ทำอย่างไรเยาวชนไทยจึงจะหันกลับมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตอนที่ 6


ความตั้งใจในการทำงานเพื่อสืบสานเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่มุ่งไปถึงเยาวชนเพียงวันเดียว สัปดาห์เดียว เดือนเดียวแม้แต่ปีเดียวไม่เพียงพอ

ทำอย่างไร เยาวชนไทย

จึงจะหันกลับมาสนใจ 

เอกลักษณ์ของท้องถิ่น (ตอนที่ 6)

(ชำเลือง  มณีวงษ์/ผู้เขียน)

 

หน่วยงานที่อยู่เหนือขึ้นไป มีหลายองค์กรที่สามารถจัดสรรงบประมาณ ดำเนินงาน ให้นโยบายในการที่จะเข้าสู่การผลักดัน เสริมแรงให้เยาวชนหันมาให้ความสนใจและร่วมรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่น แต่ที่น่าเสียดาย คือ การสนับสนุนงบประมาณไม่ตรงไปยังคนทำงาน ไม่มีการสืบค้นหาคนที่เดินดิน ต้องย่ำเท้าอยู่กับที่ แต่มีผลงานเดินหน้าไปไกลกว่าที่จะกลับมามองย้อนให้เริ่มต้นใหม่ได้

  ภาครัฐและเอกชน ที่มีกำลังความสามารถในการให้การสนับสนุนและดำเนินนโยบายที่จะจัดการความรู้ สู่การปฏิบัติ มีส่วนร่วมที่จะให้เยาวชนได้มีสถานที่แสดงความสามารถ มิใช่เอาแต่จัดการประกวด ที่กล่าวมาอย่างนี้มิใช่ว่าการจัดให้มีเวทีประกวด แข่งขันไม่ดี ไม่ใช่ เป็นสิ่งที่ดี แต่จะต้องติดตามผลผลิตที่เขาได้รับชื่อเสียงไปด้วยว่า หลังจากการประกวดแล้ว ไปทำประโยชน์ให้สังคมได้มากน้อยแค่ไหนเพียงใด (ความคุ้มค่า สมราคา) การจัดประกวดแข่งขันในแต่ละครั้งใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก บางโครงการประกาศว่าชิงเงินรางวัล 1,000,000 บาทเสร็จสิ้นการประกวดก็จบเสร็จงานสรุปผลได้ความพึงพอใจเท่านั้น

 ภาครัฐ ในวันนี้ผมมองว่า หน่วยงานหลักในระดับประเทศยังมองไม่ทะลุปรุโปร่ง มองไม่ถึงหรือยังไม่เห็นความสำคัญที่แท้จริงของศิลปะการแสดงท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่โดดเด่น สวยงาม ประทับใจในของแต่ละท้องที่โดยมิอาจที่จะลอกเลียนแบบหรือเอาอย่างกันได้

- ศิลปะการแสดงของภาคเหนือก็เป็นมรดกของประชาชนในแถบภาคเหนือของประเทศไทย ใครก็รำฟ้อน แอ่วเอื้องได้สวยสดงดงามไม่เท่ากับเจ้าของท้องที่ที่แท้จริง

- ศิลปะการแสดงของภาคอีสานก็เป็นมรดกของประชาชนในแถบภาคตะวันออก เฉียงเหนือของประเทศไทย ใครก็รำแคน ร้องหมอลำได้สวยสดงดงามไม่เท่าเจ้าของท้องที่ที่แท้จริง

- ศิลปะการแสดงของภาคกลางก็เป็นมรดกของประชาชนในแถบภาคกลางของประเทศไทย ใครก็เล่นเพลงพื้นบ้านหลายสิบชนิดได้สวยสดงดงามไม่เท่าเจ้าของท้องที่ที่แท้จริง

- ศิลปะการแสดงของภาคใต้ก็เป็นมรดกของประชาชนในแถบภาคใต้ของประเทศไทย ใครก็รำโนรา เชิดหนังตะลุง ร้องเพลงบอก ได้สวยสดงดงามไม่เท่ากับเจ้าของท้องที่ที่แท้จริง

 

ในวันนี้ ศิลปะการแสดงของทุกภาคไม่มีเวที ไม่มีสถานที่ให้ได้แสดงผลงานดังแต่ก่อน แต่เวทีการแสดงในห้องเรียนของเยาวชนยังพอมี ถึงแม้ว่าช่องทางนี้จะคับแคบ ขาดความสนใจจากหลายฝ่าย อาจมีเพียงครูผู้สอนเพียงคนเดียวในอำเภอหนึ่ง ในจังหวัดหนึ่งที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานศิลปะการแสดงท้องถิ่นอย่างเหนียวแน่นและยึดติดมายาวนานตลอดชีวิตแล้วก็ตาม

บางช่วงชีวิตผมเคยได้รับความสนใจจากหน่วยงานของรัฐให้จัดทำโครงการเพื่อที่จะได้รับงบประมาณสนับสนุน และก็ได้รับจริง ๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นงบประมาณไม่มาก แต่คนทำงานก็รู้สึกภาคภูมิใจ แต่ในปีต่อ ๆ มา ได้รับเอกสารให้จัดทำโครงการอีก ผู้ขอได้เขียนโครงการให้เห็นความสำคัญที่ชัดเจนและเห็นผลผลิตที่เด่นชัดกว่า แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุน ข้อเสนอแนะที่ตอบกลับมาคือ นั่นมิใช่การถ่ายทอดภูมิปัญญา (โครงการที่ว่าคือ การฝึกปฏิบัติเพลงพื้นบ้าน 5 ชนิดให้กับเยาวชนใน 1 อำเภอ)

เมื่อประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมาเคยได้รับการติดต่อจากองค์ในสถาบัน ระดับ อุดมศึกษา ให้ช่วยจัดการฝึกอบรมศิลปะการแสดงท้องถิ่นให้กับนักเรียนต่าง ๆ  โดยหน่วยงานที่ว่านี้จัดสรรงบประมาณมาให้จัดทำ เขามีคณะกรรมการมาอยู่กับเราเฝ้าสังเกตการตลอดการดำเนินงาน 4-6 วันที่จัดการอบรม จนถึงในวันสุดท้ายมีการแสดงผลงานโดยนักเรียนที่เข้ารับการอบรม เป็นการแสดงตัวชี้วัดที่สามารถประเมินผล ภาพการแสดงที่ปรากฏเป็นรูปธรรม แต่ก็น่าเสียดายที่หน่วยงานหรือองค์กรที่มีกำลัง มีงบประมาณมาก ๆ แทนที่จะจัดงบประมาณไปยังคนทำงาน กลับเอามาทำเสียเอง จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ ผมยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวที่ก้าวหน้าไปกว่าจุดเริ่มต้นเลย ยังคงดำเนินโครงการเดิม ๆ

มองไปที่เจตนาของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จุดประสงค์ของการทำงาน ตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมว่า ปลายทางของหน่วยงานหรือองค์กรนั้น ๆ มุ่งหวังอะไร แค่ไหน เพียงใด ความจริงจัง ความตั้งใจในการทำงานเพื่อสืบสานเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่มุ่งไปถึงเยาวชนเพียงวันเดียว สัปดาห์เดียว เดือนเดียว แม้แต่ปีเดียวไม่เพียงพอ ที่จะทำให้เยาวชนไทยหันกลับมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้ คงต้องใช้เวลาและดำเนินงานอย่างมั่นคงถาวร

 ท่านคิดว่า ยังมีวิธีการใดบ้างที่จะช่วยให้องค์กรที่กล่าวมา มีส่วนในการผลักดันให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและร่วมรักษาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของท้องถิ่นเอาไว้ให้จงได้

 

(ติดตามตอนที่ 7  ทำอย่างไร เยาวชนไทยจึงจะหันกลับมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น)

 

หมายเลขบันทึก: 261377เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2009 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ที่จิงก็สนใจอยู่น้า ไม่ได้ลืมเลยค่ะ

คุณ TaYano

  • ขอบคุณมาก ครับ ที่ท่านเป็นอีกคนหนึ่งไม่ลืมศิลปะท้องถิ่น
  • แต่เรากำลังมองในภาพใหญ่ ที่มีคนเพียงส่วนน้อยดึงรั้งเอาไว้ ในแต่ละท้องถิ่นและมองในสิ่งที่สูญหายไป ประกอบด้วย
  • ผมเป็นคนหนึ่งที่เดินนำหน้าในเรื่องนี้มานาน และมีความรู้สึกว่าเหลือน้อยลงไปทุกที (ไม่มีเพิ่มขึ้นหรือแค่ทรงตัวอยู่ได้)

สวัสดีค่ะคุณชำเลือง

กอก็อยากให้เด็ก ๆ อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย

คุณชำเลืองเคยได้ฟังเพลงนกขมิ้น

เป็นเพลงประกอบละครดงผู้ดีมั้ยค่ะ

กอฟังแล้วเพราะจังเลยค่ะ

ค่ะ เข้าใจค่ะ

มันก็จิงอย่างที่คุณชำเลืองพูดแหล่ะค่ะ

เพราะตอนนี้คนที่อนุรักษ์ก็มีน้อยจิงๆค่ะ

http://tay2014.allblogthai.com

ศิลปะพื้นบ้าน คือ มรดกภูมิปัญญาของคนสยามในภาคต่าง ๆ แสดงถึงอารยธรรมชั้นสูง ที่ควรรักษาไว้ด้วยความภาคภูมิใจ ขอเป็นกำลังใจให้กับ อาจารย์ชำเลือง มณีวงษ์ และผู้อุทิศตนเพื่องานอันทรงคุณค่าเหล่านี้ทุก ๆ ท่าน

สวัสดี กอก้าน>>ก้านกอ

  • เพลงนกขมิ้น เคยได้ฟังทั้งเพลงกล่อมเด็ก และเพลงไทยที่บยันทึกแผ่นเสียงเมื่อหลายสิบปีก่อน คุณกอ เป็นคนที่ชอบฟังเพลงเก่า ๆ ด้วยนะ ขอชื่นชมครับ
  • ผมก็หวังอย่างนั้น อยากให้มีเด็ก ๆ บางส่วนให้ความสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่เป็นจุดเด่นบ้าง และกระทำอย่างยั่งยืน ถาวร นะครับ

คุณ TayanO

      ขอบคุณ ในความเห็น เป็นกำลังใจให้คนทำงาน (ที่สูงวัย) ได้สร้างสรรค์ต่อไป ในส่วนของคนที่อนุรักษ์ ถึงแม้ว่าจะมีน้อยก็ยังชื่นใจ เพียงแต่ว่า ขอให้ยังคงมีคนสานต่องานด้านนี้ต่อไปอย่างมั่นคง

 

คุณ บดินทร์ ศุภบัณฑิตย์กุล

 "ศิลปะพื้นบ้าน คือ มรดกภูมิปัญญาของคนสยามในภาคต่าง ๆ แสดงถึงอารยธรรมชั้นสูง ที่ควรรักษาไว้ด้วยความภาคภูมิใจ" ใช่ครับ ผมก็มีความเห็นอย่างนั้น ต้องขอขอบคุณ ที่ท่านให้กำลังใจคนทำงานเพลงพื้นบ้าน แต่สังคมในวันนี้ มีอะไรที่เบี่ยงเบนอยู่ในบางมิติ ทั้งที่น่าจะมองไปในแนวทางเดียวกันได้ ในบางเรื่อง               

 

     

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท