บุนนาค
ดร. วรนันท์ มุฮัมมัด รอมฎอน บุนนาค

งานเสวนาวิชาการสร้างสำนึกเศรษฐกิจพอเพียงให้อยู่ในหัวใจคนไทย


พุธ ที่ 29 เมษายน 2552 สถาบันวิจัยและพัฒนา คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และโรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น ตลอดจนองค์กรเครือข่ายได้จัดให้มีการเสวนาวิชาการเรื่องสร้างสำนึกเศรษฐกิจพอเพียงให้อยู่ในหัวใจคนไทย ขึ้น ณ.ชั้น 9 ตึกเพียรวิจิตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีองค์กรเครือข่ายทั้งนักศึกษา ข้าราชการหน่วยงานต่างในมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายทหาร เสนาธิการทหาร จากค่ายศรีพัชรินทร์ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หลายท่านจากศูนย์ฝึกอบรม นักเรียนตำรวจภูธรภาค 4 จังหวัดขอนแก่น เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน องค์กรปราชญ์ชาวบ้านศรีเนตรบ้านขามเปี้น ตำบลกู่ทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม จำนวนมากเข้าร่วมแลกเปลี่ยน ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

      การเสวนาวิชาการเริ่มขึ้นจากการเปิดนิทรรศการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริซึ่งโรงแรมโฆษะ โครงการตามแนวพระราดำริ และเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านศรีเนตร ได้นำเสนอรูปธรรมการน้อมนำแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้  มีผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก ทั้งภาคเช้าและภาคบ่ายมีการนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของแต่ละท่านอย่างน่าสนใจยิ่ง  เมื่อท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น(ศ.(เกียรติคุณ) ดร.สุมนต์ สกลไชย)กล่าวเปิดงานเสวนา ท่านเน้นย้ำให้บุคคลากรทุกคนในมหาวิทยาลัย พี่น้องประชาชนทุกพื้นที่น้อมนำพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและผู้คนว่างงานเป็นจำนวนมาก หากไม่ตระหนักเรื่องนี้อย่างจริงจังก็จะเกิดปัญหาทั้งกับตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชนรวมไปถึงสังคมวงกว้าง เวทีเสวนาในช่วงเช้าเป็นเวทีมุมมองของศาสนิกที่มีต่อเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีคุณภูมิภักดิ์ พิทักษ์เขื่อนขันธ์ ผอ.สำนักบริหารการวิจัย นำเสนอในมุมมองเชิงพุทธ คุณธีรพันธ์ สังขศิลา อิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดขอนแก่น นำเสนอในมุมมองของอิสลาม และอาจารย์ ดร.โกศล ศรีสังข์ อาจารย์สังกัดบัณฑิตวิทยาลัยจาก มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำเสนอในมุมมองของชาวคริสต์  สรุปได้ว่า คนในสังคมปัจจุบันยังมีไวรัสมิจฉาทิฐิ มีความโลภ อย่างรวย อยากมี กลัวจน ไม่รู้จักความพอดี ไม่ปฏิบัติตัวตามทางสายกลาง ขาดการขยัน ประหยัด เก็บออม และที่สำคัญขาดตวามซื่อสัตย์ มักมากอยากได้ ทอดทิ้งเพื่อบ่านใกล้ชิด ไม่รู้จักการให้ เอื้อเฟื้อแบ่งปัน และสังคมมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ขาดความตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ ขาดการพัฒนาคุณค่าทางจิตใจที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ส่วนในช่วงบ่ายมีองค์ปาฐก 2 ท่าน ได้แก่ หมออภิสิทธ์ ธำรงวรางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์จังหวัดขอนแก่น ได้นำเสนอเรื่อง กำลังเร่งดำเนินงานให้จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดประชาชนมีความสุขที่สุด น่าอยู่ที่สุด โดยเน้นถึงการการสร้างเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านอีสาน การปลูกป่าหลายชนิด ซึ่งจะประสานงานกับทุกองค์กรทุกภาคส่วนร่วมกันปลูกป่าให้ได้ 50 ล้านต้น เพื่อถวายในหลวงโดยเริ่มที่จังหวัดขอนแก่น ที่น่าสนใจแผนงานโครงการนี้ได้ถวายสมเด็จพระเทพฯรับทราบแล้วและพระองค์ท่านใส่พระทัยเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง องค์ปาฐกอีกท่า ได้แก่พระเดชพระคุณเจ้าสาคร ชิตังกโร รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน ได้เสนอข้อมูลว่า คนเราจะน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติได้ต้องพัฒนาจิตใจ และชี้ให้เห็นว่าในหลวงทรงนำหลักธรรมทางพุทธศาสนาในเรื่องทางสายกลาง การประหยัด อดออม ความเพียงพอ ซึ่งถือเป็นแก่นของหลักธรรมในการดำเนินชีวิต และทรงชี้ให้เห็นว่าความอุตสาหะ ความพากเพียร ความมีคุณธรรม และซื่อสัตย์ ความมีเหตุมีผล จะเป็นตัวหลักในการดำเนินชีวิตที่พอเพียง ไม่โลภ และไม่เกินตัว ต่อมามีการเสวนาโดยมี ผศ ดร. พรอัมรินท์ พรหมเกิด เป็นผู้ดำเนินรายการ มีดร.โกศล ศรีสังข์เป็นวิทยากรนำเสนอประเด็นภูมิปัญญาอีสาน มีรศ.ดร.สุจินต์ สีมารักษ์ นำเสนอรูปธรรมเศรษฐกิจพอเพียง มีอาจารย์วิเชียร แสงโชติ นักวิจัย สถาบันวิจัยที่มีประสบการณ์ตรงในงานพื้นที่ชนบทอีสาน มีนักธุรกิจระดับสูง คุณชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ ประธานบริษิทและผู้บริหารโรงแรมโฆษะขอนแก่น สรุปได้ว่า ในประเด็นนี้ต้องเร่งสร้างสำนึกให้ประชาชนได้ตระหนักเรื่องนี้อย่างจริง เน้นพัฒนาจิตใจที่แจ่มชัดเรื่องเศรษฐกิจ อย่างมองข้ามคุณค่าของตัวเองที่สามารถเริ่มและสร้างเศรษฐกิจพอเพียงที่เริ่มต้นจากตนเอง ไปสู่ครอบครัว สังคม ชุมชน ในเรื่องภูมิปัญญาต้องศึกษาและรื้อฟื้นภูมิปัญญาอีสานในเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน ยากไร้ การอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน การเอื้อเฟื้แบ่งปัน และการสร้างความรัก รวมไปถึงการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีพของมนุษย์   

 

หมายเลขบันทึก: 258356เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2009 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท