แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

มองชีวิตผ่านมิติของคนไข้ By หมอรุ่ง


 
เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ

 
มองชีวิตผ่านมิติของคนไข้

 

โดย หมอรุ่ง
คอลัมน์ ; จดหมายจากเพื่อนครู
โยคะสารัตถะ ; ฉ.ก.ย.'๕๑

 

 ก่อนจะก้าวมาเป็นนักบำบัด เรามักตั้งคำถามอยู่ในใจเสมอๆ ว่า มนุษย์ทำไมจึงทุกข์ , ทำไมต้องเจ็บป่วย, ทำไมถึงบอกว่าเป็นกรรมของเราและอีกหลายๆ ทำไม? ซึ่งก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนหรือถ้าได้ก็เป็นเทศน์กัณฑ์ยาวเหยียดที่เราฟังจนหลับ และเมื่อเราเลือกที่จะเป็นนักบำบัด ทำให้เราเริ่มเข้าใจแง่มุมของชีวิตมากขึ้น, ได้เรียนรู้มากขึ้นแม้จะไม่ทั้งหมดแต่ก็ทำให้เราเข้าใจคำว่าชีวิตมากขึ้น เช่นตัวอย่างของคนไข้รายนี้ที่มักจะพร่ำรำพันอยู่เสมอว่าชีวิตนี้ทุกข์เหลือเกิน....

คนไข้หญิงวัย ๔๐ ปีเศษ มีอาชีพเกษตรกรรม(ทำนา,ทำไร่มันสำปะหลัง,ทำไร่อ้อย) มาด้วยอาการปวดมึนชาขาขวาและหลัง วันไหนอาการกำเริบมากก็จะก้าวขาลำบากหรือก้าวไม่ออก จากการตรวจร่างกายกล้ามเนื้อหลังแข็งตั้งเป็นลำทั้งสองข้าง เส้นพื้นฐานขาตึงแข็งมาก เล่าให้ฟังคร่าวๆว่า ทำงานหนักมาก มาตั้งแต่จบ ป.4 จึงถึงปัจจุบัน ฐานะการเงินในปัจจุบันจัดว่ามั่นคงมาก เพราะว่าทำอาชีพเสริมด้วยการปล่อยเงินกู้ ภายหลังการรักษาอาการดีขึ้น ภาวะมึนชาลดลง ก็ถึงฤดูกาลดำนา คนไข้มาตามนัด อาการที่ดีขึ้นนั้น กลับแย่ลง กล้ามเนื้อหลังมีภาวะปวดแสบอยู่ตลอดเวลา ปัสสาวะขัด,แสบร้อน คนไข้ได้เล่าให้ฟังว่า ต้องการเร่งงานดำนาให้เสร็จเร็วๆ แต่หาคนงานได้น้อย คนไข้จึงต้องดำนาตั้งแต่เช้ามืดจนถึงค่ำ ( ประมาณ ๑-๒ ทุ่ม)จึงได้เลิกงาน ขณะที่ดำนาอยู่นั้นประจำเดือนมารู้สึกปวดหน่วงท้องน้อยมาก จนยืนไม่ไหวก็เลยต้องอดทนนั่งดำนาจนเสร็จงาน เมื่อเลิกงานจะกลับบ้านก้าวขาแทบไม่ได้ อาการต่างๆ ที่ดีขึ้นนั้นรู้สึกแย่กว่าเดิมมากและมีอาการปวดแสบที่หลังมากทั้งๆที่ อาการนี้ไม่เคยเป็นมาก่อน....

เราถามด้วยความสงสัยว่า การเร่งดำนานี้เพราะอะไร? เมื่อเสร็จงานดำนาแล้ว มีงานอะไร? รออยู่อีก คนไข้ตอบว่า ไม่มีงานอะไรรอ แต่ต้องรีบให้เสร็จก่อนคนอื่นๆ เพราะกลัวว่าน้ำจะแห้ง (งง! ฝนตกทุกวัน) การเสร็จก่อนคนอื่นๆ ข้าวกล้าจะได้งามกว่าคนอื่นๆ... เราถามด้วยความสงสัยต่ออีกว่า " การทำนานี้เป็นการแข่งขันกันด้วยหรือ แล้วแข่งไปเพื่ออะไร?" เพราะเมื่อเจ็บป่วยมากขึ้น เราได้รักษา ได้เงิน แต่เราไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องทำร้ายตัวเองขนาดนั้น ปวดท้องยืนไม่ไหว พักก่อนสักครู่แล้วค่อยดำนาต่ออีกก็ได้ งานช้าลงเพียงเล็กน้อย แต่สุขภาพก็จะดีขึ้น ไม่ต้องวิ่งมาหาหมอ หายา แบบนี้ เป็นความเข้าใจว่าตนเองเก่ง ตนเองอดทน นั่นเป็นการเข้าใจที่ผิดเพราะร่างกายฟ้องด้วยความเจ็บปวดว่าต้องการพัก แต่เราไม่ฟังร่างกายของเรา ทำไมถึงได้ใจร้าย ทำร้ายตนเองแบบนี้ ทำไมไม่เมตตาตนเองบ้าง?... คนไข้รับฟังด้วยอาการน้ำตาคลอ... (เพราะกลัวหมอดุ หรือว่าซาบซึ้งก็ไม่รู้ได้) หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ คนไข้ดูจะใส่ใจตนเองมากขึ้น สุขภาพดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่หายเป็นปกติ ฝนยังคงตกอยู่ทุกวัน ซึ่งก็เป็นผลดีต่อข้าวกล้าในนา แต่ในไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อยต่างๆ นั้น ล่ม เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก ดังนั้นช่วงนี้ไร่มันสำปะหลังต่างๆจึงมีปัญหา มันตายบ้างมันตกล่มเน่าเสียบ้าง เจ้าของสวนที่มันโตหน่อยก็จะกู้มันขึ้นมาก่อนกำหนดเพื่อหนีน้ำ และเร่งกู้ขึ้นมาขายกันแบบถล่มทะลายเพราะแตกตื่นกลัวว่าจะขาดทุนจากการเน่าเสียอันเป็นเหตุให้ราคามันสำปะหลังตกต่ำ .... แล้วถ้าปล่อยให้มันสำปะหลังเน่าคาสวน เกษตรกรเกิดการสูญเสียหรือเปล่า? เปล่าเลย เพราะว่ามันสำปะหลังที่เน่าเสียอยู่ในดินนั้นเป็นปุ๋ยชั้นดี ดินเองก็ได้ปรับสภาพ เปรียบได้กับการซื้อปุ๋ย เพียงแต่ปุ๋ยนี้เราไม่ได้ซื้อหามา แต่ปล่อยให้ธรรมชาติจัดการให้ แปลงไหนที่ปล่อยไว้ มันสำปะหลังส่วนที่ไม่ตาย ( เช่น ๑๒ ไร่ ตายเสีย ๓-๔ ไร่ ) จะงามมากและให้ผลิตผลมาก และการปลูกในปีถัดมาไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ย หรือใช้ปุ๋ยเพียงเล็กน้อย...

คนไข้รายนี้ทำสวนมันสำปะหลังด้วยเช่นกัน แกก็ตื่นกลัวการขาดทุนเช่นคนอื่นๆ เมื่อทุกสวนแตกตื่นคนงานจึงหายาก ค่าแรงก็แพงมาก คนไข้ของเราจึงหาคนงานไม่ได้ แกกู้มันคนเดียวเป็นเวลา ๕ วัน ได้มันสำปะหลังมาขาย ๔,๐๐๐ ก.ก.เศษ ได้เงิน ๓,๒๐๐ บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการขนมาขายและค่าเลี้ยงดูคนงานที่ปลีกตัวมาช่วยในวันขนหัวมันออกจากสวนแล้ว เหลือเงินเพียง ๗๐๐ บาท แต่สุขภาพทรุดโทรมตีประมาณค่าไม่ได้ ไม่สามารถเดินออกจากสวนได้ แกรีบมาพบเราก่อนกำหนดนัดหมาย เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง ทุกข์จริงหนอชีวิตนี้... เราฟังแล้วจึงสรุปว่า เงิน ๓,๒๐๐ บาท เทียบได้กับค่าปุ๋ย ๒ ถุง ถ้าเราทิ้งไว้ปล่อยให้มันสำปะหลังเน่า เปรียบเทียบได้รับการใส่ปุ๋ย ๒ ถุง และสุขภาพกาย,ใจ ไม่ต้องแย่ขนาดนี้ คนไข้ของเราน้ำตาคลออีกแล้ว บอกว่าจริงๆด้วย แต่ทำไมตอนนั้นจึงไม่ได้คิด ถ้าได้คิดสักนิดคงไม่ต้องทุกข์เช่นนี้

มนุษย์เราเป็นเช่นนี้เอง ทั้งสังคมชนบทหรือสังคมเมือง เมื่อเราเจอเหตุการณ์อะไรเข้ามาในชีวิต มักจะขาดการหยุดเพื่อคิด ทบทวน การคิดให้รอบด้าน คำนึงแต่ส่วนที่ตนเองจะสูญเสียแต่ไม่คำนึงถึงสิ่งที่จะได้รับในเหตุการณ์เดียวกัน การทำความคิดให้แยกคายหรือโยนิโสมนสิการ ที่พระพุทธองค์ทรงพร่ำสอนจึงเป็นเพียงคำท่องจำดั่งนกแก้วนกขุนทอง ชีวิตคนเองถ้าขาดการเข้าใจตนเอง การเข้าใจสิ่งอื่นๆ รอบตัวก็เป็นไปได้จาก การพบความสุข ความปลอดโปร่งในชีวิตจึงเป็นของหายาก...

ความทุกข์ของคนไข้รายนี้ ทุกข์ทางกายจากการเจ็บป่วย ทุกข์ทางใจจากการไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง จึงพร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะจิต การเข้าใจตนเอง ว่า ตนเองนั้นทำงานหนัก , ขาดการออกกำลังกายที่ถูกต้อง จนเป็นเหตุให้เจ็บป่วย เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องพักรักษาตัวให้เวลาในการฟื้นฟูสุขภาพ เรียนรู้ความจริงของธรรมชาติในตนเองและธรรมชาติในสิ่งต่างๆ หยุดคิดสักนิดก่อนลงมือทำอะไร ทำความคิดให้แยบคาย หยุด โลภะ, โทสะ,โมหะ ชีวิตของเค้าก็จะเป็นสุขดั่งขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทีเดียว...

(** โลภะ ที่เกิดจาก การต้องการได้ผลผลิตที่มากๆ มากกว่าคนอื่นๆ ทั้งผลิตผลข้าว,ผลิตผลมันสำปะหลัง
***โทสะ โกรธที่ธรรมชาติให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลที่มากเกินความต้องการของตนเอง
****โมหะ ความหลงทางในการแก้ปัญหา อันเป็นเหตุให้เจ็บป่วยซ้ำแล้ว ซ้ำอีก หลงผิดที่ต้องการเงินทองมากๆ แต่ไม่รู้ว่าตนเองสั่งสมเอาไว้ทำอะไร มีโอกาสที่จะได้ใช้เงินเพื่อการดูแลตนเองก็ทำไม่ได้ , ไม่เข้าใจ หลงผิดในการทำงานเพื่อการแข่งขัน , เอาดีเอาเด่น ขาดความเข้าใจในความพอเพียงอย่างเพียงพอ).. 



มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1  ถนนรามคำแหง  แขวงหัวหมาก  
เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  10240  
โทรศัพท์  02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744 ; 
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 259103เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2009 04:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท