ชาดกทันยุค(อดีตชาติพระพุทธเจ้า)ดับทุกข์ที่เหตุ (อัฏฐสัททชาดก)


ดับทุกข์ที่เหตุ
หาเหตุแห่งทุกข์
อย่าโดนต้มสุก
ดับทุกข์ผิดทาง

เที่ยงคืนหนึ่งในนครสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสดับเสียงอันทุกข์ยากแร้นแค้น ๘ เสียงปรากฏ แก่พระองค์ จึงทรงสะดุ้งหวาดกลัว ต่อมรณภัย

รุ่งเช้า ทรงนำเรื่องของเสียงนั้นมาไถ่ถาม พวกพราหมณ์เสนอให้ฆ่าสัตว์อย่างละ ๔ ตัว เพื่อบูชายัญต่อเทพเจ้า เป็นการสะเดาะเคราะห์ ซึ่งสัตว์จะต้องตายเป็นจำนวนมาก

เมื่อพระนางมัลลิกาเทวี ทรงทราบเรื่องนี้เข้า ทรงขอให้พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จไปทูลถามเหตุนั้น กับพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระองค์ก็เสด็จไปเข้าเฝ้าที่พระวิหารเชตวัน ตรัสเล่าเรื่องเสียงอันทุกข์ยากแร้นแค้นเหล่านั้น และวิธีป้องกัน ที่พวกพราหมณ์เสนอให้ทำพิธีบูชายัญ พระศาสดาจึงทรงเฉลยความจริง ให้เกิดปัญญารู้แจ้งว่า

มหาบพิตร พระองค์อย่าทรงกลัวเลย จะไม่มีอันตรายใดๆ เกิดขึ้นแก่พระองค์ เพราะเหตุที่ทรงสดับเสียงเหล่านั้น แม้แต่พระราชาองค์ก่อนๆ ในอดีต ก็ทรงได้สดับเสียงเช่นนี้มาแล้วŽ

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงได้ยินอย่างนั้น จึงทูลอาราธนา (นิมนต์) พระศาสดาก็ทรงแสดงเรื่องเก่าก่อนนั้น
...........
ในอดีตกาล มีทารกคนหนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่มีสมบัติมหาศาล พอเติบโตเจริญวัยแล้ว ได้ไปศึกษา ศิลปวิทยา ที่เมืองตักกสิลา แต่เมื่อบิดามารดาเสียชีวิต เขาสละทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้เป็นทาน แล้วละออก จากกาม เข้าสู่ป่าหิมพานต์ (ป่าหนาวแถบเหนือของอินเดีย) บวชเป็น ดาบส (นักบวชผู้บำเพ็ญ ตบะเผากิเลส) กระทำฌาน (สภาวะจิตแน่วแน่สงบจากกิเลส) และอภิญญา (ความรู้ยิ่ง) ให้บังเกิดขึ้น

ต่อมา...พระดาบสได้ออกจาริก (เดินทาง) ไปยังเมืองพาราณสี พำนักอยู่ที่พระราชอุทยาน

ในครั้งนั้นเอง เวลาเที่ยงคืน พระเจ้าพาราณสี ทรงสดับเสียงแสดงความแร้นแค้น ๘ อย่างเกิดขึ้น คือ

๑. เสียงร้องของนกยางตัวหนึ่ง ในพระราชอุทยานซึ่งอยู่ใกล้พระราชวัง
๒. เสียงร้องของแม่กา ซึ่งอาศัยอยู่ที่เสาระเนียด (เสาค่าย) โรงช้าง
๓. เสียงร้องของแมลงภู่ ซึ่งอาศัยอยู่ที่ช่อฟ้าเรือนหลวง
๔. เสียงร้องของนกดุเหว่า ที่เลี้ยงไว้ในเรือนหลวง
๕. เสียงร้องของเนื้อ ที่เลี้ยงไว้ในเรือนหลวง
๖. เสียงร้องของลิง ที่เลี้ยงไว้ในเรือนหลวง
๗. เสียงร้องของกินนร ที่เลี้ยงไว้ในเรือนหลวง
๘. เสียงเปล่งอุทานของพระปัจเจกพุทธเจ้า จากเบื้องบนท้องฟ้า

ทรงสดับเสียงเหล่านี้แล้วก็ตกพระทัย สะดุ้งกลัว พอรุ่งเช้าจึงตรัสถามพวกพราหมณ์ พราหมณ์ทั้งหลาย พากันกราบทูลว่า

ข้าแต่มหาราชเจ้า จะมีอันตรายเกิดแก่พระองค์ เห็นทีจะต้องบูชายัญด้วยสัตว์อย่างละ๔ ตัวให้แก่พระองค์ พระเจ้าข้าŽ

ดีละ พวกท่านจงทำตามชอบใจเถิด

ทรงอนุญาตอย่างนั้น พวกพราหมณ์ต่างก็ดีใจเริงร่า ออกจากราชสำนักไปเริ่มเตรียมเครื่องบูชายัญทันที

ครั้งนั้น มีมาณพคนหนึ่งเป็นศิษย์ของหัวหน้าพราหมณ์ เขาเป็นคนมีปัญญาเฉลียวฉลาดในสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกตรง) ได้เอ่ยปากกับอาจารย์ของตน

ข้าแต่อาจารย์ พิธีบูชายัญอย่างนี้เป็นการกระทำหยาบช้าทารุณ ไม่เป็นที่น่ายินดี ก่อความพินาศแก่สัตว์มากมาย ขอท่านอย่าได้ทำเลย

อาจารย์ฟังแล้ว จึงสอนศิษย์ของตน

เจ้าช่างไม่รู้อะไรเสียเลย ถ้าไม่มีการจัดพิธีกรรมอย่างนี้ขึ้น พวกเราจะได้กินปลาและเนื้อมากมายหรือ

ท่านอาจารย์ ขอท่านอย่าได้ทำกรรมที่จะไปเกิดในนรก เพราะเหตุแห่งปากท้องเลย

พราหมณ์ทั้งหลายได้ยินอย่างนั้นก็โกรธ รุมด่ามาณพว่า

เจ้าช่างเป็นอันตรายต่อลาภของพวกเราแท้ๆ

เหตุการณ์เป็นอย่างนี้ มาณพก็เกรงกลัวเหล่าพราหมณ์ จึงกล่าวว่า

ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงทำตามใจ ใช้อุบายกินปลาและเนื้อเถิด

แล้วก็หลบออกมา แต่ก็เฝ้าครุ่นคิดอยู่ว่า

"จะมีผู้ทรงธรรมใดหนอ ที่สามารถจะห้ามพระราชาไม่ให้ทำเรื่องนี้ได้"

คิดไปเดินไปจนออกพ้นพระนคร พลันนึกถึงพระดาบสนั้น จึงรีบไปที่พระราชอุทยาน ตรงเข้าไปไหว้ ไม่รอช้าเลย ที่จะเล่าเรื่องราวแล้วเอ่ยปากขอร้องว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านไม่มีจิตอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งหลายบ้างเชียวหรือ บัดนี้พระราชาได้รับสั่งให้ฆ่าสัตว์ เป็นอันมากบูชายัญ ท่านช่วยทำให้มหาชนพ้นจากเครื่องพันธนาการแห่งบาป จะไม่สมควรหรือ"

"ย่อมสมควรแน่มาณพ แต่เราพำนักอยู่ที่นี่ ทั้งพระราชาก็ไม่รู้จักเรา และเราก็ยังไม่รู้จักพระราชาอีกด้วย"

"แล้วท่านรู้ถึงเหตุและผลแห่งเสียงแร้นแค้น ที่พระราชาทรงสดับหรือไม่เล่า"

เรารู้ดี

ก็เมื่อท่านรู้ เหตุไรจึงไม่กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ

ถ้าพระราชาเสด็จมาที่นี้ แล้วตรัสถาม เราก็จะกราบทูลให้ทรงทราบ

ได้ยินคำนี้ มาณพก็ผลุนลาทันที รีบไปในราชสำนักอย่างรวดเร็ว เข้าเฝ้าแล้วกราบทูล

"ข้าแต่พระมหาราชเจ้า มีดาบสรูปหนึ่งรู้ถึงเหตุและผลของเสียงร้องที่พระองค์ทรงสดับ กำลังนั่งรอ อยู่ที่ในพระราชอุทยาน ถ้าพระองค์เสด็จไปถาม ดาบสนั้นจะกราบทูลความจริงให้ทรงทราบ พระเจ้าข้า"

พระเจ้าพาราณสีทรงสดับอย่างนี้ ก็เสด็จไปในทันที พอไปถึงก็กราบไหว้พระดาบส ประทับนั่งแล้วตรัสถาม

"ได้ยินมาว่า พระคุณเจ้ารู้ถึงสาเหตุที่มาของเสียงแห่งความแร้นแค้น จริงหรือไม่"

"จริง มหาบพิตร"

"ถ้าเช่นนั้น ขอพระคุณเจ้าได้กรุณาชี้แจงเสียงอันน่าสะดุ้งกลัวเหล่านั้น แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด"

"มหาบพิตร เสียงทั้ง ๘ ไม่มีอันตรายใดๆ แก่พระองค์เลย เสียงร้องที่ ๑ มีสาเหตุที่แท้จริงก็คือ...ณ สระมงคล โบกขรณี (สระบัว) แต่ก่อนเป็นที่ลุ่มลึก มีน้ำมาก มีปลามาก เป็นที่อยู่อาศัยของพญานกยางตัวหนึ่ง แต่บัดนี้ น้ำแห้งขอดไร้ปลา พญานกยางต้องเลี้ยงชีพด้วยกบ ถูกความหิว บีบคั้นมาก แต่ก็ยังไม่ละทิ้งสระนี้ไป

ด้วยเหตุนี้ พญานกยางจึงส่งเสียงร้องขึ้น ถ้าแม้พระองค์ประสงค์จะเปลื้องทุกข์แก่พญานกยาง ให้พ้นจาก ความหิวโหย ก็โปรดรับสั่งชำระสระให้สะอาด ไขน้ำเข้าให้เต็มสระโบกขรณีเถิด"

พระราชาทรงสดับแล้วก็รับสั่งให้อำมาตย์คนหนึ่งไปปฏิบัติตามนั้น

เสียงร้องที่ ๒ มีสาเหตุมาจาก...แม่กาตัวหนึ่ง ทำรังอยู่ที่เสาระเนียดประตูโรงช้าง ได้ออกไข่ แล้วฟักไข่ จนลูกออกจากฟองไข่ มีนายควาญช้างชื่อ พันธุระ ซึ่งตาบอดข้างหนึ่ง เวลาขี่ช้างเข้าออกที่ประตูโรงช้าง มักเอาขอตีแม่กาบ้าง ลูกกาบ้าง รื้อรังเสียบ้าง แม่กาโดนข่มเหงได้รับความลำบากมาก จึงร้องขอ ความช่วยเหลือว่า

ใครจะช่วยทำลายดวงตาข้างที่สอง ของนายพันธุระผู้มีอาวุธในมือให้บอดได้ ใครจะช่วยลูกรักของเราและตัวเรา ให้มีความสวัสดีได้

ด้วยเหตุนี้ ถ้าพระองค์จะทรงมีพระทัยเมตตาแก่แม่กา โปรดเรียกนายพันธุระนั้นมา จงห้ามเขา อย่าให้กลั่นแกล้ง เบียดเบียนกาอีกเลย"

พระราชาจึงรับสั่งให้หาตัวนายพันธุระมา ทรงตำหนิว่ากล่าว แล้วไล่ออกไป ตั้งคนอื่นเป็นนายควาญช้างแทน

เสียงร้องที่ ๓ สาเหตุจาก...มีหมู่แมลงภู่ฝูงใหญ่ เข้าไปในช่อฟ้ามหาปราสาท แล้วกัดกระพี้ไม้กินจนหมด เหลือแต่แก่นไม้ ไม่อาจกัดได้ เมื่อไม่มีอาหาร และแออัดกันอยู่ อีกทั้งหาทางออกจากช่อฟ้าไม่ได้ จึงคร่ำครวญ ร้องระงม ขอพระองค์รับสั่งให้คน นำแมลงภู่เหล่านั้น ออกจากช่อฟ้าด้วยเถิดŽ

พระราชาก็ทรงให้ราชบุรุษหาอุบาย เอาพวกแมลงภู่ออกไปจากช่อฟ้า

เสียงร้องที่ ๔ สาเหตุจาก...ในพระราชวังของพระองค์ มีเลี้ยงนกดุเหว่าตัวหนึ่งไว้ นกนั้นระลึกถึงป่าไม้ ที่ตนเคยอยู่ มีจิตดิ้นรนว่า

เมื่อไหร่หนอจึงจะพ้นไปจากกรงนี้ พ้นจากราชนิเวศน์นี้ ได้บันเทิงใจชมต้นไม้ กิ่งไม้ ที่มีดอกสะพรั่งตามป่า ได้ทำรัง อาศัยอยู่อย่างอิสระ ตามประสานก

นกดุเหว่านั้นจึงร่ำร้องส่งเสียงขึ้น ฉะนั้นขอพระองค์โปรดปล่อยนกนี้ไปเถิด

พระราชาก็ตรัสสั่งให้ราชบุรุษไปปล่อยนกดุเหว่า

เสียงนกร้องที่ ๕ สาเหตุจาก...มีการจับเอาพญาเนื้อตัวหนึ่งมาเลี้ยงไว้ในพระราชวัง พญาเนื้อนั้นเคยเป็นจ่าฝูง จึงเฝ้าครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา ส่งเสียงร้องว่า

ทำไฉนหนอเราจึงจะหนีไปจากที่นี้ได้ เพื่อกลับไปดูแลฝูง นำพาบริวารไปดื่มน้ำที่ใสเย็น ได้เช่นเก่าก่อน

ด้วยเหตุนี้ จึงขอให้พระองค์ทรงปล่อยเนื้อนั้นไปเถิด

พระเจ้าพาราณสีก็ทรงรับคำ

เสียงร้องที่ ๖ สาเหตุจาก...มีลิงที่เลี้ยงไว้ตัวหนึ่งในพระราชวัง มันเกิดความกำหนัดในกาม กระสันถึงเหล่า นางลิงในป่าหิมพานต์ จึงได้ส่งเสียงร้องขึ้นว่า

นายพรานชาวพาหิกรัฐจับเรา ผู้มัวเมาอยู่ด้วยกาม ผู้กำหนัดหมกมุ่นในกาม เอามากักขังไว้ ขอความเจริญ จงมีแก่ท่าน ทั้งหลาย ได้โปรดปล่อยข้าพเจ้าไปเถิด

พระดาบสจึงได้ขอให้พระราชาทรงปล่อยลิงนั้น พระราชาก็ทรงยินยอมตามที่ขอ

เสียงร้องที่ ๗ สาเหตุจาก...ในพระราชวังมีกินนร (บุรุษครึ่งคนครึ่งนก ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นนก) ตนหนึ่งถูกจับมา แต่ก่อนกินนรนี้ เคยไปเที่ยวตามยอดเขา กับนางกินรี (สตรีครึ่งคนครึ่งนก) พากันเลือก เก็บดอกไม้ สีสวยงามกลิ่นหอม นานาชนิด เอามาประดับกาย อย่างมีความสุขเพลิดเพลิน ยามอาทิตย์อัสดง ทั้งคู่ขณะลงจากยอดเขา นางกินรีก็จะกล่าวถ้อยคำ อันไพเราะอ่อนหวาน ด้วยความรัก ความอบอุ่น ท่ามกลาง ความมืดมิดนั้น อย่างห่วงใย แล้วจับมือกันก้าวย่างไป

ด้วยเหตุนี้ กินนรจึงคิดถึงนางกินรีอย่างเร่าร้อนใจ จึงส่งเสียงร้องขึ้น พระองค์โปรดปล่อยกินนรนั้นไปเถิด

พระราชาก็ทรงยินดีกระทำตามนั้น

เสียงร้องที่ ๘ มีเหตุมาจาก...ที่เงื้อมเขานันทมูลกะ มีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ได้ปลงอายุสังขาร (กำหนดวัน สิ้นสุดแห่งอายุ) ของตน แล้วจะไปปรินิพพาน (การตายของผู้หมดกิเลสแล้ว โดยไม่กลับมาเกิดอีก) ในพระราช-อุทยานของพระองค์ ได้ทรงเปล่งเสียงอุทานออกมาว่า

เราเห็นพระนิพพานอันเป็นที่สิ้นชาติ ไม่ต้องเวียนกลับมาเกิดในครรภ์อีก โดยไม่ต้องสงสัย ความเกิด ของเรานี้มีที่สุด เป็นชาติสุดท้ายแล้ว การเวียนตายเวียนเกิดเพื่อภพใหม่ต่อไปสิ้นสุดแล้ว

เมื่อถึงพระราชอุทยาน ก็ปรินิพพานอยู่ที่โคนต้นรัง อันมีดอกบานสะพรั่ง ขอเชิญพระองค์
เสด็จไป ทอดพระเนตรเถิด

กล่าวจบพระดาบสก็พาพระราชาไปยังที่พระปัจเจกพุทธเจ้า ปรินิพพาน พระราชาทอดพระเนตรแล้ว ทรงกระทำความเคารพ

ตอนนั้นเอง...พระดาบสจึงได้กล่าวกับพระราชาว่า

มหาบพิตร อันตรายใดๆ จะไม่มีแก่พระองค์เลย แม้ทรงสดับเสียงทั้ง ๘ นั้น และเสียงเหล่านั้น ก็มิได้แก้ที่ การบูชายัญ จึงขอให้พระองค์ทรงงดเว้นการบูชายัญ เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตเถิด

พระเจ้าพาราณสีก็ทรงกระทำตามคำของพระดาบส โดยให้งดเว้นพิธีบูชายัญ พระราชทานชีวิตแก่สัตว์ ทั้งหมด ให้ตีกลอง ประกาศห้ามฆ่าสัตว์ในพระนคร แล้วให้ทำพิธีศพของ พระปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยสักการะอย่างยิ่งใหญ่ บนจิตกาธาน (เชิงตะกอนที่ทำด้วยของหอมนานาชนิด) แล้วให้สร้างสถูปไว้ที่ทาง ๔ แพร่ง

หลังจากนั้น พระดาบสก็เดินทางกลับคืนสู่ป่าหิมพานต์ เจริญพรหมวิหาร (ธรรมของผู้มีจิตใจสูงเยี่ยม) ไม่เสื่อมจาก ฌาน (อาการจิตแน่วแน่สงบจากกิเลส) มีพรหมโลกเป็นทีไปในเบื้องหน้า

.................
พระศาสดาทรงแสดงเรื่องนี้จบแล้ว ตรัสเฉลยว่า

พระเจ้าพาราณสีในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ มาณพได้มาเป็นพระสารีบุตรในบัดนี้ ส่วนพระดาบส ได้เป็นเราตถาคตเอง


                             พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๑๒๙ อรรถกถาแปล เล่ม๕๖๙

                              

ชาดกทันยุค น.ส.พ.เราคิดอะไร ฉบับ ๒๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒

ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านในกาลทุกเมื่อเทอญ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 262771เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2009 06:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 12:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

P

  • ธรรมสวัสดีโยม ยายธี

  • อนุโมทนาสาธุบุญด้วย

  • ธรรมรักษา

 

กราบนมัสการ พระคุณเจ้าที่นับถือ

• แวะมาอ่านชาดกทันยุค ครับ

• ยุคปัจจุบันแม้จะเป็นยุควิทยาศาสตร์ก้าวล้ำ  แต่คนก็ยังเชื่ออะไรโดยขาดเหตุผลอีกมากมาย  โดยเฉพาะพระสงฆ์องคเจ้า...เศร้าครับ

• ขอบพระคุณที่แวะไปเยือนบล็อก ครับผม

...................................................................................................

P

 

  • ธรรมสวัสดีโยมอาจารย์สิงห์หนุ่ม
  • อนุโมทนาสาธุกับโยมที่แวะมาเยี่ยม
  • ขอเป็นกำลังใจให้กับการเมืองใหม่
  • เพื่อประเทศไทยเจริญรุ่งเรือง
  • ธรรมรักษา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท