นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นกับงานด้านเบาหวาน


สนใจเอาใจใส่ รับฟังปัญหาของผู้ป่วย เอื้ออำนาจให้ผู้ป่วยตัดสินใจเรื่องการดูแลตนเอง

วันที่ ๑๘ สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศให้รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๘ แก่ศาสตราจารย์นายแพทย์ รัชตะ รัชตะนาวิน และศาสตราจารย์นายแพทย์ บุญส่ง องค์พิพัฒน์กุล จากผลงานวิจัยเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนในคนไทย เย็นวันนี้จะมีงานแสดงความยินดีแก่นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ณ ห้องอโนมา แกรนด์ บอลรูม โรงแรมอโนมา ถนนราชดำริ ปทุมวัน กรุงเทพฯ

   
 ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน  ศ.นพ.บุญส่ง องค์พิพัฒน์กุล

ดิฉันเคยทำงานดูแลผู้ป่วยเบาหวานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นทั้ง ๒ ท่านนี้ ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับงานด้านเบาหวานของทั้ง ๒ ท่านมาเล่าให้สมาชิกทราบจากความทรงจำและมุมมองของดิฉันเอง

การพัฒนาการให้บริการในคลินิกเบาหวาน หน่วยผู้ป่วยนอกอายุรกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เริ่มก่อตัวตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ โดยบุคลากรหลักๆ คือศาสตราจารย์นายแพทย์กอบชัย พัววิไล หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อ ดิฉัน (พยาบาล) ร่วมกับนักโภชนาการ นักสังคมสงเคราะห์ และฝ่ายห้องปฏิบัติการ อาจารย์รัชตะเป็นผู้ที่มีบทบาทในการประสานให้ทุกฝ่ายได้มาร่วมปรึกษาหารือและได้ร่วมงานกันต่อมา

เราเห็นตรงกันถึงความสำคัญของการให้ความรู้กับผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ ก่อนหน้านี้อาจารย์รัชตะ ดิฉันและทีมงานได้ทำวิจัยเพื่อศึกษาข้อมูลทางคลินิกและผลการรักษาของผู้ป่วยเบาหวานทั้งชนิดที่ ๑ และชนิดที่ ๒ ของเรา เพื่อให้รู้ปัญหาที่ชัดเจนขึ้น

ปี ๒๕๓๒ เราเริ่มโครงการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในวันที่มีคลินิกเบาหวาน (วันพฤหัสบดี บ่าย) จัดผู้ป่วยเป็นกลุ่ม บุคลากรแต่ละฝ่ายต่างก็รับผิดชอบเป็นผู้ให้ความรู้แก่ผู้ป่วยด้วยตนเอง เรามีตารางการสอนทุกสัปดาห์ ช่วงเวลา ๑๒.๓๐-๑๓.๐๐ น. ก่อนเริ่มคลินิก อาจารย์รัชตะ ให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน อาจารย์บุญส่ง ให้ความรู้เรื่อง Self-monitoring of blood glucose  อาจารย์ทั้ง ๒ ท่านให้ความสำคัญกับการสอนผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ เราทำงานด้วยกันอย่างนี้ยาวนานหลายปี เมื่อมีอาจารย์แพทย์มาร่วมงานมากขึ้น เราก็เพิ่มหัวข้อการให้ความรู้ขึ้นอีก

ในเรื่องการดูแลผู้ป่วยเป็นรายบุคคล สิ่งที่ดิฉันพบเห็นตลอดคือความสนใจเอาใจใส่ รับฟังปัญหาของผู้ป่วย เอื้ออำนาจให้ผู้ป่วยตัดสินใจเรื่องการดูแลตนเอง โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๑ ที่มีปัญหาซับซ้อน ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ยากลำบาก อาจารย์เอื้ออำนาจให้ผู้ป่วยสามารถปรับขนาดของอินซูลินได้เองตามผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยสามารถสื่อสารกับทีมผู้ดูแลรักษาได้ทุกเรื่อง เวลามีปัญหาสามารถปรึกษาได้ตลอดเวลา ดิฉันประทับใจประสบการณ์ที่เราดูแลผู้ป่วยร่วมกันและสามารถช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๑ ที่คุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ให้ควบคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น ผู้ป่วย ๒ รายของอาจารย์บุญส่งที่ HbA1C สูงเกิน ๑๐% ต่อมาสามารถควบคุม HbA1C ให้อยู่ต่ำกว่า ๗% จนได้รับใบประกาศนียบัตรจากบริษัทที่ผลิตอินซูลิน ผู้ป่วยมีความมั่นใจในการดูแลตนเองและมีความสุขมากขึ้น  ผู้ป่วยชายหนุ่มรายหนึ่งที่ทำงานเป็นคนเฝ้าสวนอยู่ที่จันทบุรี เวลามาตรวจจะนำผลไม้ เงาะ ทุเรียน มังคุด กระท้อน มาฝากเราเป็นเข่ง

เมื่อพบผู้ป่วยรายใดที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดี ไม่แน่ใจว่าได้รับยาเหมาะสมหรือไม่ หรือมีความยากลำบากในชีวิต ดิฉันมักขอให้อาจารย์สองท่านนี้ช่วยดูแล ซึ่งไม่เคยได้รับการปฏิเสธเลย แม้ในปัจจุบันที่ทั้ง ๒ ท่านมีภาระงานเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งงานด้านการบริหาร ท่านก็ยังไม่ทอดทิ้งผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะรายที่มีปัญหาเกินกว่าที่แพทย์ทั่วไปจะดูแลได้

อาจารย์รัชตะ ยังเป็นผู้ริเริ่มค่ายเบาหวานของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ เป็นประธานค่าย ไปร่วมกิจกรรมค่ายมาตลอด ๑๑ ปีที่ผ่านมาและจะเป็นปีที่ ๑๒ ในปีนี้แล้ว อาจารย์ทั้ง ๒ ท่านยังเจียดเวลามาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ในการประชุมทีมต่อมไร้ท่อ Journal Club และ Interesting Case ที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ในวันศุกร์ช่วงเย็นถึงค่ำอีกด้วย

อีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการทำงานเป็นทีมคืออาจารย์ทั้ง ๒ ท่าน เป็นผู้ที่มีความสุภาพ จริงใจ ให้เกียรติผู้ร่วมงาน วิธีการพูดจาของท่านให้กำลังใจคนทำงานเสมอ

ปัจจุบันอาจารย์บุญส่งและทีมนักวิจัยจากหลายสาขาวิชาชีพ กำลังทำงานวิจัยในโครงการ "การศึกษาปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม ลักษณะทางเมตาบอลิก และเศรษศาสตร์สาธารณสุขของโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ ในคนไทย" ด้วยทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อให้เข้าใจโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ ในคนไทยมากขึ้น ความรู้ดังกล่าวจะช่วยในการดูแลผู้ป่วยและลดภาระของโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ ในคนไทย

ดิฉันเชื่อว่าสมาชิกทุกท่าน คงอยากจะปรบมือให้กับนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๘ ทั้ง ๒ ท่าน พร้อมกับดิฉันนะคะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๘

หมายเลขบันทึก: 2639เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2005 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท