แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

โยคะวิถี : วิถีแห่งการเดินทาง By ครูเละ



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ


โยคะวิถี : วิถีแห่งการเดินทาง

ธีรเดช อุทัยวิทยรัตน์ (ครูเละ) ; 
(ดูงานเขียนทั้งหมดที่นี่) 

อ้างอิงข้อมูลจาก ; โยคะสารัตถะ ฉ.: ส.ค.'๕๑

คำว่าโยคะวิถีซึ่งผมตั้งเป็นชื่อคอลัมน์นี้ ว่าที่จริงแล้วเป็นคำที่อยู่ในห้วงคำนึงของผมมาก่อนหน้านี้นานพอสมควร โดยที่ส่วนหนึ่งน่าจะได้แรงดลใจจากครูอายุรเวทคนแรกของผมที่ถอดผลึกความรู้ความเข้าใจที่มีต่ออายุรเวทออกมาเป็นงานเขียนที่กระชับทว่าลุ่มลึกและคมชัด

ครูของผมเกริ่นนำงานเขียนชิ้นนั้นว่า อายุรเวทบอกให้เรารู้ว่าชีวิตคือการเดินทางที่เราแต่ละคนต้องค้นหาเป้าหมายและวิถีทางของเราเอง โดยมีร่างกายเป็นพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง

ทั้งนี้การเดินทางของชีวิตนั้นเป็นการเดินทางอันยาวไกล ชนิดที่เราต้องเปลี่ยนพาหนะคือร่างกายครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อมันหมดสภาพที่จะบรรทุกนำพาเราเดินทางได้อีกต่อไป นั่นก็คือเราต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ร่างกายใหม่ที่จะเป็นพาหนะนำเรามุ่งหน้าต่อไป จนกว่าจะถึงที่หมายปลายทาง

จำได้ว่าตอนที่อ่านถึงประโยคที่ว่า"ชีวิตคือการเดินทาง" ผมเกิดความคิดว่าวลีที่ว่าชีวิตคือการเดินทางที่ตัวเองคุ้นหูมานาน อีกทั้งบ่อยครั้งตัวเองก็รู้สึกเยี่ยงนี้ด้วยนั้น คล้ายจะเป็นผลึกร่วมแห่งประสบการณ์ของมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัย
โดยที่การเดินทางของชีวิตนั้นอาจมีอยู่หลายมิติ ตั้งแต่มิติของสถานที่คือเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง มิติของกาลเวลา เช่น การเดินทางผ่านวันและขวบวัย ไปจนถึงการเดินทางในมิติของความคิดและจิตใจ

ใช่หรือไม่ว่าการแสวงหาคำตอบว่า "ชีวิตคืออะไร?" "คนเราเกิดมาเพื่ออะไร?" "เราเกิดมาจากไหน?" หรือแม้แต่การฝึกจิตอบรมใจเพื่อให้เป็นสุข สงบ ไปจนถึงการปล่อยวางสู่ความวิมุติหลุดพ้น ก็คือการเดินทางทางความคิดและจิตใจอีกแบบหนึ่งเช่นกัน

เช่นนั้นแล้วโยคะวิถีที่ว่ากันว่า ปตัญชลีผู้เป็นบวรมุนีหรือมุนีผู้หามุนีอื่นเสมอมิได้ เป็นผู้ประมวลสังเคราะห์และจารึกไว้ ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นบทสรุปแห่งการจาริกของชีวิต หรือพูดอีกอย่างว่าเป็นดังเข็มทิศและแผนที่ที่ผู้จาริกในอดีตเดินทางถึงที่หมายปลายทางแล้วถอดบทเรียนมาจดจารไว้ให้นักเดินทางรุ่นหลังใช้เป็นคู่มือเพื่อเดินทางไปสู่จุดหมายเดียวกัน

จุดหมายปลายทางบนเส้นทางแห่งโยคะที่ว่าก็คือิตตะ วฤตติ นิโรธะ หรือ "สภาวะที่จิตหยุดการแส่ส่ายลงอย่างสิ้นเชิง1" จากนั้นผู้ฝึกซึ่งเห็นแจ้งแล้วจะคืนสู่รากฐานดั้งเดิมแห่งตนอีกครั้ง2(โศลกวรรคนี้ครูโยคะของผมเคยแปลความหมายในเชิงตีความว่า "เราจะเห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริง")

หรือดังที่บีเคเอส ไอเยนการ์ ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในตำนานโยคีที่ยังมีชีวิตกล่าวไว้ในหนังสือ ‘Light on Life' ว่าโยคะคือการเดินทางสู่ภายในผ่านเปลือกหุ้มของชีวิต จากเปลือกชั้นนอกสุดคือกายเนื้อไปสู่เปลือกชั้นในที่ละเอียดขึ้นทีละน้อยจนถึงชั้นในสุดคือแก่นแกนของชีวิตหรือตัวตน

สำหรับผม นอกจากจะก้าวย่างมาบนโยคะวิถีแล้ว ยังได้เดินมาบนมรรคาแห่งอายุรเวทด้วย จากที่ได้ไปจำหลักเรียนรู้อยู่กับครูอายุรเวทมาหลายขวบปี จากนั้นก็เดินอยู่บนวิถีของการเป็นผู้เยียวยา

ล่าสุดตอนที่กลับไปเยี่ยมเยียน รับใช้และพำนักกับครูที่อินเดียอีกครั้งเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว เราสามคนคือครูของผม เพื่อนสนิทของครูซึ่งเป็นทั้งมิตรสนิทและครูของผมอีกคนและผม นั่งปุจฉาวิสัชนากันใต้ร่มไม้ในคืนวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง

หนึ่งในหัวข้อที่ปุจฉาวิสัชนากันอย่างออกรสคือเรื่องของวิถีแห่งโยคะและอายุรเวท ตอนหนึ่งครูของผมบอกว่าเป้าหมายของโยคะอยู่ที่"จิตตะ วฤตติ นิโรธะ" ในขณะที่เป้าหมายของอายุรเวทอาจพูดได้ว่าอยู่ที่ระดับของ"จิตตวฤตติ"เป็นหลัก

ความหมายของครูก็คือโยคะเป็นเรื่องของการดับหรือหยุดการแส่ส่ายไปมาของจิต ในขณะที่ที่ทางหรือจุดมุ่งหมายของอายุรเวทไม่ได้ไปไกลถึงขั้นการจัดการกับจิตใจที่กระเพื่อมไหว หากอยู่ที่การรักษาสุขภาพกายให้ดี เพื่อให้เป็นอาศรมหรือเรือนแห่งจิตที่เราจะต้องวิวัฒน์พัฒนามัน จะด้วยศาสตร์หรือวิถีแห่งโยคะ หรือวิถีทางอื่นใดก็แล้วแต่ทางเลือกของแต่ละคน

ผมถามครูว่าถ้าเช่นนั้นพอจะพูดได้ไหมว่า ในฐานะของผู้เยียวยาอย่างครูหรืออย่างผม เราก็ยังสามารถเดินไปบนวิถีแห่งโยคะพร้อมๆ ไปกับก้าวย่างไปบนทางมรรคาอายุรเวทด้วย

ครูยิ้มรับด้วยสายตาอารี ก่อนจะบอกว่าอันที่จริงอาจกล่าวได้ว่าโยคะคือวิถีหรือมรรคาแห่งชีวิตที่นำเราไปสู่การหลอมรวม ในขณะที่การเป็นหมออายุรเวทเป็นวิถีแห่งวิชาชีพ หรือจะบอกว่าเป็นทางเลือกหรือเส้นทางของการดำเนินชีวิตเพื่อมุ่งไปสู่ปลายทางแห่งโยคะก็ว่าได้

โดยอาศัยเข็มทิศและแผนที่ซึ่งโยคีและเมธีอายุรเวทในอดีตขีดเขียนไว้เป็นเครื่องนำทาง

ถ้อยคำตอนท้ายของครู ทำให้ผมนึกถึงคำของครูอายุรเวทคนแรกที่เคยเปรียบเปรยคัมภีร์อายุรเวทว่าเป็นเสมือนเข็มทิศและแผนที่ซึ่งคนรุ่นเก่าก่อนมอบให้เป็นมรดกของคนรุ่นหลังอย่างเราๆ ครูยังบอกอีกว่า แต่ถึงที่สุดแล้วแผนที่ก็เป็นเพียงแค่แผนที่ ตัวมันเองหาได้พาเราไปสู่จุดหมายปลายทางไม่ สิ่งสำคัญยิ่งกว่าแผนที่ก็คือ เราต้องลงมือเดินทางด้วยตัวเราเอง

กางแผนที่อยู่ตรงหน้า ถอเข็มทิศอยู่ในมือ หาใช่หลักประกันว่าเราจะถึงที่หมาย ตราบใดที่เรายังไม่เริ่มต้นออกเดินทาง

หลายขวบปีบนเส้นทางแห่งโยคะและอายุรเวท ผมอาศัยเข็มทิศและแผนที่ที่โยคีและหมออายุรเวทจารึกไว้เมื่อหลายพันปีก่อนเป็นคู่มือเดินทาง บางหมุดหมายของการเดินทาง ผมเคยหยุดเพื่อใคร่ครวญขบคิดถึงเส้นทางที่จาริกผ่าน ทำให้มีข้อสังเกตบางประการ

ในแง่หนึ่งทั้งโยคะวิถีและมรรคาแห่งอายุรเวท น่าจะเรียกได้ว่าเป็นคู่มือสำหรับวิถีแห่งการเดินทางของชีวิต แต่มองในอีกแง่หนึ่งทั้งโยคะศาสตร์และศาสตร์แห่งชีวิตหรืออายุรเวทเอง ก็ผ่านการเดินทางอันยาวไกลเช่นกัน

หากคิดว่าศาสตร์คือความรู้ที่มีชีวิตและไม่สะดุดหยุดนิ่ง ผมเชื่อว่าภูมิปัญญาทั้งสองแขนงนี้เองก็น่าจะเก็บเกี่ยวและซึมซับเรื่องราวของผู้คนบนเส้นทางที่มันเดินทางผ่านมานับเป็นพันๆ ปี เรื่องราวบางอย่างมีการผูกโยงเชื่อมร้อยกับตำนานหรือเรื่องเล่าขาน

คัมภีร์ซึ่งเป็นอรรถาธิบายขยายความคัมภีร์ดั้งเดิมที่ถูกจารึกเพิ่มเติมในชั้นหลังๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโยคะก็ดี อาสนะก็ดี หรืออายุรเวทก็ดี มองในแง่หนึ่งก็คือบันทึกสะท้อนถึงสิ่งที่ศาสตร์ทั้งสองแขนงเก็บเกี่ยวในระหว่างการเดินทางผ่านกาลเวลา

นอกจากนี้ผมยังมีข้อสังเกตอีกว่าแผนที่ที่จารึกไว้เมื่อหลายพันปีก่อน ไม่แน่ว่าเมื่อถึงวันนี้เกาะแก่งและโขดหินที่นักเดินทางรุ่นเก่าก่อนทำเครื่องหมายไว้เพื่อเป็นที่สังเกต อาจถูกกระแสน้ำกัดเซาะ และส่งผลในทางกลับกันคือทำให้กระแสน้ำเบี่ยงเบนไปจากเส้นทางเดิมในอดีต

กล่าวอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ กาลเวลาที่ผ่านเลยทำให้สังคมและวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลง หลักคิด ข้อสังเกต และคำอธิบายบางช่วงตอนอาจไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ในยุคปัจจุบันได้อย่างตรงไปตรงมา หรือสอดรับกันสนิทเหมือนเราเอานิ้วมือทั้งสิบประสานกัน ข้อปฏิบัติบางอย่างไม่แน่ว่าจะสอดคล้องกับเงื่อนไขของผู้คนในยุคนี้

นั่นย่อมหมายถึงว่านักเดินทางรุ่นหลังอย่างเราๆ อาจต้องปรับเปลี่ยนเบี่ยงเบนเส้นทางบ้าง เราอาจต้องปรับข้อแนะนำและหลักปฏิบัติบางอย่างให้เหมาะกับวิถีชีวิตในปัจจุบันที่เปรียบเหมือนกระแสน้ำที่เปลี่ยนทาง

โดยมีเข็มทิศและแผนที่ซึ่งเมธีในอดีตมอบไว้เป็นเครื่องนำทาง เพื่อว่าเราจะได้ไม่หลงทิศผิดทาง โดยหวังว่าวันหนึ่งข้างหน้าเราจะได้ไปถึงที่หมายปลายทางเดียวกับผู้ที่เคยจาริกบนเส้นทางสายนี้

1 โยค จิตฺต วฺฤตฺติ นิโรธหฺ - ปตัญชลีโยคสูตร บทที่ ๑ โศลกที่ ๒
2 ตทา ทฺรษฺฏุหฺสฺวรูเป' วสฺถานมฺ - ปตัญชลีโยคสูตร บทที่ ๑ โศลกที่ ๓

 



มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1  ถนนรามคำแหง  แขวงหัวหมาก  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  10240  
โทรศัพท์  02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744 ; 
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

 

หมายเลขบันทึก: 260061เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2009 06:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท