นโยบายเรียนฟรี ...แต่ผู้ปกครองจ่ายเงินเพิ่ม


ความพอเพียง ไม่ได้แปลว่า การอยู่อย่างขัดสน ขาดแคลน แต่กลับหมายถึงความสามารถอันยิ่งใหญ่ ในการจัดการตนเองและหมู่คณะ ให้อยู่อย่างพอดีๆ

  เมื่อวานนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับกรรมการศึกษา ของโรงเรียนบ้านเขาคันทรง ท่านเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ทำให้ได้ลดความเหลื่อมล้ำความรู้ทางด้านการศึกษากับเขาไปด้วย โดยเฉพาะนโยบายสนับสนุนโรงเรียนของรัฐบาล ให้ได้เรียนฟรี หนังสือฟรี ค่าเทอมฟรี ค่าเสื้อผ้าของเด็กนักเรียน ก็จะได้ตามงบที่ได้มา

   ผู้ใหญ่สมพงษ์ ลีลาเบญจกุลพร ได้มีส่วนช่วยงานในหมู่บ้านและภายในตำบลมากมายหลายอย่าง มีความคิดดีๆ ที่ทางสถานีอนามัย ก็ได้รับจากท่านเสมอมา

  ผู้เขียนฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องของโรงเรียนเขาคันทรง ในการจัดการงบประมาณ ตามที่ได้มาแล้ว ขอปรบมือให้ ทั้งคณะครู ผู้ปกครอง และกรรมการโรงเรียนด้วยค่ะ

  ขอเล่าเรื่องเสื้อผ้าของเด็กนักเรียนนั้น เป็นปัญหาใหญ่ของหลายๆแห่ง ยิ่งในเมืองก็ยิ่งมีปัญหา เพราะค่าเสื้อผ้านั้น แต่ละระดับได้มาเป็นค่าที่ตายตัว บางคนผู้ปกครองไปซื้อมาแล้ว เงินเกินงบ ก็เบิกได้เท่าที่มีงบมา ราคาชุดนักเรียน ก็ไม่ถูกสักเท่าไหร่ ผู้ปกครองบางคนเล่าว่า เงินที่รัฐจัดสรรมา ซื้อชุดนักเรียน 1 ชุด แทบจะไม่พอ ยังจะจัดหาชุดพละอะไรต่างๆอีก ก็ยังรับภาระหนักอยู่

  มาฟังเรื่องเล่าที่เขาคันทรงดูนะคะ เผื่อจะได้ข้อคิดกลับไปจัดการงบประมาณให้พอเพียงกันบ้าง

ผู้ใหญ่สมพงษ์ เล่าอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในการทำงานของคณะกรรมการ เริ่มจากเมื่อทราบว่า ค่าชุดนักเรียนนั้น ได้มาจำกัด แต่เด็กๆ ก็ควรมีชุดใส่อย่างน้อย 2 ชุด ว่าแล้ว ก็ไปติดต่อหมู่บ้านใกล้เคียง ที่มีกลุ่มแม่บ้าน รวมตัวกันทำงาน ด้านตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่แล้ว ได้ต่อรอง จนได้ราคาที่ถูกมากๆ จากนั้นได้นำผ้ามาเสนอให้ผู้ปกครองช่วยกันดู ว่าจะเอาแบบไหน จนเป็นที่พอใจ จึงได้ตกลงสั่งตัดชุดของนักเรียน ตามจำนวนนั้นๆ

   ปรากฏว่า เมื่อนำงบประมาณมาถัวเฉลี่ยกันแล้ว ทั้งเด็กเล็กเด็กโต ปรากฏว่า เด็กได้ชุดนักเรียนกันถึง 2 ชุด และมีเงินเหลืออยู่อีกพอประมาณ จึงได้ประชุมผู้ปกครองและคณะครู กรรมการกันอีก ว่าจะสั่งตัดชุดพละให้เด็กๆทุกคน อีกคนละ หนึ่งชุด แต่เมื่อคำนวนแล้ว เงินไม่พอ จะขาดอยู่ชุดละ 45 บาท จึงขอความเห็นผู้ปกครอง ว่ายินดีจะจ่ายเงินส่วนเกินหรือไม่ ปรากฏว่า เกือบ 100% ยกมือยินดีจ่าย

  จะเห็นว่าการบริหารจัดการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และระดมความคิดนี้ ทำให้เราใช้งบประมาณที่มีอยู่ ได้อย่างพอเพียง ไม่ต้องร้องเรียน ร้องขอเงินเพิ่ม ให้เป็นปัญหาต่อไปอีก

 นับว่าเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ของคนชนบทและในเมืองได้อย่างดี เงินมาเท่ากัน ทางเลือกอาจมองเหมือนจะน้อยกว่าคนในเมือง แต่เขาทำได้ยอดเยี่ยมมากค่ะ

  ถ้าเราอยู่กับความเป็นจริง ยอมรับและพอใจในสิ่งที่ได้มา แล้วใช้ปัญญามาจัดการ ก็ทำให้เกิดสุขได้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนของประเทศ ความพอเพียง ไม่ได้แปลว่า การอยู่อย่างขัดสน ขาดแคลน แต่กลับหมายถึงความสามารถอันยิ่งใหญ่ ในการจัดการตนเองและหมู่คณะ ให้อยู่อย่างพอดีๆ  ไม่สร้างปัญหา ให้เกิดในชุมชนต่อไปอีกต่างหาก

  สุดท้าย ขอบันทึกไว้ในGotoknow 

และขอปรบมือให้กับชาวเขาคันทรงอีกครั้ง

 อย่างชื่นชมยินดีค่ะ  

หมายเลขบันทึก: 262493เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2009 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ภาคเรียนนี้ คณะฯ ผมส่งเด็กลงฝึกสอนยังโรงเรียน ซึ่งเป็นภาคเรียนแรกที่มีนโยบายนี้ ... ผมกำลังรอฟังผลจากนักศึกษาที่ไปสัมผัสว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่ได้ข่าวเลา ๆ มา คือ

หนังสือเรียน แบ่งกันเรียน ... พอห้องนี้เรียนเสร็จ ก็ต้องรีบไปให้อีกห้องหนึ่ง

ผมไม่แน่ใจว่า นโยบายนี้ดีหรือไม่ดี ?

รอต่อไป ... ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะคุณWasawat Deemarn

จะรอฟังผลสรุปของลุกศิษย์นะคะ

ใช่ค่ะ หนังสือเวียนกันใช้

แต่คงไม่ได้นำไปทบทวนที่บ้านแน่เลย

ก็เป็นการปรับการเรียน การสอนกันใหม่ด้วย

ทรัพยากรที่จำกัด

ก็ทำให้ทำอะไรไม่ได้มากเท่าไหร่

แต่ละแห่งคงต้องทดลองทำดูก่อน

และคงจะเกิดการเรียนรู้ที่ลงตัว

แต่เมื่อไหร่ก็ยังตอบไม่ได้ค่ะ

ขอบคุณเช่นกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท