วิตกกังวล - พี่มุ่งมั่นช่วยน้อง


ประทับใจกรณีศึกษาของผมที่มีพี่ชายมาทำความเข้าใจว่าจะใช้กิจกรรมบำบัดเพื่อพัฒนาความสามารถของน้องชายที่มีภาวะซึมเศร้าได้อย่างไร

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับการให้คำปรึกษาทางกิจกรรมบำบัด ภายใน 45 นาที ทำให้ประสบการณ์นักกิจกรรมบำบัดทางสุขภาพจิตอย่างผมได้พัฒนาโปรแกรมหนึ่งขึ้น

ดร.ป๊อป: ผมอยากให้คุณ A (นามสมมติ) ลองทบทวนว่าวิธีการดำเนินชีวิตในปัจจุบันมีอุปสรรคอะไรบ้าง

คุณ A: ทำงานเหนื่อยมาก กว่าจะกลับบ้านเกือบสองทุ่ม อยู่คนเดียว คอยเหงา ใจลอย และกังวล คิดไม่ออกว่าจะทำอะไรดีในแต่ละวัน เคยคิดอยากทำอะไรแต่รู้สึกไม่ว่าง ไม่อยากทำ กลัวว่าจะทานยาโรคซึมเศร้าไปตลอดชีวิต กลัวว่าจะดูแลพ่อแม่ได้อย่างไรหากท่านสุขภาพแย่ลง กลัวว่าจะไม่หายจากโรคซึมเศร้า กลัวว่าจะทำงานได้ไม่ดี

ดร.ป๊อป: วันนี้คุณ A พาพี่ชายชื่อคุณ B (นามสมมติ) มาเพราะคุณ B ต้องการสร้างกำลังใจและเป็นสื่อการรักษาทางกิจกรรมบำบัดที่เรียกว่า Therapeutic Use of Self คล้ายๆ กับเป็นพี่เลี้ยงที่ต้องเรียนรู้การให้คำปรึกษาอย่างมีแบบแผน เน้นกระตุ้นให้คุณ A คิดทบทวนตนเองในแต่ละสัปดาห์ โดยผมจะคอยโทรติดตามความก้าวหน้านาน 6 สัปดาห์ ขณะที่คุณ A หรือคุณ B ต้องรู้สึกเชื่อใจกัน อย่าเกรงใจกัน และมีหลักการพูดคุยทางโทรศัพท์เชิงจิตวิทยาด้วยความมุ่งมั่นและมั่นใจว่าจะพัฒนาศักยภาพของคุณ A ให้จงได้

ขณะที่ผมจะเริ่มแนะนำ...ผมชักชวนให้คุณ A ลองฟังตัวอย่างความคิดเห็นของคุณ B และผม ผู้ซึ่งมีสุขภาพจิตดี ตัดสินใจ และมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ "ไม่อยู่ว่าง" และ "สร้างคุณค่าให้กับตนเอง" เช่น การดูหนัง (เดินทางไปดูหนังโรง หรือ ดูหนังซีดีที่บ้าน คนเดียว หรือ เพื่อนซี้) หรือ การทานอาหารเย็น (การทำอาหารทานเอง การทำอาหารทานกับเพื่อน การเดินทางไกลไปทานกับคุณพ่อคุณแม่)

คุณ A: คิดไม่ออก เพราะไม่เคยคิด หรือ คิดแล้วไม่กระทำ มัวกังวลว่าจะไม่มีเวลาทำอาหาร แต่การทำอาหารเป็นกิจกรรมที่ชอบและถนัด เคยทำให้คนอื่นทาน ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร

ดร. ป๊อป: ผมแนะนำให้คุณ A โทรหาคุณ B หรือคุณ B โทรหาคุณ A อย่างมีแบบแผน เช่น ทุกวันอังคารแบบถามว่า "คุณ A วางแผนทำกิจกรรมอะไรในวันเสาร์ที่น่าจะทำให้รู้สึกมีคุณค่า" ลองปล่อยให้คุณ A คิด...หากคิดไม่ได้ ลองถามซ้ำอีกไม่เกิน 2 ครั้ง จากนั้นลองให้เวลาคิดอีก 1 ชม. จะโทรถามใหม่เป็นครั้งที่สอง และลองวิธีการเดียวกันอีกเป็นครั้งที่สาม หากคิดไม่ได้ก็บันทึกและโทรหาคุณ A หรือรอคุณ A โทรมาอีกวันพฤหัสโดยหาข้อคิดเสริมสร้างกำลังใจแล้วพูดคุยให้คุณ A ทำความเข้าใจ จากนั้นลองถามทวนความเข้าใจของการนำคตินั้นมาใช้ในวันเสาร์นี้ผ่านกิจกรรมที่วางแผนหรือคิดวางแผนอีกครั้ง ย้ำความเข้าใจตรงนี้ไม่เกิน 3 ครั้ง คราวนี้หน้าที่ของคุณ A คือ การกระทำตามสิ่งที่คิดไว้ตอนที่พูดคุยกับคุณ B พยายามมั่นใจว่า "ต้องทำในสิ่งที่คิดเพื่อไม่ให้อยู่ว่างจนคิดวิตกกังวล...และทำงานได้" ส่วนวันอาทิตย์ผมอยากให้ลองฝึกทำกิจกรรมปั้นดินน้ำมันด้วยนิ้วมือ แต่ละข้างปั้นต่างสีกัน แต่ละข้างค่อยๆปั้นพร้อมกันอย่างช้าๆ เล็กที่สุด ขนาดเท่ากัน นานจนรู้สึกว่านิ่งใจจดจ่อได้ แล้วค่อยๆ ตั้งเป้าหมายว่าจะปั้นแบบนี้ทุกสัปดาห์จนครบหกสัปดาห์แล้วจะเปลี่ยนความรู้สึกนี้มาปั้นแป้งเกี้ยวเพื่อประกอบอาหารมาทานกับคุณ B

ผมแนะนำและให้โอกาสทั้งสองท่านคิดตามแล้วทบทวนสิ่งที่ต้องทำ...จากนั้นก็ย้ำว่า "พยายามลดความกลัวในแต่ละเรื่องด้วยเหตุและผลที่ปรากฎให้เห็นในปัจจุบันและตีกรอบให้มองย้อนและไปข้างหน้าไม่เกิน 3 สัปดาห์...หากทำไม่ได้ก็เตือนตัวเองเสมอว่า...เราคงต้องอยู่กับโรคซึมเศร้าเสมือนเพื่อนและมียาเป็นวิตามินให้สุขภาพกายและใจดำเนินชีวิตไปนานแสนนาน..."

ผมวางแผนว่าจะติดตามความก้าวหน้าของกรณีศึกษานี้ตาม Self-Management Model ที่ผมคาดว่าจะนำไปพัฒนาเป็น Leisure & Anxiety Management สำหรับบุคคลที่มีภาวะซึมเศร้าโดยตรงหรือจากผลกระทบของโรคอื่นๆ เช่น อัมพาต subacute (ซึ่งตอนบ่ายผมได้เก็บข้อมูลวิจัยและสังเกตหลายกรณี ณ ศูนย์การแพทย์แห่งหนึ่ง) ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 262501เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2009 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท