เหงือกดีปริทนต์ดี ทำหัวใจดีไปนาน


 

...

คณะนักวิจัยจากเยอรมนีค้นพบความสัมพันธุ์ระหว่างพันธุกรรมของโรคเหงือกกับโรคหัวใจ

โรคเหงือกบริเวณใกล้โคนฟัน ซึ่งด้านในมีเส้นใยยึดโยงฟันไว้ไม่ให้หลุดเรียกว่า "ปริทนต์" ส่วนนี้เป็นส่วนที่บอบบาง และติดเชื้อเรื้อรังได้ง่าย หรือที่เรียกว่า "ปริทนต์อักเสบ (periodontitis)"

...

เรารู้มานานแล้วว่า ปริทนต์อักเสบกับโรคหัวใจมีความสัมพันธ์กัน คือ เหงือกไม่ดีมักจะทำให้หัวใจไม่ดีตามไปด้วย

ทีมจากมหาวิทยาลัยคีล (Kiel U) พบว่า คนที่มีเหงือกอักเสบ-ปริทนต์อักเสบเรื้อรังและโรคหัวใจมียีนส์ (gene = ชุดรหัสพันธุกรรมที่แสดงออกได้ = กลุ่ม DNA ที่ทำหน้าที่ร่วมกันคล้ายทีมงานก่อการดี หรือก่อการร้าย)

...

อ.ดร.อาน เชฟเฟอร์ (Arne Schaefer; นามสกุลยี่ห้อปากการาคาแพง สินค้า-บริการอีกหลายรายการ) กล่าวว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (coronary heart disease / CHD) และเหงือกอักเสบ-ปริทนต์อักเสบ (periodontitis) มีปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่

  • (1). บุหรี่
  • (2). เบาหวาน
  • (3). โรคอ้วน 

...

การศึกษาวิจัยพบว่า แบคทีเรียหรือเชื้อโรคในช่องปากบนคราบจุลินทรีย์ (plaque), และคราบไขมันที่เกาะผนังหลอดเลือดมีปฏิกริยาจากระบบภูมิต้านทาน และการอักเสบ หรือธาตุไฟกำเริบคล้ายๆ กัน

กลไกที่เป็นไปได้คือ แบคทีเรียในเหงือกอักเสบ-ปริทนต์อักเสบ กระตุ้น (trigger) ทำให้เกิดการอักเสบอ่อนๆ เรื้อรังไปทั่วเรือนร่างสรรพางค์กาย

...

การอักเสบนี้ทำให้เกิดหลอดเลือดเสื่อมสภาพ ตีบตัน หรือเปราะบาง ทำให้เกิดสโตรค (stroke = กลุ่มโรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต) หรือโรคหัวใจ

กลไกอีกอย่างหนึ่งคือ แบคทีเรียกอาจจะทำให้หลอดเลือดทำงานได้ไม่ดี คือ ขยายตัว-ยืดหยุ่นได้ไม่ดี หลอดเลือดจึงแข็งขึ้น ตีบตันง่ายขึ้น

...

อ.ดร.อาน เชฟเฟอร์กล่าวว่า ยีนส์ที่มีความสัมพันธ์กับโรคเหงือกและหัวใจอยู่ที่โครโมโซมเส้นที่ 9 (chromosome 9)

การศึกษานี้ทำในกลุ่มตัวอย่างคนไข้โรคหัวใจ 1,097 ราย และคนไข้โรคเหงือก-ปริทนต์อักเสบระยะแรก แต่มีความรุนแรงสูง 151 ราย

...

ผลการศึกษาพบว่า ทั้งสองกลุ่มโรคมีลักษณะการกลายพันธุ์ของ DNA คล้ายๆ กัน จึงทำการศึกษาซ้ำในกลุ่มตัวอย่างคนไข้โรคหัวใจ 1,100 ราย และโรคเหงือก-ปริทนต์อักเสบอีก 180 ราย

การแปรงฟันเบาๆ ด้วยแปรงสีฟันขนอ่อน (soft) หรืออ่อนพิเศษ (extrasoft) ด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ มีส่วนช่วยให้ผิวฟันสะอาดขึ้นประมาณ 60-70%

...

ผิวฟันที่เหลือ โดยเฉพาะผิวฟันที่อยู่ระหว่างซี่ฟัน และใกล้เหงือกนั้น... การแปรงฟันมักจะเข้าไม่ถึง และน้ำยาบ้วนปากก็เข้าไม่ถึงด้วย เนื่องจากมักจะมีคราบจุลินทรีย์ หรือหินปูนปกคลุมอยู่

การฝึกใช้ไหมขัดฟันให้ถูกวิธี และใช้วันละ 1 ครั้งเป็นประจำมีส่วนช่วยลดคราบจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นตัวทำให้เหงือก-ปริทนต์อักเสบ ทำให้ฟันสะอาดขึ้นอย่างมากมาย

...

ข้อควรระวังในการแปรงฟันที่สำคัญคือ ไม่ควรแปรงฟันทันหลังกินผลไม้ น้ำผลไม้ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ยาน้ำ ยาลดกรด อาหารรสเปรี้ยว เช่น น้ำส้มสายชู ซอสเปรี้ยว ฯลฯ

กรดหรือด่าง (กรณียาลดกรด) จะทำให้เคลือบฟันอ่อนลงประมาณ 15-60 นาที จึงควรบ้วนปากหรือดื่มน้ำตามทันที และบ้วนปากหรือดื่มน้ำซ้ำบ่อยๆ รอให้ครบ 30-60 นาทีแล้วจึงแปรงฟัน

...

ถ้าแปรงฟันตอนเคลือบฟันอ่อน... จะเสี่ยงฟันสึก เสียวฟัน ฟันผุได้ง่าย

การใช้ไหมขัดฟันควรใช้หลังแปรงฟัน เพื่อให้ฟลูออไรด์ในยาสีฟันมีโอกาสสัมผัสผิวฟันที่สะอาดแล้วเต็มที่

...

แต่ถ้าทำแบบนี้ไม่ถนัด หรือไม่ชอบวิธีนี้... วิธีที่ดีคือ ให้ใช้ยาสีฟันเล็กน้อย แปรงฟันเบาๆ เฉพาะบางท่า เช่น ท่าขบเคี้ยว (บริเวณที่ฟันกัดหรือกระทบกัน) ช่วงสั้นๆ พอให้รู้สึกสดชื่น

หลังจากนั้นให้ใช้ไหมขัดฟัน และแปรงฟันอีกครั้งด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์

...

การตรวจช่องปากกับอาจารย์หมอฟันทุกๆ 6-12 เดือน มีส่วนช่วยให้ช่องปากดีขึ้นในหลายๆ มิติ เช่น อาจารย์ท่านอาจจะเตือนว่า แปรงฟันแรงไป (ผู้เขียนก็โดนใบเตือนมาแล้ว) ฯลฯ

ปี 2551 ทีมวิจัยจากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอนพบว่า เหงือกอักเสบ-ปริทนต์อักเสบเรื้อรังเพิ่มเสี่ยงมะเร็ง นี่บอกเราว่า สุขภาพเหงือกสำคัญมากกว่าที่คิดไว้แยะเลย

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ 

...

ขอแนะนำ                                                          

...

 > Thank BBC & [ MailOnline ]

ที่มา                                                                    

  • Thank BBC > Gene links heart and gum disease. May 25, 2009. > [ Click ] / source > Annual conference of the European Society of Human Genetics in Vienna.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า >   > 26 พฤษภาคม 2552.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.

หมายเลขบันทึก: 264539เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2009 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท