ทำอย่างไรเยาวชนไทยจึงจะหันกลับมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตอนที่ 4


เมื่อใดความรู้ไม่ถูกจัดการอย่างเป็นระบบ ง่ายและสะดวกสบาย ไม่ซับซ้อนวกวนจนไม่รู้ว่าจะเดินทางไปทางไหน มองไม่เห็นปลายทาง

ทำอย่างไร เยาวชนไทย

จึงจะหันกลับมาสนใจ 

เอกลักษณ์ของท้องถิ่น (ตอนที่ 4)

(ชำเลือง  มณีวงษ์/ผู้เขียน)

 

          แต่ถ้าเมื่อใด มองเพลงพื้นบ้านแต่เพียงบางส่วนแล้วเหมาเอาว่า เล่นไม่สุภาพ หยาบคาย ไม่เห็นจะได้เรื่องราวอะไร ผมขอยืนยันว่า เป็นมุมมองที่คลาดเคลื่อน เพราะคำว่า เล่นไม่สุภาพ หยาบคาย ไม่เห็นจะรู้เรื่อง เป็นเพียงการนำเสนอเรื่องราวในตอนปะทะคารมเท่านั้น และก็เป็นวรรณศิลป์ที่สรรสร้างอย่างมีศิลปะในคารม มิใช่คำต่อว่าที่หยาบคาย จากคน 2 ฝ่ายทะเลาะกัน เพียงแต่นั่นคือศิลปะการแสดงที่ให้แง่คิดได้หลายทางตามแต่ใจจะคิด คิดไปทางใดก็ไปทางนั้น (คิดสองแง่สองง่าม) แต่ในตอนที่เป็นการสื่อสารเรื่องราวอื่น ๆ ที่ดีมีประโยชน์ กลับไม่ได้นำมารวมในการตัดสินใจ

          การให้ความรู้กับเยาวชนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาช่องทางในการจัดการความรู้ สอดแทรกความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ถึงตัวของเยาวชน และจะต้องเป็นวิธีที่ถูกต้องเป็นความจริงอย่างทั่วถึงด้วย มิเช่นนั้น จะมีเพียงเยาวชนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ส่วนเยาวชนกลุ่มใหญ่หรือเกือบทั้งหมดยังคงขาดความรู้ในเรื่องของการรักษา และธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ทำให้ได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมนำเข้าจากต่างแดนเข้ามาแทนที่จนลืมความเป็นเอกลักษณ์ไปในที่สุด

          ครู เป็นผู้ที่มีความสำคัญมาก ในการที่จะนำนักเรียนหรือเยาวชนให้เดินไปอย่างมีเป้าหมายและถูกทาง หากจะกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะให้เยาวชนทุกคนหันมาสนใจของเก่า สนใจวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านศิลปะการแสดง โดยเฉพาะเพลงพื้นบ้าน เพราะมันเป็นยุคสมัยของระบบ Digital การสื่อสารทั่วถึงกันไปทั้งโลก เด็ก ๆ สามารถรับรู้ข่าวสารได้ในเวลาใกล้เคียงกันหรือพร้อมกันทั่วทั้งโลก ประเด็นนี้ก็เป็นความจริง แต่ความเป็นชนชาติ ความเป็นเอกลักษณ์ที่จะบ่งบอกกับผู้มาเยือนได้ว่า เรามีของดีอะไรบ้าง จะหาดูได้ที่ไหน หากเราไม่มีจุดเด่น ไม่มีจุดขายที่จะแสดงรูปร่างหน้าตาของแหล่งนั้น ๆ หรือแสดงความเป็นเจ้าของถิ่นได้

         

 

          ครู เป็นจำนวนมากสอนอยู่ในระดับการศึกษาและสถานศึกษาที่แตกต่างกันครูเหล่านั้น มีความรู้ ความสามารถที่แตกต่างกัน มีความต่างที่ค้นหาได้ในตัวท่านไม่เหมือนกัน เป็นต้นว่า

 

- บางท่านมีความมั่นใจในตนเองสูงมาก ไม่อาจที่จะรับความรู้ ความสามารถจากใครได้อีก เพราะมีความรู้ความสามารถเต็มเสียแล้ว 

- บางท่านทำหน้าที่ดังผู้รู้เดินสายออกไปยังสถานศึกษาต่าง ๆ ให้ความรู้แก่ผู้เรียนหลายสถาบันหลายสถานที่แต่ลืมมองย้อนกลับไปดูผลที่ตามมาว่าได้แค่ไหนคุ้มค่ามากน้อยเพียงใดกับคุณภาพ

- บางท่านพยายามที่จะเข้าไปสนิทกับบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่ออาศัยความดังช่วยผลักดันให้ตนเองได้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

- บางท่านไปทางลัด หยิบฉวยอะไรได้เร่งรีบจัดทำ เพื่อให้เห็นผลทันตา แล้วนำเอามาอ้างว่า นี่คือความสำเร็จที่เกิดจากความสามารถของตน ทั้งที่ยังไม่ได้ลงทุนทางปัญญา

- บางท่านได้รับข้อมูลจากแหล่งหนึ่งไป นำเอาไปใช้ประโยชน์ แต่เวลาประกาศขอบคุณ กลับไปประกาศขอบคุณบุคคลที่มีชื่อเสียงแทนที่จะขอบคุณให้ตรงตัวบุคคลที่เป็นผู้ให้

- บางท่าน เป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน มีความตั้งใจสูง พยายามที่จะสร้างกลุ่มเยาวชนขึ้นมาสืบสานเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เวลาที่ผ่านไปนานแสนนานก็ยังกระทำอยู่อย่างอดทน

- บางท่าน เป็นผู้ที่พยายามศึกษาหาความรู้จากแหล่งความรู้ใส่ตนจนมีภูมิปัญญามากพอ จึงนำไปถ่ายทอดยังผู้เรียนที่ตนรับผิดชอบแต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานนั้น ๆ

- บางท่านเป็นนักแสดง ฝึกหัดศิลปะการแสดงจากครูเพลงต้นตำรับจนมีความสามารถ แต่ไม่สามารถที่จะฝึกเยาวชนให้เป็นได้ดังที่ตนเองทำได้

- บางท่านตระเวนหาเวที เพื่อสนับสนุนนักเรียนของตนให้ได้เข้าประกวดแข่งขัน จนได้รับรางวัลหลายครั้ง แต่ความโดดเด่นที่ได้รับนั้นกลับไม่มีผลต่อการเป็นตัวแทนคนรุ่นเก่าได้

- บางท่านเป็นนักแสดง ฝึกทายาทขึ้นมาแทนคนรุ่นเก่า ๆ นำผลงานออกไปรับใช้สังคมมานานหลายสิบปี แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มิได้ให้การสนับสนุนหรือแม้แต่ประกาศเกียรติคุณ

 

พูดถึงโรงเรียน และสถานศึกษาในระดับต่าง ๆ บ้าง (จากที่ผมได้สัมผัสโดยตรง)

- โรงเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา มีเป็นจำนวนมากที่ตอบสนองต่อการเรียกร้อง ในเรื่องของการส่งเสริมให้เยาวชนได้ฝึกหัดเพลงพื้นบ้านซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น แต่เด็กเล็ก ๆ ความรู้สึกนึกคิดยังน้อย ครูสั่งให้ทำอะไรแกก็ทำตามได้อย่างน่ารักน่าเอ็นดู เช่น เมื่อตอนเรียนอยู่ชั้นประถมแกเล่นเพลงอีแซวได้โดดเด่น เก่งมาก แต่พอขึ้นไปเรียนในชั้นมัธยมเลิกเล่น เพราะมีคนสั่งมาว่าอย่าไปเล่น (ไม่อยากให้ไปเรียนที่.. เพราะจะต้องไปเล่นเพลงให้โรงเรียน..) มีด้วยนะ แล้วจะให้เกิดความต่อเนื่องได้อย่างไร

- โรงเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา เป็นเด็กในวัยรุ่นเข้ามาเรียน เด็กกลุ่มนี้เริ่มที่จะมีความคิดที่กว้างไกลกว่าเด็กในระดับประถมศึกษา แกรู้ว่าฝึกหัดอะไรแล้วได้ประโยชน์อะไร เด็กบางคนฝึกอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งในโรงเรียน ในเวลาเรียน นอกเวลาเรียน และที่บ้านก็ไปฝึกหัดกับครูเพลงในท้องถิ่นอีกด้วย แกมีความรู้ความสามารถสูงกว่า บางคนที่ทำหน้าที่นั่งดูแกแสดงและเป็นผู้ตัดสินเสียอีก ตรงนี้ทำให้มองว่า ความกว้างขวางในการรับข้อมูลของเด็ก ๆ บางครั้งก็ถูกมองข้ามไป คิดว่าเด็กจะต้องมีความรู้น้อยกว่าผู้ที่อ่านมามาก ๆ ค้นคว้ามามาก ๆ ซึ่งบางครั้งไม่ใช่ เพราะนี่คือ ความสามารถที่จะต้องแสดงออกมามิใช่แค่เพียงแต่สะสมเอาไว้ในสมองแล้วนำเอามาพูดเท่านั้น

- ในสถาบันระดับอุดมศึกษา ในระดับนี้นิสิต นักศึกษาเรียนรู้ฝึกปฏิบัติเพื่อที่จะนำไปประกอบอาชีพ หากสถานศึกษามีครู อาจารย์ผู้สอนเป็นศิลปิน ก็ย่อมที่จะสร้างหรือมีผลผลิตที่เป็นศิลปินตามมา ผมได้รับรู้ว่า มีสถานศึกษาในท้องถิ่นบางแห่งฝึกนักศึกษาเข้าประกวดแข่งขันจนสามารถได้รับรางวัลใหญ่ ๆ ในระดังสูงมาแล้ว แต่ผลผลิตนั้นกลับหยุดนิ่งอยู่กับที่หรือสลายไป  ไม่มีการเคลื่อนไหวหรืออกไปรับใช้สังคมเลย ในความเป็นจริง เยาวชนที่อยู่ในสถาบันระดับนี้ มีทางเลือกเฉพาะให้เดินได้หลายช่องทาง และกำหนดกรอบของอนาคตได้ชัดเจนกว่าในอีก 2 ระดับที่กล่าวมา อยู่ที่ว่าตัวครู อาจารย์ที่ทำงานตรงจุดนั้น เป็นนักแสดงตัวจริงในแขนงงานนั้น ๆ หรือไม่ หากเป็นเพียงครูผู้สอนให้ความรู้ คงไม่อาจที่จะนำพาเยาวชนไปสู่จุดหมายที่ตั้งเอาไว้ได้อย่างชัดเจนและสมบูรณ์    

             

 

ไม่ว่าท่านอยู่ในฐานะใด บทบาทใด ท่านสามารถที่จะปรับเปลี่ยนความคิดจากเดิมไปทีละน้อย โดยมองไปที่ผลประโยชน์ที่เยาวชนพึงจะได้รับว่า สิ่งที่ให้นั้นเป็นความยั่งยืน ถาวร หรือเป็นเพียงไฟไหม้ฟางเดี๋ยวเดียวก็มอดดับไป ยังขาดความรู้ ทักษะ และเจตคติ ที่มีเป้าหมายอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจ เพราะเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันทุกระดับ เป็นกลุ่มคนที่เข้ามารับความรู้ เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตามจุดมุ่งหมายของครูผู้สอน ตามหลักสูตร และตามวิสัยทัศน์ที่สถาบันการศึกษาตั้งไว้ สถานศึกษาในแต่ละแห่งจะมีคำขวัญ มีปรัชญา เป็นช่องทางไปสู่เป้าหมาย เพียงแต่ว่า ผู้ที่ทำหน้าที่นำทาง จะมองเห็นทางเดินที่สามารถจุดประกาย สร้างความตื่นเต้น สร้างประสบการณ์ที่ล้ำค่าให้กับผู้เรียนได้มากน้อยเพียงใด หากเมื่อใดความรู้ไม่ถูกจัดการอย่างเป็นระบบ ง่ายและสะดวกสบาย ไม่ซับซ้อนวกวนจนไม่รู้ว่าจะเดินทางไปทางไหน มองไม่เห็นปลายทางทั้งที่ไม่ต้องทำให้ยุ่งยาก ไม่ต้องพาไปเดินในเขาวงกตก็ไปถึงจุดหมายปลายทางได้เร็วกว่าเสียด้วยซ้ำ

 

ท่านคิดว่า ยังมีวิธีการใด ๆ บ้าง ที่มองเห็นได้อย่างเด่นชัดในการรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและร่วมรักษาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของท้องถิ่นเอาไว้ให้จงได้

 

(ติดตามตอนที่ 5  ทำอย่างไร เยาวชนไทยจึงจะหันกลับมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น)

หมายเลขบันทึก: 261018เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2009 08:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แวะมาคารวะคะ ที่ส่งเสริมและอนุรักษ์เอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้ดีเช่นนี้

ผมขอคาระวะท่านเช่นเดียวกัน คุณยุวดี ศรีจันทร์ ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจ ครับ

เอกลักษณ์ของท้องถิ่น
คิดว่า   เรื่องนี้ ต้องสร้างความตระหนักของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น ถึงศักยภาพ ความโดดเด่น และเอกลักษณ์ที่ตนเองมีในแต่ละพื้นที่นั้นๆค่ะ  เนื่องจากไม่มีใครจะทราบถึงจุดเด่นได้ดีไปกว่าคนในพื้นที่นั้นๆ   ดังนั้น สิ่งที่อาจารย์เขียนนี้  ดิฉันว่า เป็นบันทึก ที่ดีมากๆค่ะ 
อาจารย์กำลังแสดงให้รู้ว่า  เพลงพื้นบ้านดีอย่างไร   เมื่อได้เผยแพร่ออกไป คนทั้งในและนอกพื้นที่จะให้ความชื่นชม  ซึ่งน่าจะนำมาซึ่งความหวงแหน สิ่งดีๆอย่างนี้  และช่วยกันปกป้องให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนได้ตลอดไปค่ะ

ความคิดเห็นของพี่ เป็นความจริงที่ปรากฏ หากไม่มีเจ้าของพื้นที่ช่วยกันมอง ปล่อยให้จุดเด่นจางไป มีข้อผิดพลาดเข้ามาแทน ในที่สุดก็จะพูดด้วยสำนวนเดิม ๆ ว่า "น่าเสียดาย"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท