แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

ตำนานโยคะ (๒)


                
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานฐานข้อมูล 
เว็บศูนย์รวม "สถาบันโยคะวิชาการ"
(เข้าสู่หน้าเว็บไซด์ที่นี่ค่ะ

ตำนานโยคะ (๒)


(มหาโยคีปตัญชลี บิดาแห่งโยคะ)

ธีรเดช อุทัยวิทยรัตน์ (ครูเละ) ; 
(ดูงานเขียนทั้งหมดที่นี่)

โยคะสารัตถะ ฉ.:ก.ย.'๕๑


ครั้นถึงกาลสมัยหนึ่งบนโลก สตรีผู้มีนามว่าโคนิกา ปรารถนาที่จะมีบุตรสืบสกุล จึงบำเพ็ญตบะและอ้อนวอนต่อสูรยเทพเพื่อขอบุตร หลังจากถวายน้ำและกระทำอัญชลีเสร็จ เมื่อคลี่มือออก ปรากฏร่างของงูตัวน้อยอยู่ในมือของนาง ก่อนจะแปลงร่างเป็นเด็กชาย ซึ่งขอเป็นบุตรของนาง เด็กชายคนนี้ก็คือนาคราชเศษะที่อวตารมาเป็นมนุษย์นั่นเอง

นางโคนิกาจึงตั้งชื่อบุตรชายว่าปตัญชลีอันมีความหมายว่า "ตกลงมาสู่มือที่ประนม"

ตอนที่รู้เรื่องตำนานของปตัญชลีใหม่ๆ นั้น ผมยังเข้าใจว่าตำนานนี้คงเล่าขานกันเฉพาะในหมู่ผู้ที่ศึกษาโยคะเป็นหลัก กระทั่งเมื่อได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ก้นกุฏิของครูหมออายุรเวทในโรงพยาบาลเล็กๆ ในรัฐเคราลาที่อินเดียตอนใต้เมื่อสิบสองปีก่อน ผมจึงได้รู้ว่าแม้แต่หมออายุรเวทเองก็บูชาปตัญชลีด้วยเช่นกัน หลายครั้งที่ครูอธิบายเรื่องอายุรเวทอย่างเป็นกิจลักษณะให้กับกลุ่มครูโยคะที่ไปรับการบำบัดแบบอายุรเวทที่โรงพยาบาลของครูผมเมื่อหลายปีก่อน ก่อนเริ่มการสนทนาครูจะร่ายโศลกบูชาปตัญชลีเป็นภาษาสันสกฤตว่า

โยเคน จิตฺตสฺย ปเทน วาจำ I
มลํ ศรีรสฺย จ ไวทฺยเกน
โย'ปากโรตฺตํ ปฺรวรํ มุนีนำ
ปตญฺชลิมฺ ปฺราญฺชลิรานโต'สฺมิ II

ถอดความเป็นภาษาไทยว่า

ข้าพเจ้าขอประนบน้อมแด่ปตัญชลีมุนีผู้ประเสริฐ
ผู้ขจัดปัดเป่าความมืดมนแห่งดวงจิตด้วยโยคะศาสตร์
ขจัดอุปสรรคแห่งวาจา(ภาษา)ด้วยวจนะ(ภาษยะ)
และชำระความไม่บริสุทธิ์ของร่างกายด้วยอายุรเวท

ครูเล่าให้ผมฟังว่าในหมู่ผู้ศึกษาอายุรเวทนั้น เชื่อกันในเชิงบุคลาธิษฐานว่าจรกะซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงคัมภีร์อายุรเวทเล่มแรกคือหนึ่งในอวตารของเศษะหรือปตัญชลีนั่นเอง

แม้ว่าจากข้อมูลที่อ่านพบในหนังสือโยคะบางเล่ม บอกว่าปตัญชลีซึ่งเป็นผู้ที่เรียบเรียงโยคสูตรอันเป็นคัมภีร์โยคะที่ผู้ที่ก้าวย่างในมรรคาแห่งโยคะต้องศึกษานั้น มีชีวิตอยู่ในราวพ.ศ. ๓๐๐ โดยที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับคัมภีร์อายุรเวท (ซึ่งมีหลักฐานว่าถูกจารึกขึ้นในราวสองถึงสามพันปีก่อนคริสตกาล)

ถึงกระนั้นมีข้อมูลอ้างอิงว่าปตัญชลีมีความเชี่ยวชาญทางด้านไวยากรณ์สันสกฤต - ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ หาไม่ท่านคงไม่สามารถร้อยเรียงโยคสูตรในรูปของโศลกที่บรรจุด้วยรหัสยแห่งโยคะที่ทั้งลุ่มลึกและครอบคลุมในทุกมิติของชีวิตที่ตกทอดสืบต่อกันมาจนถึงยุคนี้

สรุปรวมความแล้วตำนานเกี่ยวกับปตัญชลีที่ว่ากันว่าเป็นผู้ที่ประมวลความรู้ในการดับทุกข์สามเรื่องหลักของมนุษย์ อาจเป็นตำนานอีกบทหนึ่งในศาสตร์เก่าแก่ที่เชื่อมโยงกับทวยเทพตามวัฒนธรรมและความเชื่อดั้งเดิม

หลังจากฟังครูอายุรเวทของผมถอดรหัสในตำนานอายุรเวทที่กล่าวว่าถือกำเนิดจากพรหม ว่าซ่อนแทรกด้วยนัยที่บ่งบอกว่ามาจากความเป็นจริงแห่งธรรมชาติ ทำให้ผมคิดว่าถ้าเช่นนั้นตำนานของปตัญชลีมีนัยอะไรให้ครุ่นคิดตีความได้บ้าง
นัยอย่างแรกที่ผมถอดรหัสได้ ไม่ว่าจะเป็นตำนานในเวอร์ชั่นแรกที่ครูเล่าหรือตำนานอย่างละเอียดที่อ่านพบในภายหลังก็คือ ชื่อของปตัญชลีที่มีความหมายว่า"ตกลงมาสู่มือที่น้อมประนม"นั้น คล้ายจะบอกว่าการเข้าถึงความรู้แจ้งในเรื่องใด(เช่นความรู้ในการดับทุกข์ของมนุษย์) ผู้ที่ปรารถนาจะเข้าถึงความรู้นั้นต้องมีความนอบน้อมถ่อมตนอย่างยิ่งยวด ใช่หรือไม่ว่าการแสดงความนบนอบหรือหมอบกราบ (ซึ่งเป็นอีกความหมายหนึ่งของคำว่าอัญชลี) ต่อสิ่งใดหรือผู้ใดจากใจจริง แสดงว่าตัวเรานั้นอ่อนด้อยกว่าผู้ที่เรากราบกรานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


(พระวิษณุ)

ตำนานของปฐมโยคี (หากไม่นับว่าศิวะคือผู้ให้กำเนิดโยคะ - ตามตำนาน) ผู้มีนามว่าปตัญชลี ยังสะท้อนบอกถึงการบำเพ็ญเพียรด้วยจิตที่มุ่งมั่นศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นนาคราชเศษะเองหรือกระทั่งนางโคนิกาที่นาคราชอวตารมาขอเป็นบุตร ทั้งสองล้วนผ่านการบำเพ็ญเพียรและตั้งจิตอธิษฐานด้วยศรัทธาอันแรงกล้าเพื่อที่จะให้ได้มาในสิ่งที่ตนปรารถนา

ในช่วงหลังที่ผมพยายามศึกษาโยคสูตรมากขึ้น ทำให้คิดว่าการบำเพ็ญเพียรของนาคราชเศษะและนางโคนิกานั้น เป็นการบำเพ็ญทั้งตบะ (หรือตปัสในภาษาสันสกฤต) และอีศวรประณิธานซึ่งเป็นสองในสามองค์ของกริยาโยคะที่ปตัญชลีกล่าวไว้ในโยคสูตรไปพร้อมกัน (กริยาโยคะอีกหนึ่งอย่างคือสวาธยายะหรือการสำรวจตนเอง)

นัยอีกอย่างที่ผมตีความจากตำนานที่กล่าวว่าปตัญชลีเป็นผู้เรียบเรียงองค์ความรู้ทั้งสามซึ่งเป็นวิถีในการดับทุกข์สามอย่างของมนุษย์ หรือพูดอีกอย่างว่าคนผู้หนึ่งเข้าถึงหรือเรียนรู้หนทางแห่งการดับทุกข์ทั้งสามในตัวเองนั้น เป็นไปได้ไหมว่าต้องการที่จะเน้นย้ำให้เห็นว่าเรื่องของกาย วาจา และใจนั้นเป็นองค์สามที่ไม่อาจแยกขาดจากกันได้

พูดง่ายๆ คือในเมื่อทุกข์หลักๆ ของมนุษย์คือทุกข์ทางกาย วาจา และใจ ผู้ที่ต้องการไปให้พ้นจากทุกข์ซึ่งเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก ก็ต้องแสวงหาและเรียนรู้หนทางดับทุกข์ทั้งทางกาย วาจา และใจไปพร้อมกัน
หรือจะพูดว่าต้องเข้าถึงหนทางดับทุกข์อย่างเป็นองค์รวมก็คงไม่ผิดนัก


ย้อนกลับ - ตำนานโยคะ (๑)

 

 

 



มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1  ถนนรามคำแหง  แขวงหัวหมาก  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  10240  
โทรศัพท์  02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744 ; 
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com


หมายเลขบันทึก: 258067เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2009 04:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดียามเย็นค่ะ

ไปแจ้งกรุ๊ปเลือด   กันก่อนนะคะ

เดี๋ยวในสถิติ  ตกหล่น   นะคะ

แวะไปแล้ว... ลืมแจ้งกัน  รึเปล่าค่ะเนี่ย

เช็ค ด่วนนะคะ... อาทิตย์หน้าจะรวบรวมสถิติแล้วค่ะ

ส่งข้าว

  

★.• •★ ทานอาหาร...ตามกรุ๊ปเลือด...เพื่อสุขภาพที่ดี★... •★

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท