nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

เหตุและผลสืบเนื่องจากการอ่านบทความไม่รู้เรื่อง...๑


ถ้าเราจะสอน จะให้ความรู้ หรือให้ใครทำอะไร ต้องให้ระดับความยากพอเหมาะ หรือมีตัวช่วย มิฉะนั้น เขาจะถอยหนี

๒-๓ วันก่อนอ่านบทความเรื่อง เอาจริงกับการเปลี่ยนแปลงองค์กร (ยกเว้นตัวเอง) ในคอลัมม์จิตวิวัฒน์  หนังสือพิมพ์มติชน ชื่อเรื่องดึงดูดใจมาก แต่ฉันอ่านไม่รู้เรื่อง !!!...

คอลัมม์นี้มีบทความดีๆ เกี่ยวกับปรัชญา ศาสนา จิตวิทยา การศึกษา การบริหาร  จากนักคิดนักเขียนหลายคนหมุนเวียนกันมาเสริมปัญญาให้คนอ่าน เช่น คุณหมอวิธาน ฐานะวุฒิ (อยู่เชียงราย-ฉันเป็นแฟนประจำ) อาจารย์จุมพล พูลภัทรชีวิน (ครุศาสตร์ จุฬา -อาจารย์เก่าฉันเอง) อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ (เดินสู่อิสรภาพ) คุณหมอประสาน ต่างใจ  พระไพศาล วิสาโล และอีกหลายท่าน 

บทความในคอลัมม์นี้อ่านยากสำหรับฉัน  ต้องค่อยๆ อ่าน  อ่านแล้วก็ได้อะไรดีๆ เป็นอาหารสมอง

ฉันอ่านบทความที่น่าสนใจเรื่องที่ว่านี้ไป ๒ รอบ ไม่รู้เรื่อง เก็บมาอ่านใหม่วันนี้อีก ๒ รอบก็ยังไม่รู้เรื่อง  คือเก็บสาระสำคัญไม่ได้

เหตุแห่งการอ่านไม่รู้เรื่องเป็นเพราะ  ฉันไม่เข้าใจ ศัพท์เทคนิค ในบทความนี่เอง  ขอยกเป็นตัวอย่าง ๑ ย่อหน้า
         

ทำอย่างไรที่กระบวนการจะช่วยถอดถอน "วิธีการเรียนรู้แบบปิด" (Deschooling Process) และสร้างสรรค์บรรยากาศและความสัมพันธ์ที่เอื้อต่อ "วิธีการเรียนรู้แบบเปิด" (Recreate Learning Process) ซึ่งเริ่มจากการให้คุณค่าและส่งเสริมความรู้สึกภาคภูมิใจของผู้เรียนเป็นหลัก (Empowerment) ในฐานะของการเป็นองค์กรจัดการตัวเอง เลือกและรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองเป็น

 

          การอ่านบทความมีข้อจำกัดกว่าการอ่านหนังสือเล่ม  เพราะผู้เขียนจะเขียนตัดตอนให้จบในไม่กี่หน้า  เราไม่รู้จะไปควานหาคำอธิบายจากที่ไหน

          พยายามสรุปเหตุแห่งการ อ่านไม่รู้เรื่อง ของตัวเองที่ผ่านมา พบว่าเกิดจากเหตุต่อไปนี้

-         เรื่องนั้นไม่คุ้นเคย  ไม่เคยอ่านมาก่อน  พออ่านบ่อยๆ ก็จะคุ้นไปเอง  เช่น หนังสือธรรมะ  หนังสือประวัติศาสตร์ บทความเกี่ยวกับกฎหมาย เขาจะมีสำนวนโวหารเฉพาะ  อ่านใหม่ๆ ไม่รู้เรื่อง  อ่านไปอ่านมา...สนุกแฮะ

-         มีศัพท์แสงเฉพาะวิชาชีพปนมาเยอะ  ผู้เขียนไม่ได้อธิบาย ขยายความ  พออ่านมาถึงศัพท์เทคนิคตัวนี้ก็ไปต่อลำบาก  ถ้าศัพท์นั้นมีความสำคัญ  ความสนใจเข้มข้นก็ต้องไปหาความรู้ต่อ  หรือถามผู้รู้

-         เป็นตำรา เอกสารวิชาการเฉพาะ  เช่น  ตำราแพทย์ ตำรากฎหมาย งานวิจัย วิทยานิพนธ์  ถ้าอยากรู้เรื่องก็ต้องพยายามอ่านช้าๆ  ทำความเข้าใจ  และอ่านเยอะๆ

-         แปลจากภาษาต่างประเทศ  เป็นคำใหม่ๆ ไม่มีมาก่อนในภาษาไทย  ผู้แปลบางท่านกรุณาขยายความเพิ่มเติมก็ง่าย  แต่ถ้าไม่มี เราก็ต้องพยายามเก็บความเอาจากข้อความใกล้เคียง  สนุกและท้าทายไปอีกแบบ 

-         เหตุจากผู้เขียน  ใช้สำนวนสวิงสวาย  พิลึก พิสดาร เป็นสำนวนเฉพาะตัวที่เราไม่คุ้น  อ่านไปสักระยะก็คุ้น อ่านได้เร็ว กลืนไปกับสำนวน

-         เหตุจากตัวเอง  คือ ปัญญาไม่ถึงแล้วยังมาเผยออ่าน...ฮ่า...ฮ่า...

 

นักจิตวิทยาบอกว่า ความเครียดพอประมาณเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ  แต่ถ้า

มากเกินไปจะเกิดอาการถอยหนี 

ฉันสรุปว่า  บทความนี้ยากเกินไป  ขอถอยไปตั้งหลักก่อน

การ อ่านไม่รู้เรื่อง ของฉันหนนี้เป็นประโยชน์  ทำให้ฉันคิดได้ว่า ถ้าเราจะสอน  จะ

ให้ความรู้  หรือให้ใครทำอะไร ต้องให้ระดับความยากพอเหมาะ  หรือมีตัวช่วย   มิฉะนั้น  เขาจะถอยหนี 

 

สมัยยังเรียนหนังสือ  เจอเหตุการณ์แบบนี้  ก็จะวิ่งไปหาอาจารย์คนเขียนตำรา

ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายขยายความให้จนเข้าใจ  ความเป็นนักเรียน นักศึกษา  เวลาวิ่งไปหาครูบาอาจารย์มักได้รับความเมตตา

          ตอนนี้วิ่งไปหาคำอธิบายที่ไหนก็ไม่ได้  ได้แต่บันทึกลง Blog นี่ละ  เผื่อจะมีตัวช่วย

 

พฤหัสที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒

คำสำคัญ (Tags): #การอ่าน
หมายเลขบันทึก: 262847เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2009 18:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2014 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

  • ครูคิมเป็นคนหนึ่งค่ะ..ที่อ่านไม่รู้เรื่องทั้ง ๆที่อยากจะรู้  จึงสรุปเอาเองว่า "ครูคิมภูมิความรู้ไม่ถึง หรือต้นทุนทางสติปัญญามีน้อย" กระมัง
  • อ่านหนังสือคำสอนของพระพุทธทาส..ที่พ่อแม่บังคับให้อ่านแต่เล็ก..ท่านบอกว่าอ่านรู้เรื่องไม่รู้เรื่องก็อ่านไปเถอะ สักวันก็จะรู้เอง แต่ต้องอ่านไปเรื่อย ๆ"
  • มาเข้าใจเมื่ออายุเข้าเลขสีกว่า ๆว่า..ที่อ่านมาไม่รู้กี่สิบปีหลายสิบเล่มนั่นคือ..ความเป็นอนัตตา
  • ปัจจุบันนี้ก็มีหลายเรื่องที่..ยังอ่านไม่รู้เรื่องค่ะ  ตัวอย่างที่คุณนุ้ยยกมาก็ไม่รู้เรื่องเช่นกันค่ะ
  • แต่..เป็นคนพยายามอ่านค่ะ  รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็อ่านหลาย ๆ ครั้ง
  • ขอขอบพระคุณค่ะ
  • ตอนนี้รู้ความลับครูคิมแล้วว่า  "อายุเลขสี่กว่า..."  ฮ่า...ฮ่า...
  • หนังสือธรรมะนี่เป็นอะไรที่อยากให้ทุกคนอ่านมากๆ   แต่ก็อย่างครูคิมว่าคือ  อ่านเข้าใจยาก 
  • การ "ไม่รู้แล้วบอกว่าไม่รู้" ดีกว่า "ไม่รู้แล้วบอกว่ารู้" หรือ "รู้แล้วบอกว่าไม่รู้" นะคะ   (เราไม่อายซะอย่าง)
  • เรามา เป็นคนพยายามอ่านค่ะ  กันต่อไปนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท