ทำอย่างไรเยาวชนไทยจึงจะหันกลับมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตอนที่ 1


พบแล้ว วิธีการที่จะทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ หันมาสนใจศิลปวัฒนธรรมของไทยเรา และกล้าที่จะแสดงออกอย่างเต็มใจสมภาคภูมิ

ทำอย่างไร เยาวชนไทย 

จึงจะหันกลับมาสนใจ   

เอกลักษณ์ของท้องถิ่น (ตอนที่ 1) 

(ชำเลือง  มณีวงษ์/ผู้เขียน) 

 

          ถ้าจะเปรียบวัฒนธรรมไทยเป็นสินค้า เปรียบได้กับสินค้านำเข้า และสินค้าส่งออก ที่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนกันไปมาโดยตลอด หมายถึง มีทั้งการเผยแพร่สิ่งที่แสดงถึงความเจริญงอกงามของสังคมไทยไปยังสังคมโลก และในทำนองเดียวกัน เราก็มีการรับเอาวัฒนธรรมจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาสู่สังคมไทย เป็นวัฒนธรรมนำเข้าที่เปรียบเสมือนคลื่นลูกใหญ่ หรือเป็นกระแสความรู้สึก ความต้องการ หรือเป็นค่านิยมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีการยอมรับในความเจริญงอกงามของนานาอารยะชนเข้ามาในกลุ่มของคนไทย โดยเฉพาะวัยรุ่น

          แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม เราคงไม่อาจที่จะปิดกั้นคลื่นของวัฒนธรรมที่หลั่งไหล หรือแพร่เข้ามายังสังคมไทยได้ เพราะความเจริญที่รวดเร็วของการสื่อสาร ในระบบเครือข่ายที่ทำให้คนเราได้รับรู้สิ่งต่าง ๆ ในทั่วทุกมุมโลกได้ในเวลาเดียวกัน สังคมที่เคยปิด กลายเป็นสังคมเปิดที่สามารถรับรู้ได้อย่างรวดเร็วและข่าวสารเหล่านี้เข้ามาสู่ความรู้ความเข้าใจในรอบด้าน โทรศัพท์มือถือ ได้กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่รวบรวมเอาเครื่องมืออื่น ๆ เข้าไว้ในโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียวได้อย่างลงตัว และนับวันที่จะมีอิทธิพลต่อมนุษย์ โดยเฉพาะเยาวชนมากยิ่งขึ้นทุกวัน 

          การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่ดี เป็นการเรียนรู้ความเจริญงอกงามของคนกลุ่มหนึ่ง อันจะนำมาซึ่งแบบอย่างของการพัฒนาจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง แต่คำว่าท้องถิ่น ในทุกสังคมโลก ประเทศแต่ละประเทศยังแบ่งแยกออกเป็นท้องถิ่นต่าง ๆ เป็นภาค เป็นมณฑล เป็นรัฐที่มีอะไรต่อมิอะไรที่แตกต่างกันออกไปตามข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมที่จำเป็น รวมไปถึงการดำรงชีวิตของแต่ละภูมิภาค ไปจนถึงสภาพของดินฟ้าอากาศที่แตกต่างกันออกไป อันจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ทำให้แตกต่างกัน

         

         

 

          แม้แต่ในประเทศไทยเรา ไม่ว่าจะจัดแบ่งออกเป็น 4 ภาค หรือ 6 ภาค หรือจะแบ่งออกเป็น 8 ภาคก็ล้วนแล้วแต่รวมเอาความเป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกันมาเป็นข้อจำกัดในการจัดแบ่ง เมื่อจัดแบ่งออกเป็นภาค เป็นจังหวัดแล้ว จะทำให้มองเห็นจุดเด่นของท้องถิ่นนั้น ๆ ถึงแม้ว่า บางจังหวัดจะมีอาณาเขตที่คับแคบ มีพื้นที่น้อย (เป็นจังหวัดเล็ก ๆ) แต่ก็ยังมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นน่าสนใจ สามารถที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างแดน ให้หลงใหลต้องไปเยือนได้อย่างน่าพิศวง เอกลักษณ์ที่ว่านั้นแสดงออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน ได้แก่

-  มีของที่ระลึก มีของฝากที่สวยงามมีชื่อเสียง ผู้คนสนใจอยากได้

-  มีสถานที่สำคัญ ทำให้ผู้คนต้องหลั่งไหลกันไปยังสถานที่นั้น ๆ

-  มีความสวยงามของธรรมชาติ ชนิดที่ไม่มีแห่งใดเทียบเท่า

-  มีบุคคลที่สร้างประโยชน์ให้สังคม จนทำให้มีผู้ไปเยือนไม่ขาดสาย

-  มีสิ่งก่อสร้างที่สวยงาม ใหญ่โต ผู้คนให้ความเคารพ ศรัทธา

-  มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ศรัทธาเชื่อถือของประชาชน

-  มีศิลปะการแสดงของท้องถิ่นที่ไม่เหมือนใคร

-  มีการละเล่นของท้องถิ่นที่สวยงาม ติดตาตรึงใจผู้ที่มาพบเห็น

-  มีทศกาล ประเพณีที่ดีงาม เมื่อได้เข้าไปร่วมงานแล้วสุขใจ

 

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ยกเอามาเพียงส่วนหนึ่งให้เห็นว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่บ้านเรามี ที่อื่น ๆ เขาไม่มี หลายสิ่งหลายอย่างที่มีในภาคเหนือ แต่ก็ไม่มีในภาคกลาง เช่นเดียวกันกับหลายสิ่งหลายอย่างที่มีในภาคอีสานก็ไม่มีในภาคใต้ แต่ภาคใต้ก็มีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเช่นเดียวกันกับภาคอื่น ๆ

ตรงนี้เองที่ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านศิลปะมาจากบรรพบุรุษหลายท่านและผมก็รับเอาภูมิปัญญาหลายแขนงจากบุคคลรุ่นเก่า ๆ มาอยู่ในตัวของผม มาถึงวันนี้ทำให้ต้องกลับไปมองอดีตที่ผ่านมา ผมไม่ได้เดินตามรอยคนรุ่นเก่าทั้งหมดทุกอย่าง แต่ผมนำเอารูปแบบ และแบบอย่างของความอยู่รอดของท่านเหล่านั้นมาศึกษาให้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของการดำเนินชีวิต

 อย่างน้อย ๆ ก็เป็นคติเตือนใจให้คิดว่า การดำเนินชีวิตจะต้องมีจุดเริ่มต้น และจุดจบ (ความตาย) ในเวลาอันควร แต่ในระหว่างที่เรากำลังดำเนินชีวิต ถ้าเราได้ช่วยกันสร้างสรรค์คุณงามความดี โดยเฉพาะทำดีให้กับท้องถิ่นหรือแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ก็น่าที่จะเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อประเทศชาติของเราไม่น้อย การศึกษาในระบบ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยรักษา    เอกลักษณ์ความเป็นไทยเอาไว้ได้ แต่การเรียนรู้โดยการปฏิบัติจากบุคคลแห่งภูมิปัญญา ในท้องถิ่น มีความสำคัญต่อการรักษาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของสถานที่แห่งนั้นมาก หากไม่มีผู้ที่จะมารับช่วงต่อ วัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ก็อาจจะสูญหายไปหรือค่อย ๆ จางลงไปจนในที่สุดไม่มีให้เห็นอีกต่อไป

                  

 ในความเป็นจริง เยาวชนคือผู้ที่บริสุทธิ์ และพร้อมที่จะรับเอาสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาและปฏิบัติได้ตามคนรุ่นก่อน ๆ แต่จะมีใคร หน่วยงานใด องค์กรใด ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการบำรุงรักษากลุ่มใด เดินหน้าอย่างมั่นคงถาวร โดยเริ่มต้นจากกลุ่มคน กลุ่มเล็ก ๆ แล้วได้รับการส่งเสริมสนับสนุนต่อยอดอย่างจริงจังไปจนเห็นเป็นรูปธรรม (วันนี้อาจจะยังไม่มี)

 

ที่ผมกล่าวมานี้ เพราะผมเป็นเพียงคน ๆ หนึ่ง ที่เดินทางบนถนนแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นและได้รับประสบการณ์ตรงมาตลอดชีวิต บอกได้ว่า โดดเดี่ยว เหงา และไม่มั่นใจว่า จะเอาอยู่หรือไม่ ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมาจนใกล้ที่จะถึง 60 ปี แล้วก็ตาม แต่ยังไม่เคยได้ยินคำยืนยันอย่างเด่นชัดและเป็นรูปธรรมว่า พบแล้ว วิธีการที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ สนใจศิลปวัฒนธรรมของไทยเรา และกล้าที่จะแสดงออกอย่างเต็มใจสมภาคภูมิ

 

(ติดตาม ตอนที่ 2  ทำอย่างไร เยาวชนไทยจึงจะหันกลับมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น)

หมายเลขบันทึก: 259981เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2009 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ อ.ชำเลือง

ได้เห็นบันทึกนี้แล้วต้องบอกว่าอยากเชิญอาจารย์เข้าร่วมกิจกรมม GotoKnow ฟอรัม ครั้งที่ 1 : ชวนกันร่วมแรง "เขียน และ ขุด" บันทึก เพื่อทำหนังสือ "เรื่องเล่าจากคนทำงาน "

ซึ่่่งต้องบอกเลยว่าบันทึกนี้มีประโยนช์ต่อคุณครู อาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ต้องการส่งเสริมให้เยาวชนเห็นความสำคัญของท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

หนูรบกวนขอความกรุณาจากอาจารย์เพิ่มคำสำคัญ

  • ความเหลื่อมล้ำทางความรู้
  • Digital Divide
  • Knowledge Divide

ในบันทึกนี้และบันทึกอื่นๆ ที่อาจารย์พิจารณาแล้วเหมาะสมต่อการเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำหนังสือด้วยนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ ^_^

สวัสดี มะปรางเปรี้ยว(หวาน)

  • บันทึกของผมทั้งหมดเป็นประสบการณ์ตรงและอ้อมที่ได้รับจากการดำเนินชีวิต
  • ขอบคุณ ผู้ดูแลเว็บมากครับ (และอีกหลายครั้ง) ที่เห็นคุณค่าความสำคัญของอนาคตคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าพวกเขาจะไปในทิศทางใด
  • หากไม่ลืมถิ่น ไม่ลืมความเป็นไทย นั่นคือ สร้างชาติให้มั่นคง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท