ยุทธการฝ่าด่านเขาวงกต


..."อปท. เกิดขึ้นมาเพราะเกิดวิกฤตการณ์ของการปกครองส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคที่ไม่สามารถแก้ปัญหาและสนองตอบความต้องการของประชาชนในเวลาอันรวดเร็วได้ จึงจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้น ดังนั้น ปรัชญาของ อปท. คือ แก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น"

ผ่านมา ๒ เดือน ที่ผู้เขียนเปลี่ยนที่ทำงานจาก อปท.เล็ก มาสู่ อปท.ใหญ่ ก่อนย้ายมา ผู้เขียนได้รับโจทย์ข้อหนึ่งว่า  ทำไมกองการศึกษาจึงทำงานช้านัก  กว่าจะออกมาได้สักเรื่องมันมีขั้นตอนมากมายเหลือเกิน 

ณ วันนั้น วันที่สอบสัมภาษณ์ ผู้เขียนไม่รู้เลยว่ามันเป็นเพราะเหตุใด  แต่ ณ วันนี้ทราบแล้วว่ามันช้าเพราะเหตุใด 

สิ่งค้นพบ  คือ ขั้นตอนการเดินเอกสารของที่นี่เป็นแบบฉบับของส่วนกลาง หรือส่วนภูมิภาค  ตั้งแต่หนังสือเข้า  เช่น โรงเรียนในสังกัด ฯ จะส่งเรื่องราวมาที่กองการศึกษาต้อง  ทำเป็นหนังสือราชการภายนอกถึง นายก ฯ อบจ.  กว่าหนังสือจะเดินถึงกองการศึกษา และกว่าจะออกจากกองการศึกษากลับไปที่โรงเรียน  ต้องเป็นหนังสือราชการภายนอกให้นายก ฯ ลงนาม  ผู้เขียนลองเดินย้อนรอยหนังสือดู พบว่าเส้นทางเป็น ดังนี้

        ๑.   หนังสือราชการภายนอกจากโรงเรียน/จากภายนอก

๒.   สำนักปลัดฯ ประทับวันที่ลงรับ

๓.   ปลัดเทศบาลลงนามจ่ายไปกองต่าง ๆ

๔.  ธุรการ กองการศึกษา ลงรับ

๕.  เสนอ ผอ.กองฯ

๖.   ผอ.กองฯ จ่ายไปยังหัวหน้างาน/เจ้าของงาน

๗.  เจ้าของงาน บันทึกเสนอ (ขั้นตอนนี้ เจ้าของงานต้องทำบันทึกเสนอนายกฯ อีกโดยมีเงื่อนไข ว่าห้ามเขียนเสนอลงในหนังสือต้นเรื่องที่ได้รับมา)

๘.  เสนอหัวหน้าฝ่าย

๙.  เสนอ ผอ.กองการศึกษา

๑๐.เสนอ รองปลัดฯ

๑๑.เสนอปลัดฯ

๑๒.เสนอรองนายก ฯ    คน

๑๓.เสนอนายก ฯ

๑๔.กลับมาที่กองการศึกษา เพื่อปฏิบัติ

 

ถ้าต้องส่งกลับเพื่อแจ้งให้โรงเรียนทราบหรือปฏิบัติ

๑๕. กองการศึกษาทำหนังสือภายนอก ถึงโรงเรียนไปพร้อมกันเรื่องที่เสนอ (เหมือนมัดมือชก) โดย ใช้ข้อความว่า.."หากเห็นชอบโปรดลงนามในหนังสือที่แนบมาพร้อมนี้" ...ถ้าไม่เห็นชอบก็เดินย้อนกลับมาที่กองการศึกษาใหม่...

๑๖. เสนอรองปลัดฯ

๑๗. เสนอ ปลัดฯ

๑๘. เสนอรองนายก

๑๙. เสนอนายกฯ ลงนาม

๒๐. ส่งกลับสู่โรงเรียน

หากท่านผู้อ่านได้ดูละครซีรี่ส์ญี่ปุ่นเรื่อง change ทางทีวีไทยที่เพิ่มจบไป  อาจจะอยากเปลี่ยนอะไร ๆ ที่มันเชื่องช้าอืดอาดยืดยาดให้รวดเร็วฉับไวก็ได้ 

ถ้าข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีจะเปลี่ยนประเทศไทยอย่างไร 

ประเด็นนั้นมันใหญ่เกินไป ขอแค่  ถ้าข้าพเจ้าเป็นนายก อบจ.  จะขอฝ่าด่านเขาวงกต  ตามแบบฉบับที่ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานโดยมีขั้นตอน ดังนี้ 

 

๑.   โรงเรียนทำบันข้อความ(หนังสือราชการภายใน) ถึง  ผอ.กองการศึกษา เพราะถือว่าโรงเรียนเป็นฝ่ายหนึ่งของกองการศึกษา

๒.   ประทับตราลงรับที่ธุรการกองการศึกษา

๓.   ผอ.กองฯ จ่ายงานให้ หัวหน้างาน

๔.  เสนอหัวหน้าฝ่าย

๕.  เสนอ ผอ.กอง ฯ

๖.   เสนอรองปลัดฯ หรือ ปลัดฯ (หากมีการมอบอำนาจ)

๗.  เสนอรองนายกฯ หรือนายกฯ (หากมีการมอบอำนาจ)

๘.  กลับมายังกองการศึกษา เพื่อปฏิบัติ

 

ถ้าต้องส่งกลับเพื่อแจ้งให้โรงเรียนทราบหรือปฏิบัติ

๙.  บันทึกข้อความจาก ผอ.กองฯ แนบหนังสือที่นายกฯ สั่งการ/อนุมัติ

๑๐.ส่งกลับโรงเรียน 

สาระสำคัญ  

๑.     โรงเรียนเทียบเท่าฝ่ายหนึ่งของกองการศึกษา  ดังนั้น  หนังสือที่ส่งไปยังโรงเรียน  จึงเป็นเพียงหนังสือราชการภายใน (บันทึกข้อความ)  ตามระเบียบสารบัญ

๒.     โรงเรียนส่งถึง อบจ. ทำแค่บันทึกข้อความส่งถึง กองการศึกษา  แล้วกองฯ ก็จะเสนอ นายก ฯ ตามขั้นตอนให้รับทราบและลงนาม

๓.     นายกฯ ปลัดฯ ลงนามเฉพาะหนังสือสั่งการเท่านั้น  แต่ไม่ต้องลงนาม หนังสือนำส่ง ทั้ง ๖  ฉบับ (สำเนา ๑  และ ตัวจริง ๕  สำหรับส่ง โรงเรียน) กรณีเดียวกันที่ส่งไปยังกองอื่นๆ ใช้แค่บันทึกจาก ผอ.กอง ถึง ผอ.กอง  แต่ที่สำคัญต้องแนบหนังสือที่นายกฯ สั่งการไปด้วย

๔.    ลดขั้นตอนการทำงานได้ถึงครึ่งหนึ่งของการทำงานในปัจจุบัน

แต่ต้องขอโทษนะเจ้าค่ะที่ตอนนี้ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นนายก  จึงทำได้แค่คิด...

ขอยกคำพูดของ ดร.สุวรรณ  พิณตานนท์  จากกรมส่งเสริมการปกครอง

ท้องถิ่น ที่ผู้เขียนเคยเข้าฟังท่านบรรยายไว้หลายที่ว่า ..."อปท. เกิดขึ้นมา

เพราะเกิดวิกฤตการณ์ของการปกครองส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคที่ไม่

สามารถแก้ปัญหาและสนองตอบความต้องการของประชาชนในเวลาอันรวดเร็ว

ได้  จึงจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้น ดังนั้น ปรัชญาของ อปท. คือ

แก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น"

 ผู้เขียนเพียงคิดว่าหากเรามามัวให้เวลาทั้งหมดมาจมอยู่กับกองเอกสารที่ใครก็ไม่รู้คิดไว้ ว่ามันต้องเดินไปแบบนี้  โดยไม่คิดวิเคราะห์ว่ามันแก้ปัญหาและสนองตอบความต้องการของโรงเรียน (ประชาชน) ได้หรือไม่  

  แต่ตอนนี้เรากำลังนำระบบการบริหารราชการแบบส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมาใช้   แทนที่จะเป็นการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  เพื่อสนองตอบปรัชญาข้างต้น 

การปฏิบัติงานในองค์กรใดก็ตาม  ขึ้นอยู่กับคนในองค์กรนั้นจะสร้างเงื่อนไขไว้แค่ไหน  ถ้าสร้างให้ช้าหลายขั้นตอนมันก็ช้า  ถ้าสร้างให้เร็วลดขั้นตอนมันก็เร็ว

 

                              

 

คำสำคัญ (Tags): #education
หมายเลขบันทึก: 264400เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2009 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยค่ะคุณจินตนา .....เป็นข้อคิดสำหรับผู้บริหารค่ะ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท