อิทัปปัจจยตา


สรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกันและกัน

 เห็นว่าดีเลยขยายต่อครับ

สรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกันและกัน (อิทัปปัจจยตา)
                           ติช นัท ฮันห์


            การภาวนามิใช่การออกจากสังคม มิใช่การหลีกหนีสังคม แต่เป็นการเตรียมพร้อมที่จะกลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง เราเรียกการปฏิบัติเช่นนี้ว่า "พุทธศาสนาที่ครอบคลุมทุกมิติของชีวิต" เมื่อเราไปปฏิบัติธรรมเราอาจจะมีความรู้สึกว่าเราได้ละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง อันได้แก่ครอบครัว สังคม ตลอดจนสิ่งทั้งปวงที่เกี่ยวเนื่องกับครอบครัวและสังคมด้วย แล้วคิดว่าเรามาในฐานะปัจเจกบุคคล เพื่อปฏิบัติและแสวงหาความสงบ ความเข้าใจเช่นนี้ก็นับเป็นโมหะอย่างหนึ่งเสียแล้ว เพราะในพุทธศาสนาไม่มีสิ่งที่เป็นปัจเจกบุคคล
            ดังเช่นกระดาษแผ่นหนึ่ง คือ ผลพวงและองค์ประกอบจากปัจจัยหลายๆ สิ่ง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยซึ่งไม่ใช่กระดาษ ปัจเจกภาพก็สร้างขึ้นมาจากปัจจัยซึ่งไม่ใช่ปัจเจกภาพ หากเธอเป็นกวี เธอก็จะเห็นได้แจ่มชัดว่า มีเมฆก้อนหนึ่งกำลังลอยเลื่อนอยู่ในกระดาษแผ่นนี้ ปราศจากก้อนเมฆ ก็จะไม่มีน้ำ ปราศจากน้ำ ต้นไม้ก็ไม่สามารถงอกงามได้และปราศจากต้นไม้ เธอก็ไม่สามารถทำกระดาษได้ ดังนั้นก้อนเมฆจึงอยู่ในที่นี้ การปรากฏอยู่ของกระดาษแผ่นนี้ ขึ้นอยู่กับการปรากฏอยู่ของก้อนเมฆ กระดาษและก้อนเมฆสัมพันธ์แนบเนื่องกันเหลือเกิน 
            เราลองนึกถึงสิ่งอื่นๆ บ้างก็ได้ เช่น แสงอาทิตย์ แสงอาทิตย์เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะป่าไม้ไม่สามารถงอกงามได้โดยปราศจากแสงอาทิตย์ และมนุษย์เราก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้โดยปราศจากแสงอาทิตย์ ดังนั้น คนตัดไม้ซุงต้องการแสงอาทิตย์เพื่อจะได้ตัดต้นไม้ และต้นไม้ก็ต้องการแสงอาทิตย์เพื่อการเป็นต้นไม้ เพราะฉะนั้นเธอสามารถแลเห็นแสงอาทิตย์ในกระดาษแผ่นนี้ และหากเธอมองลึกลงไปยิ่งกว่านี้ด้วยแห่งสายตาแห่งโพธิสัตว์คนหนึ่ง ด้วยสายตาของคนผู้ตื่นรู้แล้ว เธอจะแลเห็นว่าไม่เพียงก้อนเมฆและแสงอาทิตย์เท่านั้น ที่ปรากฏอยู่ในกระดาษแผ่นนี้ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏอยู่ในที่นี้ด้วย เช่น ข้าวสาลี ซึ่งแปรสภาพเป็นขนมปังสำหรับเป็นอาหารของคนตัดไม้ซุง ยังพ่อของคนตัดไม้ซุงอีกเล่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอยู่ในกระดาษแผ่นนี้
           อวตัมสกสูตร* บอกแก่เราว่า เธอไม่สามารถชี้ระบุได้เลยว่าสิ่งใดไม่มีความสัมพันธ์กับกระดาษแผ่นนี้ ดังนั้นเราจึงกล่าวว่า "กระดาษแผ่นหนึ่งสร้างขึ้นด้วยปัจจัยซึ่งไม่ใช่กระดาษ" ก้อนเมฆเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่กระดาษ ป่าไม้เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่กระดาษ แสงอาทิตย์เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่กระดาษ กระดาษแผนนี้สร้างขึ้นด้วยมวลปัจจัยซึ่งไม่ใช่กระดาษ จนกระทั่งว่าหากย้อนกลับคืนสู่ปัจจัยซึ่งไม่ใช่กระดาษ ไปสู่แหล่งเดิมของสิ่งเหล่านั้นแล้ว กล่าวคือ คืนก้อนเมฆสู่ท้องฟ้า คืนแสงอาทิตย์สู่ดวงตะวัน คืนคนตัดไม้ไปสู่พ่อของเขา ดังนี้แล้วกระดาษย่อมเป็นสิ่งว่างเปล่า ว่างเปล่าจากอะไรหรือ? ว่างเปล่าจากตัวตนหนึ่งซึ่งแยกขาดจากสิ่งอื่นๆ ตัวตนย่อมประกอบขึ้นด้วยปัจจัยทั้งมวลซึ่งไม่ใช่ตัวตน ปัจจัยซึ่งไม่ใช่กระดาษ และถ้าหากปัจจัยทั้งมวลซึ่งไม่ใช่กระดาษนี้ถูกแยกออกไป กระดาษก็กลายเป็นสิ่งว่างเปล่าอย่างแท้จริง ว่างเปล่าจากการเป็นตัวตนอิสระ ว่างเปล่าในแง่นี้หมายถึงกระดาษแผ่นนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยทุกสิ่ง ประกอบขึ้นด้วยจักรวาลทั้งมวลการปรากฎของกระดาษแผ่นเล็กๆ นี้ เป็นการพิสูจน์ยืนยันแห่งการปรากฏของจักรวาลทั้งจักรวาล
           ในลักษณะเดียวกัน ปัจเจกภาพย่อมประกอบขึ้นด้วยปัจจัยซึ่งไม่ใช่ปัจเจกภาพ เมื่อเธอเข้ามาอยู่ในศูนย์ปฏิบัติธรรม ความทุกข์ซึ่งเธอพกพาไว้ในจิตใจของเธอ ก็คือตัวสังคมนั่นเอง เธอทำเพื่อสังคมทั้งหมดเธอแสวงหาคำตอบให้แก่ปัญหาของเธอ ไม่ใช่เพื่อตัวเธอ หากเพื่อพวกเราทุกคนด้วย
           เรามักมองข้ามใบไม้ว่าเป็นเพียงลูก ๆ ของต้นไม้ ใช่ ใบไม้เหล่านั้นเป็นลูกของต้นไม้ กำเนิดมาจากต้นไม้ แต่ใบไม้เหล่านั้นก็เป็นแม่ของต้นไม้ด้วยเช่นกัน ใบไม้จะสังเคราะห์วัตถุดิบ น้ำและแร่ธาตุเข้ากับแสงอาทิตย์และอากาศ แล้วแปรเปลี่ยนวัตถุดิบให้กลายเป็นแม่ของต้นไม้ เราทุกคนล้วนเป็นลูกของสังคม แต่เราก็เป็นแม่ของสังคมได้ด้วยเช่นกัน เราต้องบำรุงหล่อเลี้ยงสังคม หากเราถอนรากออกจากสังคม เราก็ไม่สามารถเปลี่ยนสังคมให้กลายเป็นสถานที่น่าอยู่มากขึ้นสำหรับเรา และสำหรับลูกหลานของเราได้ ใบไม้เชื่อมโยงกับต้นไม้โดยอาศัยลำต้นลำต้นนั้นสำคัญมาก
           ฉันทำสวนอยู่ในชุมชนของเราเป็นเวลาหลายปีแล้ว และฉันรู้ว่าบางครั้งเป็นการยากลำบากที่จะปักชำกิ่งที่ตัดมาแล้ว พันธุ์ไม้บางชนิดไม่อาจขึ้นได้ง่ายๆ ดังนั้นเราจึงใช้ฮอร์โมนพืชชนิดหนึ่ง เพื่อช่วยให้กิ่งชำเหล่านั้นงอกรากลงในดินได้ง่ายขึ้น ฉันสงสัยว่าจะมีผงอะไรสักชนิดหนึ่ง หรือมีอะไรบางสิ่งไหม ซึ่งอาจจะพบได้ในการปฏิบัติภาวนาอันสามารถช่วยเหลือผู้คนที่ขาดราก ให้หยั่งรากลงในสังคมอีกครั้ง การภาวนาไม่ใช่การหลีกหนีออกจากสังคม การภาวนาเป็นการสร้างเสริมบุคคลให้มีสมรรถนะที่จะกลับเข้าไปประสานกับสังคมได้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อช่วยให้ใบไม้สามารถหล่อเลี้ยงต้นไม้ได้

จากหนังสือ เธอคือศานติ เขียนโดย ติช นัท ฮันห์ (พระภิกษุเวียดนาม นิกายเซน ) แปลโดย สันติสุข โสภณศิริ สำนักพิมพ์โกมลคีมทอง ๔๑๑-๓๗๗๔



            * อวตัมสกสูตร เป็นสูตรหนึ่งในนิกายหายานซึ่งมีต้นกำเนิดในอินเดียต่อมากลายเป็นสูตรสำคัญที่สุดในนิกายหัวเยน ซึ่งแพร่หลายไปในดินแดนตะวันออกไกล(ในญี่ปุ่น เรียกว่านิกายเคงอน) หัวใจของพระสูตรนี้คือสิ่งที่เรียกว่า ธรรมธาตุ หรือกฎธรรมชาติและจักรวาล ซึ่งตามนัยยะสมัยใหม่หมายถึง สสารและพลังงานทั้งปวงย่อมอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ และสรรพสิ่งย่อมอิงอาศัยซึ่งกันและกัน

คำสำคัญ (Tags): #อิทัปปัจจยตา
หมายเลขบันทึก: 262725เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2009 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

* แวะมาเยี่ยมคนรักกล้วยไม้ค่ะ

                

* สุขกายสุขใจนะคะ

สวัสดีครับ คุณ พรรณา ผิวเผือก (ไม่มีชื่อกลาง)

สบายดีครับ ขอให้มีความสุขเช่นกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท