เที่ยวเม็กฮิโก ๒๐๐๙ ความทรงจำที่ลำค่า ภาคสอง


เพราะปัญหาเรื่องการสื่อสารจึงไม่สามารถไปถึงพิพิธภัณฑ์ขนมหวาน เราเรียก the Museum of the Candy แต่ภาษาสเปนเรียก Museo del D

เม็กฮิโกตอนที่สอง ตอนแรกโหลดรูปแต่ไม่เห็นโชว์ให้ดู คงต้องมีคนแนะนำวิธีการให้คนฉลาดน้อยอย่างครูอู๋ได้เรียนรู้ มีรูปให้ชมความสวยงามขของสถานที่ (ไม่ใช่คนนะคะ) หลายรูปเหมือนกัน ถ้าต้องการชม ขณะนี้ ดูได้จาก chittrapakubdalaputra.hi5.com  แต่ถ้าอยากดูมากกว่านี้คือภาพที่ไม่มีครูอู๋โผล่หน้ามาให้เบื่อก็ต้องใจเย็น รอไปชมในเดือนมิถุนายนที่ chittrapa.net ค่ะ

วันที่สามวันแต่งงานของเจ้าบ่าวเม็กซิกัน เจ้าสาวออสซี่และ... วันทำความรู้จัก

โมเรเลียของครูอู๋กับพี่พลอย

           เช้าวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๒  เราสองคนป้าหลานเดินไปเรื่อยๆ บริเวณโรงแรมที่พักมีร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าและสถานที่อำนวยความสะดวกมากมาย ไม่น่าเป็นห่วง ครูอู๋ชอบหน้าตาของชิลี่ส์ผับมาก (Chili’s) ถ่ายรูปเก็บไว้ แล้วเราก็เลือกรับประทานอาหารเช้าที่ภัตตาคารแคลิฟอร์เนีย (California Restaurants and Breakfast) ซึ่งร้านดูน่าจะมีอาหารอร่อย (ประเภทชอบสรรหาที่ทานอาหารเก่ง) เรานั่งดูเมนูแล้วก็เลือกโดยเน้นตามรูปเป็นหลัก เพราะพนักงานส่วนใหญ่ไม่พูดภาษาอังกฤษ พี่พลอยเลือกอาหารชื่อ (ขอลอกชื่อและรายละเอียดจากเมนู ง่ายดี ผู้อ่านแปลเอาเองก็แล้วกัน)  “Rancheros” or “ Divorced Style Egg (Two fried eggs served on top of fried com tortillas cover with one or two sources ราคา $ 55) พร้อมกาแฟ ส่วนครูอู๋เลือก “Paliacate” Egg ( Scrambled eggs with ham and Norten˜a sauce, served with fried bean ราคา $ 56) พร้อมน้ำส้มคั้น การเดินทางครั้งนี้ครูอู๋ปฏิบัติตามคำสั่งคุณหมอค่อนข้างเคร่งครัด ไม่ดื่มกาแฟ รับประทานช้อคโกแล้ตน้อยที่สุด เพราะถ้าเกิดป่วยขึ้นคงลำบาก โดยเฉพาะการสื่อสาร 

           ความจริงครูอู๋เล็งรูปอาหารประเภทแกะ (Lamb หรือ Barbacoa) ของโปรดไว้แล้วว่าจะแอบมารับประทานช่วงเย็นวันใดวันหนึ่ง   ดูจากรูปเล็งไว้สองรายการ คือ Lamb Consome     ( Lamb consome prepared with our original recipe ราคา $ 33 )  และ Lamb Tacos         ( Delicious lamb shredded tacos. A Mexican tradition ราคา $ 56 )  แต่ก็ไม่มีเวลาและโอกาส  ก็เลยวางแผนว่าจะกลับไปรับประทานที่ประเทศไทย แถวสุขุมวิทซอย ๑๕ ที่ Royal President ซึ่งมีอาหารเม็กซิกันให้รับประทาน ไม่แน่ใจว่าจะมีหรือไม่ เพราะที่นั่นจะเน้นที่หมู เนื้อ ไก่ หรือกุ้ง                                              

                  แรกเริ่มเราวางแผนว่าจะถามพนักงานที่ภัตตาคารถึงเส้นทางการไปเที่ยวชมเมืองและสถานที่ แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องภาษา และคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ก็ไม่ใช่คนพื้นที่ เธอจึงไม่สามารถให้ข้อมูลได้มาก ฉะนั้นภายหลังเสร็จจากอาหารเช้าเราจึงกลับโรงแรมอีกครั้ง เพื่อขอแผนที่และรายละเอียดบางประการจากโรงแรม โชคดีที่ครูอู๋มีข้อมูลและรูปภาพเกี่ยวกับโมเรเลียซึ่งได้จากอินเทอร์เนตมาบ้าง เลยช่วยในการตัดสินใจสำหรับการเดินทางได้มากพอสมควร ครูอู๋ให้พี่พลอยเลือกสถานที่ เพราะพี่พลอยต้องกลับแอลเอวันอาทิตย์เพื่อไปเรียนวันจันทร์เช้า ซึ่งเป็นวิชาที่อาจารย์เข้มงวดมาก ส่วนครูอู๋มีเวลาบ่ายวันอาทิตย์และวันจันทร์ ก็สามารถไปชมสถานที่อื่นได้

           ก่อนอื่นครูอู๋ขอเกริ่นคร่าวๆเกี่ยวกับเมืองโมเรเลีย (Morelia) พอทราบเป็นสังเขป Don Antonio de Mendaza ชาวสเปนได้ค้นพบเมืองโมเรเลีย ในปี ค.ศ. ๑๕๔๑ ในฐานะ City of Michoacan ในปี ค.ศ. ๑๕๔๕ ได้ใช้ชื่อว่า Valladolid ซึ่งมีชื่อเหมือนเมืองในประเทศสเปน และเป็นเมืองหลวงของ Michoacan state ต่อมา Don Jose Maria Morekos y Pavon ในปี ค.ศ. ๑๘๒๘ ผู้นำในการประกาศอิสรภาพจากประเทศสเปน ได้ให้ชื่อใหม่ว่า Morelia โมเรเลียเป็นเมืองที่สวยงามมาก เป็นหนึ่งในสองร้อยเมืองที่ได้รับฉายาจากยูเนสโกว่าเป็น “ Cultural World Heritage” มีการอนุรักษ์ตึกโบราณ โบสถ์ สิ่งก่อสร้างที่สวยงามที่ทำจากหินควอรีสีชมพู (pink quarry stone) จนได้รับฉายาว่า เมืองสีชมพู (The Pink City หรือ Ciudad Rosa) เป็นหนึ่งในศูนย์การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดในประเทศ มาถึงตรงนี้คงต้องตามครูอู๋ไปเที่ยวที่ใจกลางเมืองหรือที่ชาวเม็กซิกันเรียกเซนโทรอย่างเร็วๆ

           โรงแรมได้เรียกแท็กซี่ให้ไปส่งเราที่ใจกลางเมืองหรือดาวทาวน์หรือเซนโทร แท็กซี่เมืองนี้ไม่เปิดแอร์ อากาศช่วงเช้าก็พอทนได้ แต่กลางวันค่อนข้างร้อน อย่างไรก็ดีคนขับอารมณ์ดีทุกคน เพราะเขาเปิดเพลงสนุกๆฟังตลอดเวลา ไม่ฟังเรื่องการเมือง ข่าวสังคม ก็ดีไปอย่าง ดับร้อนได้ ระหว่างนั่งแท็กซี่เราผ่าน The Aqueduct สีอิฐเน้นชมพูสวยงามมากได้สร้างโดยการบัญชาของ Bishop Fray Antonio de San Migule ในปีค.ศ. ๑๗๘๕ ใช้สำหรับการเตรียมหรือเป็นแหล่งปล่อยน้ำในเมืองและเป็นแหล่งสร้างงานของชาวพื้นเมือง มีลักษณะเป็นแบบบารอค (barouque style) นับเป็นสัญลักษณ์ของเมือง (icon of the city)

          เมื่อลงจากแท็กซี่ เราเริ่มเดินผ่านตัวเมืองมาเรื่อยๆ จนมาหยุดถ่ายภาพที่รถรางซึ่งบ้านเราไม่ค่อยมีให้เห็น ที่โมเรเลียมีพาหนะหลากหลายทั้งรถรางและรถเมล์ในการท่องเที่ยวชมจุดสำคัญๆในเมือง รถโดยสารจะออกจากใจกลางเมืองที่เรียกว่า historic center ไปยังโบสถ์ใหญ่ (Cathedral) และผ่านสถานที่สำคัญในเมือง ซึ่งก็จะมีการบรรยายเกี่ยวกับแต่ละสถานที่ ครูอู๋และพี่พลอยกังวลว่าช่วงเย็นเราต้องไปงานแต่งงาน และเราต้องหาซื้ออะแดปเตอร์ (adapter) สำหรับชาร์ทแบตเตอรี่กล้องถ่ายรูปและโทรศัพท์ เพราะที่นำมาใช้ไม่ได้เลย ทั้งๆที่ใช้ได้ในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ จึงไม่ได้ขึ้นรถราง รถรางจะไปหยุดที่พิพิธภัณฑ์ขนมหวานซึ่งเป็นสถานที่มีชื่อเสียงที่นักท่องเที่ยวจะได้เห็นเทคนิคการทำขนมพื้นเมือง รวมทั้งชิมและซื้อเป็นของฝากได้ ความจริงพี่พลอยอยากไป และเราก็เกือบจะไปถึงที่นี่ในช่วงบ่าย แต่เพราะปัญหาเรื่องการสื่อสารจึงไม่สามารถไปถึงพิพิธภัณฑ์ขนมหวาน  เราเรียก the Museum of the Candy  แต่ภาษาสเปนเรียก Museo del Dulce คนขับแท็กซี่ไม่สามารถเข้าใจ ครูอู๋ีโอกาสไปในวันจันทร์จึงได้แต่ถ่ายรูปและซื้อขนมฝากเขา

           ครูอู๋จะไม่ลำดับภาพอย่างละเอียดนักเพราะเราขึ้นๆลงๆแท็กซี่หลายรอบทั้งวัน เพื่อวนไปวนมาเที่ยวชมสถานที่ต่างๆในเมือง การเรียกแท็กซี่ที่นี่ง่ายมาก มีเยอะ สีขาว ราคาเท่ากันหมดคือครั้งละ ๓๐ เปโซ เพราะเมืองไม่ใหญ่มาก รถก็ไม่ติด จึงไม่จำเป็นต้องใช้มิเตอร์และภาษาในการต่อรองราคา ตึกต่างๆที่ใจกลางเมืองยังคงได้รับการอนุรักษ์ของเดิม ไม่มีการรื้อแล้วสร้างตึกสมัยใหม่แบบของประเทศไทยเรา ตึกรูปทรงใหม่ๆหรือห้างสรรพสินค้าจะอยู่ด้านนอก ไม่อยูที่ใจกลางเมือง ฉะนั้นเสน่ห์ของกลางเมืองโมเรเลียจึงเป็นสถาปัตยกรรมสวยงาม ดั้งเดิมทั้งรูปปั้น โบสถ์ น้ำพุ ตึก ร้านค้าต่างๆ

              สถานที่ที่เราได้รับคำแนะนำให้ไปเยี่ยมชมคือ Market of the Candies เพราะเมืองนี้มีชื่อเสียงเรื่องขนมที่ทำจากผลไม้ของท้องถิ่นเป็นขนมที่ไม่สามารถซื้อได้จากแหล่งอื่น แม้หน้าตาของขนมจะคล้ายกัน แต่ขนมที่นี่เน้นการทำจากผลไม้มากกว่าวัสดุหวานอื่น อย่างไรก็ดี Market of the Candies มิได้ขายเฉพาะขนม แต่มีขายของที่ระลึกและเสื้อผ้าด้วย ครูอู๋และพี่พลอยดูผ่านๆ เพราะความละเอียด ประณีตและสวยงามสู้ของประเทศเราไม่ได้ อีกประการหนึ่งคือของที่ระลึกส่วนใหญ่จะมีขนาดใหญ่ ยากแก่การนำกลับไป และเรายังมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ครั้งแรกครูอู๋เห็นราคา รู้สึกว่าแพงมาก เพราะเขาเขียนเป็น $  ความรู้ใหม่คือ $ ของเขาหมายถึง  เปโซ เราไม่มีเงินเปโซมากนัก แลกจากโรงแรมมาเล็กน้อย เพราะไม่สามารถแลกจากประเทศไทยได้ แต่เราก็คิดว่าคงจะกลับมาดูอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อซื้อบางสิ่งเป็นของฝาก และแล้วในที่สุด เราก็ไม่มีเวลากลับมาซื้อ ความจริงบทเรียนมีมากว่าโอกาสการกลับมาซื้อของยังสถานที่ที่เคยไปนั้นยาก สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องไปหาแหล่งแลกเงินเปโซให้ได้ก่อน

           เราได้ไปถามแหล่งข้อมูลหน้า Market of the Candies ครูอู๋เลยถือโอกาสจองตั๋วทัวร์ในวันจันทร์ซึ่งเป็นวันที่ว่าง กับ A&H TOUR ราคา ๓๕๐ เปโซ  จ่ายค่ามัดจำ ๕๐ เปโซ บริษัททัวร์จะไปรับที่โรงแรมประมาณ ๙.๓๐ นง เริ่มเดินทางประมาณ ๑๐.๓๐ น. กลับที่พักประมาณ ๑๘.๓๐ ๑๙.๐๐ น. เสร็จแล้วก็ไปเดินชมสถานที่ต่างๆต่อ ตามด้วยแลกเงินและรับประทานอาหารกลางวัน พี่พลอยอยากไปชม Templo de Nuestra Sen˜ora de Guadalupe ซึ่งเป็น หนึ่งในห้าของโบสถ์ที่สวยที่สุดในเม็กฮิโก แต่เป็นสถานที่แต่งงาน (Religious Ceremony) ของคู่บ่าวสาว เราเลยข้ามไป เพราะได้ไปแน่นอนช่วงค่ำ

          เราเดินไปหลายที่ ขนาดมีโพยมาก็ยังงงๆว่า เป็นที่ไหนแน่ มีทั้งโบสถ์ พิพิธภัณฑ์ ร้านขายสินค้า สถานที่แสดงศิลปะ ฯ ล ฯ แต่ที่แน่ๆเราไม่พลาดโบสถ์ใหญ่ หรือ The Cathedral ที่มีชื่อเสียงมากของเม็กฮิโก เป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตสง่างามมาก ทำจากหินควอรีสีชมพู (pink quarry stone) มีความสูงเกือบ ๒๓๐ ฟุต เริ่มก่อสร้างในปี ค.ศ. 1660 แล้วเสร็จในปี ค.ศ.1744 การตกแต่งภายในก็งดงามมาก ถ้าใครไปโมเรเลียไม่ควรพลาด นอกจากนั้นเราก็ประทับใจในความงดงามของสิ่งประดิษฐ์สีสรรสดใสใน House of Handcrafts และสถานที่แสดงภาพหรือศิลปะอย่าง Galeria Efrain Vargas ศาสนจักร์และโบสถ์ต่างๆก็มีมาก เพราะโมเรเลียเป็นเมืองแห่งอารยธรรมด้วยเช่น Las Rosas Church, San Diego Temple เป็น

            ช่วงบ่ายหลังอาหารกลางวันมื้อหนักที่ร้าน Artey Cultura หน้า Galeria Hotel Casio หน้าตึกที่มีร่มเขียวๆ ที่กล่าวว่าอาหารมื้อหนักเพราะเมนูที่ร่านนี้ไม่มีรูปให้ดู พนักงานบริการพูดภาษาสเปน ได้ภาษาอังกฤษนิดหน่อย เราจึงสั่ง       con pollo ราคา $ 70 ซึ่งพี่พลอยพอจะจำภาษาสเปนได้บ้างสมัยเรียนชั้นประถมศึกษาที่สหรัฐอเมริกา บอกว่า pollo หมายถึงไก่ ฉะนั้นเราน่าจะรับประทานได้ และเพื่อความปลอดภัยในเชิงปริมาณเลยสั่งให้เขาแบ่งเป็นสองจาน แล้วพี่พลอยสั่งเครื่องดื่มคือ Capuchino Con Sabol ราคา $ 33 ส่วนครูอู๋สั่ง limonda O Naranjada $ 26 เข้าใจว่าเป็นน้ำมะนาวผสมโซดา แต่เมื่อดื่มจริงๆ รสชาดน่าจะเป็นน้ำส้มผสมโซดามากกว่า ที่กล่าวว่าอาหารมื้อหนัก เพราะขนาดแบ่งเป็นสองจาน เราสองคนซึ่งรับประทานเก่งมากยังไม่สามารถจัดการได้หมด น่าจะมีสามหรือสี่คนมาช่วยกันรับประทาน

              เมื่อรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ เราก็นั่งแท็กซี่ไปยังแหล่งท่องเที่ยวแนะนำสองแห่งคือ Villalongin Garden หรือ Plaza Villalongin สถานที่ทำให้คิดถึงชีวิตที่สงบในอดีต มีชื่อเพื่อเป็นเกียรติ์แก่ Manuel Villaongin ผู้ช่วยชีวิตภรรยาสาวที่ถูกชาวสเปนจับขังในคุกชื่อ “ Las Animal” ซึ่งอยู่ในสวนนี้ ปัจจุบันชาวเม็กซิกันมักมานั่งพักผ่อนในบรรยากาศสบายๆ ดอกไม้สวยๆและ Las Tarascas Fountain เป็นน้ำพุอยู่ด้านหน้าของ Villalongin Garden ดังที่เห็นในภาพบน ทั้งสองแห่งอยู่ใกล้กัน Las Tarascas Fountain เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเมือง มีรูปปั้นสามสาวพื้นบ้านร่วมกันแบกกระจาดผลไม้ท้องถิ่นไว้เหนือศีรษะ ดูแล้วมองเห็นภาพความแข็งแรงของสาวชาวเมืองนี้ได้อย่างชัดเจน

              รายการต่อไปคือพิพิธภัณฑ์ลูกกวาด ที่ครูอู๋เล่าในตอนต้นว่าพี่พลอยอยากไป แต่เพราะปัญหาเรื่องการสื่อสารซึ่งคนขับแท็กซี่ไม่เข้าใจ และเราก็ยังไม่ทราบว่าเขาเรียก Museo del Dulce  ครูอู๋ีโอกาสไปในวันจันทร์และเสียดายมาก เพราะสถานที่นี้อยู่ใกล้ Villalongin Garden ความจริงเดินไปก็ได้ เอาไว้โอกาสหน้า ถ้าเชื้อไข้หวัดใหญ่เม็กฮิโกหยุดระบาด พี่พลอยคงมีโอกาสได้ไป เวลาก็ล่วงเลยมาประมาณบ่ายสามโมงแล้วเราจึงตัดสินใจนั่งแท็กซี่กลับที่พัก แวะนำขนมที่ซื้อไปเก็บที่ห้อง แล้วเดินไปห้างสรรพสินค้าเซียร์เพื่อซื้ออะแดปเตอร์ แต่ไม่มีต้องนั่งแท็กซี่ไปซื้อที่ร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้า กลับมาถึงโรงแรมก็เหนื่อเอาการ อาบน้ำ พักผ่อนได้ไม่นานก็ต้องแต่งตัวไปโบสถ์ตามกำหนดเวลาในบัตรเชิญ โรงแรมเรียกแท็กซี่ให้ การเดินทางสะดวก เพราะสถานที่เป็นที่รู้จัก และก็ ๓๐ เปโซเช่นเคย

              เราไปถึงหน้าโบสถ์ตามเวลา มีแขกทยอยมาเป็นระยะ พูดคุย ทักทาย ถ่ายรูปกันด้วยบรรยากาศแห่งความสุข ครูอู๋และพี่พลอยได้แต่ร่วมสังเกตด้วยความสุข และเนื่องจากพี่พลอยกำลังเรียนด้านแฟชั่นดีไซด์ จึงถือโอกาสสไตล์การแต่งตัวซึ่งอาจแตกต่างจากของประเทศเราบ้าง เพราะหลายคนแต่งชุดสีดำที่ดูสวยงาม แต่เราไม่คุ้นชินกับสีดำในงานแต่งงาน รอจนระยะหนึ่งเจ้าภาพก็เปิดโอกาสให้แขกทยอยเข้าไปในโบสถ์ คุณเปเป้ผู้พ่อได้เดินมาทักทายครูอู๋กับพี่พลอย พร้อมแสดงความขอบคุณและให้เลือกที่นั่งตามอัธยาศัย เราเข้าไปนั่งตรงกลางใกล้ทางเดิน มีการแจกเอกสารหรือโบรชัวร์กำหนดการซึ่งมีรายละเอียดดีมากทั้งกิจกรรม คำสวด คำที่แต่ละคน เจ้าบ่าว เจ้าสาว รวมทั้งแขกต้องกล่าว ทำให้ง่ายต่อการปฏิบัติตนในการร่วมพิธี ซึ่งก็เหมือนการแต่งงานแบบตะวันตกทั่วไป ประธานในพิธีหรือที่เรียกว่าคุณพ่อดูเคร่งขรึมศักดิ์สิทธิ์ และใจดี ระหว่างพิธีมีหนูน้อยสามคนพร้อมพี่เลี้ยงสาวสวยเดินแจกของชำร่วยให้แขกทุกคน เพลงที่เลือกใช้ในพิธีก็ไพเราะมาก โดยเฉพาะการเลือกใช้เพลงในวาระต่างๆ เช่น Water Music ของ G.F. Handel, Alleuid ของ W.A. Mozart, Offering ของ F. Schubert, Consecration ของ J.S. Bach หรือ Wedding March ของ F. Mendelssohn เป็นต้น

            เมื่อพิธีทางศาสนาเสร็จเรียบร้อย แขกได้ทยอยไปยังสถานที่เลี้ยง  ครูอู๋กับพี่พลอยนั่งแท็กซี่ไปในงาน เราได้รับการจัดให้นั่งโต๊ะเดียวกับคุณพ่อคุณแม่และญาติของเจ้าบ่าว เจ้าสาว บรรยากาศของงานเต็มไปด้วยความสนุกสนานของแขกทั้งญาติและเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว แต่ก็มีพิธีการที่บิดา มารดา เจ้าบ่าว เจ้าสาว กล่าวขอบคุณแขก การเปิดงานเริ่มด้วยการเต้นรำของคู่บ่าวสาว ตามด้วยการสลับคู่ของบิดา มารดา และผู้ร่วมงานซึ่งทยอยเข้ามาในฟลอร์เรื่อยๆ เพลงที่เปิดก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ สนุกสนานมาก อาจมีพักช่วงที่มีการเสริฟอาหาร อาหารจานแรกคือซุปอโวคาโด พนักงานเสริฟควงจานมาเสิรฟพร้อมกัน ดูสวยงามและเป็นระเบียบ ครูอู๋ต้องยอมรับว่าอาหารรสดีมาก Karyn เล่าให้ฟังว่า พวกเขามาชิมอาหารตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปีที่ผ่านมา โดยชิมทุกอย่าง แล้วเลือกสรรสิ่งที่เชื่อว่าอร่อยที่สุด ดีที่สุด โอ้โหประณีตจริงๆ เขาให้ความสำคัญกับการจัดงานและเตรียมตัวอย่างดีมากจริงๆ

             Karyn กลัวพี่พลอยไม่สนุกก็แนะนำญาติให้พาพี่พลอยไปเต้นรำ และดูพี่พลอยจะสนุกมากเมื่อได้เต้นระบำจังหวะสนุกๆกับคนต่อตัว ในช่วงการเต้นรำมีทั้งหน้ากากแฟนซี และดอกไม้ แสงเสียง สะท้อนชีวิตที่มีความสุขแล้เสรีของชาวเม็กซิกัน ครูอู๋และพี่พลอยกลับโรงแรมประมาณเที่ยงคืนพร้อม Fran คนอื่นๆคงเต้นรำต่อถึงเช้า ดร.มูนบอกว่ากลับบ้าน ๕.๐๐ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ต้องยอมรับว่าเก่งจริงๆ เพราะวันต่อมาก็มีการเลี้ยงอาหารกลางวันที่เรียกว่า Post – Wedding Ceremony หรือที่ชาวเม็กซิกันเรียกว่า tornaboda

             ความจริงงานแต่งงานครั้งนี้ได้จัดเป็นเวลาสามวันตามประเพณีของชาวเม็กซิกัน วันแรกเป็นการเลี้ยงอาหารเย็นก่อนแต่งงานที่บ้านของ Susi and Cesar พี่สาวและพี่เขยของเปเป้ (เจ้าบ่าว) เรียกว่า Pre - Wedding Ceremony จัดในค่ำคืนวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๒ ครูอู๋กับพี่พลอยมาไม่ทัน วันต่อมาคือวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๒ เป็นวันที่จัดพิธีทางศาสนาและเลี้ยงอย่างเป็นทางการ วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๒ เป็นการเลี้ยงหลังแต่งงานในช่วงกลางวัน เรียกว่า Post – Wedding Ceremony หรือ tornaboda สำหรับ Pre - Wedding Ceremony และ Post – Wedding Ceremony นั้นเจ้าภาพจะเชิญเฉพาะญาติและเพื่อนสนิทเท่านั้น

 

หมายเลขบันทึก: 260753เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2009 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท