที่เราใฝ่หา คือ ความสงบ  แต่ด้วยสิ่งต่างๆ ในโลกที่เราอยู่  สังคม  ผู้คน  ที่เราพบเจอ  ย่อมสร้างความไม่สงบให้ได้ตลอด   การจะหลบลี้หนีไปอยู่คนเดียว  อยู่อย่างสงบๆ (ในความคิด)  มันทำได้ยาก   และไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาเรื่องอารมณ์ได้เลย

ดังนั้นในตอนนี้  วิธีที่ใช้จัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นคือ  การเรียนรู้ที่จะเงียบ  จากแต่เดิมคือ  เดินหนีไป   

การนิ่งเงียบ ไม่โต้ตอบ  เป็นการกระทำที่ยากกว่าการเดินหนีไป  การเงียบต้องใช้ความอดทน อดกลั้นในการไม่โต้ตอบ  การเงียบเป็นการต่อสู้กับตัวเอง  พบว่าวิธีการนี้  คงต้องใช้เวลาฝึกฝนมาก  แต่สิ่งที่เริ่มเรียนรู้จากการเงียบ สิ่งแรก  (แน่นอน) มันคือความอดทน อดกลั้น  เมื่อเราผ่านขั้นนี้ได้ ต่อไปคือ  การรับฟัง  ฟังอย่างมีสติ  ฟังโดยไม่โกรธ ไม่โมโห ไม่พอใจ  เมื่อนั้นแหละ  การฟังจึงจะเป็นฟังอย่างทำความเข้าใจ   เข้าใจทั้งเขา  และเข้าใจทั้งเรา  เมื่อนั้นคำว่า  รู้แล้ว เข้าใจแล้ว คงจะเกิดขึ้น 

หลวงพ่อชา ท่านเคยกล่าวในเรื่องความสงบว่า  เมื่อมีสิ่งใดมารบกวนความสงบ คนเราจะใช้วิธีหลบหนี  หนีห่างจากความไม่พอใจ ไม่อยากรู้ไม่อยากเห็น  ที่ไหนไม่สบายใจ  หนีไปจากคำพูดที่ขัดใจก่อกวนความสงบ  มุ่งหาความสงบอย่างเดียว นั่งหาความสงบ  มันก็สงบจริง แต่เมื่อตาหูฟังเสียง มีความพอใจไม่พอใจเกิดขึ้น  เกิดความวุ่นวาย  ก็เป็นความสงบไม่จริง   ความสงบมี 2 อย่าง  อย่างแรกสงบด้วยกรรมฐาน  หูไกลจากเสียง ตาไม่รู้ไม่เห็น มันก็สงบ แต่ความสงบนี้มันไม่แน่นอน  มันมีอายุสั้น  เพราะเมื่อตาหูจมูกกายประสบกับสิ่งต่างๆ มันก็ไม่สงบ  ส่วนความสงบด้วยปัญญา  ตาเห็นหูได้ยิน แต่สงบ ชอบใจก็ดีไม่ชอบใจก็ดี เห็นว่ามันเป็นอย่างนั้น มันหมดทางแก้ไข หนีไปไหนไม่ได้ ต้องหนีด้วยปัญญา เมื่อมีความสงบเกิดขึ้นแล้ว  มันทั้งสงบทั้งมีปัญญา

คำสำคัญ (Tags): #สงบด้วยปัญญา
หมายเลขบันทึก: 265304เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2009 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 01:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ครับ ขอบคุณครับ

มีสติ และ ปัญญาครับ

การเรียนรู้ที่จะเงียบ...เป็นสิ่งที่ควรทำในบางเวลา

การเรียนรู้ที่จะเดินหนี...เป็นสิ่งที่ทำได้ในบางสถานการณ์

การเรียนรู้ที่จะเข้าใจกับสถานการณ์....เป็นสิ่งที่เราควรทำเป็นสิ่งแรก

ความสงบคือการไม่รู้ใด ๆ ทั้งส้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท