เที่ยวเม็กฮิโก ๒๐๐๙ ความทรงจำที่ลำค่า ภาคหนึ่ง


ครูอู๋เล่าเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับเม็กฮิโก ในช่วงที่เริ่มกำเนิดไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙

     ปัจจุบัน จิตราภาเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในชื่อว่า "ครูอู๋" ฉะนั้นจะขอเรียกตัวเองว่า "ครูอู๋" หลังจากหายไปนาน วันนี้ครูอู๋จะมาเล่าเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับเม็กฮิโก ในช่วงที่เริ่มกำเนิดไข้หวัดใหญ่ สายพระใหม่ ๒๐๐๙ ครูอู๋ไปเม็กฮิโก ระหว่าง ๑๗ - ๒๑ เมษายน มีเรื่องเล่ามากมาย กำลังเขียนลง website ของตนเอง และมีหลายคนได้อ่านเล็กน้อย บอกว่าให้ทำพ้อกเก๊ตบุ้ค ขอคิดดูก่อนเพราะช่วงนี้ทำหนังสือหลายเล่ม ทุบกระปุกจนจะเกลี้ยงแล้ว ... ขอนำเรื่องมาเล่าให้เพื่อนทราบเป็นตอนๆ นะคะ

นำเรื่อง

          ครูอู๋กลับจากประเทศเม็กฮิโก (ขอเรียกแบบชาวบ้านชาวเมืองในประเทศเขาเรียกกัน คือ ตัวอักษร X ในภาษาสเปนออกเสียงเป็นตัว ฮ นกฮูก ชาวเม็กซิกันใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาหลัก) เตรียมจะบันทึกความทรงจำเล็กๆน้อยๆที่ได้มีโอกาสเหยียบแผ่นดินที่แสนไกลและเต็มไปด้วยเสน่ห์อีกรูปแบบหนึ่งของพื้นที่โลก ก็พอดีมีข่าวใหญ่เกี่ยวกับไข้หวัดหมู (Swine-Flu) ที่เริ่มต้นจากรัฐโออาซากา ทางตอนใต้ของประเทศเม็กฮิโกและกำลังระบาดในประเทศต่างๆ มีคนเสียชีวิตในเม็กฮิโกจากโรคนี้เกิน ๑๕๐ คนแล้ว (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก เป็นตัวเลขที่น้อยกว่านี้ ตรวจสอบเอาเองนะ เพราะความไวของข้อมูลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก) แม้ประเทศไทยและประเทศเม็กฮิโกจะอยู่ห่างไกลกันประเภทเดินทางสองวันจึงจะได้เหยียบแผ่น ดินของกันและกัน แต่รัฐบาลและหน่วยงานไทยก็มีกระบวนการป้องกันเข้มแข็งมาก มีเครื่องเทอร์มอลสะแกนเนอร์ (Thermal scanner) หรือเครื่องตรวจจับอุณหภูมิของร่างกาย ติดตั้งที่สนามบินนานาชาติ ๓ เครื่อง คือ ที่สุวรรณภูมิ เชียงใหม่ และ ภูเก็ต (ของสิงคโปร์ติดตั้ง ๑๕ เครื่อง ฟิลปปินส์ติดตั้ง ๑๒ เครื่อง กำลังจะเพิ่มอีก ๓ เครื่อง) ตรวจสอบอุณหภูมิผู้โดยสารและลูกเรือทุกคน ครูอู๋กลับมาก่อนติดตั้งเครื่องเครื่องเทอร์โมสะแกนเนอร์ประมาณ ๒ ๓ วัน เลยสบายไป ต้นเดือนพฤษภาคมได้ทราบว่าเครื่องเทอร์มอลสะแกนเนอร์ที่สนามบินสุวรรณภูมิมี ๖ เครื่องแล้ว และรัฐบาลก็กำลังสั่งซื้อเพิ่มเติมเครื่องเทอร์มอลสะแกนเนอร์เครื่องเทอร์มอลสะแกนเนอร์ ขณะที่การเตือนภัยอยู่ที่ระดับ ๕ แล้ว องค์การอนามัยโลกพยามยามจะไม่ให้ไปถึงระดับสูงสุดคือ ระดับ ๖ ซึ่งก็หมายความว่า เราคงจะใช้ชีวิตลำบาก ร้านค้า หน่วยงานปิด คนต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน คงไม่มีใครต้องการให้ไปถึงขั้นนั้นแน่นอน  ในการตรวจสอบนั้นถ้าใครมีอุณหภูมิสูงกว่า ๓๖ องศาเซลเชียส  เครื่องจะร้อง และถ้ามีอาการคลื่นไส้ ปวดเมื่อย ไอ มีน้ำมูก หรือต้องสงสัยว่าจะมีเชื้อไข้หวัดหมู ก็จะถูกนำตัวไปตรวจ ทำให้คนกลัว และไม่กล้าไปประเทศที่มีการแพร่ระบาดโดยเฉพาะประเทศเม็กฮิโกในช่วงนี้ เพราะไข้หวัดดังกล่าวสามารถแพร่เชื้อได้ทางอากาศที่เราหายใจเข้าออกทุกวัน ทั้งๆที่ครูอู๋กำลังจะชวนให้ไป ความจริงคนที่เป็นไข้นั้น นายแพทย์และพยาบาลหลายโรงพยาบาลบอกครูอู๋ว่าต้องมีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน ๓๗ องศาเซลเชียส นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีความพิเศษคือ ช่วงเวลานี้ราคาหมูแพง คนกำลังจะรับประทานหมูน้อยลง เลยพาลจะเลิกรับประทานหมูไปเลย จนหน่วยงานราชการต้องเปลี่ยนชื่อ ไข้หวัดหมู เป็น ไข้หวัดใหญ่ที่มีเชื้อจากประเทศเม็กฮิโก หรือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เม็กฮิโก หรือ ไข้หวัดเม็กฮิโก ไม่น่าว่าเจ้าชื่อนี้จะเป็นปัญหาไปทั่วโลกจนหลายประเทศและองค์การอนามัยโลกต้องพยายามปรับหาชื่อที่ไม่กระทบกระเทือนประเทศเม็กซิโกซึ่งเป็นประเทศต้นตอของไข้หวัดนี้ ปัจจุบันมีชื่อที่เรียกกันอย่างเป็นทางการทั่วโลกว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ A ๒๐๐๙ H1N1”  หรือ เรียกสั้นๆว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙ เอาหละ...อย่างไรครูอู๋ก็จะขอเล่าให้ฟังเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เม็กฮิโก (เล่ามากก็ไม่ได้ เพราะฟังภาษาสเปนไม่ค่อยรู้เรื่อง รู้นิดหน่อย แต่ก็ใบ้เป็นส่วนใหญ่ เอาเป็นว่าสนุกไปอีกแบบหนึ่ง เหมือนอ่านหรือฟังเรื่องเล่าเบาๆ ไม่ต้องกังวลกับสาระมากนักก็แล้วกัน ) สำหรับภาษาอังกฤษในเอกสารนี้ที่สะกดคล้ายๆจะผิด ความจริงไม่ผิด เพราะครูอู๋ลอกมาจากการสะกดของชาวเม็กซิกันจริงๆ กว่าจะเล่าเรื่องผ่านเอกสารนี้จบ ไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ก็ถูกจัดให้มีความรุนแรงระดับ ๕ การแพร่ระบาดก็ขยายตัว การป้องกันก็เข้มงวดขึ้น ประเทศไทยก็ได้จัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว แฟชั่นหน้ากากก็หลากหลายมากขึ้น ใครต้องการทราบรายละเอียดของผลกระทบจากเรื่องงไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ก็สามารถหาข้อมูลได้ทั่วไป ทั้งจากหนังสือและ website

 

วันแรกของการเดินทาง ... เป้าหมายคือ ...ลอสแอเจลิส (Los Angeles หรือ LA)

 

          วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๒ เวลาประมาณหนึ่งทุ่มเศษ ครูอู๋เหิรฟ้าจากกรุงเทพฯ ด้วยสายการบินแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่าการบินไทยมุ่งสู่นครลอสแองเจลิส (Losangeles) หรือเรียกสั้นๆว่าแอลเอ (LA) ซึ่งคาดว่าจะถึงประมาณ ๒๑.๓๐ น. ตามเวลาท้องถิ่น (เวลาที่แอลเอช้ากว่าเวลาที่ประเทศไทยประมาณ ๑๔ ชั่วโมง) แต่กัปตันเที่ยวนี้ชื่ออะไรก็จำไม่ได้ ขับเร็วมาก มาถึงแอลเอประมาณหนึ่งทุ่มเศษของ วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๒ ณ นครลอสแองเจลิส (เลยกลายเป็นหยุดอยู่กับที่) มีเรื่องเล่าบนเครื่องบินครั้งนี้นิดหน่อย คือช่วงเวลาที่เดินทางเป็นช่วงที่ประเทศไทยประกาศภาวะฉุกเฉิน กัปตันก็ได้ประกาศห้ามชุมนุมรวมกันเกิน ๕ คนโดยเฉพาะบริเวณหน้าห้องน้ำ เลยไม่มีคนไปยืนรอเข้าคิวหน้าห้องน้ำจำนวนมาก มีครั้งละหนึ่งคน ก็สะดวกดีสำหรับการเข้าห้องน้ำ สำหรับแผนการเดินทางครั้งนี้คือแวะเยี่ยมพี่พลอยหลานสาว (เขาเป็นหลานคนโตเราเลยเรียกว่าพี่จนติดปาก)  ซึ่งเรียนเกี่ยวกับการออกแบบ (Fashion Design) ที่แอลเอ แล้วรับไปเม็กฮิโกด้วยกันเพื่อร่วมงานแต่งงานของรีเบคคา (Rebecca Lucy Moon) หรือ ที่เรียกกันว่า Bec ลูกสาว ศาสตราจารย์ ดร.โทนี มูน และคาเรน (Anthony R. & Karyn R. Moon) เพื่อนชาวออสเตรเลียของครูอู๋ ซึ่งครอบครัวเราสนิทกันเหมือนญาติ Bec แต่งงานกับชาวเม็กซิกันชื่อ Jose’ Antoniq หรือ Pepe บุตรของ Jose A. Domingquez และ Elsa Y. Caballero (พ่อ ลูก ชื่อเหมือนกัน) แต่เนื่องจากเวลากระชั้นชิดจึงไม่สามารถพักค้างที่แอลเอได้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายแนะนำว่ากว่าจะผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองและรับกระเป๋าได้ก็ประมาณหลังเที่ยงคืน วันรุ่งขึ้นประมาณ ๙.๐๐ หรือ ๑๐.๐๐ นาฬิกาก็ต้องมาเช้คอินที่สนามบินอีก ฉะนั้นน่าจะรอที่อาคารผู้โดยสารขาออก (Departure area)  แล้วนัดหลานสาวมาพบกันที่อาคารดังกล่าวซะเลย ครูอู๋ก็วางแผนตามนั้นและนัดแนะกับพี่พลอยเรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่ากระบวนการต่างๆโดยเฉพาะการตรวจคนเข้าเมืองผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่เกินสี่ทุ่มทุกอย่างเรียบร้อย ประกอบกับรู้สึกเหนื่อยมาก เพราะก่อนเดินทางก็ทำงานจนนาทีสุดท้าย และไม่ค่อยสบายเล็กน้อย เลยตัดสินใจหาโรงแรมใกล้ๆสนามบินนอนหนึ่งคืน บวกลบคูณหารแล้ว ก็เลยโทรบอกพี่พลอยให้พักผ่อนแล้วมาสายหน่อยก็ได้ (เพราะเขาเรียนหนัก) ได้พักที่โรงแรมราคาไม่แพงนักคือ ฮอลิเดย์อินน์ (Holiday Inn) ประมาณ ๑๐๐ กว่าเหรียญ ซึ่งฝรั่งบอกว่าที่ LA ถือว่า ราคาไม่แพง

 

 

วันที่สอง... ไปถึงเป้าหมายหลัก โมเรเลีย เม็กฮิโก (Morelia Mexico)

 

          วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๒ ครูอู๋ตื่นมารับประทานอาหารเช้ามื้อใหญ่ด้วยบริการที่ดีของเจ้าหน้าที่โรงแรม อิ่มท้องสบายตัว แล้วจึงนั่งชัทเทอร์บัสไปสนามบิน แวะจอดที่เทอร์มินัล ๖ ซึ่งเป็นของสายการบินแอร์โรว์แม็กซิโกสถานที่นัดพบพี่พลอย เราต้องไปเปลี่ยนเครื่องอีกครั้งที่สนามบินนานาชาติเบนิโต้ อัวเรซ เมืองเม็กฮิโกซิตี้เพื่อจะไปยังสนามบินของเมืองโมเรเลีย เครื่องบินดีเลย์ ทำให้เราไปถึงโมเรเลียช้าจากสี่ทุ่มครึ่งกลายเป็นห้าทุ่มสิบห้า แต่กระบวนการทุกอย่างก็รวดเร็วมาก ดร.มูนและคุณเปเป้ (Jose’ A. Dominguez)  คุณพ่อของเจ้าบ่าวมารับเราไปส่งที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ (Holiday Inn) ซึ่งดร.มูนแนะนำว่าใกล้บ้านของครอบครัวเจ้าบ่าวและฟร้านซ์ (Fran) พี่สาวดร.มูนก็พักที่เดียวกัน ครูอู๋ได้จองโรงแรมผ่านอินเทอร์เน็ต ฉะนั้นเมื่อไปถึงโรงแรมก็นำรหัศการจองให้เขาก็เสร็จเรียบร้อยเข้าพักได้เลย โรงแรมนี้อยู่ใกล้ที่ช้อปปิ้งเซนเตอร์ขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้าเซน โรงภาพยนตร์ ภัตาคาร และร้านค้าจำนวนมากพอสมควร ครูอู๋ทราบว่าดร.มูนต้องมีภารกิจยุ่ง เพราะเป็นงานสำคัญของครอบครัวเขา จึงนัดว่าเราจะไปพบเขาที่โบสถ์พรุ่งนี้เย็นเวลา ๑๘.๓๐ น. ช่วงกลางวันเราจะไปเที่ยวในเมืองโมเรเลียกันเอง

    

     วันนี้พอแค่นี้ก่อนนะคะ เดี๋ยวยาวเกินไปจะเบื่อ (ที่เขียนยังไม่ได้ปรับสำนวน ธรรมชาติจริงๆเป็นการขอโทษมิตรรักแฟนชาววิจัยที่หายไปนานค่ะ) มีรูปให้ดูเล็กน้อยพอกันลืม อิอิ

 

หมายเลขบันทึก: 260748เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2009 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท