‘อภิสิทธิ์’ถกธปท. บีบแบงก์ปล่อยกู้


นายกฯ โดดนั่งหัวโต๊ะถกธปท. บีบธนาคารปล่อยกู้
      นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะร่วมหารือกับผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึง แนวทางในการบริหารจัดการและการ สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้ภาครัฐก็ออกมาตรการเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อ แต่จำเป็นต้องอาศัยแขนขาของระบบธนาคารพาณิชย์ ส่งผ่านเม็ดเงินลงไปเพื่อก่อให้เกิดการผลิตและการลงทุน

แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประเด็นที่จะหารือร่วมกันกับธปท.นั้นแยกออกเป็น 3 เรื่อง

ประเด็นแรก เป็นปัญหาของการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำสามารถ สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจแค่ไหน เพราะข้อมูลที่ธปท.ชี้แจงต่อครม.นั้น ระบุชัดว่าเงินฝากในระบบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สินเชื่อกลับไม่ขยับทำให้สภาพคล่องในระบบยังคงอยู่ในระดับสูง

ประเด็นที่สอง เป็นการหารือในปัญหาการกำกับดูแลกลไกทางการเงินเพื่อให้การส่งผ่านนโยบายมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะขณะนี้สถาบันการเงินในระบบไม่สนองตอบการลดดอกเบี้ยของธปท.แม้แต่น้อย ขณะที่ส่วนต่างดอกเบี้ยยังอยู่ในอัตราสูงถึง 5.75% จึงต้องการให้ลดลงมา

ประเด็นที่สาม เป็นเรื่องของการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับประเทศคู่แข่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก

“กระทรวงการคลังต้องการเห็นเงินบาทอ่อนกว่านี้ ขณะเดียวกันต้องการให้ธปท. ใช้อำนาจที่มีอยู่กดดันให้สถาบันการเงินปล่อยกู้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เพื่อให้เอกชนเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนรัฐบาลที่มีขีดจำกัดในการกระตุ้น” แหล่งข่าวเปิดเผย

นายกรณ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถมั่นใจได้เต็ม 100% ว่า เศรษฐกิจไทยจะชะลอลงถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสแรก เหมือนอย่างที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ออกมาคาดการณ์ไว้ แต่เริ่มมีสัญญาณบวกออกมาให้เห็นแล้วเช่นกัน

สำหรับรายได้ของรัฐบาลนั้นนายกรณ์ยอมรับว่า การเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2552 ที่ตั้งไว้ 1.5 ล้านล้านบาทนั้น มีแนวโน้มว่าต่ำกว่าเป้า 3 แสนล้านบาท ขณะที่รายได้ปีงบประมาณ 2553 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำของรัฐบาลนั้น ก็คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้เดิม 2 แสนล้านบาท ทำให้รัฐบาลต้องลดงบประมาณปี 2553 เหลือเพียง 1.7 ล้านล้านบาท เพื่อให้อยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้

รมว.คลัง กล่าวว่า การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จาก 7% เป็น 10% เป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงภาษีมูลค่าเพิ่มควรเพิ่มขึ้นเป็น 10% แต่การปรับขึ้นต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่ดำเนินการได้ในขณะนี้ เพราะจะเป็นการซ้ำเติมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของภาษีแวตในทุกๆ 1% จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 5 หมื่นล้านบาทก็ตาม เช่นเดียวกับการลดภาษีนิติบุคคล หากจะทำในช่วงนี้ก็ไม่มีความเหมาะสมเช่นกัน เพราะรัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องเก็บภาษีหาเงินเข้ารัฐเพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมาตรการต่างๆ มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการเก็บภาษีทรัพย์สินมีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษาการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงภาษีมรดก

รมว.คลังยอมรับว่าการเก็บภาษีของไทยนั้นยังจัดเก็บได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ปัจจุบันมีแรงงานอยู่ร่วม 30 ล้านคน แต่รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีจากบุคคลเหล่านี้ได้เพียง 5-7 ล้านคนเท่านั้น

 

โพสต์ทูเดย์ 1 พฤษภาคม 2552

หมายเลขบันทึก: 258545เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2009 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท