ทำอย่างไรเยาวชนไทยจึงจะหันกลับมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตอนที่ 9


เป็นห่วงว่า ท่านเหล่นั้นต้องจากเราไปพร้อมด้วยสติปัญญา ความสามารถที่เคยโลดแล่นอยู่กลางลาน อยู่บนเวทีการแสดง อย่างโดดเดี่ยวสงบและเงียบเหงา

ทำอย่างไร เยาวชนไทย

จึงจะหันกลับมาสนใจ 

เอกลักษณ์ของท้องถิ่น (ตอนที่ 9)

(ชำเลือง  มณีวงษ์/ผู้เขียน)

 

          แนวทางหนึ่งที่ผมกระตุ้นให้นักเรียนที่ผมสอน โดยหาเวลาเพียงครั้งละเล็กละน้อยสอดแทรกความรู้ด้วยการนำเอาตัวอย่างที่ดี ๆ อย่างการผลิตร่มที่บ่อสร้าง การเล่นเพลงพื้นบ้านของนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ทำมานานเกือบ 20 ปี การเชิดหนังตะลุงของครูสุชาติ ทรัพย์สินที่นครศรีธรรมราช การทอผ้าไหมที่ร้อยเอ็ด การแสดงลิเกที่อ่างทอง ฯลฯ รวมทั้งนำเสนอภาพผ่านสื่อวีซีดี ดีวีดี การแสดงท้องถิ่นสั้น ๆ 1-3 นาที ให้นักเรียนได้ชม (ความจริงในโรงเรียนมีการฝึกหัดเพลงพื้นบ้านกันทุกวันที่ห้องศูนย์การเรียนรู้)  ผมหวังว่าเด็ก ๆ ของผมคงจะได้เกิดความคิด ได้ตระหนักและเกิดความรู้สึกตัว (เกิดจิตสำนึก) ขึ้นมาบ้าง ถึงแม้ว่าจะมีเพิ่มขึ้นมาจากเดิมเพียง 1 คน ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเสียเลย

 

แนวทางที่จะทำให้เยาวชนไทยหันกลับมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลงานที่สร้างสรรค์จากมันสมอง และ 2 มือ หรือแลกมาด้วยหยาดเหงื่อของบรรพบุรุษ เป็นมรดกตกทอดในวงตระกูลและถ่ายเทไปยังกลุ่มบุคคลจนกลายเป็นชุมนุม เป็นกลุ่ม เป็นวง เป็นคณะ หาเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคงมานาน จนมาถึงปี พ.ศ. 2537 สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการรณรงค์สืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีไทยและขายผลไปถึงปี 2540 ให้องค์กรต่างๆทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และชุมชน เข้าร่วมกิจกรรม การอนุรักษ์ ส่งเสริมเผยแพร่ สืบทอดวัฒนธรรมอันดีของชาติ  นี่เป็นสัญญาณส่งถึงประชาชนคนไทยว่า เราคงต้องตื่นขึ้นมามองดูท้องถิ่นของเราว่า มีวิธีการใด ทำอย่างไรได้บ้างที่จะช่วยให้ศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่นยังคงมีให้คนรุ่นหลังได้เห็นต่อไป

สิ่งที่ทำได้มีหลายช่องทาง หลายวิธีการ แต่จะต้องรวมพลังร่วมกัน แบ่งปันความรู้แล้วลงมือทำอย่างเหนียวแน่นถาวร เป็นต้นว่า

1. จะต้องเอาชนะใจเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ได้ ทำให้เยาวชนเขามีความเชื่อถือ ยอมรับในตัวเราเสียก่อน จึงจะสามารถรวบรวมเยาวชนเป็นกลุ่มสร้างสรรค์ผลงานศิลปะการแสดงของท้องถิ่นออกมาได้

2. พ่อ แม่ ผู้ปกครองก็มีส่วนทั้งในทางตรงและทางอ้อม ในการที่จะชักจูงใจให้เด็กในความปกครองของท่านหันมาสนใจในเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่ในทุกส่วนของประเทศไทย

3. ครู ผู้ที่ทำหน้าที่นำทางสามารถจุดประกายสร้างความตื่นเต้นสร้างประสบการณ์ ที่ล้ำค่าให้กับผู้เรียนโดยจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ ง่ายและสะดวกสบาย ไม่ซับซ้อนไม่วกวนจนไม่รู้ว่าจะเดินทางไปในทิศทางใด

4. หน่วยงานในท้องถิ่นที่มีส่วนในการรองรับเรื่องนี้ มีหลายหน่วยงานทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ไปจนถึงจังหวัดหรือสูงกว่าขึ้นไปสามารถเข้ามามีส่วนในการสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยทุกแขนง

5. คนรุ่นเก่า รุ่นปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ได้อบรมบ่มนิสัยและเป็นต้นแบบให้กับลูกหลานรุ่นต่อ ๆ มาได้ตระหนักถึงความรักความหวงแหนในแผ่นดินถิ่นเกิดและสืบทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นสืบต่อกันมา

          6. ให้ความรู้ เอกลักษณ์ไทยในท้องถิ่น เป็นภาพที่หลากหลาย โดยเฉพาะที่เป็นจุดเด่น ๆ ของเมืองไทย ที่จะช่วยให้เกิดความคิด ตระหนักและเกิดความรู้สึกตัว (จิตสำนึก) แก่เยาวชนได้

         

         

 

          ขอขอบคุณหน่วยงาน องค์กร และบุคคลที่มีส่วนในการเสนอความคิด แบ่งเวลา ให้โอกาสศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานบนพื้นที่ที่สำคัญของชาติ บนเวทีการแสดงในระดับที่สูงส่ง อย่างที่ในชีวิตนี้คงไม่มีโอกาสได้ไปยืน ณ สถานที่นั้น (แต่ก็ได้ไป) ตลอดข้อเขียนใน 8 ตอนที่ผ่านมา ผมได้นำเอาประสบการณ์ชีวิตที่ดำเนินมาอย่างเงียบเหงา แต่มาได้กำลังใจ ได้ยาชูกำลังจากหมู่มิตรทั้งในวัยเดียวกัน และต่างวัยที่ได้เข้ามาให้กำลังใจ เสริมแรง ปลอบขวัญอย่างชนิดที่เรียกว่า อิ่มใจในศรัทธามากยิ่งขึ้น

         

         

         

          ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ของไทย ได้แก่ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน บ้านเมือง คมชัดลึก กรุงเทพฯ ธุรกิจ หนังสือพิมพ์ชนบท เว็บไซต์นายรอบรู้ วารสารวัฒนธรรมราชมงคลเฉลิมพระเกียรติ เว็บไซต์ You Tube ฯลฯ ที่ได้ลงข่าวเรื่องราวขยายผลสู่สาธารชน

          ขอขอบคุณสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย คลื่น FM.102.25 MHz. และสถานีวิทยุกองพลที่ 1 จังหวัดสุพรรณบุรี คลื่น AM 1440 MHz. และสถานีวิทยุในท้องถิ่นดอนเจดีย์ทุกสถานีที่ได้เชิญผมไปนำเสนอเรื่องราวหลายครั้ง และนำเอาข่าวคราวความเคลื่อนไหวของเยาวชนเพลงพื้นบ้าน ในนามวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯไปออกอากาศ

          ขอบคุณสถานีโทรทัศน์ ทีวีไทยทุกสถานี ช่อง 3, 5, 7, 9 (โมเดิร์นไนน์) ช่อง 11 (NBT) ช่อง ทีวีไทย (ITV เดิม) ช่อง Ten Station ช่อง SHOW ช่อง H+ ช่อง ETV ช่องเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ท้องถิ่นทุกสถานีที่ได้มาบันทึกเรื่องราวของเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ที่โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 และเชิญไปออกอากาศรายการสด มากว่า 100 ครั้ง นับว่าเป็นความกรุณา ที่สื่อสารมวลชนอย่างรายการโทรทัศน์ซึ่งเวลาในแต่ละวินาที มีค่ายิ่ง ยังแบ่งปันพื้นที่ แบ่งเวลาและเวทีให้การแสดงศิลปะท้องถิ่นสุพรรณฯ ได้มีโอกาสโชว์ผลงานให้เด็ก ๆ รุ่นหลังได้รับรู้อีกช่องทางหนึ่ง

                 

          ขอขอบพระคุณ ครูเพลงทุกท่าน ป้าอ้น จันสว่าง, ป้าทรัพย์ อุบล, แม่บัวผัน จันทร์ศรี, น้าปาน เสือสกุล, ลุงหนุน กรุชวงษ์, ลุงบท วงษ์สุวรรณ, น้าถุง พลายละหาร และ ฯลฯ ผู้ที่เคยสอนและให้ความรู้ทางเพลงแก่ผมมาตั้งแต่ต้น บางท่านได้ล่วงลับไปแล้ว ยังเหลืออยู่อีกเพียง 2-3 ท่านก็จะหมดคนเก่ารุ่นที่เป็นนักเพลงตัวจริง (คิดแล้วใจหาย) ในส่วนตัวของผมแล้ว ยังคงจะต้องรับหน้าที่นี้ต่อไปจนชีวิตนี้หาไม่

           

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม เวลา 9.00-12.00 น. มีนักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยศิลปากร นครปฐม  1 กลุ่ม จำนวน 4 คน มาเยี่ยมและสัมภาษณ์ผมเกี่ยวกับเรื่องราวของเพลงอีแซว ประมาณ 3 ชั่วโมง เมื่อเด็ก ๆ กลับไป ผมแวะไปเยี่ยมครูเพลง น้าปาน เสือสกุล แม่เพลงสุพรรณฯ คนเก่า ที่มีอายุ 80 ปี เศษ ป่วยด้วยโรคชราและโรคแทรกซ้อนอีกหลายอย่าง น้าปานเดินไม่ได้ นั่งตัวงอ พูดได้คุยได้ ดื่มนมกล่องไม้ได้ น้าเขาจะท้องเสีย ท่านดีใจที่ผมไปเยี่ยม และในช่วงบ่ายวันเดียวกัน พี่เกลียว เสร็จกิจ (ขวัญจิต ศรีประจันต์) แวะไปเยี่ยมน้าปาน ที่หมู่บ้านไพบูลย์สุข (พี่เขาโทรมาถามทางไปบ้านน้าปาน) ทราบว่า น้าปานดีใจมากที่ได้กำลังใจจากพวกเราคนเพลงด้วยกัน คิดแล้วยังน่าห่วง

เป็นห่วงว่า ธรรมชาติจะต้องคร่าชีวิตคนรุ่นสูงวัยที่เคยสร้างสรรค์ผลงานศิลปะท้องถิ่นมานานไปอีกหลายคน และท่านเหล่นั้นต้องจากเราไปพร้อมด้วยสติปัญญา ความสามารถที่เคยโลดแล่นอยู่กลางลาน อยู่บนเวทีการแสดง อย่างโดดเดี่ยวสงบและเงียบเหงา

 

 

(ขอบคุณที่ติดตามเรื่องราวจากประสบการณ์และเสนอความคิดเห็นที่ดีให้ผมได้รับความรู้)

หมายเลขบันทึก: 261666เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2009 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท