เอามะพร้าวมาขายสวน : การอภิปรายผลการวิจัย..ยากเย็นแสนเข็ญจริงหรือ?


การอภิปรายผลการวิจัย เป็นส่วนที่แสดงถึงความรู้ความสามารถของผู้วิจัยจริง ๆ

 

     ทุกข์ทรมาณกันไปตาม ๆ กัน ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าจะเดินมาถึงการอภิปรายผลการวิจัย ก็ล้วนสาหัสกันมาแล้วเริ่มตั้งแต่กว่าจะได้คำถามวิจัยคม ๆ เฉียบ ๆ และก็สาหัสเรื่อยมาตามลำดับขั้น "นี่ก็แก้ครั้งที่...นับไม่ถูกแล้ว" เป็นคำที่หลุดออกมาหลังจากหลุดออกจากห้องอาจารย์ที่ปรึกษา ผ่านมาทางโทรศัพท์ น้ำเสียงละห้อย น่าสงสารจับใจ ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงตนเองเมื่อครั้งที่เจอสถานการณ์เดียวกัน สัญญาว่าจะส่งเมล์ไปให้อ่านว่าเขียนอภิปรายผลยังไงในเชิงหลักการ ส่วนจะเขียนได้ไหมตรงนี้เป็นอันว่าตัวใครตัวมัน จากเมล์มาสะสมไว้ที่ Blog เผื่อผิดพลาดจะได้ทักได้ท้วงติงกันไว้

          อย่าลืมว่าการเขียนอภิปรายผลคือการที่ผู้วิจัยพยายามลงความเห็น และให้คำอธิบายต่อผลการศึกษาที่เป็นข้อค้นพบของตัวเองในการทำวิจัยครั้งนั้น แน่นอนจึงต้องยึดเอาวัตถุประสงค์ของการวิจัยมาเป็นตัวตั้ง ที่พลาดก็เรื่องหนึ่งตรงนี้คือไปอภิปรายพ้นจากสิ่งที่ตนศึกษา จึงต้องแก้ไขกันหลาย ๆ รอบ เพื่อให้ตรงกับคำถามวิจัย/วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เป็นเรื่องที่หนึ่ง 

          ถัดไปคือการนำผลการวิจัยที่ค้นพบมานั้น มาแสดงความเห็นอย่างมีเหตุมีผลว่าทำไมถึงได้เกิดผลเช่นนั้น และต้องพยายามอธิบายให้เชื่อมโยงกับแนวคิด ทฤษฎีที่ได้ทบทวนไว้ในบทที่สองของการวิจัย ว่าสอดคล้องกันหรือไม่อย่างไร และมีงานวิจัยที่คนอื่นทำไว้แล้วก่อนหน้า ที่คล้าย ๆ กัน ประเด็นเดียวกัน หากมีการใช้แนวคิด ทฤษฏีเดียวกันจะยิ่งดี หากแต่จะต่างกันก็ไม่ใช่จะเป็นปัญหาเพียงแต่ต้องหาเหตุผลมาผนวกเพิ่มเข้าไป งานวิจัยเหล่านี้จะมาสนับสนุนสิ่งที่เรากำลังพยายามอธิบายเพื่อช่วยเพิ่มน้ำหนักของงานวิจัยเรา

          ต่อมาคือการยอมรับจุดอ่อนหรือข้อจำกัดของการวิจัยของเราให้ชัดเจน เช่นเมื่อเราศึกษาสถานการณ์ของการเข้าถึงบริการสุขภาพในกลุ่มคนพิการ ก็ย่อมมีจุดอ่อนที่จะอธิบายไปถึงกลุ่มประชากรกลุ่มอื่น เช่นจะทึกทักเอาว่าคล้าย ๆ กับกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเด็กเพียงเพราะคิดว่าเป็นกลุ่มพึ่งพิงเหมือนกันก็ไม่ควรทำ ในขณะเดียวกันถ้างานของเรามีจุดแข็งอะไรก็ควรจะนำเสนอออกไปให้เด่นชัดเช่นกัน

          และสุดท้าย (เท่าที่นึกออกตอนนี้) อย่าคิดว่าต้องยาว ๆ แล้วดีเสมอไป การอภิปรายผลเราต้องการความกระชับไม่เยิ่นเย่อ

     การอภิปรายผลการวิจัยจะว่ายากก็ว่าได้ เพราะเขาว่าต่อ ๆ กันมาว่าเป็นส่วนที่แสดงถึงความรู้ความสามารถของผู้วิจัยจริง ๆ หรือที่เขาพูดว่าเป็นกึ๋นของนักวิจัย ซึ่งก็น่าจะจริงตามนั้น ฉะนั้นยากสักนิด เหนื่อยสักหน่อย ก็ต้องอดทนและพยายาม เพราะมาถึงนี่แล้วก็เกือบแล้วที่จะเสร็จสมบูรณ์ เป็นกำลังใจ

     ปล.เชื่อว่ายังไม่สมบูรณ์ ต้องเพิ่มเติมอีกมาก ต้องศึกษาเพิ่มเติมเองด้วยจะเป็นการดี โดยเฉพาะดูลีลาการอภิปรายผลของนักวิจัยท่านอื่น ๆ ในวารสารที่เป็นที่ยอมรับระดับชาติ/นานาชาติ จะยิ่งได้ประสบการณ์ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 259488เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2009 02:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท