โยโย่ หม่า "ผมไม่ทำตัวเด่น เพราะดนตรีเด่นและยิ่งใหญ่กว่าผม" (๒)


ประโยคนี้กินใจผมมาก เพราะผมก็เชื่อว่า มีความดี ความจริง และความงาม ในสากลโลกที่ยิ่งใหญ่กว่าผมอยู่ ที่ผมยินดีที่จะก้มหัวให้อย่างไม่ลังเลสังสัย!

ผมเดินผ่านร้านขายวีซีดี พบแผ่นชีวประวัติของโยโย่ หม่า (เกิดปี ค.ศ.๑๙๕๕)
เลยซื้อมา ๒ แผ่น ฝาก อ.เสรี แผ่นหนึ่งด้วย เนื้อหาในวีซีดีมีหลายตอนที่
ประทับใจผมมาก โดยเฉพาะตอนที่เขาบอกว่า เชาไม่ชอบให้ตนเองเด่น เพราะ
ดนตรีที่เขาเล่นนั้นเด่นและยิ่งใหญ่กว่าตัวเขา

  • โยโย่ หม่าซ้อมอย่างหนักเพื่อเวลาแสดงจริงจะได้เล่นอย่างสบายๆ แต่เขาก็มักมาซ้อมเอาก่อนหน้าการแสดง บ่อยครั้งที่ต้องเล่น ๒ ทุ่ม เขาซ้อมเสร็จเอา ๖ โมงเย็น แล้วงีบหลับเอาแรงหน่อยหนึ่ง ก่อนที่จะตื่นขึ้นมาเล่น (ซึ่งผมได้ดูการเล่นของเขาในหลายคอนเสิร์ตแล้วพบว่าเขาเล่นอย่างผ่อนคลายมาก บางครั้งก็แสดงความดื่มด่ำระหว่างเขากับเสียงดนตรี บางครั้งก็เหมือนตื่นขึ้นมาเล่นกับเพื่อนนักดนตรีและคนดูด้วยสีหน้า ท่าทาง รอยยิ้ม)
  • อาจารย์คนหนึ่งของโยโย่ หม่า บอกว่า โยโย่ หม่าใช้เวลาซ้อมเพียง ๑๕ นาที ในขณะที่ถ้าเป็นอาจารย์เองต้องซ้อม ๑ ชั่วโมง (แสดงว่าเขาอัจฉริยะทางดนตรีจริงๆ!)
  • โยโย่ หม่า เล่นดนตรีเพลงคลาสสิกที่แต่งโดยนักประพันธ์เอกของโลกมาหมดแล้วทุกเพลง ไม่มีเพลงไหนที่เขาไม่รู้จักและไม่เคยเล่น จึงทำให้เขาต้องแสวงหาอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
  • พ่อของโยโย่ หม่าเป็นครูสอนดนตรี แม่เป็นนักร้อง ทั้งพ่อและแม่เป็นคนจีน เขาเกิดที่ปารีส แต่อยู่ปารีสได้ ๔ ปี ครอบครัวก็ย้ายมานิวยอร์ค หม่าเริ่มฝึกเล่นไวโอลินตั้งแต่ ๔ ขวบ แต่เขาไม่ชอบเลยไม่ฝึกไวโอลินต่อ เขาชอบเชลโล เพียงเพราะตัวมันใหญ่กว่าเขา (เมื่อครั้งยังเด็ก) ทันทีเขาเห็นเชลโลเขาชี้มือไปแล้วบอกว่า "เครื่องนี้แหละที่ผมอยากเล่น" หม่าชอบอะไรที่ตื่นเต้น ชอบอะไรที่เห็นแล้วปิ๊งและหลงไหลมันได้ทันที แล้วเขาก็ฝึกเชลโลตั้งแต่นั้นมา
  • โยโย่ หม่า บอกว่าสิ่งที่เขาประทับใจในตัวพ่อ คือ "พ่อสอนให้ผมเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนได้อย่างง่ายๆ"
  • เพื่อนที่เรียนหนังสือด้วยกันบอกว่า ระหว่างเรียนโยโย่ หม่า ไม่ค่อยอ่านหนังสือ จะอ่านก็ต่อเมื่อจะต้องสอบ แต่เขาก็เอาตัวรอดมาได้ทุกครั้ง
  • บางครั้งโยโย่ หม่า ก็หลงๆ ลืมๆ เหมือนกัน มีครั้งหนึ่งเขาลืมเชลโลไว้ในรถแท็กซี่ที่นิวยอร์ค แต่ตำรวจก็ตามเอาคืนมาให้เขาได้ (ผมสังเกตในวิดีโอ ว่าโยโย่ หม่า เหมือนคนอารมณ์ดี ชอบยิ้มอยู่ตลอดเวลา และออกจะ "ขี้เล่น" ด้วย เล่นกับผู้ชมอยู่เสมอๆ วิดีโอขาวดำที่ถ่ายมาจากอัฟริกาก็เป็นภาพที่เขาเล่นกับเด็กๆ อย่างมีความสุข ทำให้ผมอดคิดเชื่อมโยงกับทฤษฎีการจำแนกประเภทคนแบบนพลักษณ์ไม่ได้ว่า โยโย่ หม่า น่าจะเป็นพวกลักษณ์เจ็ด นักผจญภัย อารมณ์ดีอยู่เสมอ คิดสร้างสรรค์เก่ง แต่ไม่ค่อยลงมือทำ หรือทำก็ไม่ตลอดรอดฝั่ง แต่หากลงมือและทนอึดหน่อยก็จะทำได้ดี)
  • วันแรกที่เข้าชั้นเรียนมานุษยวิทยาที่ฮาร์เวิร์ด ตอนนั้นโยโย่ หม่า อายุ ๑๖ ปี อาจารย์ที่สอนวิชานั้นเคยฟังโยโย่ หม่า เล่นคอนเสิร์ท พูดขึ้นในห้องเรียนว่า มีคนหนึ่งที่เล่นดนตรีได้ไพเราะที่สุดเท่าที่อาจารย์เคยฟังมา แล้วจบด้วยการชี้ไปที่โยโย่ หม่า (ที่ไม่ทันได้ตั้งตัว และไม่คิดว่าอาจารย์กำลังพูดถึงตัวเขา) เขามุดลงไปใต้โต๊ะ (อยากแทรกแผ่นดินหนีหรืออย่างไรไม่ทราบ?)
  • มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่นั่งในห้องแสดงคอนเสิร์ทที่โยโย่ หม่า ไปแสดงเต็ม คนที่มาแสดงก็ออกันอยู่หน้าห้องประชุม ก่อนที่การแสดงจะเริ่มขึ้น โยโย่ หม่า ทราบเรื่องก็ถือเชลโล่ของเขาออกมาเล่นให้ฟังหน้าห้องเลย คนที่ตีตั๋วไม่ทัน เข้าไปข้างในไม่ได้ แต่ได้ฟังฟรีๆ แม้ไม่ทุกเพลงก็กลับบ้านด้วยความพอใจ
  • โยโย่ หม่า มีความสนใจรอบด้าน หลากหลาย เขาเข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่ฮาร์เวิร์ด แต่ไม่เลือกสาขาดนตรี แต่เลือกศิลปศาสตร์(ทั่วไป) ที่ทำให้เขาได้เรียนรู้หลายอย่าง และเขาก็ชอบมานุษยวิทยาด้วย
  • โปรเฟสเซอร์ที่เป็นนักประพันธ์ดนตรีคนหนึ่งที่ฮาร์เวิร์ดบอกว่า โยโย่ หม่า เล่นเพลงที่เขาแต่งได้ตรงใจผู้แต่งที่สุด
  • อาจารย์อีกคนหนึ่งที่เคยสอนโยโย่ หม่า เมื่อ ๑๔ ปีที่แล้ว ฟังโยโย่ หม่าเล่นแล้วบอกว่า "โยโย่ หม่า เล่นดนตรีไม่ดีขึ้นกว่าเมื่อ ๑๔ ปีที่แล้ว (ผมตีความว่า เขาต้องการบอกว่า โยโย่ หม่า ถึงจุดสุดยอดไปตั้งแต่เมื่อ ๑๔ ปีที่แล้ว)
  • เพื่อนที่เป็นนักเปียโนที่พักอยู่ห้องเดียวกับเขาสมัยเรียนฮาร์เวิร์ดเฝ้าเพียรพยายามบอกเขามานานมากว่า โยโย่ หม่า เล่นดนตรีที่นักประพันธ์เอกของโลกแต่งดีมาก แต่ "แล้วตัวคุณอยู่ไหน?" ซึ่งเขาบอก (ในวิดีโอ) ว่า เป็นเวลาหลายปีที่โยโย่ หม่า ไม่เข้าใจความหมายของสิ่งที่เขาพยายามบอก จนกระทั่ง ...
  • โยโย่ หม่า ล้มป่วยด้วยโรคติดเชื้อในกระดูกสันหลัง ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์ไม่รับประกันว่าแม้ผ่าตัดสำเร็จ (ซึ่งทำให้ตัวเขาสูงขึ้นอีก ๒ นิ้วด้วย) เมื่อหายแล้วเขาจะสามารถเล่นเชลโล่ได้อีกหรือไม่ ระหว่างการพักฟื้นที่เขาต้องหยุดเล่นเชลโล่นั่นเอง โยโย่หม่าได้ใคร่ครวญหลายเรื่องในชีวิตเขา หลังจากนั้นเขาก็ได้เปลี่ยนแปลงตนเองไปเยอะมาก
  • โยโย่ หม่า พบว่าเขาเป็นคนที่มีหลายวัฒนธรรมในตัวเอง เขาจึงออกเดินทางไปทั่วโลก ไปอัฟริกา เพื่อร่วมเล่นดนตรีกับคนพื้นเมืองที่นั่น เขาพูดภาษาพื้นเมืองไม่ได้ แต่เล่นกับเด็กๆ ที่นั่นได้โดยใช้การสีสายเชลโลแทนคำพูด ซึ่งก็สื่อกันได้รู้เรื่อง ต่อมาเขาทำโครงการเส้นทางสายไหม โดยการย้อนรอยเส้นทางการค้าโบราณระหว่างจีนกับยุโรป เขาร่วมเล่นดนตรีกับนักดนตรีพื้นบ้านในหลายประเทศระหว่างการเดินทาง(เพื่อค้นหาตนเอง?)นั้น กระทั่ง ในที่สุดได้ปรากฏงาน master piece ที่แสดงให้เห็นดนตรีที่เป็นอัตลักษณ์ของโยโย่ หม่า (ที่ผสมผสานตะวันตกตะวันออกอย่างลงตัว) เมื่อ อั้งลี่ ผู้กำกับภาพยนต์จีนกำลังภายในเรื่อง Hidden Dragon, Crunching Tiger ได้ให้โยโย่ หม่า เป็นคนแต่งเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ให้ หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร้จมากในอเมริกา (ทั้งหนังทั้งดนตรีประกอบ) 
  • หลังจากนั้นโลกของโยโย่ หม่า ไม่ได้มีแต่เชลโล่กับดนตรี แต่มี "ตัวเขา" อยู่ในนั้นด้วย
  • อั้งลี่ ให้สัมภาษณ์ว่า "โยโย่ หม่า ถ่อมตัวมาก เขาขอให้ผมทำหน้าที่ผู้กำกับเขาด้วย ขอให้กำกับเขาเหมือนที่ผมกำกับหนัง"
  • โยโย่ หม่า บอกว่า ดนตรีเป็นเครื่องมือที่ดีที่ช่วยให้คนเราได้แสดงออกสิ่งที่อยู่ข้างในออกมา (ผมตีความเอาว่า เขาหมายถึง ดนตรีทำให้เขาได้แสดงอัตลักษณ์แห่งความเป็นคนมีหลายวัฒนธรรมในตนเองออกมา)

สำหรับผมแล้ว โยโย หม่า คนนี้ คือนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ผู้ถ่อมตนแห่งศตวรรษจริงๆ ดังที่เขาบอกว่า เขาไม่ต้องการเด่นเพราะสิ่งที่เด่นและยิ่งใหญ่กว่าเขานั้นมีอยู่แล้ว ประโยคนี้กินใจผมมาก เพราะผมก็เชื่อว่า มีความดี ความจริง และความงาม ในสากลโลกที่ยิ่งใหญ่กว่าผมอยู่ ที่ผมยินดีก้มหัวให้อย่างไม่ลังเลสังสัย!

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๒๙ เมษายน ๒๕๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 258135เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2009 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พรสวรรค์คือสิ่งติดตัวมาแต่พรแสวงต้องหาเองถ้ามีทั้งสองพรคือยอดอัจฉริยะในกิจกรรมนั้นๆ

สวัสดีคะอาจารย์

ดีใจ ที่ได้รู้จัก โยโย หม่า ผ่านงานเขียนบอกเล่า ชิ้นนี้

และได้ฟัง ดนตรี ที่เขาเล่น

ดนตรี และงานศิลป ช่วยให้เราแสดงออกถึงความรู้สึก ผ่านเสียง และภาพ ภู่กัน

ได้จริงๆ เพราะบางอย่างก็พูดออกมาเป็นคำพูดไม่ได้หมดครบถ้วน นัก

(เล่นดนตรีไม่เป็น ตอนที่วาดภาพ ในภาพวาด เราสามารถถ่ายทอด ความรู้สึก อารมณ์ เบื้องลึกออกมาได้ )

ซึ้งหลายคำที่เขาพูดตอนจบซึ้ง จัง

และว่า เพราะ ดนตรีที่เขาเล่นนั้นเด่นและยิ่งใหญ่กว่าตัวเขา จริงๆ

มิน่าเวลาเราทำอะไร แล้วไม่ได้รู้สึกว่าเป็นงาน แต่รู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่ง ของเรา เราจะสัมผัสกับความสุข สงบ เมื่อได้ทำสิ่งนั้นๆ มันมากกว่างาน มันมากกว่าความสำเร็จ

เพราะทุกอย่างมันสมบูรณ์อยู่ตรงนั้น ณ ปัจจุบันขณะนั้นๆแล้วจริงๆ

ปล อยากจะมีโอกาสฟัง ซีดี นั้นบ้าง แล้วจะลองหาดูคะ

ขอบคุณอีกครั้ง ที่พี่เชษญ ส่ง link งานแสดงดนตรี ให้คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท