การศึกษาทางเลือก ทางรอดในการพัฒนาคุณธรรมที่ยั่งยืน


การศึกษาทางเลือกกับการพัฒนาคุณธรรมนักเรียน

ภาพของการพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมของโรงเรียนในระบบ

ถามว่าการจัดการศึกษาในปัจจุบัน  ทำไมกระทรวงศึกษาธิการจึงมุ่งเน้นหรือให้ความสำคัญในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม  คำตอบก็คือ  ยุคโลกาภิวัตน์ที่การเติบโตของความเจริญด้านต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว  อาทิเช่น  เศรษฐกิจ  การแพทย์  เทคโนโลยี  การติดต่อสื่อสาร  เป็นต้น  แต่ในทางตรงกันข้ามความเจริญทางด้านจิตใจและคุณธรรมจริยธรรมของคนในสังคมกำลังถดถอยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะการสื่อสารที่หลากหลายผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ได้เข้าสู่เยาวชนในสถานศึกษาอีกทั้งค่านิยมด้านวัตถุ  การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม  การปฏิบัติตนต่อกันในครอบครัวและสังคม  ล้วนเป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบด้านคุณธรรม  จริยธรรมของเยาวชนไทยเป็นอย่างยิ่ง  ซึ่งจะพบปัญหามากมายในสถานศึกษาโดยเฉพาะโรงเรียนในระบบ  เช่น ปัญหาขาดระเบียบวินัย  ทะเลาะวิวาท  ยาเสพติด  ปัญหาชู้สาว  เพศสัมพันธ์ในวัยเรียน ปัญหาอาชญากรรม   การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  ตลอดจนความประพฤติด้านอื่นๆ แต่ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ            .ศ.2542  ทำให้เกิดการตื่นตัวในการปฏิรูปการศึกษาไทย  เพื่อให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายเรื่องเก่ง  ดี  มีความสุข  แต่พอหลังๆ ได้เปลี่ยนเอาดีนำหน้ากลายเป็น  ดี  เก่ง  มีความสุข  โดยเห็นว่าเก่งแล้วก่อให้เกิดทุกข์เพราะถูกกดดันจากความคาดหวังของพ่อแม่  เพื่อน  ครูบาอาจารย์  พอพลาดก็กระโดดตึก  ติดยาเสพติด (จุมพล  พูลภัทรชีวิน, 2550) นอกจากนี้คนเก่งยังทำให้เกิดการปัญหาต่างๆ ตามมากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาทุจริต  คอรัปชั่น  และเชื่อว่าหากคนเป็นคนดีก่อนแล้วความเก่งจะตามมาจะทำให้มีความสุขในตนเองและมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น  สังคมก็จะมีความสุขไม่แก่งแย่งแข่งขันแตกความสามัคคีเช่นในปัจจุบัน

ปัจจุบันโรงเรียนในระบบให้ความสนใจต่อการพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมผู้เรียนมากขึ้น  ดังจะเห็นได้จาก                มีโรงเรียนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นโรงเรียนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ  หรือเกือบทุกโรงเรียนต่างมีโครงการเกี่ยวกับพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม  ยิ่งนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการยุคนี้เน้นเรื่องคุณธรรม  นำความรู้  ทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่ต่างโหมโรงในการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมผู้เรียนเพื่อสนองนโยบายดังกล่าว  ซึ่งผลลัพธ์มีทั้งที่สัมฤทธิผลเป็นรูปธรรม  และเป็นแค่ภาพลวงตา ซึ่งเด็กไม่ได้ดีหรือมีคุณธรรมจริง  คือมีคุณธรรมแต่ไม่ยั่งยืนนั่นเอง  สาเหตุแห่งความไม่ยั่งยืนนั้นเกิดจาก

1. การพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมยังยึดตัวครู  หรือผู้บริหารเป็นศูนย์กลางการพัฒนา โดยยังขาดความเข้าใจ  หรือละเลยในการเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้เรียนที่เป็นผู้ได้รับการพัฒนา  กล่าวคือ  การพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมยังคงเน้นการให้รางวัลและการลงโทษเพื่อให้ผู้เรียนแสดงออกถึงการมีคุณธรรม จริยธรรม  ซึ่ง ดร.เกียรติวรรณ  อมาตยกุล (2545) ถือว่า  การให้รางวัลและการลงโทษนั้นเป็นจิตวิทยาที่ได้จากการสังเกต  และทดลองในสัตว์ หรือจิตวิทยาของสัตว์ (animal  psychology) เหมาะที่จะใช้กับสัตว์  แต่ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับมนุษย์  การนำจิตวิทยาการเรียนรู้ของสัตว์มาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาให้กับคนเรานั้นจะทำให้คนเรามีนิสัยคล้ายสัตว์ไปในที่สุด  เช่นกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว    ต้องการแต่จะเป็นผู้ชนะโดยทำลายผู้อื่น  ก้าวร้าว  รุนแรง  เอารัดเอาเปรียบผู้ที่อ่อนแอกว่า  มีความรู้น้อยกว่า  กระหายอำนาจ  และวัตถุ  มีความต้องการที่จะช่วยเหลือผู้อื่นน้อยลงไปทุกที ฯลฯ  ซึ่งสอดคล้องกับวิศิษฐ์  วังวิญญู ที่กล่าวไว้ในหนังสือสำนึกแห่งวินัยหัวใจแห่งการเรียนรู้ (2549)  ที่กล่าวว่า การให้รางวัลและการลงโทษเป็นการโยกย้ายความรับผิดชอบของเด็กมาไว้ที่ผู้ใหญ่  เวลาทำอะไรต่ออะไรโดยเฉพาะในเรื่องวินัย  เด็กจะมองกลับมาที่ผู้ใหญ่ตลอดเวลา  เพราะกลัวจะถูกลงโทษ  หรือกลัวว่าจะไม่ได้รับรางวัล  แต่เด็กจะไม่ได้สร้างวินัยขึ้นในตนเพราะ ความรับผิดชอบของตนหรือจากแรงบันดาลใจของตนเอง  เด็กก็จะไม่ภูมิใจในตัวเองในการสร้างวินัยต่างๆ ขึ้นมา  เพราะศูนย์กลางความรับผิดชอบมันถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ผู้ใหญ่เสียแล้ว  เมื่อเป็นเช่นนี้พลังแห่งเจตจำนง  คือความตั้งใจ  มุ่งมั่น (conscious) ที่จะสร้างวินัยของเด็กเอง ก็จะไม่เข้มแข็งยั่งยืน  หรือบางกรณีมันจะไม่ก่อให้เกิดเลยด้วยซ้ำ

ทางออกของการแก้ปัญหาคือ  การพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมผู้เรียนนั้นเราควรเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์  ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนา  โดยยึดหลักจิตวิทยามนุษยนิยมหรือมนุษยนิยมแนวใหม่ (นีโอฮิวแมนนิส) ที่กำลังได้รับความสนใจของนักการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นคนที่มีความรักความเมตตาในทุกสรรพสิ่ง  เป็นคนที่มีความสุขในชีวิต  และพร้อมที่จะทำประโยชน์ให้แก่สังคม

2. การพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมของผู้เรียนยังไม่ทำให้เป็นระบบ  เรื่องนี้เราคงไม่โทษครู หรือโรงเรียนเพราะปัจจุบันได้กลายเป็นวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรไปแล้ว  โดยเฉพาะนโยบายกระทรวงศึกษาที่บางครั้งคิดอยากจะพัฒนาการศึกษาเรื่องใดก็มักจะเอาแบบอย่างเขามาแล้วก็สั่งการไปที่โรงเรียน  ซึ่งไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าชอบทำอะไรแบบพูดเปรี้ยงทำเปรี้ยงอย่างตื้นๆ สุดท้ายก็ไม่เหมือนไฟไหม้ฟาง ไม่ยั่งยืน  ระบบที่ดีในการพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมควรมองหลายมิติ  และควรเกิดจากการมีส่วนร่วมของหลายฝ่าย ที่ไม่ใช่ทิ้งภาระให้โรงเรียนต้องแบกรับเหมือนในปัจจุบัน

 

กระบวนการปลูกฝังคุณธรรม  จริยธรรมในต่างประเทศทำอย่างไร

                จากรายงานการสังเคราะห์งานวิจัยคุณลักษณะและกระบวนการปลูกฝังคุณธรรม  จริยธรรมของประเทศต่างๆ ของเจือจันทร์  จงสถิตอยู่  และรุ่งเรือง  สุขาภิรมย์  (2550)  ผู้เขียนเห็นว่าประเทศเกาหลี  และประเทศไต้หวันเป็นประเทศที่มีภาพลักษณ์ด้านคุณธรรม จริยธรรมเป็นรูปธรรม มีคุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะ หรือน่าสนใจ  เนื่องจากมีบริบทที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยของเรา จึงขอนำเสนอกระบวนการปลูกฝังคุณธรรม  จริยธรรมกระบวนของทั้ง 2 ประเทศนี้

                ประเทศเกาหลี

                ประเทศเกาหลีได้พัฒนาประเทศจนมีความเจริญรุ่งเรืองมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 

เป็นผู้นำทางเทคโนโลยีสารสนเทศ  ผู้นำทางวิชาการและผู้นำทางอุตสาหกรรมแต่ก็ยังยึดถือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม  วัฒนธรรมและประเพณีของเกาหลีซึ่งได้รับอิทธิพลจากคำสั่งสอนของขงจื้อ  สามารถรักษาลักษณะเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ของคนเกาหลี เนื่องจากผู้นำประเทศใช้กุศโลบายที่ดีที่ใช้กระบวนการทางสังคม  ควบคู่ไปกับกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ  ได้แก่  การให้ความสำคัญที่ฐานรากของสังคม  คือสถาบันครอบครัว  และสถาบันการศึกษาที่ยังถ่ายทอดคำสอนของขงจื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรู้จักหน้าที่  การเคารพผู้อาวุโส  ความกตัญญู  ควบคู่ไปกับการปลูกฝังคุณลักษณะที่จำเป็นในการทำงานและดำรงชีวิตในโลกการเปลี่ยนแปลง

                กระบวนการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมมีการอบรมระยะสั้นๆ ให้แก่พ่อแม่  เพื่อให้คำปรึกษาและเสนอแนะแนวทางอันสมควรแก่ลูก  ให้มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนกับโรงเรียนใกล้ชิดสัมพันธ์กัน

                การจัดหลักสูตรมีการระบุลักษณะคุณธรรม จริยธรรมที่ต้องปลูกฝังแก่เด็กและเยาวชนอย่างชัดเจน  ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงอุดมศึกษา  และแม้กระทั่งการศึกษาผู้ใหญ่ยังเพิ่มการเรียนรู้เรื่องหน้าที่พลเมืองด้วย

การจัดการเรียนการสอนมีทั้งในระดับห้องเรียนที่ให้มีการอภิปรายเน้นการหา

สาเหตุในการประพฤติตนเป็นคนดีตามหลักจริยธรรมและการสอนที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เป็นจริงซึ่งเป็นหลักสูตรที่ไม่ได้กำหนดไว้เป็นทางการ  โดยโรงเรียนต้องปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์เข้าไปในทุกรายวิชา  นอกจากนี้โรงเรียนยังต้องปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องเมตตาธรรม  และมนุษยธรรมในกระแสโลกาภิวัตน์

                 การมีส่วนร่วมจากของสังคมในระดับต่างๆ ดังจะเห็นได้จากโครงการแซมาอึลวุนดง (กุศโลบายในการพัฒนาชนบทเพื่อแก้ปัญหาความยากจนประสบความสำเร็จเพราะการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตั้งแต่ชนบทจนถึงระดับชาติ    นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมจากสื่อมวลชนที่ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความสำคัญของการศึกษาที่บ้าน  ลดการนำเสนอข่าวความรุนแรง และการมีส่วนร่วมอย่างไม่เป็นทางการ เช่น ผู้อาวุโสช่วยอบรมว่ากล่าวตักเตือนเด็กในสังคม  หรือการประท้วงหน่วยงานเมื่อมองเห็นว่ามีการดำเนินงานไม่ถูกต้อง

 

                ประเทศไต้หวัน

                กระบวนการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมในไต้หวันนั้น องค์กรศาสนาพุทธ (มหายาน)

องค์กรพุทธฉือจี้  องค์กรแสงพุทธธรรม  องค์กรกล่องธรรมะ  องค์กรวัดจงไถชาน  องค์กรพุทธฝูจื้อมูลนิธิเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนา  เป็นต้น มีบทบาทที่สำคัญมากกว่าสถาบันการศึกษาหรือโรงเรียนในระบบของรัฐ โดยเน้นการสร้างจิตสำนึกของบุคคลต่อสังคม  ให้ความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์  รวมทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  โดยมีการจัดตั้งโรงเรียนที่สอนหลักสูตรทั่วไปแต่เน้นการสอนหลักธรรม  การที่องค์กรทางศาสนาดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องด้วยปัจจัยต่างๆ ดังนี้

                1. ผู้นำองค์กรเป็นแบบอย่างทั้งด้านการปฏิบัติส่วนตัวและเป็นผู้นำทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในวงกว้าง

                2. เผยแพร่ธรรมะด้วยสื่อต่างๆ และหลายรูปแบบอย่างมีคุณภาพ เหมาะสมกับวัย  โดยเฉพาะสำหรับเด็กและเยาวชน  วัยรุ่น  ที่สำคัญคือการใช้ระบบสื่อสารมวลชน  คือ จัดตั้งสถานีโทรทัศน์เป็นของตนเองทำให้สามารถผลิตรายการธรรมะเผยแพร่สู่ประชาชนได้ในวงกว้างและตลอดเวลา  ออกหนังสือพิมพ์รายวัน  และการประยุกต์ใช้ความเจริญทางเทคโนโลยีสื่อสารธรรมะข้ามประเทศ

                3. เผยแพร่ธรรมะผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านการบริการสังคม  การช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเมตตา  ความรัก  การใช้ความรู้ด้านการแพทย์  การพยาบาล  จัดกิจกรรมต่างๆ  สำหรับเยาวชน  เช่น จัดค่ายฤดูร้อน  ฤดูหนาวเพื่อฝึกทั้งภายนอกและภายใน

                4. จัดโครงสร้างองค์กรอย่างเป็นระบบ  เปิดกว้าง  มีการบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพ  สามารถขยายเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง

                5. ให้การศึกษาผ่านสถาบันการศึกษาที่ตั้งขึ้นเองในระดับต่างๆ ถึงอุดมศึกษา  เพื่อผลิตบุคคลที่ได้คุณภาพทั้งในด้านวิชาการและมีคุณธรรม  และมีวิทยาลัยสงฆ์ เพื่อผลิตนักบวชทั้งชายและหญิงที่ทรงความรู้  เป็นนักบวชที่เป็นภาพลักษณ์ที่ดีและสามารถเผยแพร่ธรรมะไปต่างประเทศได้ด้วย  สถาบันการศึกษาหลายแห่งที่ตั้งโดยองค์กรศาสนาได้กลายเป็นต้นแบบให้โรงเรียนอื่นๆ

                6. จัดตั้งแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ทางศาสนาพุทธ  และพิพิธภัณฑ์ศาสนาต่างๆ รวมทั้งมีสถาบันค้นคว้าและวิจัยด้านพุทธศาสนาระดับสูง

                7. รัฐให้การสนับสนุนองค์กรศาสนาดำเนินการได้อย่างอิสระ  ประกอบกับสังคมไต้หวันเปิดรับกับแนวคิดใหม่ๆ จึงทำให้มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาและสมัครเป็นสมาชิกองค์กรมากขึ้น  และให้การสนับสนุนปัจจัยในการดำเนินกิจกรรมขององค์กร

                จากการศึกษากระบวนการปลูกฝังคุณธรรมของทั้ง 2 ประเทศ คงทำให้เราได้เห็นถึงแนวทางในการที่จะนำมาใช้พัฒนาคุณธรรม จริยธรรมในเมืองไทยของเราบ้าง

 

 การศึกษาทางเลือก  ทางรอดของการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมที่ยั่งยืนของประเทศไทย

                ปัจจุบันการศึกษาทางเลือกกำลังได้รับความสนใจ  เป็นที่ยอมรับ  และรัฐให้ความสำคัญมากขึ้นเนื่องจากสามารถจัดการศึกษาได้สอดคล้องกับหลักการปฏิรูปการศึกษา (ดี  เก่ง  มีสุข) อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าโรงเรียนในระบบ   นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งเน้นคุณธรรม นำความรู้

ทำให้โรงเรียนในระบบต้องเร่งดำเนินงานตามนโยบาย  แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้โรงเรียนในระบบไม่ประสบความสำเร็จเหมือนอย่างโรงเรียนที่จัดการศึกษาทางเลือก  นั่นแสดงให้เห็นว่าการศึกษาทางเลือกนั้นจะเป็นทางรอดให้กับโรงเรียนที่จะพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมผู้เรียนนำไปเป็นแนวทางพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นคนดีจริง อย่างยั่งยืน  ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายมาก  มีปัจจัยหลายประการ

ที่ทำให้โรงเรียนทางเลือกที่เน้นพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ผู้เรียนประสบความสำเร็จ ได้แก่

                1. ผู้บริหารโรงเรียน โรงเรียนที่จัดการศึกษาทางเลือกด้านคุณธรรม จริยธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านคุณธรรม  มีความรัก  ความเมตตาต่อครู และ

ลูกศิษย์  มีวิสัยทัศน์  มีความรู้ ความเข้าใจที่แท้จริงในการพัฒนาผู้เรียน  โดยปัจจุบันที่ควรเน้นเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์  อาจมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม มีรูปแบบการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของผู้เรียนที่เป็นระบบ มีเอกลักษณ์เฉพาะตน  เช่น โรงเรียนสัตยาไส ของ ดร.อาจอง  ชุมสาย  ณ อยุธยา ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านคุณธรรม  มีชื่อเสียง         มีวิสัยทัศน์  มีรูปแบบในการพัฒนาคุณธรรมที่เป็นระบบเน้นการบูรณาการคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้ผู้เรียนได้ซึมซับภายใต้บรรยากาศที่สงบเป็นสมาธิเพื่อมุ่งให้ผู้เรียนเป็นคนดี

                2. มีรูปแบบการพัฒนาที่เป็นระบบ  กล่าวคือ โรงเรียนทางเลือกผู้บริหารมักจะเป็น

ผู้คิดรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาที่เป็นระบบ  เช่น

2.1 มีแนวคิด  เป้าหมายที่ชัดเจน  ว่าใช้แนวคิด ยึดหลักปรัชญาใด มีเป้าหมาย

มุ่งให้ผู้เรียนเป็นอย่างไร เช่น โรงเรียนอมาตยกุลของ ดร.เกียรติวรรณ  อมาตยกุล ยึดหลักจิตวิทยามนุยนิยมแนวใหม่ หรือนีโอฮิวแมนนิส ที่มีจุดเน้นในการเคารพในคุณค่าของมนุษย์  ซึ่งโรงเรียนในระบบส่วนใหญ่ยังใช้จิตวิทยาสัตว์ที่เน้นการลงโทษ และให้รางวัลเพื่อให้นักเรียนเป็นคนดี แต่กลับทำให้เด็กก้าวร้าว  มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนต่างๆ ไม่ได้เป็นคนดีจากภายใน  การพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นคนดีจากภายในนั้นเราคงต้องพัฒนาที่จิต  และปัจจุบันแนวทางจิตตปัญญาศึกษาเป็นแนวทางสำคัญที่กำลังได้รับความสนใจของนักการศึกษา  ที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณธรรมในตัวผู้เรียนอย่างยั่งยืน เนื่องจากจิตตปัญญาศึกษา เป็นการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจด้านในของตัวเอง (การใช้จิตคิดใคร่ครวญจนเกิดปัญญา  จิตอิสระ จิตเป็นกุศล    (จิตอาสา)) รู้ตัว เข้าถึงความจริง ทำให้เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโลกและผู้อื่น เกิดความเป็นอิสระ ความสุข ปัญญา และความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์  ธรรมชาติ  และสรรพสิ่ง หรือเพื่อให้เกิดความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพื่อความสุขและการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ  และท่าน ดร.อาจอง ชุมสาย  ณ อยุธยา ก็นำแนวทางนี้ไปใช้พัฒนาผู้เรียนที่มุ่งให้เป็นคนดี  ได้แก่ มีความรักความเมตตา  เข้าใจสรรพสิ่งตามความจริง  มีความสงบสุข  มีความประพฤติชอบ  ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ธรรมชาติ และสรรพสิ่ง จนประสบผลสำเร็จ

                                2.2 มีระบบการในการรับนักเรียน  โดยส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนที่จัดการศึกษาทางเลือกทางด้านคุณธรรม   จะรับนักเรียนเข้าเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลต่อเนื่องจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย  เนื่องจากการพัฒนาคุณธรรมผู้เรียนนั้นขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะ  และเวลา  ดังที่โสภา ชปิลมันน์ (2550) ได้กล่าวว่า ในการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมผู้เรียนนั้นเพียเจต์        นักจิตวิทยาพัฒนาการที่มีชื่อเสียงเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดพัฒนาการทางจริยธรรมของมนุษย์  ได้ให้ข้อคิดว่าถ้าเด็กยังไม่เข้าสู่ช่วงพัฒนาการที่จะรับการพัฒนาด้านจริยธรรมไม่ควรบังคับ  เพราะจะไม่เกิดผลดี  ควรให้เด็กพร้อมทั้งด้านด้านสรีระและด้านสติปัญญาก่อน โดยเพียเจต์แบ่งขั้นของการพัฒนาจริยธรรมออกเป็น 3 ขั้น  ได้แก่

                ขั้นที่ 1 ขั้นการมีจริยธรรม  เริ่มตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ขวบ  พัฒนาความเชื่อมั่น  ความเป็นตัวของตัวเอง     หลังจากนั้น 2 ขวบก็จะสามารถรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวได้

หมายเลขบันทึก: 259324เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2009 01:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ..

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ  คุณธรรมนำพาชีวิตให้รอดได้

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆที่นำมาแบ่งปันค่ะ

ยินดีเป็นเพื่อนใหม่ค่ะ

ขอบคุณมากครับ

ขอเป็นส่วนหนึ่งของความคิด

ที่จะช่วยร่วมพลังถักทอให้

นักเรียนดี เก่ง และมีสุขอย่างแท้จริง

ครูส่วนใหญ่ เป็นคนของกล่อง

จะทำยังไงน้า ให้เค้าสอนเด็ก ออกนอกกล่อง

บางที ยังนึกทบทวนตัวเอง รึว่าเราก้ออีกกล่องนึง

...รักกัน ค่า รักกัน...

ร่วมปฎิวัติการศึกษาเพื่อความเป็นไท

http://gotoknow.org/blog/plays-learns/320506

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท