หาก พิจารณาถึงรูปแบบระบบที่องค์กรต้องการพัฒนา ( จากประสบการณ์ที่ได้เจอ ) ดิฉันขอแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบค่ะ
1 เป็นการปรับปรุงหรือพัฒนาระบบเดิมที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งข้อนี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติไม่รู้สึกว่าจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรมาก เป็นแค่การพัฒนาจากสิ่งเดิมที่เคยทำอยู่ให้ดีขึ้น ก็จะไม่มีการต่อต้านอะไรมากนัก
2 เป็นการเปลี่ยนระบบจากเดิมเป็นระบบใหม่โดยสิ้นเชิง อาจมีผลทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดการต่อต้าน
หากทำให้ระบบการทำงานที่เคยทำเป็นประจำต้องเปลี่ยนแปลงไป
3 เป็นการนำระบบใหม่มาใช้เพิ่มเติม โดยไม่เกี่ยวข้องกับระบบเดิม ๆ ที่เคยมีอยู่ ข้อนี้อาจทำให้เกิดปัญหาน้อยกว่า 2 ข้อแรก เพราะเสมือนเป็นทางเลือกในการทำงานให้ผู้ปฏิบัติได้อีกแนวทางหนึ่ง หรือเป็นสิ่งใหม่ที่เขายอมรับได้ เพราะไม่ได้มาเปลี่ยนสิ่งเดิม ๆ ที่เขาเคยปฏิบัติ
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาระบบ ..
ผู้ปฏิบัติเกิดการต่อต้าน
ผู้ปฏิบัติละเลย เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม
ทำให้ระบบที่นำมาใช้ไม่ประสบผล..
แนวทางในการแก้ไข ที่ขอนำเสนอค่ะ
1. โยนหินถามทาง ต้องลองตรวจสอบกระแสตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้ปฏิบัติในองค์กร ซึ่งในแต่ละบริษัทอาจมีวิธีหรือเทคนิคแตกต่างกัน เช่น ลองให้มีการปล่อยข่าวเรื่องการพัฒนาระบบแล้วมีทีมงานตรวจสอบกระแสตอบรับ แต่ต้องระวังความปั่นป่วนที่อาจเกิดขึ้น , ทำแบบสอบถามความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง , ตั้งกระทู้ถามความคิดเห็นใน Webboardขององค์กร เป็นต้น
2. เมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้นจากการสอบถามความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะ แล้วจึงนำข้อมูลนั้นมาเป็นแนวทางในการหาวิธีการเพื่อนำระบบที่จะพัฒนาเข้าไปใช้อย่างละมุนละม่อม และพยายามจูงใจให้คนส่วนใหญ่เห็นด้วย โดย
2.1 ประชุมชี้แจงผู้ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจ และทราบถึงวัตถุประสงค์ของการพัฒนาระบบ และแนวทางการทำงานขององค์กร และประโยชน์ที่ได้รับจากการพัฒนา และขอบข่ายของการพัฒนา พูดง่ายๆ คือให้เข้าใจชัดเจนไปเลยว่าเขาจะต้องเกี่ยวข้องอย่างไร อะไรบ้าง มีข้อดีต่อเขาอย่างไร เพราะบางครั้งการต่อต้านที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากความไม่รู้ หรือสิ่งที่รู้ยังไม่ถูกต้องนั่นเอง
2.2 เปิดให้พนักงานมีโอกาสซักถามและแสดงความคิดเห็น
2.3 สร้างแรงจูงใจให้ทุกคนมองเห็นข้อดีของการพัฒนาระบบ และเต็มใจในการให้ความร่วมมือ
ที่สำคัญระบบใด ๆที่จะนำมาใช้ควรจะมีความยืดหยุ่น และสามารถปรับใช้ให้เข้ากับการทำงานของผู้ปฏิบัติได้ในกรณีที่มีปัญหา เพื่อผู้ใช้เองก็จะได้รู้สึกว่าองค์กรเองได้ให้ความสำคัญกับบุคลากรในองค์กรไม่ได้มองแค่เฉพาะผลประโยชน์ขององค์กรเพียงอย่างเดียว
และสิ่งที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้เกิดทั้งหมดที่ว่านี้ได้ ก็คือผู้บริหารที่มีใจเปิดกว้าง มีภาวะความเป็นผู้นำและมองเห็นบุคลากรในองค์กรเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาองค์กรค่ะ