แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

โยคะ- วิวาทะ ; วิวาทะว่าด้วย “สูรยนมัสการ” (๖)



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ"

 

(๑) สูรยนมัสการ(ท่าไหว้พระอาทิตย์)
ไม่ใช่อาสนะ

(๒) สูรยนมัสการ(ท่าไหว้พระอาทิตย์)
ไม่ใช่อาสนะ 
(๓) สุริยนมัสการเป็นอาสนะหรือไม่? 
(๔) ชุด ท่าไหว้พระอาทิตย์
ถือว่าเป็นอาสนะหรือไม่?

(๕) วิวาทะเกี่ยวกับสูรยนมัสการ
(๖) วิวาทะว่าด้วย "สูรยนมัสการ"

โยคะ- วิวาทะ ; วิวาทะว่าด้วย"สูรยนมัสการ"

ธีรเดช อุทัยวิทยรัตน์ (ครูเละ) ;
(ดูงานเขียนทั้งหมดของครูเละที่นี่ค่ะ)

โยคะสารัตถะ ฉ.; พ.ค.'๕๒

สำหรับผมอาสนะจึงไม่ใช่การหยุดนิ่งอย่างสมบูรณ์ หรือไร้การเคลื่อนไหวโดยสิ้นเชิง พูดให้ถึงที่สุด ตราบใดที่ชีวิตยังดำรงอยู่หรือสืบเนื่องต่อไป ตราบนั้นยังคงมีการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะในการฝึกอาสนะหรือในกิจกรรมต่างๆ ในชีวิต     
ขยายความ ; วาทะว่าด้วย "วิวาทะ"(เข้าอ่านที่นี่ค่ะ)"

มีครูโยคะท่านหนึ่งบอกว่าสูรยนมัสการไม่ใช่อาสนะ คุณหมอคิดว่าอย่างไรครับ"

เย็นย่ำวันหนึ่งของเมื่อหกปีก่อน กัลยาณมิตรรุ่นพี่ที่สนิทกับผม ซึ่งชวนเพื่อนพ้องน้องพี่กลุ่มเล็กๆ มาแลกเปลี่ยนเรื่องการฝึกอาสนะกันมาระยะหนึ่งแล้ว ถามคำถามนี้หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกอาสนะในวันนั้น

พลันที่ฟังคำถามจบ ผมคิดออกมาดังๆ ตั้งแต่ฝึกอาสนะมาผมไม่เคยนึกสงสัยว่าสูรยนมัสการเป็นอาสนะหรือไม่
หลังจากครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง ผมตอบคำถามด้วยการย้อนถามว่า มันขึ้นอยู่กับว่าเรา

ให้คำจำกัดความของอาสนะว่าอะไร และเพราะเหตุใดครูท่านนั้นจึงมองว่าสูรยนมัสการไม่ใช่อาสนะ

แกบอกว่าครูให้เหตุผลว่าสูรยนมัสการไม่ใช่อาสนะ เพราะอาสนะจะต้องนิ่ง ในขณะที่สูรยนมัสการจะมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด

ผมก็เลยบอกว่า ถ้าคิดว่าอาสนะจะต้องเป็นการหยุดนิ่งอยู่ในท่วงท่า สูรยนมัสการก็ย่อมไม่ใช่อาสนะอย่างที่ครูว่า

จากนั้นผมจึงแลกเปลี่ยนมุมมองของตัวเองว่า เวลาเราค้างอยู่ในอาสนะ อาจดูเหมือนว่า เราหยุดนิ่งอยู่ในท่วงท่านั้นๆ ทว่าหากสำรวจให้ลึกลงไป ผมคิดว่ายังคงมีการเคลื่อนไหวอยู่นั่นเอง

อย่างน้อยๆ ก็ยังมีการหายใจเข้า-ออก ซึ่งหมายถึงว่าโครงสร้างร่างกายส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจต้องขยับเขยื้อนไปตามจังหวะการหายใจ

ไม่นับการค่อยๆ เหยียดยืดร่างกายมากขึ้นในการหายใจรอบต่อไป เพื่อที่จะเข้าถึงท่วงท่าให้ลึกซึ้งขึ้น

อย่าว่าแต่จะก่อเกิดเป็นอาสนะหนึ่งได้ ใช่หรือไม่ว่าเราต้องเคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่างๆ ที่จะทำให้ไปสู่อาสนะนั้นได้ เช่น จะทำอุตตานาสนะ1 เราจะต้องเริ่มจากการยืนตรง ยกแขนขึ้น จากนั้นจึงเหยียดยืดร่างกายด้านหลังโดยการก้มไปข้างหน้า
กระทั่งหลังจากค้างอยู่ในท่าก้มตัวนานเท่าที่ตั้งใจแล้ว ก็ต้องยืดตัวขึ้นกลับสู่ท่ายืนตรงอีกครั้ง

สำหรับผม อาสนะจึงไม่ใช่การหยุดนิ่งอย่างสมบูรณ์ หรือไร้การเคลื่อนไหวโดยสิ้นเชิง พูดให้ถึงที่สุด ตราบใดที่ชีวิตยังดำรงอยู่หรือสืบเนื่องต่อไป ตราบนั้นยังคงมีการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะในการฝึกอาสนะหรือในกิจกรรมต่างๆ ในชีวิต

บางการคลื่อนไหวเป็นการเคลื่อนไหวของโครงสร้างภายนอกที่มองเห็นหรือรู้สึกได้ชัดเจน ในขณะที่บางการเคลื่อนไหวก็เป็นการเคลื่อนไหวภายในที่ละเอียด
อย่างเช่นในการฝึกอาสนะ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า มาจากการขับเคลื่อนของจิตใจที่ต้องการจะทำอาสนะ จากนั้นร่างกายจึงเคลื่อนไหวตามเจตจำนง พร้อมๆ ไปกับการหายใจที่สอดคล้องกับทิศทางการเหยียดยืดส่อาสนะนั้นๆ

เมื่อถึงอาสนะปลายทาง เราจึงนิ่งค้างอยู่ในท่วงท่านั้น ก่อนจะเคลื่อนไหวกลับสู่ท่าเริ่มต้นอีกครั้ง

พูดอีกอย่าง ผมคิดว่าอาสนะหาใช่ท่วงท่าสุดท้ายของอาสนะนั้นๆ หากเป็นกระบวนการหรือการกระทำแห่งการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่อง โดยมีการประสานสัมพันธ์กันของร่างกายทั้งภายในภายนอก ลมหายใจ และจิตใจ

หัวใจของการฝึกอาสนะจึงอยู่ที่การเคลื่อนไหวไปสู่ ดำรงอยู่ และออกจากอาสนะ โดยให้ร่างกาย ลมหายใจและจิตใจประสานกลมกลืนกัน

หรือจะบอกว่าทำให้เส้นใยแห่งร่างกาย ลมหายใจ และจิตใจ ควั่นกันเป็นเส้นด้ายที่ราบเรียบไปตลอดเส้นสายของอาสนะก็คงไม่ผิดนัก

ขอกลับมาที่ประเด็นที่ผมมองว่า อาสนะคือกระบวนการของการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องอีกที เวลาที่เรานิ่งค้างอยู่ในอาสนะ อาจกล่าวได้ว่าในระหว่างการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องนั้น ร่างกายอาจรั้งอยู่ในบางตำแหน่งแห่งที่ - นานกว่าการเข้าสู่และออกจากท่วงท่า จนดูราวกับว่าหยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหว

ทว่าที่จริงแล้วยังคงมีการเคลื่อนไหวอันละเอียดดำเนินอยู่ภายใน หรือจะบอกว่าในความนิ่งมีความเคลื่อนไหวก็คงไม่ผิดนัก

ในทำนองเดียวกัน ระหว่างที่เราเคลื่อนไหวไปสู่และออกจากอาสนะ หรือฝึกอาสนะในลักษณะของการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่อง เช่น หายใจเข้า(หรือออก)พร้อมกับเคลื่อนไหวไปสู่อาสนะ จากนั้นหายใจออก(หรือเข้า)พร้อมกับออกจากอาสนะนั้นกลับสู่ท่วงท่าเริ่มต้น โดยไม่ค้างอยู่ในอาสนะนั้น หรือเคลื่อนไหวจากอาสนะหนึ่งไปสู่อีกอาสนะหนึ่งอย่างต่อเนื่อง หากการเคลื่อนไหว ลมหายใจและจิตใจหลอมรวมหรือประสานกันอย่างกลมกลืน ก็อาจเรียกได้ว่าในความเคลื่อนไหวมีความมั่นคง หรือความนิ่ง - ในแง่ที่ร่างกาย ลมหายใจ และจิตใจยังคงเกาะเกี่ยวกันอยู่อย่างแนบสนิท

ด้วยมุมมองอย่างที่กล่าวมา ผมจึงคิดว่าการทำสูรยนมัสการก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับการทำอาสนะ นั่นคือสูรยนมัสการก็คือกระบวนการหรือการกระทำแห่งการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ที่ถูกจุดประกายจากเจตจำนง และมีการประสานสัมพันธ์กับโครงสร้างทั้งภายนอกภายในและลมหายใจ

เพียงแต่ว่าในสูรยนมัสการ เราไม่รั้งอยู่ในอาสนะใดอาสนะหนึ่งเท่านั้น หรือพูดอีกอย่างว่าในสูรยนมัสการ เราอาจต้องค้นหาและเข้าถึงความสงบนิ่งภายในท่ามกลางการเคลื่อนไหวของร่างกายภายนอก  

ในขณะที่เวลาค้างอยู่ในอาสนะใดอาสนะหนึ่ง เราอาจค้นพบและเข้าถึงการเคลื่อนไหวภายในอันประณีต

แต่พูดก็พูดเถอะ ผมไม่เคยนึกสงสัยว่าสูรยนมัสการเป็นอาสนะหรือไม่ แม้จะถูกถามไถ่ด้วยคำถามเดียวกันนี้อีกมากกว่าหนึ่งครั้ง ผมก็ยังคงไม่ติดใจในประเด็นนี้อยู่นั่นเอง

ตอนที่ถูกถามเรื่องนี้ในคราวหลังๆ ผมกลับอดกังขาไม่ได้ว่า คำตอบสำหรับคำถามว่าสูรยนมัสการเป็นอาสนะหรือไม่ มันนำเราไปสู่อะไรกระนั้นหรือ

ใช่หรือไม่ว่า ต่อให้เราอยากรู้ว่าสูรยนมัสการเป็นอาสนะหรือไม่ และรู้ว่ามันเป็นอาสนะหรือไม่ ไม่ว่าจะจากมุมมองใดหรือจากคำจำกัดความของอาสนะแบบไหน ถึงที่สุดแล้ว เราควรฝึกสูรยนมัสการโดยให้มีการประสานกันอย่างกลมกลืนระหว่างร่างกาย ลมหายใจ และจิตใจ ซึ่งคือความหมายของโยคะอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นทิศทางอย่างเดียวกับการฝึกอาสนะที่ผู้ฝึกพึงมุ่งไปนั่นเอง

หมายเหตุ : ผมเขียนโยคะวิวาทะฉบับนี้เสร็จ ระหว่างอยู่บนเครื่องบินที่มุ่งสู่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรต หากไม่นับช่วงที่เครื่องบินแล่นอย่างเอื่อยเฉื่อยบนรันเวย์ จนกระทั่งเร่งความเร็วถึงขีดสุดเพื่อทะยานขึ้นเหินฟ้า เกือบตลอดเส้นทางที่เครื่องบินลำที่ผมโดยสาร บินไปในน่านฟ้าอย่างราบเรียบประหนึ่งเส้นไหม (smooth as silk) สมดังคำขวัญของสายการบินสายนี้

พูดตามจริง หากไม่มองผ่านช่องหน้าต่างออกไปข้างนอกและเห็นม่านเมฆบางเบาที่ลอยผ่าน ผมแทบรู้สึกว่าเครื่องบินลอยนิ่งอยู่ในอากาศด้วยซ้ำ ทั้งที่เครื่องบินบินด้วยความเร็ว(ภาคพื้นดิน)มากกว่า ๙๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ณ ระดับความสูงราวสามหมื่นฟุต

ภายในเครื่องบินมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นตลอดเวลา ภาพยนตร์ที่ฉายอยู่บนจอ ผู้โดยสารพูดคุยกัน บางคนก็ลุกเดินไปเข้าห้องน้ำ แอร์โฮสเตสเดินบริการอาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ ทว่าเครื่องบินทั้งลำกลับเสมือนหนึ่งลอยนิ่งอยู่กลางเวิ้งฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป สีส้มสว่างเรืองรองค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีม่วง น้ำเงิน จนกระทั่งความมืดมิดเข้าคลี่คลุมบรรยากาศ

ได้มองเห็นและซึมซับอยู่กับฉากของธรรมชาติและปรากฏการณ์รอบตัว ทำให้ผมนึกเปรียบเทียบกับเรื่องของอาสนะและสูรยนมัสการที่ตัวเองครุ่นคิดและเขียนออกมา

เครื่องบินบินอย่างราบเรียบจนรู้สึกราวกับว่ามันลอยนิ่ง ทั้งที่มันยังคงเคลื่อนไปด้วยความเร็วสูง ไม่นับการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายในตัวเครื่องตลอดเวลา ดูแล้วไม่ต่างกับการทำอาสนะที่เราพึงเข้าถึงความสงบนิ่งในท่ามกลางการเคลื่อนไหว

นึกไม่ถึงว่าเดินทางไปดูไบเป็นครั้งแรก ผมได้เห็นเครื่องบินทำวิมานาสนะกับตาและหัวใจ

1 อุตตานาสนะ มาจาก อุต แปลว่าเต็มที่ ตานะ แปลว่า เหยียดยืด และอาสนะ แปลว่า ท่วงท่า อุตตานาสนะจึงหมายถึงท่วงท่าที่ร่างกายเหยียดยืดอย่างเต็มที่ แต่ในการฝึกอาสนะ อุตตานาสนะจะใช้เรียกท่ายืนก้มตัว นอกจากนี้คำว่าอุตตานาสนะยังสามารถนำไปต่อท้ายคำอื่นๆ เพื่อแสดงนัยถึงการเหยียดยืดร่างกายอย่างเต็มที่ เช่น ปารศวอุตตานาสนะ ใช้เรียกท่ายืนก้มตัวที่เหยียดยืดร่างกายทีละข้าง เป็นต้น 

 



มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1  ถนนรามคำแหง  แขวงหัวหมาก  
เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  10240  
โทรศัพท์  02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744 ; 
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

..... 

หมายเลขบันทึก: 265148เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2009 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท