nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

เล่าเรื่องไอน์สไตน์พูดเรื่องการศึกษา


“ความรู้คือสิ่งที่ตายไปแล้ว แต่โรงเรียนมีหน้าที่รับใช้ผู้ที่ยังมีชีวิต”

        

         

          ไม่มีใครไม่รู้จักไอน์สไตน์ในฐานะนักวิทยาศาสตร์   แต่มีน้อยคนที่รู้ว่าไอน์สไตน์สนใจมิติทางสังคมมากพอๆ กัน และมีหนหนึ่งไอน์สไตน์แสดงปาฐกถาเรื่องการศึกษา (On Education)

          เขาพูดเรื่องนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙  ขณะอายุ ๕๗ ปี

          ไอน์สไตน์ออกตัวก่อนว่า  เขาไม่ใช่ผู้รู้ เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา ที่พูดจากประสบการณ์และความเชื่อส่วนตัว 

          ต่อไปนี้คือสาระบางส่วนที่เก็บความมาจากเรื่อง On Education

 

ไอน์สไตน์มองโรงเรียนอย่างไร

          เขาไม่คิดว่าโรงเรียนเป็นแค่สถานที่สอนความรู้  ทั้งนี้เพราะ 

“ความรู้คือสิ่งที่ตายไปแล้ว  แต่โรงเรียนมีหน้าที่รับใช้ผู้ที่ยังมีชีวิต    และโรงเรียนมีหน้าที่สำคัญที่สุดคือ  “การส่งผ่านมรดกทางขนบธรรมเนียมจากคนรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นต่อๆ ไป” 

          ไอน์สไตน์ติติงครอบครัวว่าควรมีบทบาทในการทำหน้าที่ดังกล่าว  แต่ครอบครัวมุ่งไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าทำให้ละทิ้งบทบาทเดิม  ปล่อยให้เป็นภาระของโรงเรียน

 

จุดมุ่งหมายการศึกษาคืออะไร...

          แม้ไอน์สไตน์จะบอกว่า โรงเรียนควรพัฒนาเยาวชนให้มี “คุณภาพ” และ “ความสามารถ”  เพราะคุณสมบัตินี้เป็นหลักประกันของรัฐ  แต่...จุดมุ่งหมายการศึกษา-ต้องไม่ใช่การพัฒนาคนเพื่อตอบสนองรัฐเพียงด้านเดียว  

เขาได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาคนในฐานะที่เป็น “ปัจเจก”  ด้วยเหตุผลว่า  “ชุมชนที่ประกอบด้วยปัจเจกบุคคลที่มีมาตรฐานแต่ปราศจากที่มาและจุดมุ่งหมายส่วนตัว  ย่อมจะเป็นสังคมที่ไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้”  ที่น่าประทับใจคือ  ไอน์สไตน์ย้ำว่า  “จุดมุ่งหมายดังกล่าวจะต้องอยู่ที่การฝึกอบรมให้ปัจเจกบุคคลผู้มองเห็นคุณค่าของการรับใช้ชุมชนได้รู้จักคิด และปฏิบัติด้วยตัวเอง”

 

วิธีการสอนควรเป็นอย่างไร

          วิธีการสอนที่ไอน์สไตน์ต้องการเห็นคือ  “การกระตุ้นให้นักเรียนได้มีโอกาสลงมือ ปฏิบัติจริงๆ”

          และ   วิธีการที่เลวที่สุดในการสอน  คือการใช้วิธีขู่บังคับ  เพราะจะเป็นการทำลายความรู้สึกนึกคิดที่ดี ความบริสุทธิ์ใจ และความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กนักเรียนลง”

 

คุณสมบัติภายในที่พึงสร้าง...

ไอน์สไตนให้ความสำคัญเรื่องแรงบันดาลใจมาก  เขาบอกว่า แรงบันดาลใจเป็นพลังขับดันให้มนุษย์ทำสิ่งดีงามเพื่อสังคม 

เขาบอกว่า  “ความเชื่อมั่นในตนเอง” เป็นคุณสมบัติสำคัญที่เกิดจากการที่ครูให้เสรีภาพในการคิด  โดยจำกัดอำนาจของครูมิให้ใช้มาตรการบังคับกับนักเรียน

“ความทะเยอทะยาน” หรือ  การแสวงหาการยอมรับจากคนรอบข้าง  เป็นพลังสำคัญในสังคม  แต่มีข้อควรระวังคือ  พลังในการสร้างสรรค์ กับ  พลังทำลายล้าง อยู่ใกล้ชิดกันมาก 

“ความปรารถนาที่จะแสวงหาการยอมรับเป็นแรงบันดาลใจที่ดี  แต่ ความปรารถนาที่จะให้ตนเองได้รับการยอมรับสูงกว่าคนอื่น หรืออยากให้ตนเองมีภูมิปัญญาเหนือเพื่อนนักเรียนด้วยกัน อาจนำไปสู่การเอาตนเองเป็นที่ตั้ง”  

ความทะเยอทะยานแบบนี้เป็นภัยต่อปัจเจก และสังคม  โรงเรียนต้องป้องกันมิให้(ครู) ใช้วิธีมักง่ายในการสร้างความทะเยอทะยานแก่เด็กเพื่อให้พวกเขาขยันเรียน

เขาพูดว่า  “เราไม่ควรอบรมเด็กให้ถือความสำเร็จเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตอย่างที่เคยทำมา  เพราะในความเป็นจริง คนที่ประสบความสำเร็จมักได้รับการยกย่องชมเชยจนเกินเลยไปกว่าความดีที่เขาทำ...”

คุณค่าของมนุษย์ควรมองตรงจุดที่ว่า เขาได้ให้สิ่งใดแก่สังคม ไม่ใช่ตรงสิ่งที่เขาได้รับ

 

คุณสมบัติของครู

          ไอน์สไตน์อยากเห็นครูอย่างนี้ค่ะ

-         มีมนุษยธรรม  (เขาพูดเป็นสิ่งแรก)

-         มีภูมิปัญญา  (คือ รู้จริงในสิ่งที่สอน-ไอน์สไตน์ไม่ได้ขยายความ แต่ฉันคิดเอง)

-         มีทักษะทางวิชาชีพ 

ทักษะทั้ง ๓ ประการเป็นไปเพื่อ พัฒนาเด็กให้มีความบริสุทธิ์ใจในการแสวงหาการ

ยอมรับ  และ สามารถชี้นำให้เด็กมุ่งไปสู่บทบาทเพื่อสังคม

 

          โรงเรียนจะหาครูที่มีคุณสมบัติเลอเลิศนั้นจากที่ไหน ? ไอน์สไตน์เสนอแนะว่า

๑.     ครูต้องผ่านการศึกษาจากสถาบันที่มีหลักการสอนตามทัศนะที่กล่าวมาทั้งหมด 

๒.    โรงเรียนควรมีห้องสมุดเก็บเอกสารประกอบการสอน และเอกสารแนะนำการสอนไว้สำหรับครูโดยเฉพาะ    เพราะ  “พลังใจในการทำงานของครูอาจมอดดับได้  หากต้องเผชิญกับการบังคับ กดดันจากภายนอก”

 

 

บันทึกเพิ่มเติมของฉัน

          ฉันเจอหนังสือเก่าเล่มนี้ในตู้หนังสือโดยบังเอิญ  เป็นผลงานเล่มท้ายๆ ในชีวิตของเขาชื่อ Out of My Later Years (1949)          แปลโดย กำพล ศรีถนอม พิมพ์ครั้งแรกปี 2524

เรื่อง On Education อยู่ในกลุ่ม “ว่าด้วยความยึดมั่นกับความเชื่อมั่น”

          ด้วยความที่ไอน์สไตน์เป็นนักคิดที่ลึกซึ้งมาก  โดยเฉพาะในมิติทางสังคม  ฉันอ่านอย่างใส่ใจ ใคร่ครวญ และมีความสุขมากที่ได้อ่านอีกครั้ง มันหนังสือที่จุดประกายความคิดได้ดี

ฉันประทับใจเป็นพิเศษในทรรศนะของไอน์สไตน์ที่ว่า  “ความรู้คือสิ่งที่ตายไปแล้ว”  มันต้องมีความหมายพิเศษให้เราค้นหา   ฉันครุ่นคิดสิ่งที่ไอน์สไตน์ต้องการสื่อกับผู้ฟัง  และขออนุญาต(ไอน์สไตน์) คิดเอาเองว่า  

จุดมุ่งหมายของการสอนในโรงเรียนต้องเป็นไปเพื่อให้ผู้เรียนค้นหา ค้นพบ ความรู้ใหม่ๆ  เพราะ ความรู้ที่เรียนในโรงเรียนเป็นสิ่งที่เก่า ล้าสมัย ในทันทีที่มันถูกค้นพบแล้วเรียบเรียงออกมาเป็นตำรา

          จากมุมของผู้สอน  “การสอนความรู้ที่ตายแล้ว” ในโรงเรียน จึงเป็นเพียงการส่งมอบ  “ต้นทุนความคิด” ให้แก่ผู้เรียนเท่านั้น   และ

          จากมุมของผู้เรียน  “การเรียนรู้” ในสิ่งที่คนอื่นค้นพบแล้ว  จึงเป็นเพียง  “ต้นทุน”  เพื่อการค้นพบสิ่งใหม่เท่านั้น

          ฉันตั้งคำถามต่อไปว่า “แล้วความคิดแบบนี้จะกระตุ้นพลังใจในการสอน หรือ บั่นทอนกำลังใจ ของผู้เป็นครูกันแน่”

          คำตอบของฉันคือ 

“มันเป็นพลังใจ”  ถ้าเราให้นิยามของ “การค้นพบความรู้ใหม่” ว่า  ไม่ใช่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ระดับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์  แต่เป็นการประมวลผลของการเรียนรู้ไปใช้ในวิถีของตัวเอง  ในบริบทของตัวเอง  อย่างรู้เท่าทัน อย่างมีเหตุผล ไม่ทำลายตัวเอง  ไม่ทำลายชุมชน ไม่ทำลายประเทศชาติ ไม่ทำลายโลก  ไม่ไหลตามกระแสไร้สาระ  ไร้เหตุผล  ไร้คำอธิบาย  เฉกเช่นทิศทางที่คนรุ่นใหม่กำลังเดินไป  ซึ่งปลายทางคือหายนะ

         

สิ่งน่าประทับใจในตัวไอน์สไตน์จากการได้อ่านปาฐกถาเรื่องนี้  คือ เขามีทรรศนะที่อ่อนโยน  มีคุณธรรม  สะท้อนถึงความใส่ใจมิติทางสังคม  ความรับผิดชอบต่อสังคม  เขาจึงให้คุณค่ามนุษย์ที่   “สิ่งที่มนุษย์ให้แก่สังคม”

มีบทความอีกหลายบทในหนังสือเล่มนี้รอการอ่าน คิด วิเคราะห์ ซึมซับ เพื่อเป็นต้นทุนทางความคิด.

พุธที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒

 

 

ของแถม เรื่อง “คนขับรถของไอน์สไตน์”

 

          คนขับรถนายนี้ขับรถให้ไอน์สไตน์มานาน  ทุกครั้งที่ไปส่งไอน์สไตน์บรรยาย  เขาจะเข้าไปนั่งหลังห้อง  ฟังไอน์สไตน์บรรยายอย่างสนใจ

          วันหนึ่ง  ขณะขับรถไปส่งไอน์สไตน์บรรยายเช่นเคย  เขาพูดขึ้นอย่างมั่นใจว่า

          “ท่านครับ  ผมฟังท่านบรรยายมานาน  ผมคิดว่าผมจะสามารถบรรยายแทนท่านได้ หากท่านจะอนุญาต”

          ไอน์สไตน์นิ่งคิด  ที่แห่งนี้ไม่มีใครรู้จักหน้าตาไอน์สไตน์มาก่อน  ดีเหมือนกัน  แล้วพยักหน้ากับคนขับรถ

          ไอน์สไตน์นั่งหลังห้อง  ฟังคนขับรถบรรยาย  ไม่มีผิดเพี้ยนจากที่เขาเคยบรรยายแม้แต่คำเดียว  เขาพยักหน้าหงึกๆ อย่างพอใจ

          สุดท้าย  มีนักศึกษาหนุ่มผู้ปราดเปรื่องลุกขึ้นตั้งคำถามที่แหลมคม  คนขับรถใช้เวลาไม่นานก่อนตอบ

          “คำถามนี้ง่ายมากครับ  เอาละครับ  ผมจะไม่ตอบเอง  แต่จะขอเชิญคนขับรถของผมที่นั่งอยู่หลังห้องตอบแทนผมนะครับ” 

          ฮ่า....ฮ่า....ฮ่า....

 

          นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า................

          ป.ล. นิทานเรื่องนี้อ่านจากมติชนเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วค่ะ

หมายเลขบันทึก: 264835เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2009 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่าดีๆ...

เรื่องเล่าคนขับรถของไอสไตน์...จบได้เฮมากค่ะ...อ่านแล้วอยากเป็นครูในดวงใจของไอสไตน์

ดีคะ ได้รับความรู้ที่ไม่เคยรู้

  • คล้ายไอน์สไตน์หยั่งเห็นปัญหาการศึกษาของบ้านเมืองเรา(ล่วงหน้า)ในปัจจุบันเลย
  • ขอบคุณสาระดีๆครับ
  • สวัสดีค่ะอาจารย์ noktalay
  • อ่านแล้วอยากเป็นครูในดวงใจของไอสไตน์
  • ได้อ่านสิ่งทีอาจารย์คิดแล้วดิฉันชื่นใจมากค่ะ
  • สวัสดีค่ะปอปอน้องปอปอ (คนสวย)
  • ขอบคุณนะคะที่เข้ามาอ่าน
  • อิอิ
  • เขาเรียกว่า เก่งกว่า ไอน์สไตน์ เลย

สวัสดีค่ะ

ชอบสาระดี ๆ เช่นนี้ค่ะ ต้องไปหามาเป็นเจ้าของสักเล่มแล้วค่ะ

ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

(^___^)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท